Kind Sustain

สร้างโลกยั่งยืน ด้วยกรอบแนวคิด SDGs 17 แผนพัฒนา สู่เป้าหมายปี 2030

“ความรับผิดชอบต่อสังคม” กับ “ความยั่งยืน”
สองแนวทางที่โคจรมาบรรจบเพื่อการพัฒนาโลกของเราให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม


“SDGs หรือ Sustainable Development Goals” คือกรอบแนวคิดที่เรียกว่าเป็นขั้นกว่าของการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) โดยเราต้องก้าวข้ามการทำ
กิจกรรมเพื่อสังคมแบบเดิม ๆ เพื่อเดินหน้าสู่การพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมแบบยั่งยืน

โดย UN Global Compact มุ่งเน้นให้บริษัททั้งภาครัฐและเอกชนหลุดจากกรอบการทำเฉพาะกิจกรรม CSR ไปสู่การดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ในรูปแบบที่มีความสำคัญจริง ๆ ไม่ใช่การทำกิจกรรมแค่เพียงผิวเผิน แต่เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกิดจากการรับหลักการ SDGs ทั้ง 17 ข้อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ และวัฒนธรรมองค์กร 

นอกจากนี้ UN GC ให้ข้อมูลถึงเหตุผลหลัก 3 ข้อที่บริษัทควรเข้าร่วมกรอบนี้อย่างเป็นสัดส่วนไว้ว่า 80% เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัท 59% เป็นหลักปฏิบัติสากลในการดำเนินงาน และ 58% เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในบริษัท

การปรับเปลี่ยนนโยบายองค์กรให้สอดคล้องกับหลักการที่เป็นสากลจะครอบคลุมทั้งหมด 4 หัวข้อใหญ่คือ การต่อต้านการทุจริต การปกป้องสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน และสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้สามารถแยกย่อยออกมาเป็นประเด็นได้ทั้งหมด 17 แผนพัฒนา 

โดยทาง UN Global Compact วางแผนไว้ว่าจะทำให้ได้ทั้งหมดนี้ภายในปี 2030 หรืออีก 15 ปีนับจากวันที่ตกลงร่วมกันในปี 2015 ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นทั้งวิสัยทัศน์ และเป็นแผนงานที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก โดยมีผู้นำจาก 180 ประเทศทั่วโลกร่วมลงชื่อในปฏิบัติการครั้งนี้


17 หมุดหมายเดินหน้าสู่ความยั่งยืนมีอะไรบ้าง? 

คำว่า “ยั่งยืน” ในที่นี้ ถูกแบ่งออกเป็น 17 ข้อ แบ่งเป็นประเด็นทางความยั่งยืนดังนี้

1. No Poverty ขจัดความยากจน
ความยากจนนี้หมายรวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หรือสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงทรัพยากรและการบริการขึ้นพื้นฐาน ไปจนถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

2. Zero Hunger ขจัดความหิวโหยและความอดอยาก
รวมไปถึงแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เด็กและผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการ 

3. Good Health and Well-being มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 
การสร้างภูมิคุ้มกันของโรคและการดูแลสุขภาพเพศ ยุติการระบาดของโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่นๆ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีน และการเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม 

4. Quality Education การศึกษาที่เท่าเทียม 
คือการศึกษาที่ทั่วถึง เสมอภาคทุกเพศ มีคุณภาพ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การอบรมสายอาชีพ และที่สำคัญที่สุดคือเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายทุกคนได้รับการศึกษาฟรีในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 

5. Gender Equality ความเท่าเทียมทางเพศ
เป้าหมายเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลก รวมไปถึงการพัฒนาบทบาทของสตรี ลดช่องว่างในตลาดแรงงาน และลดความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ 

6. Clean Water and Sanitation การจัดการน้ำและสุขาภิบาล
แม้ว่าน้ำจะเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่เราคุ้นกันดี แต่การเข้าถึงและขาดแคลนน้ำสะอาดคือปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นทุกทวีปทั่วโลกซึ่งกระทบประชากรกว่า 40% ในข้อนี้นอกจาก
การจัดการน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคแล้ว ยังครอบคลุมถึงการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำ เช่น ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ   

7. Affordable and Clean Energy พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ 
ข้อนี้คือการเข้าถึงและการลงทุนในแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อน โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตพลังงานสะอาดในประเทศกำลังพัฒนา และลดการใช้งานโรงไฟฟ้าขนาดกลาง

8. Decent Work and Economic Growth การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เพื่อบรรลุเป้าหมายการผลิตในระดับที่สูงขึ้นและผลิตผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดมาตรการที่กำจัดการใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ เกิดการจ้างงานและการทำงานที่เหมาะสมสำหรับทุกเพศ

9. Industry, Innovation and Infrastructure อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
คือการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ชลประทาน พลังงาน สารสนเทศ ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาเทคโนโลยี

10. Reduces Inequalities ลดความเหลื่อมล้ำ 
ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการเงิน การลงทุน การเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข การอพยพย้ายถิ่นฐาน การแบ่งเขตแดน ส่งเสริมนโยบายด้านภาษี การส่งออกและนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา 

11. Sustainable Cities and Communities เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน
การจัดการกับความยากจนที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง พร้อมกับการวางแผนเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากร การสร้างความปลอดภัยในเมือง รวมไปถึงการลงทุนเรื่องขนส่งสาธารณะ สร้างพื้นที่สีเขียว ปรับปรุงผังเมือง และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนกับเมืองด้วย 

12. Responsible Consumption and Productionผนการบริโภคและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ข้อนี้เน้นไปที่ “Doing more and better with less” มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการบริโภคน้อยลง การดูแลทั้งสายพานจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค รวมไปถึงการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดขยะและลดมลพิษด้วย

13. Climate Action การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของภูมิภาคที่มีภาวะเสี่ยงของประชาชน โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ประเทศที่เป็นเกาะ และการร่วมมือกันจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส

14. Life below water การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
มีแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย เช่น สร้างกรอบการทำงานเพื่อป้องกันระบบนิเวศชายฝั่ง ปกป้องทะเลจากมลภาวะจากแหล่งบนบก จัดการการเป็นกรดของมหาสมุทร อนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนผ่านกฎหมาย 

15. Life on Land การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก
ข้อนี้มุ่งเน้นที่การอนุรักษ์และฟื้นฟูประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก เช่น ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่กึ่งแห้งแล้ง และภูเขาสร้างแนวทางการลดการทำลายป่า รักษาความหลากหลายของระบบนิเวศ

16. Peace and Justice Strong Institutions สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก
หมายถึงการลดความรุนแรงทุกรูปแบบในสังคม แก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศ การลดการใช้อาวุธผิดกฎหมาย ส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันการปกครองทั่วโลก 

17. Partnerships for the goals ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เป้าหมายทั้ง 16 ข้างต้นจะสำเร็จได้เมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งความ ร่วมมือระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา (North-South) และความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South)

ผู้ประกอบการ คือกำลังสำคัญที่มีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในวงการ start-up, องค์กร NGO, หน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างนวัตกรรม และสร้างความร่วมมือ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบัน

ปัจจุบันภาคธุรกิจทุ่มทรัพยากรมากมายในการเจาะตลาดเพื่อการค้าเอากำไร เราก็สามารถทำแบบเดียวกันเพื่อสร้างกำไรให้กับสังคมตามเป้า SDGs ได้เหมือนกัน และต่อจากนี้รัฐบาลที่สามารสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนให้เกิดนักลงทุนและผู้ประกอบการที่จะลงมือแก้ปัญหาเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ รัฐบาลนั้นก็จะได้รับคำชื่นชม และจะเกิดการพัฒนาชีวิตของประชากรในประเทศนั้น ๆ ได้จริง

Sustainability for everyone,
Uniting business for a better world

นับถอยหลังสู่ปี 2030 ด้วยแผนพัฒนา 17 ข้อที่จะพาให้โลกยั่งยืนไปด้วยกัน


อ้างอิง