Kind Sustain

ว่าด้วย ‘พลาสติก’ ซึ่งเปลี่ยนไปจาก 2 เพลงคนละห้วงเวลา
ดอกไม้พลาสติก — เต๋อ เรวัต กับ Amour plastique—Adèle & Matthieu

“The truth does not change according to our ability to stomach it.”

— Flannery O’Connor 

“ความจริงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามความสามารถในการยอมรับของเรา”

— ฟลานเนอรีย์ โอ’คอนเนอร์

~

ผมจัดให้พลาสติกเป็น ‘วัสดุใหม่’ ด้วยเหตุผลที่ว่าข้อถกเถียงต่าง ๆ เกี่ยวกับมันยังไม่นิ่งสนิท ยอกย้อนไปมาตามกาลเวลา บริบท และวาระ อีกด้วยว่ามีพลาสติกใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด อย่างพลาสติกแบบสังเคราะห์จากพืช แบบย่อยสลายได้เมื่อฝังกลบ แบบละลายน้ำ ฯลฯ

ผมขอโน้มน้าวให้คุณเห็นว่าพลาสติกเป็นของใหม่ไร้บทสรุป และเราเองยังอยู่ใน ‘กระแสธารพลาสติก’ นั้น ผ่านชาติกำเนิดฉบับย่นย่อ และบทเพลงไอคอนิกจาก 2 ชาติคนละซีกโลก ซึ่งขัดแย้งกันคนละขั้ว

~

พลาสติก 101 — อดีตฮีโร่สู่ผู้ร้ายเต็มขั้น


ก่อนจะเป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของพอลิเมอร์ที่เรียงต่อกันเป็นห่วงโซ่แข็งแรงจากปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงฟอสซิล ‘พลาสติก’ มีความหมายแรกเริ่มว่า ‘พับได้และขึ้นรูปง่าย’ และใช้เวลาพัฒนากว่า 150 ปี

ย้อนไปเมื่อ ค.ศ. 1869 จอห์น วีสลีย์ ไฮแอต (John Wesley Hyatt) คิดค้นพอลิเมอร์สังเคราะห์เพื่อผลิตพลาสติกที่แข็งแรงทนทานตามอุดมคติ มาทลายข้อจำกัดทางทรัพยากร—ลดบทบาทเหล็กซึ่งขึ้นรูปยากและราคาสูง ไม้กับหินซึ่งใช้แล้วหมดไป ตลอดจนกระดูก เขา และงาสัตว์

เท่ากับว่าพลาสติกช่วยโลกและสิ่งแวดล้อมให้รอดพ้นจากพฤติกรรมกระหายหิวไม่รู้จบของมนุษย์ และเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมเรื่อยมานับจากนั้น สินค้าอย่างหวี ด้ามมีด ลูกสนุกเกอร์ คีย์เปียโน เข้าถึงได้มากขึ้นผ่านการผลิตปริมาณในระบบอุตสาหกรรมที่เรียกว่า ‘Mass Production’ ไม่กระจุกอยู่เฉพาะกับชนชั้นสูงลิบ

ใช่จะมีแต่ข้อดี เพราะยิ่งทนทานเท่าไร วัสดุทดแทนชนิดนี้ก็ยิ่งกำจัดยากเท่านั้น กลายเป็นปัญหาหลักแก้ไม่ตกสำคัญเรื่องหนึ่งของโลกทั้งใบ UNEP (The United Nations Environment Programme) ให้ข้อมูลว่าพลาสติกปริมาณเทียบเท่ารถบรรทุกขยะ 2,000 คัน ถูกทิ้งลงมหาสมุทร แม่น้ำลำธาร และทะเลสาบทั่วโลกรวม 19-23 ล้านตันต่อปี (แล้วที่ทิ้งตามบ่อขยะและที่อื่น ๆ ล่ะ …นับไม่ถ้วน) ซึ่งทำให้แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และระบบนิเวศทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลว จนสูญเสียความสามารถที่จะปรับตัวต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้ทันการณ์ และกระทบกับชีวิตของผู้คนหลายล้านคนในที่สุด ทั้งเรื่องอาหารการกินและคุณภาพชีวิต

ทีนี้ก็ยากที่ตอบชัดเจนแล้วว่า ‘พลาสติกเป็นฮีโร่หรือผู้ร้าย’


~

‘ดอกไม้พลาสติก’


เต๋อ—เรวัต พุทธินันทน์ 2528

ถ้าหลงรักเพลงช่วง ’80s คุณต้องรู้จัก ‘ดอกไม้พลาสติก’ ไม่แน่เพลงนี้อาจอยู่ในเพลย์ลิสต์เพลงโปรดของพ่อคุณก็ได้

ประเด็นอลังการทางดนตรีนี่ไม่อาจแตะต้อง ด้วยว่าทำนองและเสียงร้องจับใจจริง แต่เนื้อเพลงที่เปรียบผู้หญิงหน้าตาสวยเป็นดอกไม้พลาสติกนี่สิชวนค้างคา

หลักใหญ่ใจเพลง: ดอกไม้ปลอมมักดูโดดเด่นกว่าดอกไม้ทั่วไป แต่อย่างไรก็ไร้คุณค่าเพราะไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงพลาสติก ซึ่งไม่ต่างจากผู้หญิงที่เติมแต่งภายนอกจนสะสวยแต่หัวใจไม่สวยตาม ผิดกับผู้หญิงของแท้ที่ดูดีมีชีวิตชีวา

“หลายหลายคนไม่รู้ไม่เคยลองคิด

แท้แท้เธอก็เหมือนไม่มีชีวิต

คิดคิด ดูจะเห็นเธอเป็นเพียง

ดอกไม้พลาสติก

ถึงสวยก็ทำด้วยพลาสติก

อืม…พลาสติกจึงเป็นเพียงสิ่งปลอมปลอม”



เราต่างเข้าใจเพลงนี้ตามใจ—ชายแท้อาจเห็นด้วยกับเนื้อร้อง เฟมินิสต์อาจโฟกัสประเด็นผู้หญิงจริง-ปลอม แต่จุดร่วมที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือเพลงนี้เห็นว่าพลาสติกเป็นสิ่งไม่ดี

~

‘Amour plastique’
Adèle Castillon & Matthieu Reynaud (2018)



ดนตรีอิเล็กโทรป็อป มิวสิกวิดีโอสนุกสนาน และเนื้อเพลงซาบซึ้ง ส่งกลิ่นอาย ’80-’90s ให้พอหายคิดถึงอดีต

หลักใหญ่ใจเพลง: คร่ำครวญรักเจ็บปวดในคืนร้างดาวของคู่รักพลัดพราก ที่พร่ำเพ้อถึงจูบรสหวาน โอบกอดอบอุ่น สัมผัสแพสชันล้นที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับ


“Je me noie dans la vague de ton regard amoureux…”
[ฉันจมดิ่งในคลื่นสายตาคลั่งรักของเธอ]

“Je ne suis que ton nom…”
[ฉันเป็นเพียงชื่อเธอ] ประมาณว่าไร้ค่าหากขาดเธอ

“Je ne pense à toi que quand le jour sombre, que s’abattent sur moi
Mes tristes démons, dans l’abîme sans fond”
[ฉันคิดถึงเธอแค่ยามเศร้า แค่ยามที่ปีศาจโศกเศร้าจู่โจมในหุบเหวลึกไร้สิ้นสุด]
 


‘Amour plastique’ แปลง่ายดายว่า ‘รักพลาสติก’ ซึ่งเปิดกว้างให้ตีความ—อาจเป็นรักที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้/ รักแข็ง ๆ (?) หรืออื่น ๆ แต่หากพิจารณาถ้อยความบูชารัก ซึ่งกระจัดกระจายตลอดเพลง ร่วมด้วย รักพลาสติกในที่นี้ คงไม่พ้นรักค้างคาที่ตัดใจไม่สำเร็จ รักคงทนที่อยู่ได้นานแสนนาน เกือบ ๆ จะเป็นนิรันดร์ไม่ย่อยสลาย

ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องดีใช่ไหม?

ทั้งหมด… ก็เพื่อจะบอกว่าทุกอย่าง รวมถึงพลาสติก ขึ้นอยู่กับเรา—ใช้ จัดการ และอยู่ร่วมกันอย่างไร ไม่ว่าจะมีความเห็นต่อมันในทางดีงามหรือเลวร้าย มันก็มีคุณสมบัติดังเดิมและจะอยู่กับเราเรื่อยไป

การชี้ว่าอะไรถูก-ผิด/ ดี-เลวน่ะง่าย แต่รู้เท่าทันว่าไม่มีอะไรเป็นสัจจะนิรันดร์ แล้วหันมาโทษตัวเองต่างหากที่ยาก


ที่มา


เรื่องโดย