Kind People

สวมหมวก ‘Gallerist’ — คิดแบบ ‘คิด’ จาก KICH Gallery

‘การได้ตื่นมาเห็นงานศิลปะสวย ๆ ในพื้นที่ของเราเอง ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรแล้วครับ’

พื้นที่สีขาวทรงกล่อง ปักหมุดท่ามกลางตึกสูงใจกลางเมือง ‘KICH Gallery’ คือก้อนของการเรียนรู้ระบบเก่า เป็นผลผลิตของแนวคิดที่อยากเปลี่ยนแปลง ส่วนผสมที่กลมกล่อมทับซ้อนจนกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ทำหน้าที่เชื่อมต่อเรื่องราวระหว่างงานศิลป์และผู้คนเข้าด้วยกัน

KiNd ชวนมาตกตะกอนครุ่นคิด สวมหมวก ‘Gallerist’ คิดแบบ ‘คิด จิรชัยสกุล’ จาก KICH Gallery ไปด้วยกัน

บทสนทนากลม ๆ นี้ อาจไม่คมกริบจนกระแทกใจใคร แต่อบอวลด้วยความจริงใจและซื่อตรงของชายคนหนึ่งที่ชื่อ ‘คิด’

คำสาป ‘ศิลปิน’

“ต้องบอกก่อนว่าคุณพ่อเป็นศิลปินอยู่แล้ว แต่เราโตมาเรายังไม่เห็นเขาวาดรูปในฐานะศิลปินนะ เราจะเห็นเขาสะสมแสตมป์ เปิดร้านเพ้นต์โมเดลหรือพวกฟิกเกอร์ต่าง ๆ ในห้าง World Trade Center สมัยนั้นถ้าใครจำได้ ไม่รู้ว่าจะนับเป็นศิลปะมั้ยนะ แต่เรานับเพราะเหมือนชีวิตแวดล้อมไปด้วยงานศิลปะมันก็ปลูกฝังเราไปเอง เราเลยชอบดูการ์ตูนมาก แล้วก็จะจำแครักเตอร์ต่าง ๆ ไปวาดในวิชาศิลปะที่โรงเรียน จุดประกายด้านศิลปะมันเริ่มจากตรงนี้เลยเพราะครูไม่เชื่อว่าเราทำเอง เขาบอกว่าสวยจนคิดว่าเราไม่ได้เป็นคนทำเอง มันเลยเกิดคำถามว่าทำไมเขาถึงไม่เชื่อนะ ด้วยความเป็นเด็กเราก็เอางานชิ้นนั้นมาเทียบกับงานคนในบ้าน ซึ่งเรามองเองก็คิดว่ามันไม่สวย คนในบ้านเองก็ไม่ได้ชมว่าสวย เหตุการณ์นี้มันไปจบตรงที่เราก็ต้องพิสูจน์ด้วยการวาดให้ทุกคนดูอีกครั้ง ตลกดี”

“ต้องบอกตามตรงว่าเราไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไหร่ (หัวเราะ) ด้วยความที่เป็นนักกีฬาโรงเรียนด้วย เวลาอยู่ในคลาสก็จะนั่งวาดรูปเล่น พอเลิกเรียนก็ไปซ้อมกีฬา แต่เพื่อน ๆ จะเชื่อใจให้เราเป็นคนทำงานกลุ่มวิชาศิลปะตลอด พอถึงเวลาก็จะกรูกันเข้ามาหา มันทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราก็ทำได้ดีนี่นา เราอาจจะชอบมันก็ได้นะ แต่เวลากลับมาบ้าน มันกลับเป็นความรู้สึกที่คนในบ้านเขาเก่งกันจัง ทำให้เราไม่ค่อยชอบเท่าตอนอยู่โรงเรียน อีกใจก็แอบคิดภูมิใจกับมันเพราะอย่างน้อยเราก็ทำออกมาได้ดี ชีวิตก็เป็นแบบนี้มาเรื่อย ๆ จนจบ ม.ต้น ก็มีจุดหักเหคือช่วงเลือกสายเข้า ม.ปลาย เรานั่งคุยกับที่บ้านว่าจะให้ต่อสายสามัญก็ทำได้นะ แต่อนาคตอาจไม่ดีเท่าไหร่ พ่อก็ถามว่าวิชาที่ทำได้ดีที่สุดคืออะไร เราก็ตอบไปว่าวาดรูป จากนั้นก็ย้ายไปเรียนอาชีวฯ ที่เสาวภา เพื่อไปเรียนวาดรูปแบบเต็ม ๆ ซึ่งเหมือนเป็นพื้นที่ที่ทำให้ภูมิใจกับงานศิลปะของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ”

‘Mezzotint’ กับช่วงชีวิตในนามศิลปิน

“อย่างที่เราเคยบอกว่าครอบครัวเป็นศิลปินเกือบหมดเลย มันเลยเหมือนเป็นเรื่องไม่ปกติที่จะโดนเปรียบเทียบจากคนที่รู้จัก อย่างที่ติวเข้ามหา’ลัย เรามีวิชาที่ถนัดคือ Drawing แต่พอถึงวิชา Composition เราจะโดนเปรียบเทียบอยู่บ่อย ๆ ‘ทำไมไม่เห็นเก่งเหมือนพี่’ ‘พ่อไม่สอนเทคนิคบ้างเหรอ’ หลังจากนั้นพอถึงวิชานี้ก็หนีตลอด ระหว่างนั้นก็มีส่งภาพเข้าประกวด คนที่กระตุ้นให้เราทำผลงานออกมาคือพ่อ เขาจะไม่ได้สอนเราขนาดนั้นแค่อธิบายว่าเราต้องทำอะไร ให้ความสำคัญเรื่องความเนี้ยบในการทำงาน อย่างการใช้สีเปลือง ตรงนี้ดูสกปรกทำไมไม่ทำให้สะอาด อาจมีความกดดันนิด ๆ เรื่องเมื่อไรจะทำมากกว่า คือครอบครัวจะมีเทคนิคที่เรียกว่า Mezzotint เทคนิคภาพพิมพ์โบราณที่ใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์สมัยก่อน ซึ่งพ่อเขาก็ได้รางวัลด้วยเทคนิคนี้มาจนเป็นที่รู้จัก”

“ส่วนพี่ชายก็เคยได้รางวัลมาแล้ว เขาเลยมาคะยั้นคะยอให้เราทำบ้าง เราก็ทำไป ซึ่งก็ด้วยเทคนิคนี้นะทำให้เราเริ่มได้รางวัล พอได้เข้ามหา’ลัย ก็มีลงประกวดรางวัลนานาชาติเรื่อย ๆ ได้รางวัลมาประมาณหนึ่ง สิ่งเหล่านี้มันก็อยากทำให้เราคงเทคนิคนี้เอาไว้ในชีวิต และเราเองก็อยากทำไปเรื่อย ๆ ยังรู้สึกว่าทำได้ดีทุกครั้งที่ผลงานมันออกมา ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เราก็แฮปปี้ในตอนทำ”

ที่ว่างเพื่อพบปะของผู้คนและงานศิลป์

“ระหว่างเรียนเราก็เห็นระบบอยู่แล้ว ก่อนจะเป็น KICH ครอบครัวเราเคยทำแกลเลอรีมาก่อน KICH เลยเหมือนเป็นก้อนใหม่ที่เกิดจากการเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา เราพยายามปั้นให้เป็นไปตามภาพที่มองไว้ ประคับประคองให้เรารู้สึกว่ากำลังดี ให้เป็นสถานที่ที่เรารู้สึกแฮปปี้ในการทำงานในทุก ๆ วัน มันเริ่มจากการมานั่งคุยกับพาร์ตเนอร์อีก 2 คนว่า KICH คืออะไร เลยเป็นก้อนนี้ขึ้นมา ‘Keen, Identity, Curatorial และ Human’ ด้วยสถานที่มันมีความ Homey และ Cozy แต่ก็ซ่อนกลิ่นอายความเป็นทุนนิยมหน่อย ๆ แม้จะแวดล้อมไปด้วยตึกสูงแต่ก็ยังหลงเหลือความเป็นชุมชน ทุกอย่างยังคงดำเนินร่วมกันไปอย่างกลมกลืน”

“KICH ก็คือบ้านอีกหลังในชุมชน เราเลยรู้สึกว่าคนที่มาเสพงานศิลปะคือเพื่อนบ้าน เราชอบที่มันกลายเป็นที่ว่างระหว่างคนรักศิลปะและศิลปินมาเจอกัน มากกว่าเป็นแบบ Commercial จ๋าที่คนมาเพื่อซื้อขายงาน คนต่างชาติในละแวกนี้เขาชอบแกลเลอรีเรามาก เขาบอกว่ามันไม่ได้รู้สึกอึดอัดและกดดัน เหมือนมาบ้านเพื่อนมากกว่า มันอบอุ่นมาก บางคนมาบ่อยจนเราสนิทกันก็มี”


มองแบบ “KICH” ผ่านมุมมอง คิด และพาร์ตเนอร์

“Curatorial เป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของ KICH ไม่รู้นะว่าคนอื่นเขาไปหาศิลปินยังไง แต่วิธีทำงานของเราคือการมองหาศิลปินเป็นหลัก เพื่อทำความเข้าใจในตัวงาน จากนั้นเราจะนั่งนึกภาพตามว่าถ้าเป็นภาพนี้จะสื่อสารอะไรกับคนดูได้บ้าง งานประมาณนี้เขาจะชอบมั้ย ลายเส้นนี้ทำให้รู้สึกยังไงได้บ้าง หรือแม้กระทั่งตัวศิลปินว่าเขาจะสามารถโซโล่ได้มั้ย จะหนักเขาไปหรือเปล่า สาบานได้เลยว่าเราจะเอาความชอบของตัวเองไว้ล่างสุดเสมอ หลังจากนั้นเราก็ใช้การทำงานร่วมกันที่กินเวลาเกือบปีนี้ ค่อย ๆ ทำความรู้จักเขามากขึ้น มันเหมือนเราต้องใช้ชีวิตร่วมกันประมาณหนึ่ง เพื่อเรียนรู้ว่าเขากำลังคิดอะไร ใช้ชีวิตยังไง แล้วสิ่งแสดงออกมามันจริงใจกับคนดูมากน้อยขนาดไหน และยังเป็นตัวตนเขาอยู่หรือเปล่า หลังจากจบ Exhibition นี้มันช่วยผลักดันให้เขาเติบโตขึ้นในทิศทางนี้มากน้อยแค่ไหน”

“ขั้นตอนนี้เลยเป็นวิธีแบบ Curator ไปในตัว แต่ไม่ได้เกิดจากตัว Curator เพียงคนเดียว แต่เราใช้การทำงานเป็นทีมมากกว่า เราไม่ได้แบ่งหน้าที่กันขนาดนั้นว่าใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไร ด้วยความชอบคล้ายกันความเห็นต่าง ๆ มันก็เห็นตรงกันไปหมด แค่มองหน้าก็โอเคเข้าใจตรงกัน เราเลยมองว่ามันคือทีม แม้ว่าท้ายที่สุดทุกคนจะมีพื้นที่ของตัวเองที่เราจะไม่ก้าวก่ายก็ตาม”

“ถ้าเราพูดถึงศิลปินคนหนึ่ง ภาพจำของคนก็จะมาพร้อมกับแกลเลอรีด้วย แต่ KICH ไม่ได้อยากให้เป็นแบบนั้น เราตั้งใจจะชูศิลปินมากกว่าตัวแกลเลอรี เรามองศิลปินในเชิงที่ในวันหนึ่งคุณอาจกลายเป็นประวัติศาสตร์ เลยอยากนำเสนอวิธีคิดของศิลปินจริง ๆ ให้เขาได้ทำทุกอย่างได้เต็มที่ในพื้นที่นี้ เพราะเรายกให้เขาได้เป็นเจ้าของพื้นที่ไปแล้วเรียบร้อย หน้าที่เรามีแค่ตบให้ทุกอย่างเข้าร่องเข้าลอย ช่วยดูว่าสิ่งที่เขาสื่อ วิธีที่แสดงออกมา มันตรงตามคอนเซปต์มั้ยแค่นั้น”

“เราอยากแข็งแรงกว่านี้”

“เราเปิด KICH เมื่อตุลาปีที่ 65 ผ่านมายังไม่ถึงปีเลย เราก็ยังรู้สึกว่าระบบเก่าบางอย่างที่เราอยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมันแอบใช้เวลา เราเดินทางมายังไม่ถึง 30% เลย เราอยากให้มันไปได้ไกลกว่านี้มาก ๆ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงการเติบโตอยู่ พอเราพูดอะไรไปคนทั่วไปก็จะเกิดคำถาม มีความสงสัย เผลอ ๆ ไม่เชื่อเลยก็มี แต่เรายังชัดเจนในเส้นทางนี้ พอถึง ณ จุด ๆ หนึ่งคนที่เขาสงสัยได้มาเห็น KICH จริง ๆ เขาจะเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่”

‘KICH Gallery’ ส่วนหนึ่งของ ‘คิด’ ที่อยากให้คงอยู่ตลอดไป

“มีวันหนึ่งรุ่นพี่ถามเราว่า ถ้าแก่ตัวไปอยากทำอะไร เราก็ตอบว่าทำแกลเลอรีนี่แหละ ทำไปเรื่อย ๆ เราไม่รู้สึกว่าอยากเลิกทำ จนถึงตอนนั้นเราอาจแค่อยากให้มันอยู่ด้วยตัวเองได้เรื่อย ๆ โดยที่เรามองอยู่ไกล ๆ ยังรู้สึกดีที่มีมันอยู่ ทุกวันนี้ถามว่าเครียดมั้ยที่ต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ ทำนู่นทำนี่ แต่มันคือช่วงหนึ่งของชีวิต ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งนี้แหละคือส่วนหนึ่งที่ทำให้มีความสุขเพราะมันคืองานที่เรารัก ชีวิตไม่ต้องการอะไรหวือหวาไปมากกว่านี้ เราพออยู่พอกิน ใช้เงินตัวเองโดยที่ไม่ต้องลำบาก ได้ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ตื่นมาเห็นงานศิลปะสวย ๆ ในพื้นที่เราเองเราพอใจแล้ว ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้แล้ว”


เรื่องโดย

ภาพโดย