Kind People

“สรรชาย นุ่มบุญนำ” ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วย Hybrid Exhibition


ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะก้าวผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างประเทศ อย่างอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) โดยเฉพาะกลุ่มงานแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ ที่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดงานต่าง ๆ หยุดชะงัก และชะลอตัวเลื่อนออกไป

KiNd มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจออแกไนซ์มานานกว่า 15 ปี เราพูดคุยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการจัดงานอีเว้นท์ และวิธีการรับมือของอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในการบริหารจัดการธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์พลิกผัน ซึ่งคุณสรรชายไม่เพียงแต่ขบคิดแนวทางแก้ปัญหาอย่างถี่ถ้วนเท่านั้น แต่ยังมองไกลถึงอนาคตว่า การจัดงานแสดงสินค้าต่อจากนี้จะไม่ได้มีเพียงรูปแบบ Physical Exhibition แล้วเท่านั้น เพราะ Hybrid Exhibition กำลังเข้ามาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง

KiNd ชวนติดตามอ่านบทสัมภาษณ์คุณสรรชาย นุ่มบุญนำ ไปพร้อม ๆ กัน



รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั้งระลอกแรกและระลอกใหม่อย่างไร?

  • สร้างความเชื่อมั่นภายในองค์กร

“สิ่งแรกที่ต้องทำคือ สร้างความเชื่อมั่นภายในองค์กร เพราะตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปี 2019 เราได้เตรียมรับมือตั้งแต่ตอนนั้นเลยครับ แล้วเหตุการณ์ก็วิกฤตขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2020 ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ รายรับของเราลดลง เพราะสัดส่วนรายได้ของอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เกินกว่า 50% มาจากลูกค้าต่างประเทศ ทำให้เราต้องวางแผนเน้นไปที่ผู้จัดแสดงสินค้าภายในประเทศ (Domestic Exhibitors) ส่วนกลุ่มผู้เข้าร่วมงานก็จะเน้นในประเทศ (Local Visitors) เช่นกัน”

  • เข้าใจสถานการณ์

“อย่างที่สองคือ เข้าใจสถานการณ์ พนักงานทั้งหมดต้องทำงานหนักกว่าเดิม อันนี้คือ Key Point ต้องมองสถานการณ์ให้ออก วางแผน A B และ C ว่าเราต้องทำงานหนักขึ้นขนาดไหน รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานด้วย เช่น Work from Home แต่ผมก็ยังคงมองว่า ไม่ใช่ว่าทุกที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อต้อง Work from Home เพราะบางทีทำงานที่บ้านอาจจะเหนื่อยกว่าด้วย ยิ่งคนเป็นผู้นำการประชุมจะยิ่งเหนื่อย ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการภายในองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น นี่คือความท้าทาย”

  • บริหารจัดการภายนอกองค์กร

“อย่างที่สามคือ เรื่องบริหารจัดการภายนอกองค์กรว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหน ทั้งการสื่อสารกับลูกค้า สร้าง Landing Zone ของงาน สิ่งเหล่านี้คือเหตุการณ์ของปีที่แล้ว ซึ่งเราใช้เวลาสั้นมากระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ในการสร้างงานให้เป็น Hybrid Exhibition ช่วงนั้นเราได้ลองผิดลองถูกกันว่าจะออกมาเป็นรูปแบบไหน ซึ่งงานที่ผ่านมาก็เรียกว่า ‘เอาตัวรอดไปได้ระดับหนึ่ง’ เพราะเมื่อเราเลื่อนงานของต้นปีมาจัดปลายปี ทำให้งานที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่แล้วได้รับผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานในทิศทางที่ดี”


สร้างความเชื่อมั่นในการจัดงานแสดงสินค้าอย่างไร?

  • Hybrid Exhibition คือคำตอบ

“อย่างที่ผมบอกว่าเราต้องสร้างความเชื่อมั่น เข้าใจสถานการณ์ และสื่อสารไปยังกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ผ่านมาเราได้นำเรื่องของดิจิทัลมาใช้ โดยในปี 2020 ช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก เราสามารถจัดงานแสดงสินค้าได้ถึง 3 งาน ในระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งทั้งหมดจัดออกมาในรูปแบบ Hybrid Exhibition ผสมผสานระหว่างการจัดงานโดยนำเทคโนโลยีออนไลน์ดิจิทัลมาใช้ ควบคู่กับการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบปกติ ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างท่วมท้นจากทั้งฝั่งผู้แสดงสินค้าและผู้เข้าร่วมงาน”

  • มาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัย

“มาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัยของภาครัฐคือสิ่งแรกที่ต้องทำ และเราต้องทำมากกว่าข้อกำหนดของภาครัฐด้วย ทั้งการควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมงาน ความหนาแน่นของผู้คนภายในงาน การจัดวางพื้นที่และการเว้นระยะห่างของทางเดิน การใช้หุ่นยนต์ฉีดพ่นทำความสะอาดทั่วบริเวณงาน รวมถึงมีจุดสแกน ‘ไทยชนะ’ ในระหว่างห้องจัดแสดง เพื่อดำเนินการให้ล้อไปตามนโยบายของรัฐบาล”

  • Informa AllSecure

“ถัดมาคือเราได้มีการดำเนินการตามมาตรฐาน ‘Informa AllSecure’ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่บริษัท อินฟอร์มา พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดงานภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้เป็นแนวทางให้บริษัทในเครือทั่วโลกนำไปปฏิบัติ ซึ่งเราได้เลือกนำแนวทางที่สอดคล้องกับบรรยากาศการจัดงานในประเทศไทยมาใช้อย่างเหมาะสม”

  • เทคโนโลยีไร้สัมผัส

“นอกจากนี้เรายังได้นำเทคโนโลยีไร้สัมผัส (Contactless Technology) มาใช้ เช่น ระบบการลงทะเบียนและบัตรเข้างานอิเล็กทรอนิกส์ (e-Badge) คือผู้เข้าร่วมงานต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อลดการสัมผัสในระหว่างเข้าร่วมงาน รวมไปถึงเปลี่ยนการแจกนามบัตรและสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เป็นรูปแบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม หากในปี 2021 นี้สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ยังไม่คลี่คลายลง หรือถึงขั้นกลับมาวิกฤตอีกครั้ง เราก็พร้อมรับมือและยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยขึ้นไปอีกขั้น พร้อมดำเนินการให้เหมาะสมกับบรรยากาศของกิจกรรม โดยอิงความปลอดภัยของผู้จัดแสดงงานและผู้เข้าร่วมงานให้อยู่ในขั้นที่ดีที่สุด”


ภาพรวมการจัดงานแสดงสินค้าต่อจากนี้จะเป็นรูปแบบใด?

  • Hybrid Exhibition คือเป้าหมายของอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์

“ต่อจากนี้เทรนด์ของการจัดงาน Exhibition จะเปลี่ยนไป ด้วยพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมงานที่เปลี่ยนแปลง คนใช้เวลาในการเข้าดูงานน้อยลง งานแสดงสินค้าอาจต้องมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และต้องตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง Hybrid Exhibition จะช่วยกลุ่ม Organizers ได้อย่างมาก เนื่องจากงานที่จัดเป็น Hybrid จะเปิดโอกาสให้ผู้จัดแสดงที่ไม่เคยมาร่วมงานจริงในพื้นที่ ได้ลองจัดแสดงสินค้าในรูปแบบ Hybrid Booth ซึ่งหากผลตอบรับออกมาดี โอกาสที่เขาจะมาร่วมงานใน Physical Exhibition ก็จะมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มผู้เข้าร่วมงาน หากได้ลองเข้าร่วมงานผ่าน Virtual แล้วสนใจ ท้ายที่สุดเขาก็จะกลับมาร่วม Physical Exhibition”

  • มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง

“จากนี้ต่อไปโควิด-19 จะอยู่หรือไป งาน Exhibition ของอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จะจัดเป็นรูปแบบ Hybrid Exhibition ทั้งหมดครับ เพราะจากประสบการณ์ที่เราทำมาเมื่อปีที่แล้ว พบว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เคยมาร่วมงานกับเรามาเข้าร่วม Hybrid Exhibition ครั้งที่ผ่านมา ยกตัวอย่างงานในรูปแบบ Business Matching กลุ่มนี้ไม่เคยมางาน Exhibition ของผมเลย แต่หลังจากที่เราเปลี่ยนแผนไปจัด Hybrid Exhibition เราได้ลูกค้ากลุ่มนี้มาใหม่ ทั้งผู้จัดแสดงสินค้าและผู้เข้าร่วมงาน เพียงแต่เมื่อเขาเข้ามาแล้ว เราต้องดำเนินการต่อทันที ไม่ปล่อยให้หลุดมือไป ภาษาของผมคือ ‘ขยี้’ แล้วถึงจะประสบผลสำเร็จ เราเลยมีความเชื่อว่า Hybrid จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อีเว้นท์แบบ Physical ได้ผลตอบรับที่ดีตามไปด้วย”

ทิศทางการทำธุรกิจอีเว้นท์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ต่อจากนี้จะเป็นเช่นไร?


“ผมมองว่า ช่วงต้นปี 2023 ภาคธุรกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้น และปี 2024 น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องติดตามประเมินสถานการณ์และวางแผนรับมือต่อไป อย่างที่บอกครับว่า การจัดงาน Exhibition ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 นี้ เราต้องวางแผนกันล่วงหน้า อาจต้องมองข้ามไปอีก 6-7 เดือน ฉะนั้นปี 2023 อาจเกิดการชะลอตัวของการจัดงานด้วยก็ได้ ซึ่งผมคาดว่าในปี 2024 ทุกอย่างน่าจะกลับเข้ามาเป็นปกติ”

แม้เราจะยังไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะพลิกผันไปในทิศทางใดในอนาคต แต่ด้วยแนวทางการรับมือวิกฤตที่ผ่านมาของประเทศไทยก็เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งเรื่องการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ การรักษาระยะห่าง รวมถึงไทยยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติในเรื่องของการสาธารณสุข เพราะมีบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับโลก ก็น่าจะพอทำให้เรามีความหวังว่า คงอีกไม่นานเกินรอ สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติรูปแบบใหม่ในเร็ววัน


เรื่องโดย