Kind Hearted

‘รักมนุษย์’ ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย



เราเติบโตมาบนโลกที่ทุกคนให้ดอกกุหลาบเพื่อแสดงความรักต่อกัน จนบางครั้งก็นึกไม่ออกว่าจะแสดงความรักแบบอื่นอย่างไรดี? นอกจากความรักระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เรายังพอจะหาพื้นที่ว่างอีกนิด ให้รักสิ่งอื่น ๆ ได้ไหม? คราวนี้ KiNd เลยอยากชวนคนที่ KiNd รัก และรัก KiNd มา ‘รัก’ สิ่งอื่น ๆ ในรูปแบบอื่น ๆ ดูบ้าง



I love you, ENVIRONMENT
ใช้แล้วใช้ซ้ำทำให้เหมือนใหม่


เราต่างก็รู้ว่าควรต้องลด ละ เลิกพลาสติก แต่หลายครั้งพวกมันก็มาในรูปแบบที่เราปฏิเสธไม่ได้ (ซองขนม แก้วน้ำดื่ม ขวดแอลกอฮอล์ แมส ปกหนังสือใหม่ ฯลฯ) เรื่องแบบนี้เราทำอะไร(ด้วยตัวเอง)ไม่ค่อยได้ ทางเดียวคือต้องร่วมกันผลักดันภาครัฐให้ออกมาตรการจัดการที่เสร็จสรรพรัดกุม ตอนนี้สิ่งที่จะทำได้ทันทีก็คือ ‘ใช้ซ้ำ’ หรือ ‘นำไปรีไซเคิล’ จริง ๆ แล้ว พลาสติกไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้แค่ครั้งเดียวอย่างที่รู้ ๆ กัน พลาสติกทนทานพอที่จะใช้ซ้ำไปซ้ำมาได้เป็นสิบ ๆ ครั้ง ก่อนจะทิ้ง หรือรีไซเคิล ขั้นแรกยังไม่ต้องทำอะไรมาก ยังไม่ต้องซื้อกระเป๋าผ้าใบใหม่ ทัมเบลอร์เก็บความร้อน-เย็นก็ด้วย เริ่มใช้พลาสติกที่มีซ้ำ ๆ วนไปก่อน “ใช้ซ้ำนี่ล่ะ คลีนที่สุดแล้ว”

หากรู้สึกไม่สะดวก ไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ลองเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จากการอุดหนุนธุรกิจรายย่อยตามกรีนสเปซมากมายที่มีจัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แทบทุกวัน ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ หรือโปรดักต์สุดคูลจาก Precious Plastic Bangkok ก็ได้ บอกเลยว่าโปรเจกต์รีไซเคิลขยะพลาสติกให้เป็นเครื่องใช้ของที่นี่ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะที่ปลายเหตุ แต่ Precious Plastic Bangkok ยังส่งต่อองค์ความรู้และวิธีการไปยังชุมชนซึ่งเป็นหน่วยที่จิ๋วที่สุดของประเทศด้วย เชื่อเถอะว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมที่ดีจะต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ  จากพวกเราทุกคน และที่สำคัญไม่ยากหรือเสียเวลาอย่างที่คิด

I love you, CULTURE
ใส่ใจใส่ไทย
(ส์)

ทันทีที่พูดว่า “ใส่ผ้าไทยกันภาพชุดหลากสีเงาวับก็จะลอยขึ้นมาก่อน ลายเยอะ ๆ แพตเทิร์นเชย ๆ ที่มีขายดาษดื่นก็จะตามมา จะลงทุนตัดเองก็แพงเกินเอื้อม ตัดใจน่าจะง่ายกว่าตัดชุด ไหนจะภูมิอากาศอบอ้าวบ้านเราอีก ไม่เหมาะกับใส่ไปทำงานทุกวันแน่ ๆ 

ใจร่ม ๆ ก่อนทุกคน ถ้ายังไม่ได้เห็นบรรดาชุดผ้าฝ้ายเมืองเหนือเอิร์ธโทน แท้จริงแล้ว… เสื้อผ้าพื้นเมืองเนี่ยเรียบง่าย ใส่สบาย มินิมอลสมใจชาวมูจิ ใครมีโอกาสไปเที่ยวแล้วเจอ ก็อุดหนุนชาวบ้านกลับมาลองใส่สักชุดสองชุด  ถ้าไม่สะดวกไปซื้อเอง จะสั่งร้านค้าออนไลน์ช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยก็ดีไปอีกแบบ ลองใส่ใจเลือกซื้อจากธุรกิจชุมชนที่จ้างคนในท้องถิ่นมาทำจริง ๆ ก็จะสบายตัว สบายใจไปอีกขั้น  

เอาใจสายเข้ม (รวมถึงตัวเองด้วย) เกาะกระแส วัยรุ่นเทสดี เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็แต่ง ออลแบล็กดำล้วนกันหมด เรื่องเท่ ดูดี พักไว้ก่อน ของแบบนี้มันปัจเจก แต่ถ้าเรื่องความสะดวก หยิบชิ้นนี้ คู่ชิ้นนู้น อย่างไรก็เข้าชุดเนี่ย… จริงเสียยิ่งกว่าจริง 

ที่เขียนต่าง ๆ นานา ก็แค่จะบอกว่า ‘ชุดไทย ๆ’ ก็มีสีดำ เราออลแบล็กกันมานานตั้งแต่รุ่นทวดของทวดแล้ว เสื้อก้อม (คนละแบบกับทางเหนือ) — เสื้อสีดำล้วนของกลุ่มชาติพันธุ์ ‘ไทยทรงดำ’  ใส่ได้แทบทุกโอกาส จะหามาใส่ทั้งชุด หรือเลือกมาแค่บางชิ้นก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละคน จะเอาเสื้อก้อม เสื้อตัวยาว หรือผ้าโพกหัว มาใส่เพิ่ม ก็จะให้ลุคใหม่ แต่ไม่แปลก

‘ไทยทรงดำ’ ‘ไทดำ’ หรือ ‘ลาวโซ่ง’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ชาวไทดำกระจายอยู่หลายจังหวัดตามแต่ละภาค ถึงจะผ่านไปนาน แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายพื้นบ้านก็ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะเอาไว้ เสื้อผ้านอกจากจะบอกความเป็นเราได้แล้ว ยังมาพร้อมเรื่องราวเบื้องหลังมากมาย กลับมา ‘ใส่ไทย’ เล่าอดีตให้ทุกคนฟังกันเถอะ

เพื่อให้เสื้อผ้าพื้นถิ่นอยู่ต่อไปอย่างเข้มแข็ง เราทุกคนต้องหันมาใส่จริง ๆ ในชีวิตประจำวัน การเก็บรักษาไว้ในแค่ในพิพิธภัณฑ์ไม่พอจะทำให้ธุรกิจชุมชนเล็ก ๆ ดำเนินต่อไปได้ เมื่อไม่มีคนใส่ ก็ย่อมไม่มีการตัดเย็บ สุดท้ายชุดพื้นถิ่นก็จะถูกหลงลืมไปในที่สุด

I love you, ANIMALS
กินได้กิน
(ให้)ดี



‘เพราะโลกนี้ไม่ได้มีแค่มนุษย์’ การแสดงความรักต่อสรรพสัตว์เพื่อนร่วมโลก (ที่มากกว่าถ่ายรูปเล่น กอด หอม)  ถือเป็นเรื่องน่าทำ เพราะงั้นมาเริ่มใส่ใจอะไรใกล้ ๆ ตัว ที่ทำประจำ วันละหลายครั้ง อย่าง การกิน’น่าจะดี และทำได้เลย

พอกดแฮชแท็ก #friendsnotfood ที ก็อยากเป็นวีแกนที ใครที่กำลังพยายามเหมือนกัน แต่ยัง ลด-ละ-เลิก เนื้อสัตว์ไม่สำเร็จ มา! ไม่ต้องรอพร้อม เริ่มทำความเข้าใจอาหารที่เรากินอยู่ และปรับเปลี่ยนทีละนิดอาจช่วยได้ เข้าใจดีว่ามีเหตุผลร้อยแปด (และข้ออ้างอีกนิดหน่อย) ที่ทำให้การกินวีแกนในประเทศนี้เป็นเรื่องยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ ชีวิตคนทำงานแบบเวิร์ก-ไลฟ์ไม่ค่อยบาลานซ์ ตื่นแต่เช้า พักเที่ยงแค่ชั่วโมงเดียว จะเอาเวลาที่ไหนไปเตรียมอาหารมากินที่ทำงาน ซื้อตามร้านทั่วไปก็ไม่มีขาย กินในห้างก็แพงเกินค่าแรงขั้นต่ำ งั้นเริ่มจากเลิกบุฟเฟ่ต์เด็ดขาดก่อน ตัดปริมาณเนื้อสัตว์เกินจำเป็นออก! 

พอเริ่มลดปริมาณได้บ้างแล้ว ลองตัดใจไม่กินของอร่อยบางชนิดดู ลองตามติดกระบวนการเลี้ยงสัตว์ดู เผื่อรู้แล้วจะอยากกินมันน้อยลง เพราะหลายครั้งของอร่อยก็มีสตอรี่เศร้า ๆ อยู่เบื้องหลัง

‘ฟัวกราส์ (Foie gras) aka ตับห่านฝรั่งเศส’ — กว่าจะได้ตับอวบ ๆ มาสักก้อน  ทั้งคนงาน ทั้งห่าน-เป็ด ต้องทุกข์ทรมานหลายร้อยชั่วโมง (ย้ำว่าไม่เกินจริง) จากกระบวน ‘การยัดอาหาร’ แสนทารุณที่เรียกว่า กาวาช (gavage)  ทุกวันคนงานจะต้องยัดอาหารห่านกว่า 500 ตัว วันละสามครั้งหรือมากกว่านั้น ‘ด้วยท่อโลหะ’ แท่งยาว ที่ต้องทำเช่นนั้น… ก็ด้วยเวลาอันจำกัดและปริมาณอาหารที่มากกว่าปกติ 10 เท่า เกินจากที่บรรดาห่านจะยอมกินเอง หลายครั้งก็แทงพลาดทะลุคอทำให้ห่านกินน้ำและหายใจไม่ได้ ติดเชื้อ และตายในที่สุด ส่วนตัวที่รอดก็ต้องเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลากาวาช ครั้งต่อ  ๆ ไป ซ้ำร้ายที่เลี้ยงก็คับแคบไม่สบายตัวเพื่อกันห่านขยับตัวเยอะเกิน (แค่ขยับ = ออกกำลังกาย) หลายตัวเท้าอักเสบติดเชื้อจากการยืนแช่บนตะแกรงนานเกินไป

‘หูฉลาม (Shark fin)’  — ปี ๆ หนึ่ง ฉลามจะถูกฆ่าเอาเฉพาะครีบประมาณ 73 ล้านตัว ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากหากเทียบกับอัตราการเกิด ฉลามบางชนิดมีลูกได้เพียง 4-10 ตัวต่อปี ถึงจะวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ กว่า 450 ล้านปี สุดท้าย… นักล่าจอมโหด ก็พลาดท่าแก่มนุษย์สุดเหี้ยม ชาวประมงจะจับขึ้นมาตัดครีบทั้งเป็น แล้วโยนทิ้งทะเล ค่อย ๆ ปล่อยให้เลือดไหล ขาดอากาศหายใจจนตาย ที่ทำแบบนั้นก็เพราะเรือประมงมีพื้นที่จำกัด หากแช่ฉลามทั้งตัวก็จะเสียโอกาสในการจับปลามีราคาชนิดอื่น ดังนั้นการกินซุปหูฉลามสักถ้วยถือว่า ‘ไม่คุ้มค่า’ ไม่ใช่เรื่องมูลค่า แต่เป็นเรื่องทรัพยากร

เมื่อผู้บริโภคลำดับสูงสุดในทะเลลดปริมาณลงเรื่อย ๆ นิเวศน์ทางทะเลก็จะย่ำแย่ลงเช่นกัน เพราะขาดผู้ควบคุมปริมาณสิ่งมีชีวิตในทะเล ปลาใหญ่(แต่ขนาดเล็กกว่าฉลาม)ก็จะมีประชากรล้นทะลักไล่กินปลาตัวจิ๋วไม่เลือกหน้า ไม่สมดุลกับทรัพยากรที่มีจำกัด ปลาตัวเล็กตัวน้อยและสัตว์น้ำบางจำพวกก็จะสูญพันธุ์ตามฉลามไปในที่สุด  เมื่อไม่มีสัตว์ตัวน้อยพวกนี้คอยกินสาหร่ายหรือพืชเล็ก ๆ ที่เกาะตามปะการัง ปะการังก็จะสังเคราะห์แสงไม่ได้และทยอยตายตามกันไป สัตว์ที่อาศัยตามแนวประการังก็จะไม่เหลือถิ่นที่อยู่ในที่สุด… จากนี้จะพูดว่า ‘แค่หูฉลามถ้วยเดียว’ ไม่ได้แล้วนะ!

อีกหน้าที่สำคัญของฉลาม คือกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการกินซากศพใต้ทะเลไม่ให้ลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ปริมาณที่ฉลามช่วยกำจัดเนี่ย ไม่ใช่ธรรมดา พอ ๆ กับปริมาณที่โรงงานผลิตออกมาครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว และแล้วคำว่าโลกร้อนก็กลับมาหลอกหลอนพวกเราอีกตามเคยในวันที่ไม่เหลือฉลาม

ความเชื่อเรื่องรสชาติ คุณสมบัติทางยา และสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง ลวงให้เราทุกคนกินหูฉลามอย่างเอร็ดอร่อย แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำอยู่ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเราและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ปัจจุบันคนเริ่มหันมารณรงค์งดกินหูฉลามกันมากขึ้น หูฉลามกลายเป็นภาพแทนของความล้าหลัง ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความมั่งคั่งอีกต่อไป

สำหรับใครที่ไม่ได้ชื่นชอบการบริโภคอาหารพวกนี้อยู่แล้ว ก็โชคดีที่คุณไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมากมาย ขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณแทนน้อง ๆ สัตว์ทั้งหลาย แต่หากพอมีเวลา และกำลังทรัพย์ก็อยากชวนให้มาเลือกซื้อของเข้าบ้านแบบตั้งอกตั้งใจกว่าเดิม เพื่อความสุขที่(อาจ)เพิ่มขึ้นของน้อง ๆ อย่าง เนื้อ นม ไข่ จากฟาร์มขนาดย่อม-กลาง-ใหญ่ ที่ทำปศุสัตว์แบบใส่ใจคุณภาพชีวิตสัตว์  ไม่ก็หันมาดื่มนมแพลนต์เบสจากถั่วเหลือง อัลมอนด์ หรือธัญพืชชนิดอื่น ๆ  แทน เดี๋ยวนี้ไข่ไก่อารมณ์ดี เลี้ยงปล่อยอิสระราคาย่อมเยาก็มีให้เลือกซื้อเยอะขึ้นแล้วนะ

ที่เขียนเล่าให้ฟังนี่ยังน้อย… พวกคุณที่กำลังอ่านอยู่น่าจะมีสิ่งรอบตัวให้รักอีกเพียบ หวังว่าวันหนึ่งจะได้อ่านเรื่องราว ‘ความรัก’ ในแบบของคุณบ้าง 


ที่มา

  • The Humans | เครื่องแต่งกายไทยดำและไทยทรงดำ
  • Thai Power | ชุมชนทอผ้าไทยทรงดำ อวดสายตาเวทีโลก ด้วยสปอร์ตแวร์สไตล์โมเดิร์น
  • ไทยรัฐ  | อ.ธรณ์ เผยขั้นตอน ก่อนเป็นซุปหูฉลาม สุดทรมาน เผยสรรพคุณ จวกแค่กินแล้วเท่
  • Precious Plastic
  • Circulab | Single-use plastic is no longer fantastic 
  • PETA |  Foie Gras: Cruelty to Ducks and Geese
  • Sentient Media |  What Is It, How Is It Made, and Is Foie Gras Cruel?.
  • FOOD MATTERS® | 6 foods too cruel to eat 
  • Animal Welfare Institute  | Shark Finning.
  • The Guardian | ‘Extinction crisis’ of sharks and rays to have devastating effect on other species, study finds.
  • Oceans Research | Why do We Need Sharks for Our Ecosystem? 
  • Wild View | How Sharks Help Keep Coral Reefs Healthy

เรื่องโดย

ภาพโดย