‘คนไร้บ้าน’ คุณนิยามคนเหล่านี้ว่าอย่างไร…
เขาดูสกปรก ดูน่ากลัว หรือเผลอตัดสินไปแล้วว่าเขาเป็นคนขี้เกียจที่ไม่ยอมลุกขึ้นสู้กับโชคชะตา
“เพราะบางครั้งเงื่อนไขชีวิตก็ถูกลิขิตมาไม่เท่ากัน”
เสียงเจื้อยแจ้วพูดจาฉะฉานยังคงก้องกังวานในหูทุกครั้งที่นึกถึง บรรทัดถัดจากนี้ KiNd ไม่ได้จะพรรณนาเพ้อฝัน แต่จะพาไปลองเปิดใจขบคิดเรื่องราวอีกมุมของกลุ่มคนที่ถูกสังคมผลักไสกับ ‘คุณทราย’ เซลสาวกับภารกิจส่งต่อความอิ่มให้กับคนไร้บ้านย่านราชดำเนิน
แรกเริ่มเดิมที
⌒
“จริง ๆ แล้วเราทำงานเป็นเซลขายรถ ก็ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป พอว่าง ๆ ก็จะไถทวิตเตอร์ตามข่าวสังคมการเมือง ถ้าใครเล่นแอปนี้จะก็เห็นโครงการแจกของแฟนคลับผ่านตาอยู่บ่อย ๆ เราเลยมองว่ามันเป็นลู่ทางหารายได้เพิ่มได้ เพราะเรามีหน้าร้านที่คุณแม่เปิดขายอาหารตามสั่งอยู่แล้ว เลยคิดว่าให้ลองทำขายบ้างน่าจะดีเหมือนกัน เราก็เปิดแอ็กเคานต์ใหม่ ตั้งใจว่าจะรับทำข้าวกล่องตามออร์เดอร์โดยเฉพาะ และนำไปแจกให้โดยไม่ได้คิดเงินเพิ่ม ในช่วงแรกก็มีเพื่อน ๆ นี่แหละมาช่วยสั่ง วันละ 2-3 กล่องก็ว่ากันไป พอได้ออร์เดอร์มาก็เอาไปจากตามที่พักคนงานแถวบ้าน แล้วก็ถ่ายรูปลงเพื่อยืนยันว่าแจกให้แล้วนะ”
“จุดเปลี่ยนมันเริ่มจากมีออร์เดอร์ไปแจกม็อบชาวนาเมื่อปีก่อน ระหว่างไปแจกเราก็พูดคุยกับคุณลุงคุณป้า ฟังเรื่องราวที่มาของการออกมาเรียกร้อง เชื่อไหมที่ทุกคนมาไม่มีใครมีเงินเยอะเลยนะ เขาก็บอกจากใจว่าไม่อยากทำให้ใครเดือดร้อนเลย แต่ที่ต้องมาเพราะหมดหนทางแล้วจริง ๆ เราฟังแล้วก็อยากส่งต่อเรื่องราวเลยเอาไปเขียนลงทวิตเตอร์ จำได้ว่าช่วงนั้นเป็นกระแสเลย เพราะคนแชร์เยอะมาก แล้วก็มีคนมาแจกของเพิ่มขึ้น และออร์เดอร์ที่ร้านก็เยอะขึ้นไปด้วย พอของไปแจกที่ม็อบมันเพิ่มขึ้นเท่าตัว เราเลยต้องหาที่แจกใหม่เพิ่มตาม มีคุณลุงเขามาบอกว่าลองไปแจกแถวราชดำเนินสิ คนไร้บ้านอยู่เยอะ เราเลยลองไปกันดู พอได้แจกครั้งแรกก็คิดแล้วแหละว่าไม่น่าจะใช่ครั้งสุดท้าย”
ส่งต่ออีกมุม คนชายขอบของสังคม
ที่ถูกเรียกว่า ‘ไร้บ้าน’
⌒
“เราตั้งใจไว้แต่แรกเลย ว่าไม่อยากแค่แจกแล้วปล่อยมันหายไปเฉย ๆ เราเห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้าเลยอยากเป็นกระบอกเสียง จริง ๆ แล้วคนพวกนี้เขาลำบากนะ ไม่ได้เป็นแบบที่คนอื่นพูดซะทีเดียว คนที่มารับข้าวก็ไม่ได้มีแค่คนไร้บ้านด้วย บางคนมีบ้านแต่ยากจน บางคนมาหางาน บางคนมีคนพิการต้องดูแล คือเราไม่รู้หรอกว่าวัน ๆ หนึ่งเขาไปเจอเรื่องอะไรมาบ้าง หรือไปทำอะไรบ้าง เราเจอเขาใน ณ ตอนนั้นที่เขาหิวมาก ๆ พอได้ข้าวไปก็ยกมือไหว้แทบจะร้องไห้เลยก็มี ซึ่งเราไม่ได้ซาบซึ้งที่เขายกมือไหว้หรือที่ร้องไห้นะ แต่พอเห็นเขารับข้าวแล้วพากันไปนั่งกินเลยมันอิ่มใจ อย่างน้อยก็ช่วยประหยัดไปอีกมื้อหนึ่ง”
“อย่างคุณคนหนึ่งที่เราเจอ วันนั้นฝนตกเราแจกข้าวเสร็จแล้วแต่เขาเพิ่งมา เขาก็มายืนข้าง ๆ รถแล้วก็ยกมือไหว้ เห็นแบบนั้นเลยเปิดกระจกแล้วถาม เขาเล่าให้ฟังว่าเดินมาจากนนทบุรี มาหางานทำแถวนี้ เพราะเขามีลูกต้องเลี้ยง จากนั้นเขาก็ยื่นบัตรประชาชนให้เราแล้วบอกว่าพอจะมีงานให้ทำไหม เราเลยเอามาเล่าลงทวิตเตอร์ สรุปตอนนั้นมีคนมาจ้างงานเขาจริง ๆ เขาก็คอยอัปเดตเราตลอดว่าเจ้านายใจดีมากเลย ขอบคุณจริง ๆ ที่ช่วยให้มีงานทำ เขาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่ต้องไร้บ้านอีกแล้ว มันทำให้เราเห็นว่ามีหลายคนมากที่อยากทำงานแต่ไม่มีโอกาส
“บางคนที่เขาไม่ทำงานมันก็มีหลายเหตุผล บางคนโดนหลอกไปทำงานเป็นเด็กไร่ทุ่ง ไร่สับปะรด ไร่มันสำปะหลัง ไหนจะโดนเบี้ยวค่าจ้าง บางคนโดนมอมให้กินเหล้าจนติดเพื่อให้ทำงานแลกกับเหล้า ทำให้เขากลายเป็นคนติดเหล้าติดยา หรือหลายคนได้ไปทำงานแล้วก็ยังถูกเหยียด ถูกกลั่นแกล้ง ถูกกดขี่ข่มเหงจากคนในที่ทำงานอีกที พอทนไม่ไหวก็พากันหนีออกมาอยู่ริมถนนแบบนี้ บางคนไม่ได้อยากที่จะไร้บ้านแต่ดันเกิดมาในครอบครัวที่ไร้บ้านอยู่แล้วก็มี หรือถึงแม้จะมีคนบางกลุ่มเขาตั้งใจจะอยู่แบบคนไร้บ้านก็มีอีกเหมือนกัน เรื่องทุกเรื่องมันมีหลายมุมให้มอง ขอแค่เราอย่าไปตัดสินชีวิตใครเขาก็พอ”
บอกลานายทุน อุดหนุนตายาย
⌒
“คนในทวิตเตอร์ช่วยเราเยอะมาก เราจะบอกพวกเขาก่อนเลยว่าจะไม่รับเป็นเงิน เปลี่ยนเป็นการส่งของใช้ หรือออร์เดอร์ข้าวกล่องเข้ามาจะดีกว่า ไม่นานมานี้เราก็มีแคมเปญเล็ก ๆ ขึ้นมาในแฮชแทก #บอกลานายทุนอุดหนุนตายาย เหมือนกับว่าถ้าเราไปเจอคุณตาคุณยายขายของตามริมถนน อย่างพวกอาหาร ลูกอม หรือของใช้ต่าง ๆ ก็จะโพรโมตผ่านทวิตเตอร์เชิญชวนให้คนมาอุดหนุน หรือใครอยากช่วยอุดหนุนช่วยซื้อก็แจ้งเรามาได้เลย ของพวกนี้ก็จะเอาไปแจกให้คนไร้บ้านต่ออีกทางด้วย เราตั้งใจว่าอยากให้วันนั้นเป็นวันที่ดีของเขาสักวันหนึ่ง อยากให้เห็นแววตาเขาตอนเราบอกว่าจะเหมาของ เขาดีใจมากเลยนะ ซึ่งมันมีความน่ารักอีกอย่างคือ คนในทวิตเตอร์เขาก็ช่วยใช้แฮชแทกนี้ด้วย บอกต่อ ๆ กันว่าจุดนี้นะมีคุณยายมานั่งขายของ มีคุณตามายืนขายไอศกรีม ใครอยู่ใกล้ก็ตามไปซื้อได้ มันกลายเป็นพื้นที่เล็ก ๆ แต่เต็มไปด้วยพลังน้ำใจ”
งานนอกเวลา(ประจำ)
⌒
“ตอนนี้ไม่ได้เป็นการไปแจกเพื่อค้ากำไรอะไรแล้ว ถึงไม่มีออร์เดอร์เราก็ไปแจกอยู่ดี จริง ๆ ก็มีคนอื่นไปแจกนะคะ แต่เขาไปแจกเป็นช่วง ๆ ไม่ได้ไปแจกทุกวันแบบเรา อย่างของเราจะตั้งซุ้มเป็นจุดแจกเลยค่ะ เพราะเราทำเรื่องแจ้งทางเทศกิจไปว่าตรงนี้มันเป็นจุดแจกได้เพราะคนไร้บ้านอยู่กันเยอะ เขาก็เลยมาทำจุดแจกให้ดูเป็นระเบียบมากขึ้น คนที่มารับข้าวเขาจะรู้เลยว่าทุกวัน 6 โมงเย็นจะเจอเรา มีเป็น 100 คนเลยนะที่มาทุกวันเลย บางวันถึง 200 คนก็มี”
“มันกลายเป็นสิ่งที่เราต้องทำเป็นประจำทุกวัน มันซึมซับไปแล้ว จนบางทีก็คิดแทนเขาว่า ถ้าเราไม่มาแจกเขาจะมีอะไรกินไหม จะมีข้าวตกถึงท้องบ้างหรือเปล่า หลายคนก็บอกเราว่ามันดูเป็นทุกข์ไปนะ ซึ่งเรามองในมุมที่เห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากกว่า ถึงใครจะบอกว่ามันเหมือนแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เราคิดแค่ว่าการที่ช่วยให้เขาอิ่มไปอีกวัน มันก็จะพอลดสาเหตุของอะไรบางอย่างได้บ้าง เขาอาจจะไม่ต้องไปลักขโมยของเพื่อประทังความหิว เอาจริงปัญหาความเหลื่อมล้ำมันมีมานานแล้วนะ อย่างเราคนตัวเล็ก ๆ จะไปแก้ที่ต้นเหตุก็คงทำไม่ได้ เราก็ทำในมุมที่เราทำได้”
“ไม่อยากให้มองเหยียด เพราะบางคนเขาสู้จนถึงที่สุดแล้ว”
“ทัศนคติของคนส่วนใหญ่มองคนไร้บ้านว่าเป็นปัญหาสังคม บางคนก็มองเหยียดหยามเพราะแค่เขาเนื้อตัวสกปรก เราไม่อยากให้มองแบบนั้นเลยนะ เพราะว่าบางคนเขาก็สู้จนถึงที่สุดแล้วเหมือนกัน แต่ว่าทุกอย่างมันไม่อำนวยให้เขาได้มีชีวิตที่ดีกว่านี้ การที่เราหยิบยื่นสิ่งที่มันไม่เหนือบ่ากว่าแรงให้ มันไม่ได้เป็นการดูถูกเขา ข้าวหนึ่งมื้อที่ได้จากเรามันช่วยให้มีชีวิตรอดไปอีกวันแค่นั้นเอง”
“ถ้าคุณบังเอิญเจอคนไร้บ้านตามริมถนน อาจไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นเงินทองอะไรมากมาย แค่แบ่งข้าวสักมื้อ น้ำสักขวดให้ก็ยังดี หรือไม่อยากทำก็ไม่เป็นไรเลย ขออย่างเดียว อย่าดูถูกกันก็พอ”