ผู้ประสานงานวิจัยชาวอินโดนีเซีย Pamela Simamora ชี้ประชาคมอาเซียนควรยุติการใช้พลังงานถ่านหิน เพื่อประโยชน์และสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความต้องการพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงขึ้นสัมพันธ์กับอัตราการใช้พลังงานถ่านหินที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าภูมิภาคนี้จะมีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงมากก็ตาม เพื่อที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานถ่านหิน บางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มพัฒนา “พลังงานถ่านหินสะอาด”
อย่างไรก็ตาม เราต้องจำกัดความของ “พลังงานถ่านหินสะอาด” ให้ชัดเจน แน่นอนว่าโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วไป แต่การนิยามว่าเป็นพลังงานสะอาดนั้นก่อให้เกิดความเข้าใจผิด แม้ว่าจะดำเนินการด้วยประสิทธิภาพสูงสุด โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดก็ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอยู่ดี
มากไปกว่านั้น สิ่งที่มองข้ามไม่ได้อย่างมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ หรือบนผืนดินที่เป็นผลกระทบจากพลังงานถ่านหินก็เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่าพลังงานถ่านหินยังห่างจากคำว่าสะอาดอยู่มาก
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ปัญหามลพิษทางอากาศในปี ค.ศ. 2018 เป็นสาเหตุให้ประชากรกว่า 450,000 รายเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มจำนวนมากถึง 650,000 รายภายในปี ค.ศ. 2040 ในกรณีที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเสพติดการใช้พลังงานถ่านหินอยู่
Photo Credit: www.thaisolarenergy.com
นอกเหนือจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผลการวิจัยหลายฉบับชี้ให้เห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในอาเซียนจะมีราคาถูกกว่าพลังงานถ่านหินใหม่ตั้งแต่ ค.ศ. 2020 เป็นต้นไป ผลการศึกษายังคาดการณ์ว่าประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้เห็นราคาพลังงานหมุนเวียนที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมจะมีราคาถูกกว่าพลังงานไฟฟ้าถ่านหินในระหว่าง ค.ศ. 2027 – ค.ศ. 2029
ยิ่งไปกว่านั้น ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บแบตเตอรีที่ลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ส่งผลให้ โรงผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์สามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าถ่านหินได้มากขึ้น การประมูลพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งล่าสุดในประเทศโปรตุเกสทุบสถิติราคาต่ำสุดในโลกที่ราคา 0.0131 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ด้วยราคานี้พลังงานหมุนเวียนนั้นเหนือกว่าพลังงานถ่านหินเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ราคาที่เข้าถึงได้ การใช้งานที่มีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือ และความยั่งยืน
Photo Credit: www.primuspower.com
Photo Credit: www.thaisolarenergy.com Photo Credit: www.evwind.es
เทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่าง โซลาร์เซลล์ กังหันลม และแบตเตอรี่ มีราคาถูกลง เข้าถึงได้ และมีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือมากขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยราคาที่ลดลงและศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทำให้ประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 6 กิกะวัตต์ และพลังงานลม 3 กิกะวัตต์ ภายใน ค.ศ. 2036 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมจากเดิมอยู่ที่ 2.9 กิกะวัตต์และ 1.5 กิกะวัตต์ ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน ประเทศเวียดนามเดินหน้าอย่างจริงจังในการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์จากกำลังการผลิต 106 เมกะวัตต์ใน ค.ศ. 2018 สู่ 5.5 กิกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2019 ส่งผลให้ประเทศเวียดนามกลายเป็นผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศมาเลเซียก็เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ โดยจัดตั้งโรงงานที่จ้างพนักงานถึง 54,300 คนในปี ค.ศ. 2018 ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์กำลังตามรอยประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 922 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 427 เมกะวัตต์ในปี ค.ศ. 2019
ในบางเมืองและบางจังหวัดทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมุ่งมั่นที่จะยุติการใช้ถ่านหิน หน่วยงานท้องถิ่นต้องการแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนานั้นเป็นไปได้และทำได้จริง
แผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นถือได้ว่าเป็นการเดินเกมที่อันตรายและไม่ควรเสี่ยง ตัวอย่างเช่นประเทศอินโดนีเซีย องค์กรไม่แสวงผลกำไรอย่าง Carbon Tracker รายงานว่าในปี ค.ศ. 2018 ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ต้องควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้เจ้าของโรงไฟฟ้าต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายถึง 34,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะทรัพย์สินที่กลายเป็นภาระ การเพิ่มกำลังการผลิตถ่านหินจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และทำให้อินโดนีเซียต้องติดกับดักระบบโครงสร้างพื้นฐานพลังงานถ่านหินต่อไป
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพย์สินที่จะกลายเป็นภาระคือเรื่องจริง โดยสถาบันเศรษฐศาสตร์พลังงานและการวิเคราะห์ทางการเงิน (IEEFA) ระบุว่าสถาบันการเงินมากกว่า 100 แห่งจากทั่วโลกตัดสินใจที่จะถอนตัวจากโครงการถ่านหิน การเข้าถึงเงินลงทุนที่ลดลงทำให้ข้อเสนอโครงการพลังงานถ่านหินใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการได้ยากขึ้น
Photo Credit: elina krima
ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนยังมีจุดที่ต้องแก้ไขเพื่อที่จะสามารถนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวาง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่งในแคนาดาและสหรัฐอเมริกาอย่าง Boundary Dam และ Petra Nova มักถูกยกมาเป็นตัวอย่างสำหรับการใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนที่ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงซับซ้อนกว่านั้น
ไม่ต่างจากเทคโนโลยีอื่น ๆ ระบบดักจับคาร์บอนก็ต้องใช้พลังงาน Boundary Dam ใช้พลังงานของตัวเองในระบบดักจับคาร์บอน มีผลกระทบให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ในขณะเดียวกัน Petra Nova ใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติในการเดินระบบดักจับคาร์บอน ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเหลือประมาณ 70% จาก 90% ที่เคยอ้างไว้
Photo Credit: www.bangkokbiznews.com
ผลการศึกษาล่าสุดของ IEEFA พบว่าระบบดักจับคาร์บอนของ Petra Nova ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียง 3.5 ล้านตัน ในปี ค.ศ. 2017 -2019 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 17 % นอกจากจะสิ้นเปลืองพลังงานมากแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังใช้น้ำอีกด้วย วิจัยของ UC Berkley เตือนว่าการใช้ระบบดักจับคาร์บอนนี้จะทำให้น้ำขาดแคลน
ต้นทุนสูงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่ของเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน ประมาณการต้นทุนเบื้องต้นนั้นอยู่ที่ 60ดอลลาร์สหรัฐต่อคาร์บอน 1 ตัน แต่ในทางปฏิบัติต้นทุนที่สามารถใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์อยู่ที่ราว ๆ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อคาร์บอน 1 ตัน การศึกษาของกระทรวงพลังงานประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การติดตั้งระบบดักจับคาร์บอนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้ต้นทุนสูงถึงประมาณ 80 – 86 % นั่นแปลว่า ค่าไฟฟ้าก็จะสูงตามไปด้วย ในขณะที่เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนนั้นใช้สำหรับลดมลพิษอันเกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมของโรงไฟฟ้าถ่านหินเอง จึงไม่ยุติธรรมต่อพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีราคาถูกกว่า มากกว่าใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนเพียงเพื่อยืดเวลาการใช้ถ่านหิน
คำถามที่ต้องตอบคือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อวิถีทางอันยั่งยืนได้อย่างไร เพราะการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานนั้นมีกระบวนการที่ซับซ้อน ยาวนาน และต้องการการวางแผนอย่างรอบคอบ
ยิ่งตัดสินใจยุติการใช้พลังงานถ่านหินรวดเร็วเท่าไร ยิ่งช่วยเพิ่มเวลาสำหรับการปรับตัวของตลาดและการวางแผนรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง เร็วเกินไปนั้นดีกว่าสายเกินไป ประเทศในประชาคมอาเซียนควรร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินเป็นพลังงานหมุนเวียน
ที่มา
- Pamela Simamora. Why coal should have no future in Southeast Asia’s energy mix. www.scmp.com