KiNd Centrate พาคุณไปซึมซับเรื่องเล่าผ่านภาพถ่ายของ ‘ลุงชัย—สมชัย จิตกรณ์กิจศิลป์’ ช่างทำโลงผู้ไม่ละทิ้งอาชีพ ซึ่งเชื่อมโยงความคิดถึงครั้งสุดท้าย และเต็มใจรับมือทุกการเปลี่ยนผ่านในโลกซึ่งกำลังเปลี่ยนไปทุกขณะ
✥
เปลี่ยนเป็นโลง
ลุงชัยเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่าเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวช่าง ที่ไม่ได้มั่งคั่งพอจะส่งลูกทุกคนเรียนหนังสือ ลุงชัยจึงตัดสินใจลาออกมาช่วยพ่อทำระหัดวิดน้ำขาย ส่งน้อง ๆ เรียนต่อ ตั้งแต่อายุ 16
ในวันที่ท่อสูบน้ำ ซึ่งมีราคาถูกและสะดวกใช้งาน เข้ามาแทนที่ระหัดวิดน้ำของพ่อ ลุงชัยหันเหมาทำโลงศพจริงจัง ด้วยว่าเป็นธุรกิจที่ครอบครัวทำควบคู่มาตลอด
แล้วนั่น ก็เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งแรกในชีวิตวัย 35 ของลุงชัย
✥
เปลี่ยนชื่อ
เดิมคิดว่า ‘ร้านขีฮะ’ มาจากชื่อจีนของลุงชัยเอง แต่ไม่… เรียบง่ายกว่านั้นและผิดคาดไปมาก
“ขีฮะไม่ใช่ชื่อผม ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแปลว่าอะไร ป้ายไม้หน้าร้านมีมา 60 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยปู่ จริง ๆ คำนี้ในภาษาจีน มีความหมายนะ แต่ต้องเป็น “ขี่ฮะ” ผมไม่รู้ว่าพ่อตัดไม้เอกออกไปทำไม”
✥
เปลี่ยนรูปแบบ
เป็นธรรมดาที่ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โลงศพก็ไม่พ้นสัจธรรมข้อนั้น
ต่อให้ฟังก์ชันจะไม่ต่างจากเดิม คือบรรจุร่างเพื่อเผาไฟในที่สุดก็ตาม
เดิมโลงศพไม่ได้วิจิตรขนาดปัจจุบัน และมีราคาสูงกว่านี้มากเมื่อเทียบกับทอง โลงเคยราคาใบละ 180 บาท เทียบได้กับราคาทอง 2 สลึงขณะนั้น ถึงตอนนี้เพิ่มเป็น 4 พันกว่าบาทต่อใบ แต่ก็ไม่ใช่ของมีมูลค่าสูง “ซื้อทองไม่ได้สักสลึง” อย่างที่ลุงชัยว่า
“ทีแรกเป็นสี่เหลี่ยมธรรมดา ไม่ต้องทาสีด้วยซ้ำ ไม้ตอกต่อกันเฉย ๆ ไม่ประดับประดอยอะไร ต่อถึงมาค่อยเริ่มเคลือบแชล็ค ลงสีขาว สวยขึ้นเรื่อย ๆ วัสดุแต่งขอบโลงก็เปลี่ยนเหมือนกัน เมื่อก่อนเป็นไม้ ต่อมาก็อะลูมิเนียม จนตอนนี้เป็นพลาสติกหล่อขึ้นมา ทั้งลายเทพพนมและลายสุพรรณมัจฉา แล้วราคาก็ไม่แพง จะให้สวยแค่ไหนก็ได้”
✥
เปลี่ยนวิธีการ
สมัยเป็นหนุ่มแข็งแรง ลุงชัยทำโลงด้วยกบมือหามรุ่งหามค่ำได้ 10 ใบต่อวัน แต่เดี๋ยวนี้ง่ายดายกว่าเดิม เพราะนอกจากจะมีกบไสไม้ไฟฟ้า ยังซื้อไม้แผ่นเป็นบล็อก ๆ และของประดับจากโรงงานมาสำทับได้อีก ช่วงสึนามิ 2547 ลุงกับพรรคพวกเคยทำได้มากสุด 120 ใบในคืนเดียว
“ตอนนี้ ผมไม่ทำเองทุกขั้นตอนแล้ว ทั้งกลิ่นสี ฝุ่น เสียงรบกวน และเวลาทำงาน เมื่อก่อนตี 1 ผมก็ยังไสไม้ได้ เดี๋ยวนี้ ทำเกิน 3 ทุ่มไม่ได้ ชาวบ้านจะแจ้งตำรวจเอา” ลุงชัยพูดสลับยิ้ม แต่เรื่องหนึ่งที่ปล่อยผ่านไม่ได้ คือตอนปิดงาน ลุงยืนยันว่าต้องดูแลให้เรียบร้อย และไปส่งถึงมือลูกค้าด้วยตัวเอง
“ผมไปส่งเองทุกเจ้า กลัวคนงานเราไปขอเงินลูกค้าเพิ่ม ราคาโลงที่นี่รวมค่าบริการทุกอย่างหมดแล้ว นึกดูสิ ญาติศพที่ไม่มีเงินจะเอาที่ไหนมาจ่ายเพิ่ม”
✥
เปลี่ยนทิศ
ธุรกิจโลงตอนนี้ผิดกับเมื่อก่อน ที่หากมีวินัยใช้จ่าย จะเหลือเงินเก็บยามเกษียณ
และพอสำหรับซื้อตึกแถวสามชั้นแบบลุงชัย
“จริง ๆ ผมทำโลง แล้วก็ขายที่ตึกข้างหลัง รถจะได้เข้าออกสะดวก ยกมาทำกลางคลองไม่ไหว”
“เมื่อก่อนตอนบูม ๆ ผมขายได้ 100 กว่าใบ เดี๋ยวนี้ เดือนละ 20 กว่าใบก็เก่งแล้ว ใคร ๆ ก็ขายโลง พวกอาสาฯ กับโรงพยาบาลเนี่ย มีเป็นแพ็กเกจ ให้บริษัทเข้ามาประมูล ร้านขายโลงเล็ก ๆ อยู่ไม่ได้แล้ว ญาติผู้ตายเขาก็เอาสะดวก เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดบ่อย ๆ”
“ผมได้ลูกค้าเก่าที่ซื้อกันมานาน อายุไล่ ๆ กันนี่ล่ะ ต้องอาศัยคอนเน็กชันแบบนี้ งั้นไปไม่รอด ลูกหลานเขาที่มารับช่วงต่อก็ยังซื้อกับเรา วัดย่านนี้ด้วย”
✥
เปลี่ยนความเชื่อ
ทึกทักเอาเองว่าการขายโลงสำหรับบรรจุร่างผู้ล่วงลับต้องคาบเกี่ยวกับเรื่องลี้ลับ แต่ครอบครัวลุงชัยกลับไม่เชื่อเรื่องผีสางเหนือธรรมชาติ อาจเพราะไม่ได้มองผู้เสียชีวิตเป็นลูกค้า แต่เป็นญาติ ๆ ที่ต้องการฝากความคิดถึงเป็นครั้งสุดท้าย
“ผมไม่เคยเจอเรื่องน่ากลัว… เคยได้ยินเสียงเคาะโลงดึก ๆ อยู่พักหนึ่ง พอลูกชายออกไปดูก็เห็นแมวนั่งเกาหูอยู่ แล้วขามันกระทบไม้ ส่วนเรื่องโลงลั่นที่เขาว่า ๆ กันเนี่ย ก็เพราะไม้ไม่ยอมผึ่งก่อนเอามาทำโลง ไม้สดพออากาศร้อน ๆ มันก็รัดตะปูจนดังออกมา มันเป็นวิทยาศาสตร์”
“คนตายเนี่ยเขาไปแล้ว หมดหน้าที่จะเลือกของแล้ว”
“บ้านผมไม่มีใครเชื่อเรื่องพวกนี้ ลูกผมตอนเล็ก ๆ ก็จับใส่โลงหมดทุกคน ใครจะว่าไม่ดีก็ช่าง บ้านอยู่ริมคลอง ลูกตกน้ำน่ากลัวกว่า เปิดฝาโลงให้ลูกนั่งข้างในดีกว่า”
“แต่เรื่องแปลก ๆ ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งนะ เอาศพใส่โลงขึ้นหลังรถ ระหว่างทางไม่มีอะไร แต่พอผ่านหน้าบ้านของศพ หมาที่เลี้ยงไว้วิ่งไล่เป็นแถว ไม่รู้ว่ามันรู้ได้ไงว่าเจ้าของอยู่บนรถ” ลุงชัยเล่าทิ้งท้าย ก่อนเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น
✥
เปลี่ยนวิธีคิด
มนุษย์อายุ 20 ตอนปลาย ที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์เกิด-ตายมามากมาย
พอได้ยินเรื่องราวที่ลุงชัยเล่าก็หนาว ๆ ร้อน ๆ ถึงจะไม่มีข้อมูลเชิงสถิติมารองรับ
แต่ก็ช่วยให้ฉุกคิดถึงชีวิตได้พอสมควร
“โลงเนี่ย ไม่ได้มีไว้ใส่เฉพาะคนแก่ หลายคนที่สุขภาพดีเขาก็อายุยืน คนประสบอุบัติเหตุก็เยอะ บางทีลูกยังไม่ประสีประสาต้องมาถือกระถางธูปให้พ่อแม่ เห็นแล้วก็น่าสงสาร เดี๋ยวนี้ ทำร้ายตัวเองก็เยอะเหมือนกัน เป็นซึมเศร้าอะไรทำนองนี้”
✥
ไม่เปลี่ยนใจ
แม้จะไม่ใช่ความตั้งใจแรก แต่เมื่อเลือกอาชีพช่างทำโลงศพแล้ว ก็มุ่งมั่นเลี้ยงดูครอบครัว และไม่เคยคิดจะเลิกทำโลง แม้จะเลยอายุเกษียณมาเกือบ 20 ปี
“ผมอายุเยอะก็จริง แต่ผมทำมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ให้นั่ง ๆ นอน ๆ เฉย ๆ ผมไม่ชอบ” พร้อมยืนยันว่าจะเดินตามรอยพ่อ ส่งลูก ๆ เรียนหนังสือให้ได้สูงเท่าที่จะไหว “พ่อผมส่งเสริมให้น้อง ๆ ผมเรียนหมดทุกคน ผมเองก็ทำอย่างนั้น ลูกผม 4 คนเรียนหนังสือหมด เตรียมทหาร 2 คน อีก 2 คนก็จบปริญญา ปริญญาโทก็มี ทำงานหมด”
หวังว่าภาพจะเล่าเรื่องราว เนื้อหาจะบันดาลใจ เหมือนกับที่ทีมไคนด์สัมผัสได้…