Kind Sustain

Powerhouse: อาคารพลังงานหมุนเวียน 100% จากประเทศนอร์เวย์


อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ไม่ได้สร้างแค่อาคารหรือบ้านเรือนเพียงอย่างเดียว แต่กลับสร้างภาระให้กับโลกใบนี้เช่นกัน ตั้งแต่ต้นทางการผลิตวัสดุก่อสร้าง เหล็ก ปูนซีเมนต์ และกระจก ไปจนถึงขั้นตอนการก่อสร้างจนสำเร็จเป็นบ้านเรือนหรืออาคาร จากรายงานประจำปีของ Global Status Report for Buildings and Construction ระบุว่ากระบวนการก่อสร้างนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทำร้ายสิ่งแวดล้อมมากถึง 11% จากผลการสำรวจในปี ค.ศ. 2018 และเพิ่มมาเป็น 39% ในปี ค.ศ. 2019

Snøhetta บริษัทสถาปัตยกรรมสัญชาตินอร์วีเจียน กับโครงการ Powerhouse หรืออาคารที่มีคุณสมบัติเสมือนโรงไฟฟ้า ผลิตพลังงานสะอาดสำหรับใช้ในตัวอาคาร มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกระบวนการก่อสร้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นแบบของการก่อสร้างอาคารอย่างยั่งยืนในอนาคต

☼  Powerhouse Kjørbo

อาคารสำนักงานเก่าแก่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ได้รับการปรับปรุง รีโนเวทใหม่

Powerhouse Kjørbo กลายเป็นสำนักงานแห่งแรกของโลกที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ได้เองภายในตัวอาคาร


หัวใจหลักของวิธีลดการใช้พลังงานคือ ระบบการระบายอากาศที่ดี การป้องกันความร้อนเข้าภายในตัวอาคาร และแสงสว่างที่เพียงพอ

Powerhouse Kjørbo ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ด้านบนอาคาร ซึ่งเป็นแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศนอร์เวย์ พลังงานสะอาดที่ผลิตจาก Powerhouse Kjørbo เป็นไฟฟ้าสำหรับสำนักงาน อาคารใกล้เคียงภายใน Kjørbo park และปั๊มแก๊ส Uno-X ในบริเวณเดียวกัน โดยพลังงานที่ผลิตจากอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งนี้ คิดเป็น 230,000 กิโลวัตต์ต่อปี

☼  Powerhouse Drøbak Montessori school

อาคารเรียนที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้แห่งแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศนอร์เวย์อีกเช่นกัน ด้วยข้อจำกัดทางการเงิน และเงื่อนไขการใช้งานที่แตกต่างออกไปทำให้โครงการ Powerhouse Drøbak Montessori School นั้นแตกต่าง ตัวอาคารชั้นเดียวติดตั้ง “Solar Plate” ทำมุม 33 องศาหันหน้าไปทางทิศใต้ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรับแสงแดดสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้า มากไปกว่านั้นแผ่นโซลาร์เซลล์เหล่านี้ยังสร้างพื้นที่ให้กับนักเรียน โดยภายในอาคารจะเป็นพื้นที่ส่วนรวมสำหรับพบปะและเรียนรู้ ส่วนพื้นที่นอกอาคารเป็นอัฒจรรย์และบันได


ระบบการระบายอากาศของอาคารพัฒนามาจากระบบของ Powerhouse Kjørbo ทั้งด้านประสิทธิภาพที่มากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง โดย Powerhouse Drøbak Montessori school สามารถผลิตพลังงานได้ 30,500 กิโลวัตต์ต่อปี ครอบคลุมการใช้พลังงานทั้งหมดของอาคารเรียนซึ่งอยู่ที่ 28,000 กิโลวัตต์ต่อปี

☼  Powerhouse Brattørkaia

อาคารสำนักงานแห่งที่ 2 ของโครงการ Powerhouse และเป็นอาคารผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนอร์เวย์ ตัวอาคาร 8 ชั้นผลิตจากวัสดุที่เป็นฉนวนกันความร้อน ช่วยลดการใช้พลังงานในการระบายอากาศ และฮีตเตอร์ช่วงฤดูหนาว Powerhouse Brattørkaia ให้ความสำคัญกับการออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และผู้คนที่อาศัยในละแวกนั้นเป็นอันดับแรก ทำให้ตัวอาคารกลมกลืนกันกับสิ่งปลูกสร้างบริเวณโดยรอบ แต่ก็ไม่ทิ้งเอกลักษณ์ด้าน Geometrical Design ด้วยหลังคาแผงโซลาร์เซลล์ที่มีลักษณะลาดเอียงเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการกักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์

อีกหนึ่งจุดเด่นของ Powerhouse Brattørkaia คือเป็นอาคารที่ผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากที่สุดของโปรเจกต์ Powerhouse โดยผลิตพลังงานได้สูงถึง 485,000 กิโลวัตต์ต่อปี


☼  Powerhouse Telemark

อาคารผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้ลำดับที่ 4 ของโครงการ Powerhouse ก่อสร้างสำเร็จในปี ค.ศ. 2020 นับเป็นการก้าวไปอีกขั้นของ Snøhetta ตัวอาคารเน้นวัสดุฉนวนกันความร้อนเช่นเดียวกันกับ Powerhouse Brattørkaia ด้านบนหลังคาปูด้วยแผงโซลาร์เซลล์ทำมุมลาดเอียงรับแสงทางทิศใต้ รวมถึงด้านหน้าของอาคารที่ติดตั้งระแนงโซลาร์เซลล์เอียง 24 องศา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้กักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มแสงให้กับภายในตัวอาคารด้วยเช่นกัน


Powerhouse Telemark สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้งานภายในตัวอาคารได้มากถึง 256,000 กิโลวัตต์ต่อปี ซึ่งมากกว่าการประมาณการก่อนการก่อสร้างถึง 16,000 กิโลวัตต์ต่อปี จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 240,000 กิโลวัตต์ต่อปี

☼  Power to Save the World

อาคารเหล่านี้ล้วนแสดงถึงอัตลักษณ์และแนวคิดของ Snøhetta กับพาร์ทเนอร์อย่างผู้ลงทุน Skanska บริษัทก่อสร้างจากสหราชอาณาจักร และเจ้าของอาคาร ที่ดิน สำหรับอาคารในโปรเจกต์ Powerhouse ทั้งหมด อาทิ บริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง ENTRA ASA และ R8 Property รวมไปถึงองค์กร Drøbak Montessori

“Powerhouse คือการรวมตัวของหลายบริษัทที่ทำงานต่างกัน กลุ่มลูกค้าต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างอาคารที่สามารถผลิตพลังงานสะอาดให้มีจำนวนมากกว่าที่เราใช้ไป” Kjetil Trædal Thorsen หุ้นส่วนผู้ก่อตั้งSnøhetta ให้สัมภาษณ์กับ Dezeen เกี่ยวกับโครงการ Powerhouse

“Telemark พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีข้ออ้างอีกต่อไปสำหรับการก่อสร้างอาคารที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ระบบต่าง ๆ ภายในอาคารนั้นมาจากวัสดุที่มีตามท้องตลาดทั้งหมด” เขากล่าวเสริม

ความตั้งใจของ Snøhetta สำหรับโครงการ Powerhouse คือการเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมการก่อสร้างอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง


“ในฐานะมืออาชีพแล้ว ประเด็นนี้ไม่ใช่โจทย์ ไม่ใช่ความท้าทาย แต่เป็นปัญหาที่อยู่ในมือ เราต้องจัดการมันให้ได้ เรามีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ และเราจะร่วมมือแก้ไขมันด้วยกัน” Kjetil Trædal Thorsen ย้ำกับ Dezeen


อ้างอิง