Kind Sustain

ทำไมภาคธุรกิจไทยต้องยั่งยืน? เจาะลึกบริษัทบ้านปูฯ กับแผนพัฒนาความยั่งยืน SDGs


“ความยั่งยืน” หรือ “Sustainable” คำสั้น ๆ ที่กำลังใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกแวดวงสังคม โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจที่ได้ยินจนคุ้นหูและรับรู้จนชินตา เพราะความยั่งยืนนั้นเริ่มเคลื่อนตัวจากชายขอบสังคมเข้ามาสู่กระแสหลักโลก แต่เชื่อว่ายังมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจเป้าหมายของการสร้างความยั่งยืนนี้อย่างแท้จริง 

วันนี้ KiNd ขอหยิบยกหนึ่งองค์กรใหญ่ด้านธุรกิจพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคือ “บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)” ที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งองค์กร “ต้นแบบ” ที่ประสบความสำเร็จจากแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน โดยมีรางวัลการันตีจำนวนมาก อาทิ รางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2019 สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Excellence Award) จากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งยังได้รับรางวัลเกียรติยศบริษัทจดทะเบียนด้านความยั่งยืน (Sustainability Awards of Honor) ในงาน SET Awards 2019 ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและวารสารการเงินธนาคาร โดยบริษัทฯ ได้รับรางวัล Sustainability Excellence ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีซ้อน และได้รับรางวัลพระราชทาน สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Excellence Award) 

รวมถึงการได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ในปีล่าสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และล่าสุดได้เข้าเป็นสมาชิกในการจัดอันดับความยั่งยืน ทั้งในกลุ่ม FTSE4Good Emerging Index และ FTSE4Good ASEAN Index ซึ่งเป็นดัชนีชั้นนำด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ที่ประเมินศักยภาพขององค์กรในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)

นอกจากนี้ บ้านปูฯ ยังเป็นผู้นำองค์กรด้านพลังงานหนึ่งเดียวจากประเทศไทยที่ได้รับเลือกให้เข้าไปมีส่วนร่วมบนเวทีงานสัมมนาด้านความยั่งยืนระดับโลกอย่าง “UN Global Compact Leaders Summit 2020” ที่จัดขึ้นในรูปแบบ Virtual Global Conference เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาอีกด้วย 

เมื่อบ้านปูพร้อมขับเคลื่อนสู่องค์กรยั่งยืนระดับโลก

บริษัท บ้านปูฯ ได้เข้าร่วมกับองค์กร UN Global Compact เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้งนี้เบื้องต้นบริษัทบ้านปูฯ มุ่งเน้นสนับสนุน 7 เป้าหมาย (จากทั้งหมด 17 เป้าหมายการพัฒนา) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรงคือ เป้าหมายที่ 6, 7, 8, 13, 15, 16 และ 17 ดังนั้นจึงได้จัดทำแผนการดำเนินการรวมถึงตัวชี้วัด และเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจนเพื่อความเร็จของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีรายละเอียดแผนพัฒนาดังนี้


เป้าหมายข้อที่ 6 (6-3, 6-4) คือ เรื่องการจัดการน้ำและสุขาภิบาล โดยบริษัทวางแผนการปรับปรุงฐานข้อมูลน้ำทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และจัดทำเป้าหมายลดอัตราการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์โดยมีเป้าหมายภายในปี 2568 

เป้าหมายข้อที่ 7 (7-2, 7-A) คือ รับรองการมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยบริษัทวางแผนการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา วางเป้าหมายไว้ว่าในปี 2568 สัดส่วนธุรกิจพลังงานสะอาดจะมีมากกว่าร้อยละ 50

เป้าหมายข้อที่ 8 (8-8) คือ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยบริษัทจะประเมินและกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงในการทำงาน ควบคุมสภาพแวดล้อมในการทำงาน และปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับ ISO 45001:2018 โดยมีเป้าหมายในปี 2567 ว่าจะสามารถลดอัตราการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานของพนักงานและผู้รับเหมาให้เป็นศูนย์

เป้าหมายข้อที่ 13 (13-2) คือ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทางบริษัทจะกำหนดราคาคาร์บอน ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และจัดทำเป้าหมายลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป้าหมายภายในปี 2568 คือลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ร้อยละ 25 สำหรับธุรกิจเหมือง และร้อยละ 15 สำหรับธุรกิจพลังงานไฟฟ้า 

เป้าหมายข้อที่ 15 (15-1, 15-2, 15-5) คือ การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบ ปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟู และปลูกต้นไม้นอกพื้นที่โครงการเพื่อชดเชยผลกระทบ และบรรลุผลกระทบสุทธิเชิงบวกด้านความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับเหมืองที่ปิดหลังจากปี 2568

เป้าหมายข้อที่ 16 (16-5, 16-6) คือ สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก โดยบริษัทยึดมั่นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี สนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และเสริมสร้างความตระหนักรู้ในจริยธรรมทางธุรกิจแก่คู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสีย

เป้าหมายข้อที่ 17 คือ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แก่ชุมชน และผนวกเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับโครงการพัฒนาชุมชน โดยในปี 2563 มีเป้าหมายว่าทุกโครงการพัฒนาชุมชนจะมีเป้าหมายที่เชื่อมโยงกับ SDGs

การทำธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่ธุรกิจต้องมี เช่นเดียวกับแผนการดำเนินธุรกิจและแผนการประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะ SDGs จะช่วยกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคและนักลงทุนในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น การดำเนินธุรกิจในยุคนี้จึงเป็นเรื่องของผู้มองไกล คือต้องมองรอบด้านและมองให้เห็นเป้าหมายระยะยาว จึงจะสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อให้กิจการอยู่รอดได้ มากกว่าหวังแค่เพียงผลกำไรหรือใส่ใจแค่เป้าหมายระยะสั้น 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยสหประชาชาติหรือ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายนี้ เปรียบเสมือนแผนที่นำทาง เพื่อการประกอบการอย่างยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จากการมีเป้าประสงค์ระบุไว้ชัดเจน และเป็นเป้าหมายในประเด็นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในระดับโลก

…จะดีแค่ไหน หากภาคธุรกิจไทยในทุกองค์กรหันมาใส่ใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง


อ้างอิง

  • รายงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทบ้านปูฯ ปี 2562
  • Making Global Goals Local Business. https://unglobalcompact.org/sdgs
  • “บ้านปู” ย้ำความเป็นองค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนระดับโลก. https://thaitabloid.com/archives/