ย้อนไปเมื่อเวลาเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 เสียงปืน 1 นัด ดังกึกก้องท่ามกลางความสงัดในราวป่าห้วยขาเเข้ง นับเป็นวันที่ประเทศไทยได้สูญเสียผู้พิทักษ์ป่ามือดีที่สุดไปอีกคนหนึ่ง เเต่กระสุนนัดเดียวกันนั้นก็ปลุกคนไทยให้ตื่นตัวเเละตระหนักว่า…
“หน้าที่รักษ์ป่าไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งหากเป็นของพวกเราทุกคน”
รำลึกนึกไปในปี พ.ศ. 2532 “สืบ นาคะเสถียร” เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่จังหวัดอุทัยธานี ด้วยความมุ่งมั่นและใจเต็มร้อยที่จะรักษาผืนป่าที่นี่ให้ดีที่สุด พร้อม ๆ กับปัญหารุมเร้าที่เขาต้องพยายามแก้ไข ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งคือ หัวใจของผืนป่าตะวันตกที่ต้องรักษาไว้ แต่ปัญหาที่เขาพบนั้นมีอยู่จำนวนไม่น้อย อาทิ การตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต รวมถึงปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบพื้นที่ป่า
เวลาเกือบปีที่สืบทุ่มเทงานอย่างหนัก เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนหันมาสนใจผืนป่าแห่งนี้ แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับมามีเพียงความเฉยชาของผู้คนเหล่านั้น ซึ่งจากปัญหาต่าง ๆ ที่เขาต้องประสบ ทำให้สืบได้เข้าใจว่า สิ่งที่เขากำลังต่อสู้อยู่ มันยิ่งใหญ่และยากเกินกว่าเขาและทีมงานเล็ก ๆ จะเอาชนะได้ เพราะปัญหาทั้งหมดต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและประชาชนถึงจะสำเร็จได้
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2533 สืบได้ทำรายงานเรื่อง “DOMINATION OF THE THUNG YAI-HUAI KHA KHAENG WILDLIFE SANCTUARY” ซึ่งเป็นงานวิชาการชิ้นสุดท้ายของเขา โดยจัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) เพื่อให้ผืนป่าสมบูรณ์ผืนนี้ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และเพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวได้รับการคุ้มครองอย่างยั่งยืน
หลังจากนั้นเขาได้ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองที่บ้านพัก เสียงปืนที่ดังก้องไพรในวันนั้นเป็นการปลุกสังคมให้ตื่นเรื่องการอนุรักษ์ป่า เพราะสองอาทิตย์ถัดมา ข้าราชการระดับสูงจากกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนับร้อยคน ได้แห่กันมาประชุมปรึกษาหารือในการป้องกันการทำลายเขตรักษาป่าห้วยขาแข้งอย่างแข็งขัน อาจจะกล่าวได้ว่าหากไม่มีเสียงปืนในราวป่านัดนั้น การประชุมครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้น
สืบ นาคะเสถียร อุทิศตัวตนเพื่ออนุรักษ์ผืนป่า ไม่เพียงเท่านั้นเขายังอุทิศทั้งชีวิต และจิตวิญญาณของเขาไว้ที่นั่นด้วย จนในที่สุดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ผืนป่าแห่งนี้ก็ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ซึ่งนับเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่สืบมอบไว้ให้แก่ประเทศไทย
“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าเพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”
สืบ นาคะเสถียร
ป่าสู่เมือง… จากวันนั้นถึงวันนี้
การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร ในวันนั้นไม่ได้สูญเปล่าไปอย่างไร้ค่า เพราะเสียงปืนดังไปถึงหัวใจของผู้คนจากหลากอาชีพที่มีใจรักษ์ธรรมชาติ หลังวันงานพระราชทานเพลิงศพของสืบในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2533 จึงได้เกิดการรวมตัวจัดตั้ง “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ขึ้นมา เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของนักอนุรักษ์ผู้นี้ให้คงอยู่ ส่งผลให้การอนุรักษ์ป่าไม้ และการคัดค้านเขื่อนเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ป่า ก็ยังคงดำเนินอยู่จนถึงในปัจจุบัน เช่น โครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ WEFCOM Ecosystem Management Project โครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตก และโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม เป็นต้น
แต่กระนั้นการทำงานรักษาผืนป่าไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าเราจะรณรงค์ทำกิจกรรมเพื่อสัตว์ป่า และป่าไม้อย่างเต็มที่ ทว่าจากสถิติการสำรวจของสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ พบว่า พื้นที่ป่าในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2543 – 2562 (รวมระยะเวลา 20 ปี) พื้นที่ป่าไม้ลดลง กล่าวคือ จากพื้นที่ป่าจำนวน 106,319,237.50 ไร่ ในปี พ.ศ. 2543 ลดจำนวนลงเหลือ 102,484,072.71 ไร่ ในปี พ.ศ. 2562 หรือคิดเป็นอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้เท่ากับ 191,758.24 ไร่ต่อปี
หากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ระหว่าง ปี พ.ศ. 2560 – 2561 และ พ.ศ. 2561 – 2562 พบว่า พื้นที่ป่าไม้ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาลดลงจำนวน 4,229.48 ไร่ แม้ว่าตามสถิติภาพรวมของประเทศ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ป่านั้นลดน้อยลง แต่ก็มีมาตรการจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น คือ ปรับบทกำหนดโทษให้สูงขึ้น เช่น การล่าสัตว์ป่าสงวน บทกำหนดโทษคือ จำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 300,000 – 1,500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เป็นต้น
ร่วมสืบสานปณิธานนักอนุรักษ์ผู้เป็นตำนาน
ปีแล้วปีเล่าที่ลักษณะการจัดกิจกรรมงานรำลึกสืบฯ ในค่ำคืนวันที่ 31 สิงหาคม ถูกดำเนินตามรูปแบบที่คุ้นชินตาสำหรับคนในแวดวงอนุรักษ์และประชาชนทั่วไป ที่จะได้เห็นภาพการรวมตัวของผู้คนที่หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ ซึ่งมีจุดประสงค์เดียวกัน คือการร่วมจุดดวงประทีปเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของคุณสืบ ณ อนุสรณ์สถานสืบ นาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
แต่ปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ทางมูลนิธิฯ จึงได้ปรับกิจกรรมจุดเทียนรำลึกเป็นรูปแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรมซูมมิตติ้ง (Zoom meeting) เพื่อร่วมจุดเทียนรำลึกถึงคุณสืบพร้อมกันทั่วโลก โดยสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ส่วนวันที่ 1 กันยายน ซึ่งกำหนดให้เป็น “วันสืบ นาคะเสถียร” มูลนิธิสืบฯ จัดกิจกรรมให้ประชาชนได้ร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักอนุรักษ์ต้นแบบในความทรงจำ ประกอบด้วยกิจกรรมดังนี้
- กิจกรรมถ่ายทอดสด – งานรำลึก 30 ปี สืบนาคะเสถียร “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” สามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดงานรำลึก
30 ปี สืบนาคะเสถียร ได้ที่เพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร - กิจกรรมวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึกสืบ นาคะเสถียร เวลา: 18.00 – 21.00 น. สถานที่หน้าลาน หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- กิจกรรม LIGHT IT UP ฉายเลเซอร์ข้อความรณรงค์สิ่งแวดล้อม เวลา: 19.00 – 21.00 น. ซึ่งจะถูกฉายพร้อมกัน 5 จุดทั่วกรุงเทพฯ
- นิทรรศการ 30 ปี สืบฯ ในความทรงจำผู้ปลุกไฟในงานอนุรักษ์ 30th Memory of Seub
เวลา: 10.00 – 19.00 น. สถานที่: โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
รายละเอียด: นิทรรศการ “30 ปี สืบในความทรงจำ ผู้จุดไฟในงานอนุรักษ์” เป็นการเล่าเรื่องราวของสืบ นาคะเสถียร จาก อดีตที่ผ่านมาถึงการทำงานสืบทอดเจตนาในปัจจุบัน 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ผ่านมิติของแสงและเงา เพื่อระลึกถึงการจากไปของนักอนุรักษ์ผู้เป็นตำนาน
เพราะไม่มีใครชอบการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคน… ชีวิตสัตว์ป่า… รวมถึงคุณค่าของป่าไม้ มาร่วมสืบทอดเจตนา รักษาผืนป่า พร้อมต่อลมหายใจของสรรพสิ่งในธรรมชาติอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
- “สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย. www.seub.or.th
- ลำดับชีวิต ประวัติ สืบ นาคะเสถียร. https://bit.ly/3l6Rm1z
- นิตยสาร – สารคดี ชีวิตและความตาย สืบ นาคะเสถียร. https://bit.ly/34rNimE
- กำหนดการงานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร. https://bit.ly/3gp0ElN
- สืบสานปณิธาน “สืบ นาคะเสถียร”. www.moveworldtogether.com
- โครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นี่ป่าไม้. http://forestinfo.forest.go.th