Kind People

นักแสดง-ร่างทรง-ศาสดา ในโลกการแปลของก้อง ฤทธิ์ดี

ชัดเจน… ว่าหากจะกินขนมปังให้อร่อยที่สุดต้องกินที่ร้านยิ่งออกจากเตาอบหมาด ๆ ยิ่งดี

แต่เมื่ออิ่มกับขนมปังคุ้นเคยละแวกบ้านแล้ว เราก็มักอยากลิ้มรสแปลกใหม่รสเศร้า รสสุขรสสนุก รสกลัว ซึ่งต้องขวนขวายเอาจากที่อื่น ชีวิตที่ต้องกินขนมปังชนิดเดิมไปตลอด จากแป้งเดิม ยีสต์เดิม และวิธีอบเดิม ๆ ดูจำเจไม่เร้าใจเกินไปหน่อย

คนส่งของหรือนักแปล จึงจำเป็นในฐานะสื่อกลาง ผู้พาหนังสือคุณภาพดีไปพบกับนักอ่านในอีกวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งสารสาระอันถ้วนถี่ ละเอียด และซื่อตรง ด้วยเครื่องมือหนึ่งเดียวที่ถือครองภาษา พร้อมกันกับอำนาจที่จะปรับเสริม หรือแม้แต่ละทิ้งบางช่วงตอนยามจำเป็น

01 ภาคทฤษฎี: ปกิณกะการแปล

ก่อนเจาะคุยกันทีละประเด็นถึงคุณค่าของงานแปลกับนักแปล/ การลงมือปฏิบัติจริง/ ภาษาวัฒนธรรมกับอำนาจ ฯลฯ ประเด็นซึ่งขาดไม่ได้คือการแปลในทัศนะของก้องฤทธิ์ดี’ (ซึ่งจากนี้จะเรียกแบบกันเองว่าพี่ก้อง’) เพื่อปรับพื้นฐานให้เข้าใจตรงกัน ด้วยว่าการแปลเป็นศาสตร์ที่กว้างเกินคาดเดา ซึ่งผู้แปลจะหยิบฉวยทฤษฎีใดมาประกอบกันก็ได้


สำหรับพี่ก้องการแปลคืออะไร

“พี่ว่าการแปลคือการแสดงอย่างหนึ่ง เราไม่ใช่คนเขียน แต่เรากำลังแสดงเป็นเขา เลียนแบบเขา ทำแบบเขา ต้องแสดงให้เหมือนตัวจริงที่สุด

หลัง ๆ มานี้ ทฤษฎีการแปลมีสิ่งอื่นมาเสริมด้วย อย่างการเห็นภาพรวม การแปลแบบตีความมาก ๆ หรือสรุปมาก ๆ มันมีหลายแบบ แต่ ‘ความซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับ’ คือรากฐานของงานแปล และความซื่อสัตย์ที่ว่าไม่ใช่แค่กับตัวภาษาหรือตัวอักษร แต่กับอารมณ์-ความรู้สึกของผู้เขียนด้วย มันสำคัญไม่แพ้กัน”

ขยายความอีกนิดได้ไหม

“เราต้องซื่อสัตย์กับ ‘ความตั้งใจ’ ของตัวบทต้นฉบับ

เราจะแปลประโยคต่อประโยคก็ได้ ซึ่งมันก็ทำแบบนั้นแหละ (ยิ้ม) แต่ภาษาเนี่ย มันมีอะไรมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่ตัวอักษรเรียงต่อกัน มันซ่อนอารมณ์-ความรู้สึกเอาไว้ ตรงนี้ตลก ตรงนี้ขำ ตรงนี้เศร้า ทั้งย่อหน้าต้องส่งไปสู่ประโยคสุดท้าย เราต้องแปลไปตามนั้น ต้องรักษาความจริงทางอารมณ์-ความรู้สึก ไปพร้อม ๆ กับความจริงทางตัวอักษร 

ถ้าเราแปลทื่อ ๆ ตามตัวอักษร AI ก็ทำได้ สิ่งที่มันทำไม่ได้คือเข้าใจและตอบสนองต่ออารมณ์-ความรู้สึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนเขียน นี่ต่างหากที่ยาก”

เรารู้อารมณ์-ความรู้สึกของคนเขียนได้ยังไง

“คนแปลต้องตีความว่านักเขียนจะพูดอะไร ต้องการให้หมายความว่ายังไง ต้องอาศัยความกล้าที่จะบอกว่าประโยคประโยคหนึ่งมีอะไรมากกว่าที่เห็น ๆ กันอยู่

อาจไม่ตรงกับความตั้งใจของนักเขียนทั้งหมดหรอก ต่อให้พยายามที่สุดก็เถอะ มันขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวของภาษากับกระบวนการที่ความคิดกลายเป็นภาษาด้วย ต้องมีไม่ตรงบ้าง มันเป็นส่วนหนึ่งของการแปลอยู่แล้ว คนแปลทุกคนรู้ดี ว่ายังไงก็ต้องเสียสละบางอย่าง โดยเฉพาะกับภาษาข้ามสายพันธุ์ ภาษาไทยไปภาษายุโรปเนี่ย แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บครบทุกอย่าง”

แล้วนักแปลจะไปสู่จุดที่ละเอียดอ่อน
ขนาดนั้นได้ยังไง

“ทำไปก็รู้เอง เรียนรู้ผ่านกระบวนการ อย่างพี่เขียนหนังสือมา 20 ปี ที่บางกอกโพสต์ อาทิตย์หนึ่งหลายพันคำ เป็นภาษาอังกฤษด้วย อยู่กับสิ่งนี้มาตลอด เวลาเขียนคอลัมน์พี่ก็มีเสียงของพี่ เลยเข้าใจว่าการเขียนมีน้ำเสียง เข้าใจกระบวนการที่ความคิดเปลี่ยนไปเป็นตัวหนังสือ ว่ามันผ่านอะไรมาบ้าง พอแปลงาน ก็ทำเหมือนกันนั่นแหละ แค่ต้องเป็นร่างทรงของคนเขียน แล้วเพอร์ฟอร์มออกมาให้เหมือนกับที่เขาตั้งใจไว้”

การเขียนช่วยการแปลในแง่ไหนบ้าง

“แง่ความคุ้นเคยกับภาษา การที่ทำงานเขียนมาก่อนทำให้พี่คล่องตัว ไม่ตื่นเต้น ไม่ตกใจเวลาเจออะไรยาก ๆ รู้ว่าทุกอย่างมีหนทางไปของมันได้ มันแปลได้หมด มันพิสูจน์มาแล้ว เรื่องยาก ๆ อย่างขุนช้างขุนแผน เขาก็แปลกันมาแล้ว ฉะนั้น การที่เคยเขียนมาก่อนทำให้พี่อุ่นใจประมาณหนึ่ง ถ้ามันเขียนได้ก็ต้องแปลได้”

น้ำเสียงเฉพาะของนักแปลหายไปไหน

“มันมีหลายวิธีคิดเกี่ยวกับการแปล จะบอกว่าเรา (นักแปล) ไม่มีเสียงของตัวเอง อาจถูกแล้วก็ได้ เราต้องอยู่ข้างหลังนักเขียน ไม่ควรคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของงาน มีหน้าที่ถ่ายทอดสิ่งที่มีอยู่ในต้นฉบับหรือเท็กซ์ (Text—ตัวบท) แสดงให้เหมือนในอีกภาษาหนึ่งก็เท่านั้น

แน่นอนล่ะครับ ว่าต้องมีการตีความ มันมีช่องว่างที่เราผลักบางอย่างให้มากขึ้น ลดบางอย่างให้น้อยลง แต่ต้องไม่ลืมว่าต้นทางคือเท็กซ์กับคนเขียน ที่เราต้องยึดเป็นหลัก เราต้องไม่อยู่เหนือคนเขียน หนังสือเล่มนี้ยังเป็นของคนเขียน”

พูดได้ไหมว่างานแปลเป็นงานยาก
เพราะต้องใช้น้ำเสียงคนอื่น

“คนที่แปลเป็นอาชีพ คิดถึงมัน ขัดเกลาฝีมือตลอดเวลา และมองว่าการแปลจะพาวรรณกรรมกับความคิดของคนอ่านไปได้ไกลแค่ไหน ซึ่งเราจะมองว่ามันอยู่คู่ขนานกับการเขียนก็ได้ เป็นศาสตร์และศิลป์คนละอย่าง

แต่สำหรับพี่ มันง่ายกว่าการเขียนเอง ไม่ได้ไปลดคุณค่างานแปลนะ คนคนหนึ่งเขียนหนังสือนานเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ถ้านั่งแปลทั้งวัน ได้งานแน่ ๆ ได้มากได้น้อยแล้วแต่ แปลเป็นเดือน ๆ มันก็เสร็จจนได้ มันไม่ได้เริ่มจากศูนย์ 

นักเขียนหลาย ๆ คนในโลก อย่างมูราคามิ (Haruki Murakami) กับมาริยาส (Javier Marias) เนี่ย ทำงานแปลเพื่อผ่อนคลายด้วยซ้ำ เขียนหนังสือตัวเองเครียด ๆ  มาทำงานแปล ได้เห็นเป็นตัวอักษรออกมา ได้ฝึกภาษา ได้บริหารสมอง และได้งานแน่ ๆ”

02 ภาคปฏิบัติ: การจัดการต้นฉบับ
กับการแปลและอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์


เลือกต้นฉบับจากอะไร

“ง่ายมาก… ถ้าเขาไม่จ้าง เราก็ไม่ทำ (ยิ้ม) ทั้งหมดที่แปลคือมีคนมาจ้างให้แปล นึกดูว่าแต่ละเล่มต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ถึงจะใช้เวลาน้อยกว่าเขียนก็เถอะ แต่ด้วยปริมาณก็ทำให้แปลนาน อย่างของพี่แหม่ม (ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตThe Blind Earthworm in the Labyrinth) ก็ 6-7 เดือน เล่มนี้ (พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำMEMORIES of the MEMORIES of the BLACK ROSE CAT) ปีกว่า แล้วต้องทำงานหนักด้วย วันหยุดก็ต้องทำ เป็นงานฟรีแลนซ์ เพราะพี่ทำงานประจำตั้งแต่เช้าถึงเย็น

คนที่แปลด้วยใจรักในวรรณกรรมก็มีนะ อย่างคนที่แปลแฟนซับ (Fan-subtitle) แต่พี่ทำงานประจำ ทำแบบนั้นไม่ได้”

ให้แปลเป็นอาชีพเอาไหม

“เอา แต่ไม่ค่อยมีคนจ้างหรอก หนังสือแปลไทยเป็นอังกฤษมีน้อย เพราะเขา (สำนักพิมพ์) ไม่รู้ว่าจะขายได้ไหม มันยากในเชิงธุรกิจ”

เล่าที่มาที่ไปของแต่ละเล่มให้ฟังหน่อย

“หนังสือพี่แหม่มเนี่ย สำนักพิมพ์ River Books ติดต่อมา อ่านดูแล้วคิดว่าทำได้ ชอบสไตล์นักเขียนด้วย มองเห็นภาพว่าจะแปลยังไงดี คิดว่าต้องสนุก เลยรับทำ พอเล่มแรก (ไส้เดือนตาบอดฯ) จบเล่มสอง (พุทธศักราชอัสดงฯ) ก็ตามมา เพราะว่าได้ซีไรต์ (S.E.A. Write Award) อีก 

สำนักพิมพ์ฯ รู้สึกว่าหนังสือแบบนี้ควรได้แปล มันมีคุณค่า คนเขียนเองก็ยินดีกับเล่มแรก เลยได้แปลเล่มสองด้วย ซึ่งยากกว่าอีก เพราะมันหนากว่า

ส่วนเล่ม I Am an Artist (He Said) หรือ (ผม) เป็นศิลปินของอาจารย์อารยาเนี่ย เขาเห็นว่าสองเล่มนั้นของพี่แหม่มแปลออกมาได้ อาจารย์อารยาเขียนภาษาไทยเข้าใจยากเหมือนกัน …ยากมาก เขาให้ลองทำเทสต์ พี่ก็แปลไป 3-4 หน้า เขาก็โอเค ทำเลยแล้วกัน ตอนนั้น ตกใจนิดหน่อยเพราะว่ามันหนาและยากมาก เล่มนี้ทำงานกันปีกว่า ๆ เอดิตเยอะครับ ภาษายากมาก”

ผลตอบรับเป็นยังไงบ้างพอไหวไหม

“พอพูดถึงการแปลวรรณกรรม มันมีสองส่วนเสมอ ส่วนที่เป็นภาษากับการเขียน-การแปล และส่วนที่เป็นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ลองนึกดูสิ ถ้าเขียนวรรณกรรม แล้วไม่มีที่ไหนพิมพ์ พี่แหม่มจะทำยังไง แล้วถ้าไม่มีคนอยากแปลอีกล่ะ 

อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มีอิทธิพลกับการเขียน-การแปลอยู่เหมือนกัน เราแปลวรรณกรรมออกมาแล้ว ถ้าไม่พิมพ์ ก็ถือว่าแปลฟรี ถ้าใจรักก็ทำไปเถอะ แต่ถ้าอุตสาหากรรมสิ่งพิมพ์เห็นคุณค่าจัดพิมพ์ให้ด้วย ก็จะทำให้วรรณกรรมดำรงอยู่ต่อไป

พูดตรง ๆ นะ สองเล่มนี้ ก็ขายไม่ดีหรอก คนทำก็เหนื่อย คนแปลก็เหนื่อย คนเอดิตก็เหนื่อย ต่างประเทศไม่ค่อยรู้จักนักเขียนไทย ขายสู้เล่มอื่นไม่ได้ แต่ทางสำนักพิมพ์ฯ สนับสนุนวรรณกรรมดีมาก”

ในฐานะนักแปลซึ่งเป็นมือแรกจัดการกับต้นฉบับยังไง

“อ่าน… แล้วก็แปลเลยครับ พี่เอาหนังสือมากางหน้าคอมพ์ แปลไปทีละประโยค ทีละย่อหน้า ทีละหน้า แล้วก็ทวนไปด้วยระหว่างทาง บางคนทวนทีละย่อหน้า บางคนทวนทีละบท ส่วนตัวพี่ทวนทุกหน้า แก้ไข ทำไปเรื่อย ๆ จนจบเล่ม

ที่สำคัญ เราต้องเข้าใจเซนส์กับโทนของหนังสือ เฉดของอารมณ์ เฉดของคำ เราต้องอ่อนไหวต่อสิ่งเหล่านี้”

เวลาไม่เข้าใจต้นฉบับทำยังไง

“ในบางกรณี เราคุยกับนักเขียนได้นะ อย่างกับพี่แหม่มเนี่ยคุยได้ แต่พี่ไม่ได้คุยระหว่างแปลหรอก มาคุยกันตอนจบ ส่งงานไปแล้วค่อยคุย ซึ่งไม่ได้คุยกันเยอะมาก 2 ชั่วโมงก็จบ คุยเล่นกันมากกว่า ไม่ได้ให้นักเขียนอธิบายอะไร

ส่วนเล่มของอาจารย์อารยา จุดที่ไม่เข้าใจ พี่ก็จะปรึกษากับเคนจิ เอดิเตอร์ (Editor—บรรณาธิการ) ของเล่ม เคนจิก็จะดูภาษาไทยให้ แล้วถ้าไม่แน่ใจทั้งคู่ ก็จะสรุปกันเลย เอาแบบนี้เลยแล้วกัน

แต่จริง ๆ หนังสือที่แปลเป็น 20 ภาษา เขาก็ไม่คุยกับนักเขียนหรอก เคลียร์กันกับเอดิเตอร์ก็จบ

ส่วนจุดที่ไปไม่ถึงจริง ๆ ต้องทำให้ใกล้เคียงที่สุด พี่มีอุดมคติอยู่แล้วว่า อยากให้ออกมาแบบไหน พอถึงเวลาทำจริง ได้แค่ไหนค่อยว่ากัน อย่างการใช้คำที่ร้อยเรียงกันเยอะ ๆ ที่ภาษาไทยทำได้ แต่โครงสร้างของภาษาอังกฤษทำไม่ได้ เพราะผิดหลักไวยกรณ์ ก็ต้องหาวิธีต่าง ๆ นานา ให้ใกล้กับน้ำเสียง ใกล้กับสิ่งที่นักเขียนนึกฝันที่สุด”

แสดงว่าเอดิเตอร์จำเป็นต้องมี

“จำเป็นครับ พี่เขียนภาษาอังกฤษมานาน ก็ยังต้องมีเอดิเตอร์ หนังสือไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ บางเล่มอ่านไม่กี่หน้าก็รู้แล้วว่าผิด”

กระบวนการเอดิตเล่มของพี่แหม่ม
กับเล่มของอาจารย์อารยาเหมือนกันไหม

“ไม่เหมือนครับ ซาร่า (Sarah Rooney) เอดิเตอร์เล่มพี่แหม่ม อ่านไทยได้ แต่เลือกที่จะเอดิตจากภาษาอังกฤษเป็นหลัก ทำเฉพาะ Copy Editing ตรวจแกรมม่า แล้วก็คุยกันว่าตรงนี้เปลี่ยนเป็นคำนี้ดีไหม คำนี้หมายถึงยังไง คำนี้จะดีกว่าหรือเปล่า มีสลับประโยคบ้าง ตัดประโยคบ้าง เป็นเรื่องของคำกับภาษาส่วนใหญ่ ให้เราเคลียร์กับคนเขียนให้เสร็จก่อน

ขณะที่อีกเล่ม ของอาจารย์อารยา …ยาก เพราะอาจารย์ฯ เขียนภาษาซับซ้อน เล่มนี้เป็นโปรเจกต์กึ่งวิชาการครับ มีนักวิชาการสองคน (Roger Nelson กับ Chanon Kenji Praepipatmongkol) คนหนึ่งอ่านภาษาไทยได้ เป็นคนไทยที่อยู่เมืองนอกตั้งแต่เด็ก เขาช่วยอ่านภาษาไทยอีกรอบ แล้วก็คุยกัน แล้วเขาก็เอดิตภาษาด้วย พี่ส่งให้เขาทีละ 5-6 บท แล้วเขาก็ไล่ดูกันไป” 

03 แปลเข้าไม่เท่าแปลออก:
รู้จักคำจับจังหวะปะทะอำนาจ

หากพูดถึงงานแปลเรามักนึกถึงการแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาแม่ที่เราถนัดเน้นเก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากภายนอกสู่ภายในเปลี่ยนสิ่งแปร่งประหลาดเป็นเรื่องคุ้นเคยซึ่งขอเรียกแบบลำลองว่าการแปลเข้าขณะที่การแปลออกเป็นเหมือนการเล่าเรื่องราวตัวเองจากข้างในให้คนข้างนอกได้รับรู้ฉายภาพบางภาพที่ภายนอกไม่เคยเห็น


การแปลออก

“นึกไว ๆ หากพูดถึงการแปล สิ่งซึ่งผุดขึ้นในหัวเราก่อน คงเป็น ‘การแปลเข้า’ จากภาษาต่างประเทศสู่ภาษาไทย มากกว่าจะเป็น ‘การแปลออก’ ภาพของนักแปลส่วนใหญ่จึงเป็นเจ้าของภาษา ผู้เข้าใจภาษาต่างชาติถ่องแท้”

คิดยังไงกับการแปลโดยคนแปลที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา

“อันนี้เป็นสิ่งที่หลายคนก็คิด แปลออกเป็นภาษาไหนก็ควรใช้เจ้าของภาษาแปล ถ้าปลายทางเป็นภาษาอังกฤษ ก็ควรใช้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษทำ ถ้าปลายทางเป็นภาษาไทยก็ควรใช้คนไทยทำ ไม่รู้เหมือนกันว่า คนที่มาให้พี่ทำมองว่ายังไง เดาว่าพอลองทำแล้วออกมาได้ ก็รู้สึกว่ามันได้นี่ เลยให้แปลต่อเนื่อง

มันไม่ใช่เรื่องปรกติหรอก ที่ให้คนที่ไม่ได้พูดภาษานั้น ๆ เป็นหลัก แปลภาษานั้น ๆ แต่มันก็ทำได้ แค่ต้องเอดิต

อย่างงานของอุทิศ เหมะมูล มีฝรั่งเคยแปล แปลไม่ดีเลย ฝรั่งคนนั้นอาจจะไม่เข้าใจภาษาไทยดีพอ เขาอ่านได้ แต่ไม่ถึงขนาดแปลได้ดี ขณะที่ จุติ (The Fabulist) เล่มใหม่ที่ถูกแปล โดยคนไทยสองคน (ปาลิน อังศุสิงห์ กับ พลอย กิ่งชัชวาลย์) กลับออกมาดีเยี่ยม 

บางทีอาจจะไม่จริงเสมอไป ที่ต้องใช้คนจากภาษาปลายทางแปล เดี๋ยวนี้อาจจะสลับกันไปหมดแล้วก็ได้”

แบบนี้การแปลออกก็ยากกว่าเดิมใช่ไหม

“ใช่… ในฐานะที่เป็นคนไทยปรกติมาตรฐาน ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง อยู่บ้านพูดภาษาไทย ถึงจะทำงานคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษมานาน แต่ไม่ใช่ว่าเพอร์เฟกต์ งานเขียนกับงานแปลก็ยังถูกเอดิตอยู่บ้าง 

แปลจากภาษาแม่เราเป็นภาษาอื่นเนี่ย เรากำลังแสดงเป็นคนอื่นอยู่ เป็นทั้งคนเขียน แล้วก็เป็นฝรั่งด้วยในเวลาเดียวกัน เราแสดงด้วยภาษาของเขา เป็นการแสดงหลายชั้น”

มีข้อดีของการไม่ใช้เจ้าของภาษาแปลบ้างไหม

“มันได้บางอย่างแล้วก็เสียบางอย่าง ถ้าอ่านภาษาไทยได้ทั้งหมด เห็นความละเอียดอ่อนของคำ ของโทนและอารมณ์ ก็จะดีกว่า พี่ว่านักแปลไทยน่าจะได้เปรียบตรงนั้น ไหนจะความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมอีก”

แล้วค่อยชั่งน้ำหนักอีกทีใช่ไหมว่าต้องแปลแค่ไหน

“ถูกต้อง มันเป็นเรื่องที่นักแปลต้องคุยกับเอดิเตอร์หรือนักเขียน ว่าจะไปทางไหน อย่าง ‘งมเข็มในมหาสมุทร’ ฝรั่งจะใช้ว่า ‘งมเข็มในกองฟาง’ หรือ ‘a needle in a haystack’ แต่ของเราแปลได้ว่า ‘a needle in the ocean’ ถ้าเลือกแปลแบบแรก แบบฝรั่งไปเลย ฝรั่งก็จะเข้าใจทันที ขณะที่แบบที่สอง ถามว่าแปลกไหม มันแปลก แต่มันก็เข้าใจได้ ว่าเป็นการหาสิ่งที่หายาก

เราพยายามเก็บแบบไทยไว้ให้ได้มากที่สุด เป็นวิธีคิดแบบโพสต์โคโลเนียล (Postcolonialism—ลัทธิหลังอาณานิคม) เราไม่ต้องไปตามฝรั่งทั้งหมด รักษาน้ำเสียงแบบไทยไว้บ้าง บางอย่างฝรั่งก็ต้องปรับเข้าหาเราบ้าง อย่างพี่แหม่มชอบเล่นคำ แบบ ‘ตะลุบตุ๊บตั๊บ’ หรืออะไรทำนองนี้ เราก็ไม่ต้องแปลให้เหมือนนิทานเด็กฝรั่ง ทับศัพท์แบบภาษาไทยไปเลย โดยหวังให้คนอ่านเข้าใจว่าเป็นภาษาพูดแบบเด็ก ๆ

ซึ่งหลัง ๆ เนี่ย เข้าใจว่าทั้งโลกก็ไม่ทำตามตะวันตกทั้งหมด โดยเฉพาะหนังสือที่มาจาก Global South (กลุ่มประเทศโลกใต้—แอฟริกา ลาตินอเมริกาและแคริเบียน เอเชีย และโอเชียเนีย ) ที่ยังไม่เจริญเท่าตะวันตก พยายามคงความเป็นตัวเองไว้ เพราะการใช้ภาษาถือเป็นการพูดถึงอำนาจ ถ้าเราไปยอมเขาหมด แปลให้ฝรั่งเข้าใจทั้งหมด ก็เท่ากับยอมทำตามอำนาจของเขา

เราเองก็มีอำนาจ เพราะนี่มันภาษาเรา เป็นอำนาจของเรา เราเลือกจะแปลเท่านี้

การใช้คนไทยแปลอาจเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้ก็ได้ คนไทยก็แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ แล้วก็แปลแบบคนไทยด้วย แน่นอนว่าอยู่ในรูปแบบภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง แต่ทัศนคติและความคิดมาจากฝั่งไทย”

อย่างการแปลชื่อต้นไม้ด้วยหรือเปล่า
ที่ทับศัพท์บ้างเป็นภาษาอังกฤษบ้าง

“อันนี้ก็คุยกันเยอะ เพราะว่าชื่อต้นไม้เยอะมาก แต่จำแน่ ๆ ไม่ได้ว่าตัดสินใจกันยังไง เราต้องไปถามอาจารย์ต้นไม้ (นักพฤกษศาสตร์) ให้เค้าลิสต์ชื่อให้ แต่ก็อีกนั่นล่ะ เป็นความพยายามที่จะผสานทั้งสองอย่าง (ทั้งทับศัพท์และภาษาอังกฤษ) ถ้าเขียนทับศัพท์ก็จะได้รสชาติแปลกใหม่ เอ็กโซติกแบบตะวันออก เพราะถึงแปลไปมันก็ไม่ใช่ต้นปรกติที่เขาจะนึกออก เราเคลียร์กันว่า ถ้าต้นไหนดูไทยมาก ๆ ต่อให้มีชื่อภาษาอังกฤษ ก็จะทับศัพท์ (Jampi—จำปี / Lampu—ลำพู / Mok—โมก) เป็นการคุยกันในทีมด้วยกรอบที่ว่า เราจะยอมบางอย่าง และสงวนความออริจินัลกับวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้”

อะไรบ้างที่ปรกติจะเก็บไว้

“พี่ตอบอะไรให้ลึกซึ้งไปกว่า น้ำเสียงกับสไตล์ไม่ได้ 

อย่างของอาจารย์อารยา ภาษาแกประหลาด เราก็พยายามคงความประหลาดนั้นไว้ บางประโยคที่อ่านแล้วงงมาก ๆ ภาษาอังกฤษก็ต้องงงตาม หรืออย่างการขึ้นประโยคด้วยเรื่องหนึ่ง แต่ท้ายประโยคเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลย เราก็ให้เป็นประโยคเดียวกันไป ไม่แบ่งประโยคให้ หมายความว่า ถ้าความคิดกระจัดกระจายก็ปล่อยไป ไม่รวบให้ ไม่ต้องทำให้เรียบร้อย

จริง ๆ เล่มนี้เรียบร้อยเกินไปด้วยซ้ำ เพราะกลัวคนอ่านไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) โรเจอร์กับเคนจิบอกว่า อย่าทำให้มันเรียบร้อยเกิน เพราะภาษาไทยไม่เรียบร้อย พอพี่ทำให้อ่านง่ายขึ้นนิดหน่อย สุดท้ายเขาก็ไปมั่ว ๆ มันใหม่

ส่วนของพี่แหม่มเนี่ย ความเยิ่นเย้อ ซึ่งบางทีเยอะไปในภาษาอังกฤษ คนไทยบางคนยังอ่านไม่ได้เลย มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่คนชอบน่าจะเยอะกว่า เพราะมันขายดี พอรู้แบบนี้ก็ต้องทำให้มันเยิ่นเย้อ พอ ๆ กัน ไม่ลดทอนมันมาก”

จากนั้นเราก็คุยกันเรื่องอุตสาหกรรมการแบบแบบตะวันตกซึ่งเข้มแข็งยั่งยืนและเป็นระบบกว่านักแปลจะเสนอเล่มที่ตัวเองอยากทำกับสำนักพิมพ์โปรเจกต์ต่อโปรเจกต์และจบลงที่ทัศนะของพี่ก้องที่มีต่อวรรณกรรมไทยกับรางวัลโนเบลพี่ก้องเล่าให้ฟังว่าวงการวรรณกรรมเกาหลีใต้แปลกันหนักหน่วงแทบทุกเล่มและในวันที่เขียนต้นฉบับบทสัมภาษณ์ Han Kang นักเขียนหญิงจากเกาหลีใต้ก็เพิ่งได้โนเบลไปหมาดๆและนั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นฝีมือของนักเขียนกับวิสัยทัศน์ของชาติล้วนๆ

เราคุยกันหลายเรื่องอีกเป็นชั่วโมงจนมาถึงคำถามท้ายๆซึ่งร้อยเรียงบทสัมภาษณ์นี้กับซีรีส์ ‘Bookery—เรื่องเล่ารอบหนังสือเล่าให้พี่ก้องฟังตั้งแต่ช่วงรีเสิร์ชว่าเรามองพี่ก้องในฐานะนักแปลเสมือนเป็นคนส่งของอย่างที่เกริ่นไว้แต่แรก

“ก็ใช่นะ เป็นแค่ Messenger (คนส่งของ) นั่นล่ะ เรียกแบบนั่นก็ได้ เพราะในกระบวนการปรุงจริง ๆ นักแปลก็ไม่ได้อยู่ในนั้น ถ้าคนเขียนหรือตัวบทคือ ‘God’ คนแปลหรือคนส่งของ ก็คือ ‘ศาสดา’ ผู้นำสัจธรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งจักรวาลมาเผยแผ่ เป็นตำแหน่งที่มีคุณค่าและสำคัญ แต่ไม่ต้องเคารพมากเกินไป ต้องไม่อยู่เหนือต้นฉบับหรือคำสอน เพราะเป็นเพียงผู้ส่งสารเท่านั้น”

ความภูมิใจในฐานะนักแปลของพี่ก้องคืออะไร

“ไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่พี่เห็นต้นฉบับเสร็จสมบูรณ์ มีสาระ และอารมณ์-ความรู้สึกของคนเขียนและเท็กซ์ครบถ้วน แค่เห็นเป็นเล่มพิมพ์ออกมาก็ภูมิใจแล้ว หยาดเหงื่อกับเวลาที่เราลงไปเพื่อรับใช้เท็กซ์ มันสมบูรณ์แล้ว …แค่นั้นเลย”


เรื่องโดย

ภาพโดย

วิดีโอโดย