KiNd ชวนคุณมาฝันเฟื่องเรื่องราวหอมกรุ่น… เปิดโลกแห่งจินตนาการถึงกระบวนการอบหนังสือสักเล่ม ในร้าน Bookery—เรื่องเล่ารอบหนังสือ หนนี้ถึงคิวของ ‘คุณโย-กิตติพล สรัคคานนท์’ เจ้าของร้านหนังสืออิสระ Books & Belongings ที่เปรียบเปรยร้านและตัวเองในโลกเบเกอรีว่าเป็นดั่ง ‘ร้านขนมปัง’ แถมพ่วงมาด้วยตำแหน่ง ‘คนคัดสรรขนมปังชั้นยอด’ ถึงแม้จะฟังดูอ่อนหวาน ละมุนละไม และชวนฝัน หากแต่ความเป็นจริงนั้น ธุรกิจร้านหนังสือกลับห้ำหั่นฟาดฟันกันอย่างดุเดือด
ก่อนจะหยิบจับหนังสืออุ่น ๆ ขึ้นมาเชยชมสักเล่ม มาย้อนดูความเป็นมาของร้าน Books & Belongings และเรื่องราวในแวดวงร้านหนังสืออิสระพร้อมกัน!
จากวันนั้น สู่ Books & Belongings วันนี้
≡
หากจะถามหาจุดเริ่มต้นของ Books & Belongings อาจต้องนับย้อนกลับไปราว 10 ปี คุณโยเล่าให้เราฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีคุณโยทำงานในวงการดิจิทัลเอเจนซี่ แล้วอยากจะมีร้านหนังสือไว้สำหรับเป็นที่ประชุมหรือพบปะหาความรู้ของทีมงาน จึงย้ายจากที่เก่า Racquet Club มาอยู่ที่สุขุมวิท 91 เนรมิตสองชั้นบนเป็นออฟฟิศ ส่วนชั้นล่างเป็นร้านหนังสือ แต่เมื่อธุรกิจดิจิทัลเอเจนซี่ ไม่ได้ใจดีกับเขามากนัก ท้ายที่สุดก็ต้องปิดตัวลงไป คงเหลือไว้เพียงร้านหนังสือชั้นล่างที่เป็นเพียงงานอดิเรกของเขาเท่านั้น
“ธุรกิจดิจิทัลเอเจนซี่ปิดตัวไป สุดท้ายสิ่งที่เหลืออยู่สำหรับผมคือร้านนี้ ตอนแรกว่าจะปิดแล้วครับ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นว่า ร้านก็อยู่ของมันได้ แอบงงเหมือนกันว่างานอดิเรกของผมกลายเป็นที่สนใจด้วย อาจเป็นเพราะวิธีการเลือกหนังสือไม่เหมือนร้านหนังสือทั่วไป เราคัดสรรตามความชอบของเรา หลังจากนั้นผมมีโอกาสได้รู้จักกับ ‘วิกกี้-วิชุตา โลหิตโยธิน’ เขามองว่าร้านหนังสือเฉพาะทางแบบนี้ถ้าปิดไปคงน่าเสียดายแน่ ก็เลยมาร่วมเป็นหุ้นส่วนร้านครับ เข้ามาปรับระบบเป็นออนไลน์ เพื่อให้มีเสถียรภาพมากขึ้น”
หลังจาก Books & Belongings เข้าสู่ระบบออนไลน์ ก็ประจวบเหมาะกับช่วงโควิด-19 พอดิบพอดี คุณโยบอกกับเราว่า หลายธุรกิจเงียบสงัด แต่น่าแปลกใจมากที่ร้านหนังสือกลับขายดิบขายดี อาจเพราะผู้คนส่วนมากต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ยอดสั่งหนังสือออนไลน์จึงพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ความราบรื่นคงอยู่ไม่ทันไรปัญหาใหม่ก็ถาโถมเข้ามาไม่ทันตั้งตัว เพราะสัญญาเช่าตึกดันหมดกลางคัน แถมยังเช่าต่อไม่ได้ และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้คุณโยต้องโยกย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง มาเริ่มต้นใหม่อยู่ที่สุขุมวิท 95 ซึ่งก็คือที่มั่นหมายปัจจุบันนั่นเอง (อยู่ตรงนี้มาประมาณ 4 ปีแล้ว)
Books & Belongings
แตกต่างจากร้านหนังสือทั่วไปอย่างไร
≡
“Literature and Philosophy (วรรณคดีและปรัชญา) คือสองหมวดหมู่การจัดหนังสือของร้าน ที่เราได้แรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่อง Funny Face (1957) ของ Audrey Hepburn และคิดว่าสองขานี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากร้านหนังสือทั่วไปครับ”
คุณโยเล่าเรื่องย่อของหนังเรื่องนี้ให้เราฟังอย่างออกอรรถรส แต่ก่อนจะเลยเถิดเรื่องหนังไปไกลกว่านี้ คุณโยเปรียบเทียบความแตกต่างของ Books & Belongings กับร้านหนังสือใหญ่ ๆ ว่า
“ปกติหนังสือจะทักทายเราผ่านสันหนังสือใช่มั้ยครับ แล้วต้องวางในเชิงปริมาณ เพราะฉะนั้นหนังสือไม่เคยหันหน้ามาหาเรา มันไม่เคยพูดกับเรา แต่เป็นความสนใจของเราที่พุ่งไปหามัน ส่วนหนังสือที่หันหน้าหาเราจะเป็นแค่หนังสือที่ขายดีหรือเป็นหนังสือในกระแส ร้านเราจึงอยากสร้างหมวดหมู่หนังสือจากสองขาคือ งานวรรณกรรมกับงานแนวความคิดหรือปรัชญา ผมคิดว่ามันไปด้วยกันได้ โดยหนังสือทุกเล่มในร้านเราจะหันหน้าทักทายผู้อ่านที่สนใจจริง ๆ ครับ”
นอกจากหมวดหมู่หนังสือที่เฉพาะเจาะจงแล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของร้านคือ หนังสือส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ (ภาษาฝรั่งเศสก็เคยมีบ้าง) และภาษาไทยประปราย (สำนักพิมพ์เพื่อน ๆ ที่ใกล้ชิดกับคุณโย) ดังนั้น ลูกค้ามากหน้าหลายตาที่แวะเวียนเข้ามาจึงมีหลากหลายเชื้อชาติตามไปด้วย
หาก ‘หนังสือ = ขนมปัง’
คิดว่า Books & Belongings เป็นส่วนประกอบใด
≡
“คำตอบข้อนี้ วิกกี้ฝากมาให้ครับ” คุณโยพูดเกริ่น พลางหยิบกระดาษแผ่นบางขึ้นมาอ่าน พร้อมส่งต่อความคิดเห็นของหุ้นส่วนอีกท่านให้เราฟัง
“ถ้าให้เปรียบเทียบกับ Books & Belongings เราก็คงเป็นร้านขนมปัง ที่เลือกรับขนมมาจากนักทำขนมปังหลากหลายแหล่ง ซึ่งเราจะรู้ว่าเขาตั้งใจทำ ตั้งแต่การเพาะยีสต์ เลือกแป้ง รวมถึงน้ำ พูดง่าย ๆ คือทุกส่วนผสมเขาตั้งใจทำ โดยนักทำขนมปังแต่ละคนจะมีสไตล์และเทคนิคของตัวเอง ร้านเราเป็นแค่คนคัดสรรขนมปังชั้นยอด ตามอรรถรสและความชื่นชอบของเราเอง โดยหวังว่าลูกค้าหรือคนที่แวะเวียนมาจะชอบเบเกอรีสไตล์เดียวกับเรา”
แม้คุณวิกกี้จะไม่ได้มาร่วมวงสนทนาในครั้งนี้ด้วย แต่ก็ส่งใจความหลักมาถึงเราได้อย่างลุ่มลึกและเอร็ดอร่อย
“ขนมปังแต่ละก้อนมีลักษณะเฉพาะ บางชิ้นกินง่าย ผิวสัมผัสภายนอกกรอบภายในนุ่ม บางชิ้นมีโครงสร้างซับซ้อน บางชิ้นดูกินยากตั้งแต่ผิวสัมผัสไปจนถึงรสชาติ จนบางคนก็วางตั้งแต่คำแรก แต่พอลองชิมไป แม้รสจะแปร่งแปลกแต่กลับอร่อย ถือเป็นประสบการณ์ทางรสชาติที่แปลกใหม่ และอาจหาที่ไหนไม่ได้นอกจากที่ Books & Belongings”
นอกจากตัวร้านแล้ว อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ Books & Belongings คือ ผู้จัดการร้าน (ซึ่งก็คือคุณโยและคุณวิกกี้นี่ล่ะ) แล้วผู้จัดการร้านที่นี่มีหน้าที่อะไรบ้าง?
“ผู้จัดการร้านต้องคอยแนะนำขนมแต่ละชนิดที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรม เพราะถ้าเราเริ่มต้นจากสิ่งที่ยากก่อน บางทีคนก็เผ่นเลย เพราะคิดว่าที่นี่คงไม่มีอะไรที่กินได้ เพราะฉะนั้นการลำดับเนื้อหาความยากง่ายจึงสำคัญ คนที่จะดูแลตรงนี้ไม่ใช่แค่คนขายหนังสือ แต่คือผู้จัดการ ที่จะคอยคิวเรตสิ่งต่าง ๆ ในร้าน แม้การเปรียบหนังสือเป็นร้านเบเกอรี่ อาจฟังดูละมุนละไม อ่อนหวาน และชวนฝัน แต่ถ้ามองในความเป็นจริง ธุรกิจร้านหนังสือฟาดฟันกันพอสมควร เพราะร้านหนังสือทุกร้านต้องการการสนับสนุนจากคนอ่านมาก ๆ การทำร้านหนังสือในยุคก่อนยากอย่างไร สถานการณ์ในปัจจุบันซับซ้อนและท้าทายขึ้นกว่าเดิมมาก บางทีเหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ง่ายเลย”
แล้วมีวิธีคัดสรรหนังสือเข้าร้านอย่างไร
≡
หลังจากกวาดสายตามองหนังสือรอบร้าน เข้าใจว่าบางเล่มคงมีจำนวนจำกัด บางเล่มอาจมีสต็อกแต่คงเหลือไม่มากนัก บางปกสีสันฉูดฉาด แต่บางปกกลับดูเรียบง่าย ผลงานส่วนใหญ่เป็นของนักเขียนระดับตำนาน ว่าแต่หนังสือเหล่านี้มารวมตัวกันอยู่ในร้านแห่งนี้ได้อย่างไร ไปฟังจากปากคุณโยกัน
“เป็นความชอบส่วนตัวครับ ผมสนใจขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านวรรณกรรม คอนเซปต์ร้านคือโรงงานวรรณกรรมที่มีช่างฝีมือทางด้านตัวอักษร ซึ่งงานวรรณกรรมฝรั่งเศสมีกลุ่มความคิดพวกนี้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบนูโว โรมอง (Nouveau roman) หรืออูลิโป (Oulipo) แต่ตั้งต้นที่ผมชอบคือเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism) เริ่มต้นจากตรงนั้นแล้วก็ย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หนังสือในร้าน Books & Belongings เลยกลายเป็นแนวโมเดิร์นนิสม์ (Modernism) ค่อนข้างมาก ถ้าคนชอบวรรณกรรมเข้ามาก็จะสนุกกับร้านนี้ เรียกว่าเป็นขุมทรัพย์เลย บางเรื่องก็มีเล่มเดียว หมดแล้วหมดเลย ซึ่งผมว่าในบ้านเราประวัติศาสตร์วรรณกรรมยังเป็นสิ่งที่อาจจะยังแคบอยู่”
3 นักเขียนขึ้นหิ้งที่ตรึงติดอยู่ในใจ
≡
“หนึ่ง คือ ฌีลส์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze) การอ่านงานของเดอเลิซเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ผมชอบสิ่งที่เขาอ่าน ถึงเราไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเขียนทั้งหมดในวรรณกรรม ในภาพยนตร์ที่เขาดูหรือเพลงที่เขาฟัง แต่เรารู้สึกว่าเราสนุกไปกับมัน นักเขียนคนที่สองซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผมชอบ คือ โมริซ บล็องโชต์ (Maurice Blanchot) แรก ๆ ผมไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักเขียน ผมอยากเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์และวรรณกรรม จนวันหนึ่งผมได้อ่านงานของบล็องโชต์ ผมรู้สึกว่าผมค่อย ๆ เปลี่ยน เพราะการเป็นนักเขียนและนักวิจารณ์ไม่ได้แยกขาดกันขนาดนั้น มันสามารถไปด้วยกันได้ เขาพลิกผมให้มองเห็นรอบด้านมากขึ้น ส่วนอีกคนคือ โฌแซ็ฟ ฌูแบรต์ (Joseph Joubert) ผมชอบที่เขาเป็นนักวางแผน วางแผนที่จะเขียนหนังสือไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้ลงมือสักที แต่ว่าไม่ได้นะครับ เพราะคนที่ฌูแบรต์ให้คำปรึกษาล้วนกลายเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ทั้งนั้นเลย”
หากดูจาก 3 นักเขียนในดวงใจของคุณโยก็ไม่แปลกใจเลย ว่าทำไมรายชื่อนักเขียนที่โชว์หราบนปกหน้าในร้าน ดูจะค่อนไปทางฝรั่งเศสเสียส่วนใหญ่ นั่นเป็นเพราะคุณโยเติบโตมาในยุคสมัยที่ปรัชญาฝรั่งเศสกลายเป็นสินค้า ในแง่มิติทางวรรณกรรมและปรัชญา แถมยังสะท้อนถึงความรุ่มรวยและลึกซึ้งทางความคิดได้อย่างแยบยลด้วย
การเติบโตของ Books & Belongings ต่อจากนี้
≡
แม้ร้าน Book & Belonging จะมีพื้นที่ไม่ใหญ่นัก แต่เมื่อเทียบกับความอบอุ่นและความสนุกสนานในการผจญภัยรอบตัวอักษร ก็นับว่าเพียงพอจะรองรับเหล่าคนรักงานวรรณกรรมประวัติศาสตร์ได้มากโข
“ก่อนหน้านี้มีกิจกรรม Reading Club ทางออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทั่วประเทศ เพราะเขาไม่สามารถมาที่ร้านได้ง่าย ๆ ตอนนี้เราคิดว่าร้านเรารองรับกิจกรรมในพื้นที่ได้แล้วครับ แม้ร้านจะเล็กหน่อย แต่ถ้าเรามีการจองที่กันไว้ก็น่าจะรองรับได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นเฟสต่อไปของเราคือ การดึงคนเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกันที่นี่ สร้างพื้นที่ตรงนี้ให้มีชีวิตมากขึ้น เช่น จัดทอล์กร่วมกับนักเขียน ซึ่งจะทำให้ร้านมีสีสันมากขึ้นด้วยครับ”
ฝากอะไรถึงผู้อ่านหน้าใหม่ และผู้อ่าน
ที่(อาจ)ไม่สันทัดภาษาอังกฤษ
≡
“แวะมาได้เลยครับ ร้านปิดแค่วันจันทร์ หรือจะถามไถ่ทางออนไลน์เข้ามาก่อนก็ได้ อย่างที่บอกร้านเราส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ เพราะผมมองว่า ถ้าหวังแค่อ่านภาษาที่เราคุ้นเคยอย่างเดียว เพื่อเข้าใจโลก เพื่อเข้าใจสังคมก็คงยาก บางทีการอ่านภาษาอื่นก็ช่วยได้ ต่อให้เราใช้แบบก๊อก ๆ แก๊ก ๆ แต่อย่างน้อยก็มีประตูให้เราได้เห็นมุมมองใหม่อีกมากมาย เหมือนเราได้เห็นโลกอีกมิติหนึ่งเลย”
ขณะสัมภาษณ์ หนังสือหลากหลายเล่มส่งกลิ่นหอมตลบอบอวล ราวกับกำลังเชิญชวนให้เหล่านักอ่านอย่างเรา ๆ เข้าไปลิ้มลองแม้รสชาติจะแปร่งแปลกไม้คุ้นลิ้น แต่หากได้ลองชิมสักนิดอาจติดใจก็ได้ ใครจะรู้! สำหรับครั้งหน้ามินิซีรีส์ Bookery — เรื่องเล่ารอบหนังสือ จะพาไปชวนคุยถึงกระบวนการอบหนังสือกระบวนการไหน ต้องรอติดตาม…