Kind People

เรื่องราวที่มากกว่ากระดาษชวนคุยกับ ‘ป๊อก – วาทิต พูนพนิช’ แห่ง Papermore

หาก เตาอบ’สามารถเปลี่ยนแปลงแป้งและวัตถุดิบอื่น ๆ ให้กลายเป็นขนมปังที่สุกนุ่มฟูพร้อมรับประทาน ‘โรงพิมพ์’ ก็คงทำหน้าที่ไม่ต่างกัน คอยเปลี่ยนแปลงอักษรและภาพในคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นหนังสือที่สวยงามสมบูรณ์ น่าหยิบจับขึ้นมาอ่าน แต่สำหรับ ‘Papermore’ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ภายใต้บริษัทแม่โรงพิมพ์ ‘พิมพ์ดี’เป็นอะไรที่มากกว่านั้น…

ซีรีส์ Bookery — เรื่องเล่ารอบหนังสือ ครั้งนี้ ชวนนั่งรถไปเยือนย่ำนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ย่านพระราม 2 เปิดเรื่องราวเบื้องหลังโรงพิมพ์ไปกับ ‘คุณป๊อก – วาทิต พูนพนิช’ ผู้บริหาร Papermore ธุรกิจออกแบบและผลิตสิ่งพิมพ์ ที่จะมาเผยเคล็ดลับการเปลี่ยนไฟล์อาร์ตเวิร์กธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นหนังสือเล่มสวยที่มากกว่าแค่น้ำหมึกบนกระดาษ

แรกเริ่มเข้าสู่วงการสิ่งพิมพ์

คงไม่เกินจริงหากจะบอกว่า คุณป๊อกเติบโตมาท่ามกลางกลิ่นหมึกและเสียงเครื่องจักรในโรงพิมพ์ของครอบครัว กระดาษจึงไม่ใช่แค่เพียงวัตถุดิบในการผลิต แต่คือส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา การเห็นกระดาษเปล่าถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสิ่งพิมพ์ที่ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ ตัวอักษร และภาพ จึงเป็นสิ่งคุ้นชินไปโดยปริยาย

“ก่อนจะมาเป็น Papermore ในปัจจุบัน ต้องเล่าเท้าความถึงบริษัทแม่คือโรงพิมพ์ พิมพ์ดี ก่อนครับ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ทำมาตั้งแต่ปี 2532 คุณพ่อผมทำงานอยู่ที่มติชนจนวันหนึ่งอยากจะหาลู่ทางทำอะไรเป็นของตัวเอง จึงออกมาเปิดโรงพิมพ์ แรกเริ่มเปิดเป็นตึกแถวเล็ก ๆ อยู่ตรงสาธุประดิษฐ์ พอมีโอกาสได้ขยับขยายจึงย้ายมาอยู่ที่นี่ครับ (สินสาคร) ถือว่าเราโชคดีมากที่ผ่านวิกฤตต่าง ๆ ของธุรกิจสิ่งพิมพ์มาได้”

ขยับขยายมาเป็น Papermore

คุณป๊อกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Papermore ว่า เกิดจากความหลงใหลในศิลปะที่สั่งสมมาตอนเรียนคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อนำความชอบส่วนตัวมาผสมผสานกับธุรกิจโรงพิมพ์ของครอบครัว จึงก่อเกิดไอเดียที่จะสร้างสรรค์สิ่งพิมพ์ที่แตกต่าง ไม่จำกัดอยู่แค่การผลิตตามแบบทั่วไป แต่เน้นการออกแบบที่หลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้ามากที่สุด โดยมีแนวคิดหลักคือ ‘Paper can be more’ หรือ ‘เป็นได้มากกว่ากระดาษ’

“ผมเรียนจบคณะมัณฑนศิลป์จากศิลปากร เรียนมาทางด้านศิลปะ เราเลยเอาสิ่งที่ชอบมาผนวกกับธุรกิจที่บ้านครับ ก็เลยเปิดเป็นบริษัทที่เรารับผลิตสิ่งพิมพ์ แต่เน้นช่วยลูกค้าออกแบบ เน้นความหลากหลาย เน้นความเป็นไปได้มากกว่าที่อื่น จึงเกิดเป็น Papermore ขึ้นมา ก็คือ Paper can be more เราทำตามคอนเซปต์ที่เราคิดไว้ว่าเป็นได้มากกว่ากระดาษ ตอนนี้ทำมา 6 ปีแล้วครับ แม้จะแยกออกมาเป็นอีกส่วนงานหนึ่ง แต่เราก็ยังใช้โรงพิมพ์เดียวกัน”


นิยามที่ว่า Papermore คือ “วิศวกรหนังสือ”

“เวลาคุยงานกับลูกค้า ถ้าเป็นเอเจนซี่เขาจะมากับไอเดีย มีรูปภาพในใจว่าอยากได้ประมาณไหน เขาจึงเปรียบเสมือนสถาปนิก แต่การจะผลิตเป็นรูปร่างขึ้นมาต้องอาศัยเราซึ่งเปรียบได้ดั่งวิศวกร ถ้าเราทำสิ่งนี้เราจะทำด้วยวิธีอะไร มีกลไกอะไรให้เขา พิมพ์ด้วยวิธีนี้มั้ย ช่วยกันเลือกกระดาษ ช่วยกันทดลอง ให้ผมลองขึ้นตัวอย่างมาให้ดู ก็คือจะพัฒนาโครงสร้างพวกนี้ให้ลูกค้า ซึ่งเรามีทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะครับ”

Papermore ไม่เพียงคราฟต์ทุกดีเทลลงบนกระดาษ แต่ยังคราฟต์ไอเดียบนการพิมพ์ด้วย เพื่อให้ลูกค้าสามารถพูดสิ่งที่ต้องการได้ชัดเจนขึ้น Papermore จึงไม่ใช่แค่โรงพิมพ์ที่รับทำตามออร์เดอร์ แต่คือ ‘วิศวกรหนังสือ’ ที่เข้าใจและสามารถแก้ปัญหา รวมถึงให้คำปรึกษาเพื่อให้ชิ้นงานเป็นได้มากกว่าแค่งานพิมพ์

ถ้าเปรียบหนังสือ = ขนมปัง

หากเปรียบหนังสือเป็นขนมปังเพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์ซีรีส์ Bookery — เรื่องเล่ารอบหนังสือ คุณป๊อกบอกกับเราว่า Papermore น่าจะเป็นคนที่ช่วยทดลองสูตรขนมให้กับลูกค้า ซึ่งก็คือเจ้าของขนมปัง หยิบนู่นจับนี่มาคลุกเคล้าจนรสชาติออกมาตรงตามที่ต้องการ จากนั้นจึงทำหน้าที่อบขนมปังนั้น ๆ ให้ออกมาหอมกรุ่น นุ่มฟู จนสามารถนำส่งต่อไปยังร้านขนมปังเพื่อส่งต่อไปให้ถึงมือลูกค้า

“ถ้าให้เปรียบเทียบ ผมว่าเราน่าจะเป็นคนที่ช่วยทดลองสูตร ลูกค้าอยากได้แบบไหน เราก็ทดลองทำ ปรับสูตรออกมาให้ลูกค้าชิม เมื่อรสชาติตรงใจและตอบโจทย์แล้ว เรายังพ่วงหน้าที่คนอบขนมปังด้วย เพราะเราเป็นคนสั่งวัตถุดิบมารังสรรค์เอง จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการอบจนขึ้นรูปเป็นก้อนขนมปัง ส่งต่อไปให้ร้านค้าเพื่อเอาไปขายอีกทีหนึ่ง”

กระบวนการพิมพ์หนังสือถือเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีที่หลากหลาย แต่ละขั้นตอนมีความสำคัญและส่งผลต่อคุณภาพของหนังสือที่ผลิตออกมา การเข้าใจกระบวนการผลิตหนังสือหนึ่งเล่มตั้งแต่ต้นจนจบ อาจจะช่วยให้เราเห็นคุณค่าและความพิเศษในหนังสือเล่มนั้นมากขึ้นก็เป็นได้

เสน่ห์ของหนังสือกระดาษ

“ผมว่ามันเป็นความรู้สึกที่เราจับต้องได้ แต่ผมเองก็อ่านอีบุ๊กนะ แต่เวลาอ่านอะไรที่เราต้องการสมาธิจริงจัง ผมว่าอ่านหนังสือดีกว่าครับ เราได้สัมผัสแต่ละหน้าก็มีเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง นอกจากนี้หนังสือยังนับเป็นของสะสมด้วย ผมว่าสมัยนี้น่าจะเป็นอย่างนั้น เมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ ผมซื้อการ์ตูนเล่มละ 25 บาท ราคาถูกก็จริงแต่คุณภาพก็ตามที่เราเห็นกัน แต่สมัยนี้การ์ตูนราคา 100 กว่าบาท ซึ่งคุณภาพดีมาก ราคาเลยขึ้นไปเยอะมาก แต่ว่าเขาก็ยังอยู่ได้ เพราะฟังก์ชั่นเปลี่ยนไป คนอ่านอยากเก็บสะสม หนังสือการ์ตูนของแท้อ่านแล้วต้องมือเปื้อนครับ (หัวเราะ)”

ทำไมหนังสือเล่มจึงยังคงมีเสน่ห์ ในยุคดิจิทัล? แม้ปัจจุบันจะมีอีบุ๊กและแพลตฟอร์มออนไลน์มากมายที่ให้เราอ่านหนังสือได้ แต่หนังสือเล่มรูปแบบเดิม ๆ ก็ยังคงมีเอกลักษณ์และทรงเสน่ห์ ซึ่งหาไม่ได้จากที่อื่น แถมยังกลายเป็นของสะสมที่ผู้คนนิยมมีไว้ติดบ้านด้วย

ปกติชอบอ่านหนังสือไหม
หนังสือเล่มไหนที่กำลังอ่านช่วงนี้

“ช่วงที่ทำงานหนังสือเยอะ ๆ บอกตามตรงว่าไม่ชอบเข้าร้านหนังสือครับ มันรู้สึกเหมือนเป็นเวลางาน เพราะอะไรที่มันเป็นงานจะรู้สึกว่าไม่ใช่การพักผ่อน เพราะเราจะโฟกัสว่าโรงพิมพ์ไหนเขาทำอะไรเพิ่มมา แต่ถ้าถามว่าชอบอ่านหนังสือมั้ยก็ชอบครับ เพราะผมก็โตมากับโรงพิมพ์ ที่บ้านมีอะไรพิมพ์ก็อ่านไปเรื่อยครับ แต่ว่าหนังสือที่ซื้อด้วยตัวเองส่วนใหญ่จะเป็นการ์ตูน”

แม้ว่าคุณป๊อกจะคลุกคลีอยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์มายาวนาน จนทำให้การอ่านหนังสือเพื่อพักผ่อนหรือเป็นงานอดิเรกในบางครั้ง กลับกลายเป็นการทำงานไปเสียได้ แต่คุณป๊อกเองก็มีหนังสือที่ชื่นชอบในช่วงนี้มาเล่าสู่กันฟัง

ล่าสุดที่เพิ่งอ่านจบและประทับใจ แต่ไม่ได้พิมพ์เองนะครับ ชื่อเรื่อง I MAY BE WRONG ของคุณบเยิร์น ลินเดอบลอด จากสำนักพิมพ์สุขภาพใจ เป็นเรื่องราวของชายชาวสวีเดนที่มาบวชอยู่ที่วัดป่าในประเทศไทยถึง 17 ปีเลย เรื่องราวเล่าถึงชีวิตเรียบง่าย สะท้อนแนวคิดว่าประสบพบเจออะไรมาบ้าง แต่สารภาพว่าผมก็อ่านผ่านอีบุ๊กนะครับ เพราะมันสะดวกกว่า (ยิ้ม)”

ทิศทางของ Papermore ต่อจากนี้

“แผนตอนนี้คือการเข้าไปซัพพอร์ตนักออกแบบและศิลปินมากขึ้นครับ ซึ่งปลายปีจะมีงานใหญ่อย่าง Bangkok Illustration Fair โดย Papermore จะเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้ทางศิลปินส่วนหนึ่งด้วยครับ เพราะเรามีพิมพ์งานที่เกี่ยวข้องอย่างหนังสือ โบรชัวร์ หรือการ์ดครับ และอีกผลงานที่ทำอยู่ตอนนี้จะเป็นของ The Art Auction Center (TAAC) ที่เขากำลังมีการประมูลศิลปะครับ”

สำหรับงาน Bangkok Illustration Fair 2024 ที่จัดไปเมื่อวันที่ 5 – 8 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น ทาง Papermore ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุนงาน พร้อมเป็นแรงผลักดันให้วงการนักวาดภาพประกอบไทยสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ต่อไป จะเห็นว่า Papermore ไม่เพียงแต่มุ่งพัฒนาธุรกิจออกแบบและผลิตสิ่งพิมพ์เท่านั้น ทว่ายังสนับสนุนและให้ความสำคัญกับคนในแวดวงที่เกี่ยวเนื่องกันด้วย

มุมมองต่ออนาคตของธุรกิจสิ่งพิมพ์

“ผมว่าตอนนี้ค่อนข้างนิ่งแล้วนะครับ คือมันผ่านช่วงที่ทุกคนในวงการอยู่ในความหวาดกลัวมาแล้ว ในช่วงที่ทุกอย่างเปลี่ยน ฟังก์ชั่นจากหนังสือกระดาษไปหาอ่านทางอินเทอร์เน็ตได้หมด ลูกค้าก็จะหายไปส่วนหนึ่ง ทุกคนก็เซฟตัวเอง ด้วยการลดยอดพิมพ์ แต่ปัจจุบันมีสิ่งพิมพ์ใหม่ ๆ เข้ามา และผู้คนจำนวนมากมองว่าหนังสือเป็นมากกว่านั้น ผมจึงมองว่าสำหรับวงการสิ่งพิมพ์ช่วงนี้ค่อนข้างคงที่ครับ คนที่ยังอยู่ได้ก็สามารถยืนหยัดได้แล้วครับ”

แม้ธุรกิจโรงพิมพ์จะเป็นเพียงคนเบื้องหลังของกระบวนการทำหนังสือ ที่บางคนอาจหลงลืมหรือมองข้ามไป แต่แท้จริงแล้วกว่าหนังสือสักเล่มหนึ่งจะส่งออกไปสู่สายตานักอ่านได้ ย่อมผ่านหลากหลายองค์ประกอบ Bookery — เรื่องเล่ารอบหนังสือ จึงพยายามเผยบทบาทอันซ่อนเร้นนี้ออกมาให้ทุกคนเล็งเห็นถึงความสำคัญ ว่าเมื่อพูดถึง ‘หนังสือ’ แล้ว ไม่ได้มีเพียงแค่นักเขียนกับนักอ่านเท่านั้น แต่ยังมีคนเบื้องลึกเบื้องหลังอื่น ๆ ให้เราได้คิดถึงด้วย

หวังว่าการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านครั้งหน้า คุณจะมองเห็นคนรอบหนังสืออื่น ๆ บ้างล่ะ!


เรื่องโดย

ภาพโดย

วิดิโอโดย