สาย ๆ วันจันทร์ ณ อุทยานเบญจสิริ – แม้วันนี้อากาศจะร้อนแรงเฉกเช่นปกติ แต่การได้มานั่งอยู่ท่ามกลางต้นไม้น้อยใหญ่ในสวนกลางกรุงแบบนี้ก็ทำให้เมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้าดูร่มรื่นขึ้นมาได้เหมือนกัน
ว่าแต่วันนี้เรามาที่สวนกันทำไมนะเหรอ… นั่นเพราะเรามีนัดกับ ‘คุณฟาง – ชนัตฎา ดำเงิน’ นักรุกขกรจากสมาคมรุกขกรรมไทย หลังจบประโยคนี้หลายคนอาจจะแอบเอ๊ะในใจ รุกขกรคืออาชีพอะไรกันนะ? ซึ่งเราเชื่อว่าน้อยคนนักจะรู้จักกับอาชีพนี้
‘รุกขกร’ (Arborist) ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่ติดอันดับว่าอันตรายที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ (โดยเฉพาะในต่างประเทศ) วันนี้ KiNd เลยอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาชีพนี้ในบริบทของประเทศไทยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สัมผัสตัวตนและมุมมองของหมอต้นไม้ตามสไตล์ฟาง – ชนัตฎา ถ้าพร้อมแล้วไปวินิจฉัยต้นไม้พร้อมกันเลย!
ไขข้อข้องใจ อาชีพ ‘รุกขกร’ คืออะไร
▲
“ถ้าให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย ๆ รุกขกรคือหมอต้นไม้ ไม่ต้องตีความอะไรมากมาย ก็คือดูแลรักษาต้นไม้ให้คงอยู่ ถ้าต้นไม้ป่วย เราก็เข้าไปดูแล พิจารณาเรื่องการปลูกด้วยว่าในพื้นที่แบบนี้ปลูกพันธุ์ไหนถึงจะเหมาะสม รวมถึงการจัดการพื้นที่ ครอบคลุมไปถึงการประเมินความเสี่ยงต้นไม้ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายระหว่างผู้ใช้ประโยชน์พื้นที่และทรัพย์สินโดยรอบ ช่วยให้ต้นไม้สามารถอยู่คู่กับผู้ใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างปลอดภัยและอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดอันตรายค่ะ”
“โดยรุกขกรในไทยจะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือส่วนที่เป็น Arborist กับส่วนที่เป็น Tree Worker คือผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ ถ้ารุกขกรจะเน้นไปที่ความรู้ทางวิชาการ การคิดวิเคราะห์ การประเมินสุขภาพ หรือการวินิจฉัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับต้นไม้ แต่ถ้าเป็น Tree Worker เขาอาจจะไม่ต้องรู้ลึกถึงขนาดนั้น แต่เขาจะต้องรู้ลึกในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานบนต้นไม้ ว่าทำงานยังไงให้ปลอดภัย รวมถึงรู้เรื่องต้นไม้เบื้องต้น เช่น ตัดแต่งกิ่งที่ถูกวิธีเป็นยังไง”
จากความสงสัย สู่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้แบบเต็มตัว
▲
“เริ่มต้นเลยคือฟางเรียนจบชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องต้นไม้ สัตว์ และความหลากหลายทางชีวภาพ ตอนที่จบใหม่ ๆ พอดีมีเพื่อนทำงานอยู่ที่องค์กร Big Tree เพื่อนก็เลยบอกว่า ตอนนี้ Big Tree กำลังหารุกขกรมาประจำทีม สนใจมั้ย ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้หางานอะไร และกำลังจะเรียนต่อด้วย แล้วคิดว่าสามารถจัดสรรเวลาได้ ก็เลยได้เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย จริง ๆ เขาให้เลือกว่าอยากทำอะไร อยากทำเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวหรือว่ารุกขกร เราก็แบบรุกขกรมันคืออะไรวะ อยากรู้ งั้นทำรุกขกรแล้วกัน ก็เลยได้เริ่มเข้ามาในวงการและเริ่มศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องบอกเลยว่าตอนเรียน ป.ตรี มันไม่มีเรื่องอะไรแบบนี้เลยค่ะ ฟางแทบจะมาศึกษาใหม่เลย ว่าศาสตร์ด้านรุกขกรเป็นยังไง แต่ข้อได้เปรียบคือเราเรียนด้านชีววิทยามา ทำให้เข้าใจได้เร็ว”
“ตั้งแต่เรียนจบ ตอนนี้ก็อยู่ในวงการมาประมาณ 7 ปีแล้วค่ะ เรารู้สึกว่าอาชีพนี้มันมีประโยชน์กับส่วนรวม แน่นอนว่าเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองด้วย และส่วนหนึ่งมันทำให้ใจฟูด้วย เราตัดแล้วต้นไม้สวย ต้นไม้ดูดี ต้นไม้จะคงอยู่ร่มรื่นคู่กับลูกค้าไปได้ หรือในพื้นที่สาธารณะเราไปเป็นรุกขกรอาสา เรารู้สึกว่าดีเนอะ การที่มีต้นไม้อยู่ มันเป็นอาชีพได้ด้วยและยังช่วยสิ่งแวดล้อมได้ด้วย”
ความร่มรื่น ความตื่นตาตื่นใจ
คือเสน่ห์ของรุกขกร
▲
“ด้วยความที่เราชอบธรรมชาติอยู่แล้ว เสน่ห์ของมันแน่นอนคือไม่ร้อน พอเราไปทำงาน เราจะรู้สึกว่าร่มเย็น เราจะมีความสุขทุกครั้งเวลาไปไซต์งาน หรือบ้านของลูกค้าคนไหนที่มีต้นไม้สวย ๆ เราจะมีความภาคภูมิใจว่า เราดูแลต้นไม้ให้มันสวยได้นะ อันนี้ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เราจะตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้เจอต้นไม้สวย ๆ เยอะ ๆ อีกอย่างคือเราไม่รู้ว่าเราจะไปเจออะไร เราไม่รู้ว่าไปแล้วต้นไม้จะป่วยแบบไหน บางต้นก็วินิจฉัยยาก ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมากค่ะ”
เปิดมุมมองใหม่ เพราะไม่ใช่ทุกคน
จะเข้าใจเรื่องต้นไม้
▲
“เราได้มุมมองใหม่ ๆ ของเจ้าของต้นไม้ ว่าเขาคิดกับต้นไม้ต้นนี้ยังไง ซึ่งมันหลากหลายมากค่ะ การทำงานช่วงแรก ๆ ต้องทำงานกับการทำความเข้าใจกับคนค่อนข้างเยอะ เราต้องมีเหตุผลกับการตัดต้นไม้ทุกกิ่ง ทำให้เราสามารถรับมือ อธิบาย สื่อความหมายได้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจเรื่องต้นไม้ได้อย่างถ่องแท้ ดังนั้น การอธิบายของเราหรือการสื่อสารของเราจะต้องสื่อสารยังไงให้ไม่เป็นวิชาการ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายค่ะ”
ใส่ใจรายละเอียด
ทำความเข้าใจให้ชัดเจน
▲
“ถ้าทำงานกับบ้านคนจะมีรายละเอียดที่เยอะกว่าการทำงานกับเอกชน ส่วนใหญ่เอกชนจะให้ขอบเขตงานมาแบบกว้าง ๆ ที่เราสามารถทำให้เขาได้อยู่แล้ว แต่พอลงลึกในบ้านลูกค้า อันนี้ค่อนข้างจะมีความละเอียดมากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาเราคุยงาน เราต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน การวัดลำต้น การวัดขนาดทรงพุ่ม ช่วยประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น เช่น ต้นความสูงเท่าไร ถ้าเกิดว่าต้นไม้ต้นนี้ล้มลงไปจะกินระยะทำลายล้างเท่าไร การวัดเส้นผ่านศูนย์กลางคอรากตรงโคนต้น เพื่อเป็นการกำหนด Tree Protection Zone หรือขอบเขตปกป้องต้นไม้ ว่าในบริเวณรอบ ๆ นี้ ห้ามเข้าไปเหยียบนะ ห้ามเข้าไปเทน้ำปูน ห้ามเอาวัสดุใด ๆ มากดทับบริเวณโคนต้น ก็จะช่วยยืดอายุต้นไม้ได้นานยิ่งขึ้น”
เราไม่ได้ดูแค่ต้นไม้
แต่ต้องใส่ใจสิ่งรอบ ๆ ด้วย
▲
“เราไม่ได้ดูแค่ต้นไม้ แต่ต้องมีความรู้เรื่องที่มีปฏิสัมพันธ์กับต้นไม้ด้วย ที่เรียกว่านิเวศวิทยาคือสิ่งแวดล้อมโดยรวม ว่ามันมีความเกี่ยวข้องกันยังไง อย่างเช่น ต้นนี้มีกาฝาก ถ้าถามว่ากาฝากมาจากไหน ก็มาจากนกที่ถ่ายลงบนต้นไม้ กลไกของมันคือการแทงรากเข้าไปในกิ่งของต้นไม้แล้วดูดน้ำเลี้ยงจนทำให้ต้นไม้ต้นนั้นเริ่มตาย เราต้องรู้กระบวนการของมันว่าจะต้องรักษายังไง หรือการที่นกตีทองมาทำรังในเนื้อไม้ เราก็อนุมานได้ว่ากิ่งนี้กำลังจะแห้งตาย นกถึงเจาะได้”
“การจัดการต้นไม้ บางทีเราจะมองแค่ต้นไม้สุขภาพแข็งแรงอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องมองในเชิงนิเวศวิทยาด้วย อย่างเช่น ถ้าเราบอกว่ากิ่งนั้นมันแห้งก็จริง แต่ถ้าเราตัดกิ่งหนึ่งไป นั่นหมายความว่ารังของนกตีทองจะหายไปสองรัง ดังนั้น เราจึงต้องประเมินเรื่องความเสี่ยงกันอีก”
เมื่อก่อนอาชีพนี้เข้าถึงยาก
แล้วตอนนี้ล่ะ?
▲
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนค่อนข้างจะเข้าถึงยาก แม้แต่บุคคลทั่วไปก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารุกขกรคืออะไร หรือแม้แต่ตอนนี้ แต่ถ้าเทียบกับเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนนี้คนเริ่มรู้จักมากขึ้นว่ารุกขกรคืออะไร เมื่อก่อนญาติ ๆ ถามฟางว่าทำงานอะไร ฟางจะเลี่ยงไม่ตอบ เพราะรู้สึกว่าจะต้องอธิบายเยอะก็เลยบอกว่าดูแลต้นไม้ แต่เดี๋ยวนี้คนเริ่มรู้จักกันแล้ว เพราะฉะนั้นการเข้ามาในวงการหรือเข้ามาสู่ในอาชีพนี้มันก็สามารถหาอ่านหรือหาความรู้เพิ่มได้มากขึ้น ว่าอาชีพนี้เขาทำอะไรกัน”
“ตอนนี้สมาคมรุกขกรรมไทยอยู่ภายใต้สมาคมรุกขกรรมนานาชาติ มีเปิดสอบรับรองรุกขกร และ Tree Worker แล้วก็ขององค์กรที่เกี่ยวกับแรงงานอย่างสถาบันคุณวุฒิก็จัดหลักสูตรนี้แล้ว เพื่อให้คนที่ตัดแต่งต้นไม้ต่อจากนี้ ไปขอยื่นสอบรับรอง เพื่อให้การทำงานมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ในขณะเดียวกัน หากเราสอบใบเซอร์ที่ไทยได้แล้ว สามารถไปสอบเทียบใบเซอร์ของนานาชาติและไปทำงานที่ต่างประเทศได้ด้วย เพราะฉะนั้นฟางคิดว่ามันเป็นทางเลือกอาชีพที่เพิ่มขึ้น แล้วก็เพิ่มมูลค่าให้กับอาชีพด้วย การจะทำให้คนทั่วไปที่เขาทำงานในด้านนี้เข้ามาอยู่ในโครงการมากขึ้น คือต้องสร้างการรับรู้ ให้เขารู้ว่ามันดียังไง ทำไมคุณถึงต้องมีใบรับรอง”
แล้วต้องเรียนจบอะไร
ถึงจะมาเป็นรุกขกรได้
▲
“สายงานที่ทำรุกขกรส่วนใหญ่จะเป็นวนศาสตร์ ซึ่งมักจะไปเข้ากรม อยู่อุทยาน อยู่กรมป่าไม้ หรืออยู่ CSR เกี่ยวกับการปลูกป่าในบริษัท เพราะฉะนั้นการมีอาชีพนี้ทำให้น้องจบใหม่มีทางเลือกอาชีพมากขึ้น ว่าเราสามารถเบนสายมาทางนี้ได้นะ หรือแม้แต่สาขาที่เกี่ยวข้องอย่างชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ พืชสวน หรือสถาปนิกอะไรอย่างนี้ ก็สามารถยื่นวุฒิการศึกษาเพื่อมาสอบได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีการปิดกั้น จริง ๆ ในไทยเราก็มีต้นไม้เยอะมาก ตอนนี้รุกขกรไม่เพียงพอต่อปริมาณงานที่มี เราก็เลยต้องผลักดันวิชาชีพให้คนเข้ามาในวงการเยอะ ๆ ให้เข้ามาดูแลต้นไม้ให้มากขึ้น”
บอกได้เต็มปากเลยมั้ย
ว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่รัก
▲
“จริง ๆ ก็เป็นอาชีพที่รักนะคะ รู้สึกว่าทำแล้วสบายใจดี แต่แน่นอนว่าทุกงานก็จะมีความเครียดอยู่บ้างอยู่แล้ว แต่โดยรวมก็คือ แฮปปี้ค่ะ”
…เมื่อลิสต์คำถามในกระดาษเดินทางมาถึงข้อสุดท้าย บทสนทนาตามสคริปต์จึงเป็นอันสิ้นสุดลง จากนั้นคุณฟางได้เดินพาเราไปสำรวจต้นไม้แต่ละต้นรอบ ๆ อุทยานเบญจสิริ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ด้วยเสียงเจื้อยแจ้วผ่านแววตาที่สดใส ซ่อนไว้ซึ่งความมุ่งมั่น ที่อยากจะเห็นคนในสังคมไทยเปิดรับและให้ความสำคัญกับอาชีพรุกขกรมากขึ้น พร้อม ๆ กับเห็นต้นไม้ในประเทศไทยเติบโตมากขึ้นด้วย