เราอยู่ในยุคที่ใคร ๆ ต่างก็บอกให้ ลด-ละ-เลิก การใช้วัสดุทุกชนิดที่ไม่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ และสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นอันดับต้น ๆ คือ “พลาสติก” แต่ดูเหมือนว่าพลาสติก จะไม่ได้ทำให้ผู้คนเกิดความตระหนักเท่ากับการต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากอากาศเย็นสบายที่เคยปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ตอนนี้กลับแปรเปลี่ยนเป็นอากาศร้อนแสบผิว แม้ว่าจะอยู่ในฤดูหนาว
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้จิตสำนึกที่หลับใหลอยู่ของผู้คน ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาเผชิญกับโลกแห่งความจริง ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ปัญหามลพิษ และขยะที่กองพะเนินเป็นภูเขา ขณะที่ในช่วงเวลาสิบปีมานี้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ก็เริ่มตบเท้าเดินขบวนบนท้องถนน พร้อมส่งเสียงป่าวประกาศร้องเรียนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยหวังว่าเสียงเหล่านี้จะกังวานไปถึงรัฐบาล ผู้มีหน้าที่วางนโยบายขับเคลื่อนทิศทางของประเทศ
แต่คงจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้า หากมองว่า “ขยะ” โดยเฉพาะพลาสติกจะเป็นผู้ร้ายเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งตราประทับความผิดที่ถูกจารึกลงไปนั้น ในมุมมองของ “คุณโดม บุญญานุรักษ์” CMO และผู้ร่วมก่อตั้งดิจิทัลแพลตฟอร์ม GEPP Sa-Ard (เก็บ สะอาด) กลับมองว่าประเทศไทยก็สามารถกระโดดเข้าร่วมวงแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ได้ เพียงแค่ต้องเริ่ม “เก็บให้ถูกวิธี” เท่านั้นเอง
เทคโนโลยี + ขยะ = ข้อมูล
จากข้อมูลโดยกรมควบคุมมลพิษ ประจำปี 2561 พบว่าคนไทยทิ้งขยะรวมกันกว่า 27 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับช้างกว่า 5.56 ล้านตัว เฉพาะที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็มีปริมาณการทิ้งขยะมากเกือบถึง 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ
ด้วยเหตุนี้เอง ภาครัฐและองค์กรเอกชน จึงหันมาสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network หรือ TRBN) ได้ร่วมกันผลักดันกิจกรรมครั้งนี้ และแล้ว “โครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” จึงถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมไทย อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 พอดิบพอดี
แม้โครงการความร่วมมือดังกล่าว จะอยู่ในพื้นที่จำกัด แต่นับเป็นสัญญาณที่ดีว่า ภาครัฐและองค์กรใหญ่ ๆ เริ่มขยับตัวแล้ว ประชาชนอย่างเรา ๆ ก็คงไม่แคล้วต้องปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งคุณโดมเองก็ได้มีส่วมร่วมในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนนี้เช่นกัน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีของ “GEPP” เข้ามายกระดับการจัดการข้อมูลขยะ ให้ก้าวสู่การจัดการที่ทันสมัย รวดเร็ว และสามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของขยะได้อย่างครบถ้วนไม่มีตกหล่นระหว่างทาง
GEPP ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงกับผู้ที่มีวัสดุรีไซเคิล ซึ่งอาจจะไม่รู้วิธีการคัดแยกขยะอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลขยะเพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงต้นตอว่า สิ่งที่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ร้ายนี้ แท้จริงแล้วต้นน้ำจริง ๆ ของผู้ (ถูกทำให้) ร้ายนี้ มาจากส่วนไหนกันแน่ นอกจากนั้นคุณโดมยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง ของผู้คนในสังคมให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนที่สุด (Sense of Urgency)
❛❛
ความตั้งใจแรกของเราคือ การสร้างเทคโลยีอะไรบางอย่างขึ้นมา เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่มีวัสดุรีไซเคิล แล้วเขาไม่รู้จะจัดการตรงนี้ยังไง เราจะเข้าไปทำให้กระบวนการจัดการขยะของเขาเกิดประสิทธิภาพ และชี้วัดได้ด้วยเครื่องมือดิจิทัลและความรู้ เราจะเข้ามาสอนการคัดแยก ซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปกับการบันทึกข้อมูลและวิเคราะห์ด้วยระบบดิจิทัล แล้วก็ต้องสามารถรายงานผลการวิเคราะห์นี้ออกมาได้ด้วย
❜❜
หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมถึงไม่ใช้ Excel เจ้าโปรแกรมสารพัดประโยชน์ตัวนี้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งคุณโดมเองได้ทำการทดลองมาแล้วว่า ข้อมูลปริมาณขยะ ประเภทของขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละครัวเรือน หรือในสเกลใหญ่หน่อยคือ บริษัท โรงแรม ห้างร้านต่าง ๆ มีปริมาณมากเกินกว่า Excel จะประมวลผลอย่างครบถ้วนออกมาได้
“ผมลองหมดแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่ลอง แต่พอเอาเข้าจริง ระบบ Excel เวลาเปิดโปรแกรมขึ้นมา มันมีการประมวลผลที่ช้า มันไม่ได้เร็วแบบเว็บไซต์ของเรา แค่เปิดขึ้นมาก็กรอกข้อมูลใส่ลงไปได้เลย ไม่ต้องรอโหลด”
โดย “GEPP” จะมี Waste Profile โปรแกรมจำแนกรายการขยะแต่ละประเภทว่ามีกี่ชนิด ซึ่งจะทำให้ผู้คัดแยกทราบว่า ในแต่ละวันมีการสร้างขยะปริมาณเท่าไหร่ และ Waste Flow แสดงให้ผู้ใช้งานเห็นว่าเส้นทางการเดินทางของขยะที่เราคัดแยกไปนั้น สุดท้ายแล้วจะไปสิ้นสุดลงที่ไหน ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าขยะที่คุณทุ่มเทแรงกายและเวลาในการคัดแยกเหล่านี้จะไปถึงมือผู้รับขยะอย่างแน่นอน
“Waste Profile ที่เราคิดค้นขึ้นมานั้น เกิดจากการทำงานกับลูกค้า แล้วพบว่า พอเราสำรวจ ทำรายการอะไรพวกนี้ ทำให้เราเริ่มหันมาคิดว่า เราต้องทำ ‘รายการขยะ’ นะ มันถึงจะเป็นระบบ เก็บเป็นข้อมูลได้ อย่าง Waste Flow ที่ทำขึ้นมาก็เพื่อให้ผู้คัดแยกขยะสามารถรู้ว่า สุดท้ายแล้ว ปลายทางของขยะมันจะไปอยู่ที่จุดไหน ซึ่ง Waste Profile ที่เรามีอยู่ก็ยังคงต้องอัปเดตตลอดเวลา เพราะข้อมูลมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เราต้องตามให้ทัน”
นอกจากนี้ “GEPP” ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการขยะระดับโรงเรียน และระดับชุมชนอีกด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญในการจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืนคือ การสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” หรือ “Sense of Urgency” นี่คือสิ่งที่คุณโดมเน้นย้ำมาตลอดบทสนทนา
“เราพยายามทำให้เรื่องการคัดแยกขยะเป็นเรื่องง่าย โดยนำความรู้ที่เรามีมาสร้างเป็นเทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์มันออกมา แต่ถ้าในระดับโรงเรียนหรือในระดับชุมชน นอกจากเราจะสอนเขาคัดแยก ให้ความรู้เขาแล้ว เราจะทำเป็นสติกเกอร์การคัดแยกขยะ ซึ่งแยกแล้วต้องได้เงิน ตรงนี้เรามีข้อมูลอยู่ เราพร้อมให้เขานำไปใช้กันได้เลย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะได้เห็นภาพรวมง่าย ๆ ทำให้การคัดแยกขยะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป”
ขณะที่ กฎหมาย คือ ตัวแปรหลักที่ทำให้คนในประเทศมีความตระหนักรู้ในการจัดการขยะอย่างเร่งด่วน แต่กลายเป็นว่า เทคโนโลยี ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็ล้ำหน้าเสียจนกฎหมายตามไม่ทัน
❛❛
แต่ความยากของการเข้ามาจัดการเรื่องขยะก็คือ เรื่องของ Sense of Urgency มันยังไม่แรงมากพอ ความรู้สึก ‘ด่วน’ ที่จะมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ ปัจจุบันถ้าสื่อไม่ตีข่าวเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นประเด็นที่ล้าสมัยไปเลย ส่วน Sense of Urgency ที่ดีที่สุดคือ ‘กฎหมาย’ ถ้าออกเป็นกฎหมายว่า การทิ้งขยะไม่ถูกถัง ไม่ถูกที่ถูกทางจะถูกปรับ จะเสียเงิน คุณถึงพร้อมจะปรับตัวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว Sense of Urgency ของแต่ละคนมี มีหมดทุกคน เพียงแต่ว่ามีไม่เท่ากัน คุณแค่เพิกเฉยเท่านั้นเอง
❜❜
ประหยัด = ยั่งยืน
วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณขยะในประเทศไทยเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เผยให้เห็นว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านและสั่งปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการติดต่อของโรคนั้น ปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากบริการรับส่งอาหาร (Food Delivery) เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ถึง 15% คือจากวันละ 5,500 ตัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน
สถานการณ์ครั้งนี้เปรียบเสมือนกับเหรียญสองด้านที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหน ย่อมต้องมีมุมมองต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตามสิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนที่สุด คือ ผลลัพธ์ของการกระทำ
“ยังไงมนุษย์เราก็ต้องหาทางเอาตัวรอดก่อน ซึ่งมันจะเอนเอียงไปทางขวาก่อนคือ การเอาตัวรอด แต่คนที่จะเอนเอียงมาทางซ้าย (การแยกขยะ) มันมีน้อย ถามว่ามีไหม บอกได้เลยว่ามี แต่มีน้อย ยังไงคนเราก็ต้องเอาตัวรอดก่อน ไม่ก็ ถ้าคิดถึงฝั่งซ้ายก็คิดถึงแปปเดียว คิดในระยะสั้น เดี๋ยวก็หาย แต่ผมยังมองว่าคนเขาก็ยังอยากทำอยู่นะ มันขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการจัดการด้วย”
แม้ว่ามนุษย์จะถูกตั้งโปรแกรมมาให้ทำทุกวิถีทางในการเอาชีวิตรอด แต่อย่างไรก็ตาม หากการเอาตัวรอดทำให้ “สิ่งแวดล้อม ถูกทำลาย” มนุษย์เองนี่แหละจะเป็นผู้หันมาแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการดิ้นรนอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ยุ่งเหยิงนี้ด้วยเช่นกัน
❛❛
ความยั่งยืนของผม ผมมองว่า นี่คือสิ่งที่ต้องทำและควรต้องประหยัดเงินในกระเป๋า อาจจะทำสิ่งนี้ด้วย ซึ่งสิ่งที่ตามมาจะเป็นเรื่องของความยั่งยืน และนั่นถือว่าดี ผมขอยืนยันว่า ยั่งยืนแล้วประหยัดคือสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำความยั่งยืนแล้วต้องจ่ายเงินมาก ๆ ผมว่านี่ไม่ยั่งยืนแล้ว เพราะมันอาจทำให้เราไขว้เขวและเลิกทำเรื่องความยั่งยืนไปในที่สุด
❜❜
นี่คือนิยามความยั่งยืนแบบฉบับของคุณโดม ที่ดูเหมือนว่าไม่ต้องเข้าใจความยั่งยืนอย่างลึกซึ้งก็ได้ แค่ต้องลงมือทำ และต้องทำด้วยความประหยัด เพียงเท่านี้ก็ทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในสังคม แม้ว่าจะต้องอาศัยตัวแปรหลักอย่างรัฐบาลมาช่วยในการขับเคลื่อนก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากเริ่มทำอะไรบางอย่าง จุดเปลี่ยนเล็ก ๆ นี่เองจะรวมตัวกันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
อ้างอิง
- ไทยติดกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกสูงสุดในโลก เผยแต่ละปีคนไทยทิ้งขยะกว่า 27 ล้านตัน. www.bltbangkok.com/news/4878/
- โควิด 19 : สถานการณ์ขยะในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรในช่วงล็อกดาวน์. www.bbc.com/thai/thailand-52817608