Digi Kind

ดูแลผู้สูงอายุผ่าน “เทคโนโลยี VR” สร้างความมีชีวิตชีวาให้กลับมาอีกครั้ง!


“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก ผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางกายภาพมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างปราศจากแรงกระตุ้น และอาจนำไปสู่การเป็นโรคสมองเสื่อม การกายภาพบำบัดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุเหล่านี้เพื่อให้ความสามารถทางกายภาพดีขึ้น แต่พวกเขาขาดแรงจูงใจที่จะทำกิจวัตรประจำวันแบบเดิมต่อไป

“เคนตะ โทชิมะ” นักวิจัยจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง มหาวิทยาลัยโตเกียว และผู้มีประสบการณ์ด้านการพยาบาล กำลังแก้ไขปัญหานี้ซึ่งเป็นสิ่งที่พยาบาลผู้ดูแลจำนวนมากเผชิญอยู่ โดยการใช้ “เทคโนโลยีความจริงเสมือน” หรือ “Virtual Reality (VR)” เขาได้พัฒนา “การท่องเที่ยวแบบ VR” ขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวามากขึ้นจากการชมภาพการท่องเที่ยวที่สถานที่แห่งความทรงจำหรือแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความบันเทิงรูปแบบโลกเสมือนจริงซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนหนุ่มสาว ทว่าการนำมาใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุก็เป็นประโยชน์ไม่น้อย เพราะอุปกรณ์ VR พวกนี้ทำให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวได้ทัวร์เสมือนจริงในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตติดอันดับโลก

“เป้าหมายหลักของผมคือ นำเอาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และใช้งานได้จริงมาใช้กับผู้ที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว” – เคนตะ โทชิมะ กล่าว


ณ เมืองอิเซฮาระ จังหวัดคานางาวะ ทางตะวันตกของโตเกียว โทชิมะได้เดินทางมาที่นี่เพื่อเยี่ยมชมศูนย์ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ศูนย์แห่งนี้ให้บริการผู้ป่วยในจำนวน 70 คน และผู้ป่วยนอกจำนวน 30 คน โดยให้การบำบัดเพื่อรักษาพละกำลังผู้ป่วย และให้มีชีวิตที่พึ่งพาตัวเองได้ แต่สำหรับบางคนนั้นขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลา นอกจากการบำบัดประจำวันแล้ว กุญแจของการฟื้นฟูร่างกายอีกอย่างคือ “ทัศนะคติด้านบวก”

“คนไข้บางคนไม่อาจแข็งใจลุกขึ้นมาบำบัดได้ ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความอ่อนล้า ความเจ็บปวดที่มีผลต่อกำลังใจ การทำให้ได้ตามเป้าหมายการบำบัด บางทีก็ยากมากครับ” นี่คือปัญหาที่ทำให้โทชิมะพัฒนาระบบทัวร์ VR ของเขาขึ้นมา


ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้ทดลองใช้งานแล้วราว 2,000 คน ในเวิร์กชอปกว่า 400 ครั้งทั่วญี่ปุ่น ผู้เข้าร่วมทดลอง 8 คนวันนี้เป็นผู้ป่วยในทั้งหมด โดยอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ถึง 90 ปี พวกเขาไม่สามารถออกไปข้างนอกตามลำพังได้ เพราะข้อจำกัดทางร่างกาย โทชิมะเริ่มทดลองให้ผู้ป่วยแต่ละคนใส่แว่น VR ที่เขานำมา

“วันนี้เราจะใช้แว่นพวกนี้นะครับ พวกคุณจะได้เห็นภาพมากมาย” ผู้ป่วยเหล่านี้เพิ่งเคยเห็นแว่นที่ปกติใช้ในการเล่นเกมวีอาร์เป็นครั้งแรก พวกเขาส่องดูด้านในอย่างระวัง โทชิมะพูด “อ้อ! นั่นเขื่อนคูโรเบะ ลองหันไปทางขวาดูครับ บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้างครับพอมองขึ้นไปแล้ว” ผู้ป่วยท่านหนึ่งตอบกลับมาว่า “บรรยากาศดีค่ะ”

สำหรับผู้สวมใส่แว่นจะเห็นภาพทิวทัศน์เต็มตา 360 องศา ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าได้อยู่ที่นั่นจริง ๆ คนไข้รายหนึ่งที่ปกติต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดินตลอด เธอตื่นเต้นมากจนต้องลุกขึ้นยืนเพื่อดูให้ชัด ๆ “ว้าว! ดูซิ พอฉันยืนขึ้น ฉันก็เห็นทิวทัศน์ทั้งหมด มันยอดเยี่ยมมากค่ะ” “มันไม่เหมือนดูวิดีโอ คุณจะรู้สึกเหมือนคุณอยู่ตรงนั้นจริง ๆ ค่ะ ไม่ว่ามองข้างหน้าข้างหลังก็เห็นทุกอย่างเลย เห็นวิวค่อย ๆ ขยับเปลี่ยนไปเมื่อคุณขยับตัว มันวิเศษมากค่ะ”

Photo Credit: Photo Credit: www3.nhk.or.th


แม้ว่าจะถอดแว่นแล้ว แต่ทุกคนก็ยังตื่นเต้นอยากพูดคุยถึงสิ่งที่ได้เห็นอยู่ เพราะเทคโนโลยี VR เหมือนจริงมาก “เราไม่ค่อยได้เห็นพวกเขามีชีวิตชีวาขนาดนี้ น่าแปลกใจดีครับ แน่นอนว่าไม่มีใครชอบกายภาพบำบัด แต่ผมว่าเครื่องมือแบบนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยอยากออกไปข้างนอกด้วยตัวเอง มันทำให้พวกเขาพยายามมากขึ้น” โทชิมะกล่าว

เนื่องจากผู้ป่วยต้องหันตัว และขยับตัวเพื่อเปลี่ยนมุมมอง ทัวร์ 3 มิติทำให้พวกเขาขยับตัวโดยอัตโนมัติ “พอพวกเขาเริ่มสนุกและอยากเห็นมากขึ้น พวกเขาจะขยับตัว ก้มหัว แหงนหน้า หันตัว วันนี้เราทำให้คนลุกยืนได้ด้วยครับ ภาพเหล่านี้ทำให้คุณได้เคลื่อนไหวต่างจากทีวี และวิดีโอทั่วไปมาก”

โทชิมะ ทำงานในศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเมื่อสองปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยโตเกียว เป้าหมายของพวกเขาคือใช้เทคโนโลยี VR เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางกายภาพของผู้ใช้ ที่นี่มีการใช้แว่นเพื่อสังเกตการณ์การทำงานจากระยะไกลในสถานที่ที่อยู่ห่างออกไป แก่นสารสำคัญของโทชิมะ คือการส่งเสริมการใช้ VR ในญี่ปุ่นที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ก้าวแรกคือการพิสูจน์ว่าทัวร์ VR ของเขามีประโยชน์ต่อผู้ใช้

โดยฉาก 3 มิติของเขานั้นสร้างขึ้นด้วยกล้องพิเศษที่มีทั้งหมด 6 เลนส์ ซึ่งสามารถจับภาพได้ 360 องศาทั่วทิศทาง มันใช้ถ่ายทุ่งทานตะวัน ซึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้ใช้สูงอายุ จนถึงตอนนี้ โทชิมะถ่ายภาพสถานที่ไปแล้วราว 2,000 แห่ง ใน 28 ประเทศและภูมิภาค


โครงการนี้เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2014 หลังจากโทชิมะเรียนจบมัธยมปลาย เขาก็เข้าเรียนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพื่อเป็นนักจัดกระดูก แต่หลังจากมาสมัครเป็นนักกายภาพบำบัดที่บ้านพักคนชรา เขาได้เห็นความลำบากหลายอย่างด้วยตัวเอง

“ผู้ป่วยหลายคนรู้สึกว่าอาการคงไม่ดีขึ้น ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน พวกเขาบอกว่า ฉันรู้จักร่างกายฉันดีที่สุด และไม่ว่าจะชี้แนะแค่ไหน ก็ทำให้พวกเขาเลิกถอดใจไม่ได้”


การแลกเปลี่ยนความเห็นกันโดยบังเอิญในที่ทำงาน เรียกว่าเป็นสิ่งที่ปูทางให้เกิดผลงานในปัจจุบัน ผู้ป่วยคนหนึ่งบ่นว่า เธอไปสวนต้นพลัมที่เธอโปรดปรานไม่ได้แล้ว เขาเลยไปถ่ายรูปให้เธอ หลังจากนั้นเธอก็ให้เขาถ่ายรูปมาให้อีก แต่เธออยากเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เลยกรอบภาพไป ด้านขวามีอะไร ด้านหลังมีอะไร และมุมอื่น ๆ

เขาคิดหาวิธีทำตามคำขอเหล่านั้น และได้ความคิดเรื่องการใช้กล้อง VR ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เลย “คุณสามารถถ่ายภาพสถานที่บางแห่งในแบบที่ผู้ใช้สามารถสำรวจสภาพแวดล้อมได้ตามต้องการเลยครับ นั่นคือกุญแจสำคัญ สำหรับบางคน แรงกระตุ้นคือความปรารถนาที่จะไปดูด้วยตัวเองครับ”


หลังจากเริ่มโครงการได้ 2 ปี ระบบดูแลผู้สูงอายุด้วย VR ของเราก็ได้รับรางวัลจากกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร นั่นทำให้ อัตสึชิ ฮิยามะ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว สนใจเชิญโทชิมะให้มาร่วมทำการวิจัย เขาบอกว่า “สภาพแวดล้อม VR ทำให้คุณลืมขีดจำกัดทางกายภาพ เมื่อคุณปรับตัวเข้ากับระบบควบคุมได้ นั่นจะขยายขอบเขตในโลกความเป็นจริงของคุณด้วย มันเลยมีศักยภาพยอดเยี่ยมด้านการดูแลผู้สูงอายุ”

แต่เมื่อทำโครงการได้ 3 ปี เขาก็พบปัญหาว่า เขาไม่สามารถทำด้วยตัวเองคนเดียวได้ เขาจึงไปขอความช่วยเหลือจากผู้สูงอายุในวัยต่าง ๆ ให้มาช่วยเก็บภาพ VR พวกเขาร่วมการประชุมเป็นประจำ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยี VR



ทาเกชิ มากิ

วัย 83 ปี เคยทำงานเป็นวิศวกรที่บริษัทเคมีขนาดใหญ่ หลังเกษียณอายุเขาสมัครเข้าโครงการนี้ เพื่อใช้เป็นโอกาสติดตามการพัฒนาใหม่ ๆ “แทนที่จะอยู่บ้านเฉย ๆ ผมอยากลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา และเราก็ช่วยให้คนรุ่นเดียวกัน รู้สึกสบายใจกับอุปกรณ์พวกนี้ได้ครับ” เขากล่าว


ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 2018 การร่วมมือของกลุ่มผู้สูงอายุประมาณ 40 คน ทำให้เกิดเป็นวิดีโอกว่า 1,300 คลิป และพวกเขายังร่วมสาธิตกับบ้านพักคนชราด้วย อย่างที่คาวาซากิ จังหวัดคานางาวะแห่งนี้ และการร่วมมือของพวกเขาช่วยดึงดูดให้คนรุ่นเดียวกันมาเข้าร่วม สายสัมพันธ์แบบนี้ช่วยให้ผู้สูงอายุด้วยกันเอาชนะความหวาดหวั่นที่มีต่อเทคโนโลยีใหม่ได้ ตลอดโครงการนี้ โทชิมะให้ความสำคัญกับการค้นหาเนื้อหาที่จะกระตุ้นการตอบสนองเชิงบวกจากผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด



คินูโกะ โฮชิโนะ

เป็นผู้ใช้คนหนึ่งในศูนย์แห่งนี้ “เธออยากไปทัวร์เสมือนจริงที่ไหนที่สุด” โทชิมะถาม “ฉันอยากไปโอโนมิจิ” เธอตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น โฮชิโนะเคยอาศัยอยู่ที่โอโนมิจิ จังหวัดฮิโรชิมะ จนถึงอายุ 17 ปี เธอเกิดมาพร้อมกับภาวะอัมพาตบางส่วน และอยู่คนเดียวมาตั้งแต่สามีเสียชีวิต ตอนนี้เธอต้องพึ่งพารถเข็นในชีวิตประจำวัน แต่ใจเธอมักล่องลอยกลับไปหาวัยเยาว์ที่โอโนมิจิ

 
“เพื่อน ๆ จะถือกระเป๋าให้ฉัน ส่วนฉันจะเกาะไหล่พวกเขาตอนที่เราปีน และครั้งหนึ่งในการแข่งกรีฑาที่โรงเรียน ครูช่วยจับมือฉันไปจนถึงเส้นชัย ฉันอยากกลับไปตอนนั้น แต่ฉันเดินทางไกลจากโตเกียวไปถึงโอโนมิจิไม่ไหวแล้วค่ะ” โฮชิโนะ กล่าว

โทชิมะจะช่วยให้เธอได้เห็นว่าตอนนี้โอโนมิจิเป็นยังไง เขาเดินทางไปที่เมืองโอโนมิจิ และถ่ายสถานที่สำคัญในความทรงจำวัยเด็กของโฮชิโนะอย่างตั้งใจ เพื่อเอากลับไปให้เธอดูที่โตเกียว และด้วยพลังของ VR ทำให้เธอได้เดินทางกลับไปยังโอโนมิจิเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ไม่ว่าจะมองไปทางไหนความทรงจำก็ไหลพรั่งพรูกลับมา ประสบการณ์ทัวร์เสมือนจริง ทำให้เธอสัมผัสกลิ่นอายจากสมัยยังเยาว์ได้อีกครั้ง


“เหมือนเดินทางข้ามเวลาเลย ฉันมีความสุขจัง ฉันนึกว่าจะไม่มีวันได้กลับไป หรือแม้กระทั่งจะได้เห็นสถานที่เหล่านั้นอีก และฉันไม่คิดว่ามันจะเหมือนจริงขนาดนี้ ฉันดีใจมากจนน้ำตาแทบไหล มันเยี่ยมมากค่ะ” โฮชิโนะ กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

“เมื่อชีวิตคุณมีข้อจำกัด มันช่วยให้คุณมีแรงก้าวต่อไปได้ ผมคิดว่าภาพพวกนี้สามารถดึงความสุข และแรงใจในชีวิตกลับมาได้ดีมากครับ” โทชิมะ กล่าวทิ้งท้าย



ที่มา

  • ปฏิวัติการดูแลผู้สูงอายุผ่านวีอาร์: ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีพยาบาล – เค็นตะ โทชิมะ. www3.nhk.or.jp/nhkworld

เรื่องโดย