Kind People

ช่างช้าง – สุนัย กลิ่นบุปผา คนคราฟต์ที่สานต่องานบรรพบุรุษ

KiNd ชวนลัดเลาะไปตามซอกซอยของชุมชนบางไส้ไก่ย่านฝั่งธนบุรี หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หมู่บ้านลาว” ที่นี่เป็นชุมชนของคนลาวเวียงจันทน์ที่อพยพมาอยู่ในสยามประเทศช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมโอบอุ้มเอาวิถีชีวิตและงานฝีมือการทำขลุ่ยมาด้วย ทำให้หมู่บ้านนี้เต็มไปด้วยช่างทำขลุ่ยฝีมือดีมานานกว่า 200 ปี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปกาลเวลาเปลี่ยนแปลง อาชีพที่เคยสืบทอดกันมานานกว่าสองศตวรรษก็ลดน้อยลง เหลือเพียงไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้น

เมื่อก้าวเข้ามาในบางไส้ไก่ซอย 5 เสียงขลุ่ยแว่วมาตามสายลม แน่ชัดแล้วว่ามาถูกทาง วันนี้ KiNd มีนัดกับ “ช่างช้าง-สุนัย กลิ่นบุปผา” ช่างทำขลุ่ยแห่งหมู่บ้านลาว ผู้สานต่องานคราฟต์ของบรรพบุรุษมาจนถึงรุ่นที่ 4 จากเด็กที่ “เบื่อขลุ่ย” เพราะเติบโตมากับครอบครัวทำขลุ่ย โดนบังคับให้ขัดขลุ่ยตั้งแต่เล็ก ๆ จวบจนอายุเกือบ 30 ปี ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตตอนนั้นถึงเข้าใจได้ด้วยตัวเองว่า เพราะเหตุใด “พ่อ” ถึงมีความสุขกับการทำขลุ่ย

หมู่บ้านลาว ชุมชนทำขลุ่ยแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ

“ที่นี่เป็นหมู่บ้านคนลาวเวียงจันทน์ ถูกต้อนเข้ามาสมัยเจ้าอนุวงศ์ มีการนำช่างติดมาด้วย ในยุคนั้นจะมีช่างทำขลุ่ยกับช่างทำแคน แต่ปัจจุบันแคนไม่มีแล้วเพราะว่าวัสดุหายากขึ้นเลยเหลือแต่ขลุ่ย”

ช่างช้างในวัยย่างเข้า 60 เล่าถึงประวัติที่มาของหมู่บ้านลาวให้ฟังคร่าว ๆ ว่า ในยุคแรกเริ่มช่างทำขลุ่ยของหมู่บ้านลาวแต่ละบ้านจะมีหน้าที่ต่างกัน บ้านหนึ่งจะเทตะกั่ว บ้านหนึ่งจะขัดขลุ่ย ขัดลาย บ้านหนึ่งจะเป็นช่างเป่า แต่ยุคปัจจุบันเหลือบ้านที่ทำขลุ่ยเพียง 5-6 หลังเท่านั้น แต่ละบ้านจะทำเองทั้งหมด ไม่ได้แยกหน้าที่กันเหมือนสมัยก่อน

การทำขลุ่ยของตระกูล “กลิ่นบุปผา” เริ่มจากยุคทวดของช่างช้าง จากนั้นก็มายุคปู่ (ครูหร่อง) และยุคพ่อ (ลุงจรินทร์ อดีตประธานชุมชน) ซึ่งยุคของลุงจรินทร์เริ่มมีการพัฒนานำเครื่องยนต์กลไกมาผสมผสานและเริ่มมีการเอาไม้เนื้อแข็งมาทำ จนมายุคของช่างช้าง คือรุ่นที่ 4 เริ่มมีการนำเสียงของดนตรีระบบสากลมาใช้

“ยุคพ่อผมยังคงเล่นเพลงไทยเดิมนะ แต่ว่ามายุคผมเริ่มมีระบบของสากลเข้ามา เพลงร่วมสมัยที่เรารู้จักกัน เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง เราเริ่มเอาระบบดนตรีสากลเข้ามา เช่น คีย์ซี คีย์บี แฟลต คีย์อี คีย์จี คีย์เอฟ เริ่มพัฒนากันจนมาถึงรุ่นผมรุ่นที่ 4”

จากเด็กที่เบื่อขลุ่ย สู่อาชีพสุดท้ายของบั้นปลายชีวิต

“ผมพูดเลยว่าคนที่อยู่ตรงนี้ไม่ค่อยมีใครอยากทำหรอก เหมือนเราขายของขายกับข้าวก็ไม่อยากกินของตัวเอง ชอบกินร้านคนอื่นมากกว่าทั้ง ๆ ที่เราก็ขาย ตอนเด็ก ๆ โดนใช้ให้ขัดขลุ่ย เราก็บอกรอแป๊บหนึ่งตลอด หนีไปโดดน้ำเล่นกับเพื่อน พยายามเลี่ยงตลอดเลย เพราะเห็นตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว”

ช่างช้างเล่าถึงเรื่องราวในวัยเด็กที่เติบโตมากับขลุ่ย จวบจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงอายุ 30 ปี สมัยนั้นช่างช้างทำงานมีเงินเดือนราว ๆ 8,000 บาท หากนับย้อนไป 20-30 ปีก่อนนับว่าค่อนข้างสูงสำหรับช่างช้างเพราะยุคนั้นค่าใช้จ่ายน้อย แต่ก็ไม่มากเท่ากับการทำขลุ่ย ช่างช้างเลยออกจากงานประจำหันมาทำขลุ่ยเป็นอาชีพเต็มตัว

“เมื่อก่อนผมไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อถึงนั่งยิ้มนอนยิ้มเวลาเรารับโทรศัพท์ เรามารู้ทีหลังว่าอะไรทำให้พ่อมีความสุข เพราะลูกศิษย์เอาขลุ่ยพ่อไปแข่งโทรมาบอกชนะ นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง เราก็อ๋อ ความสุขของพ่ออยู่ตรงนี้นี่เอง ตั้งแต่นั้นมาก็นั่งทำแต่ขลุ่ย ไม่คิดทำอาชีพอื่นแล้ว เรารู้แล้วว่านี่คือความสุข บางทีลูกศิษย์โทรมาบอก ‘ครูผมชนะ’ แล้วชนะ 2 ปี 3 ปีซ้อน เขาเอาขลุ่ยเราไปแข่ง นี่แหละความสุขทางใจ”

ช่างช้างไม่ได้จบดนตรีมาโดยตรง เรียนหนังสือไม่จบระดับปริญญา แต่สั่งสมเรียนรู้วิชาชีพมาจากประสบการณ์ชีวิต ลูกค้าที่มาหาช่างช้างต่างอยากได้ขลุ่ยในแบบที่ตัวเองต้องการ แต่ละคนใช้ลมต่างกัน ใช้เสียงต่างกัน ช่างช้างมีหน้าที่ทำขลุ่ยออกมาให้ตรงตามเฉพาะแต่ละคน

“ลูกศิษย์ผมที่เป็นคนสมาธิสั้น เขาเอาขลุ่ยเราไปเป่า เขามาบอกว่า ‘ครู ผมความจำดีขึ้นเยอะเลยนะ จากอารมณ์ร้อน ๆ เย็นลงเลย’ เท่านี้ผมก็ชื่นใจแล้ว ขลุ่ยทำให้คนมารู้จักกัน เด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่ได้เห็นรุ่นพี่นักดนตรีได้รางวัล เขาก็อยากทำได้บ้าง หรืออย่างกลุ่มคนเป่าขลุ่ยข้างถนน เขาก็มีกลุ่มไปเล่นดนตรีด้วยกัน มาเล่นกับเราบ้าง ใช้ขลุ่ยจากเราบ้าง เพราะดนตรีเป็นสื่อเชื่อมโยงให้คนได้รู้จักกัน”

ช่างทำขลุ่ย อาชีพที่กำลังเลือนหายหากไม่มีใครสานต่อ

สำหรับขั้นตอนการทำขลุ่ย ช่างช้างอธิบายพอให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า สมัยโบราณขลุ่ยที่หมู่บ้านลาวจะใช้ไม้รวก ซึ่งต่างจากไม้ไผ่ทั่วไปตรงลักษณะของข้อที่มีความยาวกว่า เมื่อได้ไม้มาแล้วจะนำมาตัดเป็นท่อนตามความยาวของปล้องไม้ แล้วจึงคัดขนาด เลือกประเภท ขัดเงา แล้วจึงเจาะรูขลุ่ย ส่วนขั้นตอนทำลวดลายนั้นใช้ตะกั่วหลอมให้เหลว แล้วใช้ช้อนตักราดลงบนขลุ่ยเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายดอกพิกุล ลายรดน้ำ ลายหิน จากนั้นจึงแกะปากนกแก้วเพื่อตั้งเสียง ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้ความชำนาญสูง อาจเกิดอันตรายได้ ขั้นตอนต่อไปเรียกว่า “การทำดากขลุ่ย” เพื่อให้เกิดเสียง โดยเหลาไม้สักหรือไม้เนื้อแข็งอุดเข้าไปในรู เว้นช่องสำหรับให้ลมเป่าผ่าน ต้องทำให้ระหว่างปากขลุ่ยกับปากนกแก้วโค้งเป็นท้องช้าง เพื่อให้ได้เสียงที่ไพเราะ กังวาน แล้วจึงทดสอบดูว่าเสียงได้มาตรฐานหรือไม่

“บางทีวันไหนอารมณ์ดี ๆ ทำแป๊บเดียวได้เลย มันอยู่ที่หูเราด้วย บางทีหูมันเพี้ยนไปเอง ช่างสมัยก่อนเขาใช้หูสัมผัส ยุคของผมก็ใช้หูสัมผัส แต่ปัจจุบันใช้ตัวโน้ตแล้ว มีแอปพลิเคชัน แต่ยังไงนักดนตรีก็ต้องมีความชัดก่อน หูต้องดี ถ้าเสียงอื้ออึง เสียงเพี้ยน เราจะรู้สึกทันที แต่ถ้าวันไหนหูเราไม่ดี เราไม่รู้สึกหรอกว่ามันเพี้ยน”

เมื่อถามถึงการสานต่ออาชีพทำขลุ่ย ช่างช้างเล่าให้ฟังอย่างมีความหวังว่า “บอกกันตรง ๆ สมัยก่อนผมเห็นขลุ่ยไม่ได้ ไม่อยากทำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ ตื่นเช้ามาต้องจับขลุ่ย แปลกมั้ยล่ะ หรือเพราะเราอายุมากขึ้น เมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็ต้องกลับมา แม้กระทั่งลูกของเรา ตอนนี้เขายังไม่คิดอยากทำ แต่ทำเป็น เราก็สอนเขาแต่เล็กเหมือนกัน มาช่วยกลึงขลุ่ยเขาก็ทำ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาก็ต้องมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะมันเป็นสมบัติของเขา อยู่ที่ตัวเขาเองจะสืบทอดต่อหรือเปล่า”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ช่างช้างในวัยที่กำลังก้าวเข้าสู่วัย 60 มีความสุขกับการทำขลุ่ย อาชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ อาชีพที่ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาสูง ๆ แต่เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสม อาชีพที่สร้างรายได้พอเลี้ยงครอบครัว สร้างความสุขให้คนที่รักเสียงดนตรี และสร้างความเพลิดเพลินให้ผู้คน

หากใครสนใจเรียนรู้วิธีการทำขลุ่ย หรืออยากสั่งทำขลุ่ยประจำตัวสักเลา ลองติดต่อเข้าไปคุยกับช่างช้างได้เลยที่ “ร้านขลุ่ยลุงจรินทร์” บางไส้ไก่ซอย 5 ถนนอิสรภาพ กรุงเทพฯ โทร. 086-772-2204


เรื่องโดย

ภาพโดย