ขณะกำลังเลื่อนหน้าฟีดเฟซบุ๊กเพลิน ๆ สายตาเราก็ไปสะดุดเข้ากับโพสต์ของเพื่อนร่วมคณะฯ เธอเขียนข้อความแนะนำกิจการของที่บ้านว่ากำลังทำ “หรีดบุญ” พวงหรีดแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดาอย่างโควิด-19 พร้อมแนบภาพประกอบมาด้วย
คำแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ “โห สวยมาก” แต่ก็ต้องรีบหยุดความคิด พร้อมขำเล็ก ๆ อยู่ในใจ เพราะถ้าจำไม่ผิด คนโบราณบอกว่าห้ามชมพวงหรีดว่าสวยใช่ไหมนะ?
แล้วแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ของ หรีดบุญ คืออะไร?
วันนี้ KiNd ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “คุณปารวี วาสิกะสิน” อดีตกราฟิกดีไซเนอร์ที่ผันตัวมาเป็นนักบินหญิง และ “คุณพีท อุไรพงษ์” ลูกเรือสายการบินผู้เป็นทั้งเพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน และเพื่อนร่วมธุรกิจ พร้อมเผยความพิเศษของพวงหรีดที่ไม่ธรรมดานี้ให้เราต้องตาลุกวาวไปตาม ๆ กัน
“ด้วยความที่ตัวพีทไปวัดบ่อย แล้วพีทก็เห็นว่าที่วัดมักจะมีขยะจากพวงหรีดกองอยู่เป็นภูเขาเลย มันเยอะมากจริง ๆ ยิ่งนับวันมันยิ่งเยอะ อย่างงานศพเราก็ต้องนำพวงหรีดมาวาง ซึ่งมันไม่ได้มีแค่อันเดียว รวม ๆ กันแล้วก็มีเป็นร้อยอัน พอจบงานก็กลายมาเป็นขยะกองเป็นภูเขาเลย พีทเลยรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วน่าจะมีวิธีอะไรที่แก้ปัญหาเรื่องขยะอันนี้ได้” คุณพีทเริ่มบทสนทนาด้วยถ้อยคำเรียบง่าย แต่เราสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่ส่งผ่านออกมาจากท่าทางและน้ำเสียงของชายวัยสามสิบปลาย ๆ คนนี้ได้อย่างเต็มเปี่ยม
Photo Credit: Pete Uraipong Photo Credit: Pete Uraipong
จุดเริ่มต้น
ส่วนทางด้านคุณปลา จุดเริ่มต้นของการทำ หรีดบุญ เกิดขึ้นจากงานอดิเรกที่ชอบถ่ายภาพ จนวันหนึ่งตัดสินใจนำภาพถ่ายของตนลงตามเว็บไซต์ต่าง ๆ นำมาสู่รายได้ที่แม้แต่คุณปลาเองก็เซอร์ไพร์สไม่ต่างกัน
“ปลาเคยขายสต็อกภาพ แล้วรายได้จากการขาย ปลาเอาไปบริจาคเพื่อสังคม 50 เปอร์เซ็นต์เลย ซึ่งเงินส่วนนี้เราได้มาเยอะกว่าที่คิด มันก็เอาไปทำบุญได้เยอะ ก็รู้สึกว่า ‘แบบนี้ก็ดีนะ’ แบบมันดีที่เราสามารถทำธุรกิจแล้วเราเอาเงินไปทำประโยชน์โดยที่เราไม่เสียอะไรเลยด้วย ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นธุรกิจที่ดี เลยเอาคอนเซ็ปต์นี้มาคุยกับพีท”
“จริง ๆ ถ้าเราขายอะไรแล้วเราสามารถนำเงินส่วนหนึ่งไปทำบุญได้ มันก็น่าจะดี” คุณปลากล่าวเสริม
ขณะที่ จุดเริ่มต้นของการร่วมธุรกิจของทั้งสองก็มีอะไรที่น่ารัก ๆ ให้เราแอบอมยิ้มในใจไม่น้อย เพราะทั้งสองคนเป็นเพื่อนบ้านที่บ้านตั้งอยู่ห่างกันเพียงห้าหลัง เดินไม่กี่ก้าวก็เจอกันได้ง่าย ๆ แต่ทั้งสองก็ไม่เคยเจอกันมาก่อน จนได้มาทำงานร่วมกันในแวดวงสายการบินและด้วยความรักในสิ่งแวดล้อม บวกกับคุณพีทที่มีความสนใจเชิงลึกในพุทธศาสนา ทั้งสองจึงเริ่มลงมือทำพวงหรีดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถส่งต่อเรื่องราวดี ๆ สู่สังคมตั้งแต่ต้นไปจนถึงปลายน้ำ
ไม่ใช่แค่สวยแต่ต้อง… “สมเกียรติ”
“ปลาเรียนจบสถาปัตย์มา เราก็อยากให้หรีดของเราดูดี อยากทำให้มันสวยสุด ๆ เพราะพวงหรีดคือการส่งไปเพื่อแสดงความอาลัย ไปให้กำลังใจ ให้เกียรติเจ้าภาพ และผู้วายชนม์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคำนึงถึงเป็นอันดับแรกแบบไม่ต้องคิดเลยก็คือ ‘ต้องสวย’ และราคาจับต้องได้” คุณปลากล่าวด้วยน้ำเสียงสดใส
“ส่วนพีทอยู่ในโลกการเงิน พีทเป็นนักวางแผนทางการเงิน พีทเลยสนใจเรื่องภาษีเป็นพิเศษ แล้วพวงหรีดก็เป็นอะไรที่เวลาลูกค้าส่งไปงานก็จะไม่ได้รับคุณค่าอะไรกลับมา ถูกไหมครับ? แต่ ‘หรีดบุญ’ เป็นพวงหรีดเพื่อการทำบุญ เราก็จะหากระบวนการทางภาษีหรือกระบวนการที่จะคุยกับสรรพากร คือ ทำยังไงให้ลูกค้าที่ซื้อหรีดของเราไปสามารถนำเงินส่วนหนึ่งไปบริจาคเพื่อเป็นส่วนลดหย่อนภาษีได้ด้วยอีกทางหนึ่ง เราจะค่อย ๆ เพิ่มคุณค่าตรงนี้ พัฒนาคุณค่ามันขึ้นมา” คุณพีทกล่าว
“แล้วเราก็มาคิดกันต่อว่า ถ้าเราเอาหรีดมาทำเป็นแบบใช้ซ้ำ มันก็น่าจะดีนะ แต่ก็ติดอยู่ตรงที่ มันไม่เคยมีมาก่อนเลย เราก็คิดนะคะว่า คนรับจะโอเคมั้ยกับพวงหรีดที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว” คุณปลากล่าว “เนี่ย ปัญหาใหญ่ของเราเลย” คุณพีทเสริม แล้วทั้งสองก็หัวเราะออกมาพร้อมกัน
แม้จะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในธุรกิจของคุณปลาและคุณพีท แต่เมื่อลองลงมือทำจริง ๆ ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเกินคาด
“พอเราเริ่มทำจริงจัง กลายเป็นว่าลูกค้าโดยเฉพาะเจ้าภาพ เขาโอเคมาก ๆ กับการรับหรีดจากร้านเรา แล้วยิ่งโอเคเข้าไปอีก เมื่อทราบว่าเงินส่วนหนึ่งจากการซื้อหรีดจะถูกนำไปทำบุญ 25%” คุณปลากล่าว
“แต่จริง ๆ เราต้องบอกเลยว่า วัสดุที่เรานำมาใช้มันไม่ได้เพื่อสิ่งแวดล้อมอะไรขนาดนั้น ยังมีพลาสติกอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เราจะใช้ผ้าค่ะ หลักสำคัญของเรา คือ เราจะเน้นเรื่องการ Reuse (กลับมาใช้ซ้ำ) กรอบก็ยังมีโฟมอยู่บ้าง เพราะด้วยฟังก์ชั่นที่มันเหมาะสมกว่า ตอนแรกเราก็ลองใช้ไม้ดูนะคะ แต่ว่ามันหนัก ทำให้เราทำงานยากขึ้นมาก”
สำหรับคนที่ห่วงเรื่องความสะอาด หรือความเก่าของพวงหรีดที่ถูกนำมาเวียนใช้ซ้ำ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะด้วยสถานการณ์โควิด-19 ความสะอาดต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้นพวงหรีดทุกชิ้นจาก หรีดบุญ จะได้รับการทำความสะอาด และซ่อมแซมอย่างดีจนเหมือนใหม่ เพื่อส่งต่อความอาลัยแด่ผู้วายชนม์อย่างสมเกียรติ
ความเชื่อ
แม้ยุคสมัยจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปกี่ครั้งก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน คือ ความเชื่อของคนโบราณที่มักจะมาพร้อมคำกล่าวที่แอบสอดแทรกแนวคิดเล็ก ๆ ไว้ให้เราต้องขบคิดตามอยู่เสมอ ซึ่งพวงหรีดเองก็มีความเชื่อที่ถูกส่งต่อมาในสังคมไทยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการห้ามชมพวงหรีดว่าสวย หรือแม้แต่พวงหรีดต้องเป็นของใหม่เท่านั้น ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
แต่หรีดบุญ พวงหรีดที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ ดูเหมือนจะค่อย ๆ ก้าวข้ามกรอบความเชื่อโบราณไปทีละน้อย แต่ยังคงแสดงความเคารพต่อขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณเอาไว้ไม่ขาดหาย
“สิ่งเดียวที่เราอยากจะเปลี่ยนเกี่ยวกับความเชื่อของคน คือ โดยปกติแล้วคนจะมองว่าพวงหรีดจะต้องเป็นดอกไม้ใหม่ ต้องเป็นของชิ้นใหม่ แต่จริง ๆ แล้วเนี่ย เราไม่ได้เอาพวงหรีดไปให้เจ้าภาพ แต่เราเอาไปให้ผู้เสียชีวิตเพื่อเป็นเกียรติและไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต เพราะฉะนั้นพีทรู้สึกว่าคอนเซ็ปต์จริง ๆ ของพวงหรีด คือ มันไม่จำเป็นต้องใช้ครั้งเดียวด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าเราต้องทำให้สมเกียรติ สมฐานะ เป็นการไว้อาลัยเขาจริง ๆ เพราะทุกวันนี้พวงหรีดมีอายุการใช้งานที่สั้นมาก แค่ 7 วันเอง” คุณพีทกล่าว
Photo Credit: www.facebook.com/LeadBoon
“ทุกวันนี้พีทเจตนาไปส่งเอง เพื่อที่จะได้ทราบว่า ลูกค้าคิดยังไงกับพวงหรีดแนวคิดใหม่ของเรา แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือ พีทมองว่ามันจะเป็นตัวที่เพิ่มคุณค่าของพวงหรีดเรา เป็นความรู้สึกทางใจที่ดีต่อเจ้าภาพ อย่างตอนที่พีทไปถึง บางทีเจอญาติ ๆ เขากำลังร้องไห้กันอยู่ เราก็พลอยเศร้ากับเขาไปด้วย เราเข้าใจความรู้สึกเขานะ และนี่คือเหตุผลที่พีทอยากจะไปส่งของให้ถึงมือเจ้าภาพด้วยตัวเอง”
“พีทเค้ารู้สึกเศร้าจริง ๆ นะคะ เวลาที่ต้องไปส่งพวงหรีด” คุณปลากล่าวเสริม นี่จึงทำให้เราเข้าใจได้ในทันทีเลย บรรยากาศที่เปลี่ยนไปของบทสนทนามาจากความรู้สึกของคุณพีทเองจริง ๆ
แม้ความเชื่อที่ฝังรากลงลึกอยู่ในสังคมไทยจะเป็นเรื่องยากที่จะก้าวข้ามก็ตาม แต่หรีดบุญก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปัญหาขยะที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย
คุณค่าที่ไม่จางหาย
จากปัญหาขยะที่เห็นบ่อยครั้งตามวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะหลังงานศพที่มักจะพบขยะพวงหรีดกองพะเนินเป็นภูเขา ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงปัญหาที่เกิดขึ้น
“หลังจากพีทแชร์ไอเดียที่บอกว่าไปเจอขยะมา ปลาเขาก็คิดตรงกัน ว่าอยากทำอะไรสักอย่างหนึ่งด้วยกัน แล้วก็คุยกันเลยว่าอยากจะทำอะไรที่มันช่วยพัฒนาโลก แต่จริง ๆ มันก็ไม่ได้ถึงขนาดพัฒนาโลกหรอก เราแค่รู้สึกอยากแก้ปัญหาอะไรบางอย่างเท่านั้นเอง”
“ปลาไม่ได้หวังเรื่องรายได้อะไรเลยนะ มันเหมือนเป็นสิ่งที่เราอยากทำ และปลามีความสุขที่ได้ทำ” คุณปลากล่าวยิ้ม ๆ
ในที่สุดทั้งสองก็ได้สานต่อความคิดเมื่อ 7 ปีก่อน ออกมาเป็นชิ้นงานจริง ๆ ผ่านการออกตระเวนสอบถามตามวัดต่าง ๆ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากรับหรีดมาจากญาติผู้วายชนม์ “เราคิดไว้เยอะมากว่าจะทำหรีดเป็นอะไรดี จนมาถึงคอนเซ็ปต์ทำบุญนี่แหละค่ะ”
“เรื่องทำบุญนี่ เราไม่ได้คิดว่ามันจะกลายมาเป็นสิ่งที่เพิ่มคุณค่าให้งาน แต่พอไปบอกเจ้าภาพหรือทุกคน พอเราทำบริจาคเสร็จเราก็จะส่งไปให้คนสั่งอนุโมทนา ก็เห็นว่าเขารู้สึกดี กลายเป็นว่า งานของเรามันมีคุณค่าขึ้นมา โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ”
“คือตอนที่เราบอกว่า ‘พวงหรีดเพื่อการทำบุญนะครับ’ เราจะมีการอุทิศให้อะไรแบบนี้ เขาก็จะไม่รู้สึกติดใจที่เราจะเข้ามาขอรับหรีดกลับเลย แถมทุกคนยังช่วยอำนวยความสะดวกอย่างดีด้วย” คุณพีทกล่าว
นี่คือคุณค่าที่จับต้องได้ของหรีดบุญ ที่นอกจากจะทำให้ผู้รับรู้สึกอิ่มเอมใจแล้ว ยังส่งต่อสิ่งดี ๆ สู่สังคมในรูปแบบของเงินบริจาค ที่ทั้งคุณปลาและคุณพีทต่างมีความคิดไปในทิศทางเดียวกันว่า เป้าหมายหลักของหรีดบุญ จะต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปพัฒนาสังคมให้ได้
“เงินบริจาคของเราส่วนใหญ่จะบริจาคไปที่โรงพยาบาล ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินไปบริจาคที่ไหน แต่เราก็จะแนะนำลูกค้าให้บริจาคที่โรงพยาบาลค่ะ”
“แต่จริง ๆ ลูกค้าบางท่าน เขาก็บริจาคหลาย ๆ ที่ต่างกันออกไปนะครับ บางท่านก็บริจาคที่โครงการสอนศิลปะเพื่อเด็กและเยาวชน ที่จัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือบริจาคให้มูลนิธิเพื่อคนพิการ”
เราอยากจะทำอะไรเพื่อพัฒนาสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องช่วยลดโลกร้อนได้ ซึ่งหรีดบุญก็เป็นพวงหรีดแนวคิดใหม่ที่เราตั้งใจทำมันออกมา อีกทั้งยังสามารถพัฒนาสังคมด้วยเงินที่เรานำไปบริจาค แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม นอกจากลูกค้าจะรู้สึกดีที่ได้ทำบุญแล้ว เรารู้สึกว่ามันมีคุณค่าทางใจต่อเราด้วย คุณพีทกล่าวสรุปปิดท้าย
เกร็ดความรู้: ในสมัยอียิปต์โบราณมีการนำพวงหรีดมาทำเป็นเครื่องสวมศีรษะ โดยวัสดุการทำในช่วงแรกจะทำมาจากผ้าลินิน ส่วนในสมัยกรีกโบราณวัสดุของหรีดจะแตกต่างกันออกไป ชาวกรีกจะทำหรีดจากมะกอก สน ขึ้นฉ่ายฝรั่ง หรือปาล์ม เพื่อเป็นรางวัลให้แก่นักกีฬาผู้คว้าชัยชนะในกีฬาโอลิมปิก ซึ่งหรีดไม่ได้มีความหมายในเชิงอาลัยแต่อย่างใด ในทางกลับกันพวงหรีดเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความรัก
Photo Credit: rakdok.com
ซึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้พวงหรีดถูกนำมาใช้ในงานมงคลอย่างเทศกาลคริสต์มาสของชาวตะวันตก เกิดขึ้นหลังจากยุโรปเหนือและตะวันออก ได้เผยแพร่วัฒนธรรมความเชื่อนี้เข้ามาและได้แพร่หลายเป็นอย่างมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ไม่ใช่เฉพาะงานมงคลเท่านั้นที่ชาวตะวันตกจะนำพวงหรีดมาใช้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำงาน ในงานอวมงคลก็เช่นกัน ชาวตะวันตกเชื่อว่าการมอบพวงหรีดในงานศพจะเป็นสิ่งแสดงความเคารพต่อผู้วายชนม์ เป็นการไว้อาลัย และแสดงความเศร้าโศก
สำหรับประเทศไทย มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่ก็ยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าจริง ๆ แล้วคนไทยเรารับวัฒนธรรมการวางพวงหรีดเพื่อแสดงความอาลัยในช่วงเวลาใดกันแน่ โดยในอดีตการวางพวงหรีดในงานศพจะนิยมในหมู่ชนชั้นสูงและค่อย ๆ ขยายความนิยมออกไปจนกระทั่งในทุก ๆ งานศพจะต้องมีพวงหรีดวางไว้เพื่อแสดงความอาลัยและแสดงความเคารพต่อผู้วายชนม์ สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (พ.ศ. 2553) ให้ข้อมูลว่า วัฒนธรรมงานศพของคนไทยแต่เดิมนั้น จะนำดอกไม้ ธูป เทียน ไหว้เคารพงานศพเพื่อแสดงความอาลัย ส่วนดอกไม้ที่นำมาใช้มักเป็นดอกซ่อนกลิ่น เนื่องจากมีสีขาวและมีกลิ่นหอม ดอกซ่อนกลิ่นจึงเป็นเสมือนดอกไม้ประจำงานศพ
Photo Credit: วารสารกระแสวัฒนธรรม, พวงหรีด: วัฒนธรรมตะวันตกที่งอกงามในประเพณีไทย
หลังจากวัฒนธรรมความเชื่อจากต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย การจะนำวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ดื้อ ๆ คงไม่เข้ากับสภาพแวดล้อมและนิสัยที่ปราณีตของคนไทยเท่าไรนัก จึงได้ดัดแปลงรูปแบบพวงหรีดให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเข้ากับภูมิปัญญาด้านศิลปะ ทำให้รูปแบบการทำพวงหรีดของไทยจะปรากฏเป็น 2 ลักษณะ คือ
แบบแรก จะเป็นพวงหรีดดอกไม้สดตามรูปแบบเดิมของชาวตะวันตก และ แบบที่สอง จะตกแต่งหรีดด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ชนิดสด และดอกไม้ประดิษฐ์ชนิดแห้งตามความเหมาะสมส่วนเหตุผลที่คนไทยมักใช้พวงหรีดในงานอวมงคล รุจิราภา งามสระคู อธิบายว่า “เมื่อรับพวงหรีดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียม คนไทยมิได้ใช้ในสองวาระเช่นชาวตะวันตก แต่นำมาใช้เฉพาะในงานอวมงคลเพื่อแสดงความไว้อาลัยและหรือนำไปสักการะรูปปั้นผู้ล่วงลับ คงเนื่องจากคนไทยนับถือศาสนาพุทธย่อมไม่มีเทศกาลเฉลิมฉลองตามแบบแผนของศาสนาคริสต์ จึงเลือกใช้ในพิธีกรรมที่ไม่ขัดกับคติความเชื่อทางศาสนา”
อ้างอิง
- รุจิราภา งามสระคู. (2017). พวงหรีด: วัฒนธรรมตะวันตกที่งอกงามในประเพณีไทย, กระแสวัฒนธรรม, 18 (33), 80-93. สืบค้นจาก www.culturalapproach.siam.edu
- การรับ-ปรับวัฒนธรรม “พวงหรีด” จากตะวันตกสู่ไทย แพร่หลายเข้าสู่สยามเมื่อใด?. www.silpa-mag.com/history