วิธีการปลูกป่าที่พัฒนามาจากการศึกษาของนักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่น สู่โอกาสการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง
ต้องใช้พื้นที่เท่าไรกันในการปลูกป่า?
ถ้าคำตอบในใจนั้นกว้างกว่าสนามเทนนิสสัก 2 – 3 สนาม เราก็อยากให้คุณคิดใหม่ เพราะป่าไซส์มินิกำลังเกิดขึ้นบนพื้นที่หย่อมเล็ก ๆ ในเขตเมืองทั่วโลก “มินิป่า” เหล่านี้ปลูกด้วยมือของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นโดยใช้วิธีการที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัดในประเทศญี่ปุ่น
ไอเดียนี้แสนจะเรียบง่าย ใช้แค่พื้นที่เล็ก ๆ ในชุมชน ปลูกกล้าไม้พันธุ์พื้นเมืองที่หลากหลายให้เต็มบริเวณ และปล่อยให้พวกเขาเจริญเติบโตโดยระวังให้การแทรกแซงเกิดน้อยที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้คือระบบนิเวศที่ซับซ้อนสมบูรณ์ เหมาะกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ พืชพันธุ์เติบโตได้อย่างรวดเร็ว และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไวขึ้น
มินิป่า: มิยาวากิสไตล์
วิธีปลูกป่าแบบมิยาวากิ คือแนวทางการปลูกป่าที่มาจากนักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่น “อากิระ มิยาวากิ” เขาค้นพบว่าพื้นที่ห้ามเข้าโดยรอบของวัด ศาลเจ้า และสุสานในประเทศญี่ปุ่นอุดมไปด้วยพืชพื้นเมืองหลากหลายสายพันธุ์ และทำให้เกิดระบบนิเวศที่หลากหลายสมบูรณ์แบบ สิ่งนี้แตกต่างกับป่าสนซึ่งไม้ใช่ต้นไม้พันธุ์พื้นเมืองและกินบริเวณพื้นที่ป่า
ผลการศึกษาของอาจารย์มิยาวากิได้พัฒนาเป็นวิธีปลูกป่าแบบมิยาวากิ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาธรรมชาติของป่าโดยใช้พืชพันธุ์พื้นเมือง มินิป่าตามแบบวิธีมิยาวากิสามารถเติบโตเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้ในเวลาเพียง 20 ปี เป็นเวลาที่รวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อเทียบกับป่าตามธรรมชาติทั่วไปที่ต้องใช้เวลาถึง 200 ปีสำหรับการเจริญเติบโตด้วยตนเอง มินิป่าเหล่านี้เป็นเหมือนโอเอซิสสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสามารถรองรับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้มากถึง 20 เท่าสำหรับสายพันธุ์ที่ไม่ได้อยู่ในป่ามาแต่เดิม
นักผสมเกสรประจำพื้นที่อย่างผีเสื้อ ผึ้ง แมลงเต่าทอง หอยทาก และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั้งหลายล้วนเป็นสัตว์ที่เจริญเติบโตได้ด้วยความหลากหลายของอาหารและแหล่งที่อาศัย
Photo Credit: www.drishtiias.com Dr. Akira Miyawaki
Photo Credit: www.afforestt.com
เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เขตเมืองทั่วโลก
ความนิยมของ “ป่ามิยาวากิ” กำลังเพิ่มขึ้น เกิดการริเริ่มโครงการปลูกป่ามิยาวากิมากมาย เช่น โครงการในประเทศอินเดีย โครงการ Replant Amazon (Instagram: @replant_amazon) และโครงการในทวีปยุโรป Urban Forests อีกหนึ่งโครงการปลูกป่ามิยาวากิในเบลเยียมและฝรั่งเศส และ Tiny Forest ในเนเธอร์แลนด์ กำลังรวบรวมอาสาสมัครเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างเล็ก ๆ ให้กลายเป็นป่ามิยาวากิ
นอกเหนือจากการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ Urban Forests สร้างประโยชน์มากมายแก่ผู้คนในชุมชน พื้นที่สีเขียวนี้สามารถช่วยเยียวยาจิตใจมนุษย์ ลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ และช่วยรับมือกับปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island Effect: ปรากฏการณ์ที่พื้นที่ในมหานครมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ) ในเขตเมืองต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของคอนกรีตและยางมะตอยส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างผิดธรรมชาติ
Photo Credit: www.urban-forests.com
Photo Credit: www.ivn.nl
อ่างกักเก็บคาร์บอน
ด้วยศักยภาพที่จะช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน ป่ามิยาวากิจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและดึงดูดเหล่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่ป่าคือกลยุทธ์สำคัญที่จะหยุดยั้งอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้นให้จำกัดอยู่แค่ 1.5 องศาเซลเซียส ที่โครงการรักษ์โลกอย่าง Bonn Challenge, Trillion Trees Vision, และ 1t.org ของ The World Economic Forum ตั้งเป้าหมายไว้
มีการคาดการณ์ว่าพื้นที่ป่าใหม่และพื้นที่ป่าที่กู้กลับคืนมาได้จะช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 10 กิกะตัน ภายในปี ค.ศ. 2050
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าป่าทั้งหมดจะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนที่เท่ากัน ป่าที่อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้พื้นเมืองจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เป็นผลมาจากโครงการปลูกป่าสมัยก่อน เมื่อนักวิทยาศาสตร์ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์ประกอบ ปัจจัยต่าง ๆ ของป่า เช่น คาร์บอนในดิน เราจึงได้รู้ว่าการปลูกพืชพันธุ์ที่เหมาะสมนั้นมีความสำคัญพอ ๆ กับจำนวนต้นไม้
Photo Credit: www.urban-forests.com
กลุ่มนักอนุรักษ์ย้ำว่าไม่ควรมองป่ามิยาวากิเป็นทางออกในการปกป้องผืนป่าภายในท้องถิ่น เพราะพื้นที่ป่าขนาดเล็กที่ไม่เชื่อมต่อกันไม่สามารถแทนที่ผืนป่าขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมากได้ ป่ามิยาวากิไม่ได้แก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ การถางและเผาก่อนการเพาะปลูก
แต่ถ้าคุณเห็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและไม่ได้ใช้งานในชุมชนของคุณล่ะก็ การปลูกป่ามิยาวากิก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ที่มา
- Alex Thornton. People are planting tiny urban forests to boost biodiversity and fight climate change. www.weforum.org