โลกนี้เต็มไปด้วยเรื่องเหลือเชื่อ… และเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าตั้งคำถามจริงจัง ว่าทำไมวงการวิทย์สุขภาพที่ขวักไขว่ด้วยผู้เชี่ยวชาญเรื่องยากเย็น ทั้งเคมี-ชีวะ ถึงไม่สมาทานความคิดง่ายดายที่ว่า ‘มนุษย์แตกต่างและหลากหลาย’ ‘เบลล่า’ เภสัชกรกล้าวิพากษ์จะพา KiNd ไปแตะเรื่องพวกนั้น — เพศสภาพ กฎหมายล้าหลัง สารพันปัญหาร้านยา …เรื่องที่เภสัชไม่ค่อยคุยให้ฟัง
บทสนทนาใกล้ชิดต่อไปนี้ ถือเป็นคำเชิญให้ขบคิด ตั้งคำถาม ช่วยตอบปัญหาผู้สัมภาษณ์ขี้สงสัย ในฐานะเพื่อน พี่สาว หรือเภสัชกรคนหนึ่ง และไม่ได้จงใจเปิดโปง สถาปนาความจริงเร้นลับที่ไม่มีใครล่วงรู้ แต่เป็นเพียงเรื่องดาษดื่นที่จะคุยกันระหว่างเพื่อนเท่านั้น…
01 เภสัชฯ ไม่ใช่ฝัน
แต่เป็นความตั้งใจแบบฟลุก ๆ
“สวัสดีค่ะ เบลล่าค่ะ” พอแนะนำตัวแบบสั้นกระชับจบก็ไม่รอช้า ยิ้มหวาน จ้องหน้า แล้วเอ่ยเชิญชวนด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า “ถามได้เลยนะคะ พร้อมตอบค่ะ”
เล่าชีวิตก่อนเป็นเภสัชกรให้ฟังสักนิดได้ไหม
เราเป็นเด็กต่างจังหวัดค่ะ เรียนหนังสือที่กาฬสินธุ์ตั้งแต่อนุบาลจนจบมัธยมปลาย โตมากับมายาคติที่ว่า ‘คนที่เรียนสายวิทย์สุขภาพเป็นคนเก่ง’ ฝังหัวมาตลอดว่าต้องเรียนหมอ
พอไม่ติดหมอ ประกอบกับได้ทุนเต็มจำนวนจากจุฬาฯ ถึงตัดสินใจเรียนคณะเภสัชฯ จะเรียกว่าเป็นความตั้งใจแบบฟลุก ๆ ก็ได้ (หัวเราะ)
จากนั้นก็เป็นเภสัชกรมาตลอดเกือบ 7 ปี มีโอกาสไปทำงานที่ภูเก็ตช่วงหนึ่ง กลับมาประจำโรงพยาบาลเอกชนที่กรุงเทพฯ จริง ๆ โรงพยาบาลรัฐก็ไปสอบมาแล้ว แต่ก็มีช่วงที่หายไปพักทำงานอื่นอยู่เกือบปีที่ออสเตรเลีย ปัจจุบันกลับมาเป็นเภสัชกรร้านยาแถวบางนาค่ะ
ทำไมต้องมาเรียนไกลถึงกรุงเทพฯ
จริง ๆ สอบติดแถวบ้านด้วย แต่ด้วยหลายเหตุผลเลยตัดสินใจย้ายมา
เหตุผลแรก คือได้ทุนที่นี่ ทุนเต็มจำนวน พร้อมที่พักและค่าใช้จ่ายรายเดือน/ เหตุผลที่สอง ชื่อเสียงมหาลัยฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใคร ๆ ก็อยากเรียน/ เหตุผลสุดท้าย เบื่อ… เบื่อบ้าน เบื่อต่างจังหวัด อยากมาอยู่ในเมืองบ้าง
แล้วแตกต่างอย่างที่คิดไว้ไหม
Absolutely, full stop.
(พยักหน้าย้ำว่าพูดจบแล้วจริง ๆ)
บทสนทนาช่วงแรกจบลงเท่านั้น จบที่คำถามนั้นพอดิบพอดี ยิ่งเบลล่าตัดจบห้วน ๆ แบบนั้น ยิ่งชวนให้อยากรู้ต่อ เป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตคนคนหนึ่งจะราบรื่นไร้อุปสรรคขนาดนั้น …เป็นไปไม่ได้
02 แต่งกายตามเพศสภาพ :
เรื่องต้องห้ามสำหรับวิทย์สุขภาพ
ไม่ต่างจากนักเรียน หรือนิสิตคนอื่น ๆ เบลล่าหวังว่าชีวิตนอกสถานศึกษาจะเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง แต่เพราะเลือกอาชีพสายเดียวกับที่เรียนมา ปัญหาแก้ไม่ตกสมัยเรียนอย่างเรื่องการแต่งกายจึงตามมาด้วย เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเล็กน้อยเป็นคำว่า ‘ภาพลักษณ์องค์กร’ อดสงสัยไม่ได้ว่ากะเทยกับภาพลักษณ์แย่ ๆ เกี่ยวข้องกันอย่างไร แล้วทำไมภาพลักษณ์ถึงจำเป็นกว่าฝีมือ ประสบการณ์ หรือคุณภาพชีวิตพนักงาน
ตอนเรียนมีอุปสรรคอะไรบ้างไหม
เรื่องเนื้อหาการเรียนยาก ๆ เราพอจะควบคุมได้ อ่านหนังสือ ตั้งใจเรียนอะไรก็ว่าไป แต่เรื่องการแต่งกายเนี่ย คนอื่นมาควบคุมเรา เราทำอะไรไม่ได้ เราเลยอึดอัด
ย้อนไปตอนเรียน ด้วยความที่เราเป็น LGBTQIA+ เราก็อยากแต่งกายตามเพศสภาพ เหมือนเพื่อนอักษร เพื่อนรัฐศาสตร์ แต่สำหรับคณะเรา (คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ) หรือคณะสายวิทย์สุขภาพอื่น ๆ เนี่ย ‘ทำไม่ได้…’ จะเรียกว่าเป็นสิ่งต้องห้ามเลยก็ได้ ครูบาอาจารย์จะมองเราแปลก ๆ ไปเลย
ช่วงรับปริญญาก็เหมือนกัน ในหอประชุมเราต้องแต่งเป็นนิสิตชายตามระเบียบ พอออกมาก็รีบวิ่งไปเปลี่ยนชุดในห้องน้ำมาถ่ายรูปกับเพื่อน ๆ ถึงขนาดว่าวิ่งหลบเพราะกลัวคนอื่นเห็นในร่างผู้ชายก็มี พอมาคิด ๆ ดู ก็ไม่เข้าใจว่าทำไม ‘พวกเรา’ ต้องลำบากกว่าคนอื่นด้วย
ไม่รู้ว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้วนะ เข้าใจว่าเปิดกว้างขึ้น แต่กว้างขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่ากว้างแล้ว ใช่ไหมล่ะ
แล้วทำไมถึงปล่อยให้เป็นแบบนั้น
ไม่รู้สิ… ไม่รู้จะเรียกยอมได้หรือเปล่า แต่ตอนนั้นการแต่งกายตามเพศสภาพไม่แพร่หลายอย่างทุกวันนี้ อาจจะมีคนพูดถึงบ้างตามโซเชียล แต่ไม่ใช่จะเห็นได้บ่อย ๆ หรอก จุฬาฯ เพิ่งประกาศให้นิสิตแต่งกายตามเพศสภาพเมื่อปี 62 นี้เอง
พอเรียนจบแล้วดีขึ้นบ้างไหม
ไม่… ไม่เลย… ตอนเรียนก็คิดว่าหลังจบคงไม่ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้แล้ว (เรื่องการแต่งกาย) แต่เราอยากทำงานกับหน่วยงานรัฐเลยยังหนีไม่พ้น
ตอนจบใหม่ ๆ เรายังต้านทานความต้องการของครอบครัวไม่ไหว ที่บ้านอยากให้ทำงานกับภาครัฐ เราเริ่มไว้ผมยาวแล้ว (ยิ้มกว้าง) เลยต้องซื้อวิกผมสั้นมาสวมไปสมัครงาน เสื้อผ้าก็ต้องซื้อใหม่หมด เชิ้ตแขนยาว สแล็กดำ รองเท้าหนัง ต้องซื้อใหม่หมด ลำบากใจทุกครั้งที่ต้องไปยื่นเอกสาร ไปสัมภาษณ์ ยิ่งไปกว่านั้นคือต้องลงหางเสียงว่า ‘ครับ’ ตลอด
ครั้งหนึ่ง เราเคยสมัครงานโรงพยาบาลเอกชน ก็ใส่วิกไปสมัครปรกติ พอได้งานถึงค่อยยอมตัดผมสั้น แต่สุดท้ายก็ทนไม่ไหว เบื่องานก็เรื่องหนึ่ง แต่เราต้องแต่งเป็นผู้ชายทุกวันนี้สิ… ส่องกระจกเห็นสภาพตัวเองแล้วไม่ไหวอะ มันเป็นเรื่องของความสุขในการใช้ชีวิต เลยถามตัวเองว่าทำไมต้องมาทนทำอะไรแบบนี้ในเมื่อเราก็มีตัวเลือกอื่นอีก สรุปตัดสินใจไปทำงานที่ออสเตรเลียค่ะ งานทั่ว ๆ ไปเลย พักผ่อนจากการเป็นเภสัชกรบ้าง
เคยลองแต่งหญิงไปสมัครไหม
เคยค่ะ เคยไปสมัครตามโรงพยาบาล 2-3 แห่ง ตอนสัมภาษณ์เขาก็ดูเข้าอกเข้าใจเรานะ ว่าเราอยากเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ยังแนะนำให้เราละทิ้งตรงนั้นไว้ก่อน ต้องแต่งเป็นผู้ชายเพื่อรักษาภาพลักษณ์องค์กร (ยิ้ม)
คนอื่น ๆ ก็ต้องผ่านขั้นตอนแบบนี้ใช่ไหม
แล้วแต่คน หลายคนก็เลือกไปทำร้านยาเอกชนตั้งแต่แรก กฎระเบียบก็จะน้อยกว่านี้หน่อย อย่างน้อยก็แต่งตัวตามเพศสภาพได้
จริง ๆ บางโรงพยาบาลก็อนุญาตให้แต่งหญิงได้นะ ในกรณีที่ละมุนนีมาก ๆ (เหมือนผู้หญิงจนดูไม่ออก) แต่เราไม่เห็นด้วย เป็นกะเทยต้องสวยเท่านั้นหรือ คนไม่สวยไม่มีสิทธิ์จะเป็นตัวของตัวเองหรือ ทุกคนควรได้เป็นอย่างที่ตัวเองเป็นหรือเปล่า
03 เภสัชกร:
อาชีพที่มักเจอกับความเข้าใจผิด ๆ
Photo Credit : shutterstock
หลายคนอาจจะคิดว่าเภสัชกรมีหน้าที่แค่จัดยาตามที่หมอสั่ง แต่ไม่ใช่เท่านั้น เบลล่าเล่าว่า ‘อาชีพในเงา’ นี้ มีรายละเอียดมากมาย มีเรื่องให้พะวงหลายอย่าง และที่แน่ ๆ จำเป็นต่อความปลอดภัยของคนไข้มากกว่าที่คิด
หน้าที่นอกเหนือจากจัดยาตามที่หมอสั่งมีอะไรบ้าง
จริง ๆ การจ่ายยาที่เคาน์เตอร์เป็นส่วนเล็ก ๆ หน้าที่ของเภสัชกร คืองานบริบาลทางเภสัชกรรมค่ะ — ดูความเหมาะสมในเรื่องการใช้ยา ทั้งในด้านความปลอดภัย (Safety) และ ความคุ้มค่า (Cost-effectiveness)
การทำงานร้านยาก็จะอีกแบบนะ เหมือนกับว่าต้องเป็นแม่ค้าและเภสัชกรในเวลาเดียวกัน เป็นเรื่องความมีอยู่มีกินกับวิชาชีพ (หัวเราะ) บางครั้งเวลาลูกค้ามาซื้อยาที่ไม่ค่อยจะตรงโรค เราจะบอกเขาก่อนว่าไม่จำเป็น แต่หากดึงดันจะซื้อเราก็ยอมขายให้ ภายใต้วิธีคิดที่ว่า ‘ถึงจะไม่จำเป็น ไม่คุ้มค่า แต่ใช้แล้วจะต้องไม่เป็นอันตรายเด็ดขาด’ ถึงเราไม่ขาย เขาก็จะไปซื้อร้านอื่นอยู่ดี หากซื้อกับเรา อย่างน้อย ๆ ก็จะได้รับวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง
มีเรื่องที่ลูกค้ามักจะเข้าใจผิดบ้างไหม
เยอะแยะค่ะ… เข้าใจผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างซื้อยาคุมกำเนิดไปสระผมให้ยาวไว ๆ ใช้ยาแอสไพรินแช่ผ้าขาวก็มี แต่หากเป็นเรื่องใหญ่หน่อยก็คงเป็นแยกความแตกต่างระหว่าง Antibiotic (ยาปฏิชีวนะ) กับ Anti-inflammatory (ยาแก้อักเสบ) ไม่ออก หากใช้สลับไปมา แล้วกินไม่ถูกต้องจะทำให้ดื้อยา (Drug resistance) ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้เลยนะคะ
แล้วปัญหาอื่น ๆ ในวงการเภสัชฯ ล่ะ มีบ้างไหม
เยอะแยะค่ะ… ขอยกตัวอย่างเรื่องกฎหมายแล้วกัน ตอนนี้เราใช้พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ที่อายุเกือบ 60 ปีแล้ว ต่อให้ค่อย ๆ มีกฎหมายลูกออกมาก็ยังไม่เพียงพอ ยังลักลั่นอยู่มาก ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังค่ะ
อย่างกรณีแรก… แอสไพริน 81 มก. ที่ช่วยไม่ให้เกล็ดเลือดจับตัว ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ (ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น) ในขณะที่แอสไพริน 650 มก. ซึ่งเป็นแอสไพรินเหมือนกัน กลับถูกจัดเป็นยาอันตราย จ่ายได้โดยเภสัชกร หากมีคนมาขอซื้อเราก็ต้องขายแบบ 650 มก. ถูกไหม ไม่อย่างนั้นก็ผิดกฎหมาย แล้วถ้าเกิดคนไข้สโตรกขึ้นมาจริง ๆ จะทำอย่างไร ถ้ากินแบบไม่เป็นโรคเนี่ยอาจจะเป็นโรคกระเพาะได้ แต่หากเป็นโรคแล้วไม่ได้กิน มีโอกาสเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตเลยนะคะ
อีกกรณีหนึ่ง… ยาคลอเฟนิรามีนหรือยาแก้แพ้ 4 มก. จัดเป็นยาอันตราย แต่ยาชนิดเดียวกันขนาด 2 มก. กลับเป็นยาสามัญประจำบ้าน มีขายทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ เท่ากับว่ากินแบบ 2 มก. 2 เม็ด ก็เท่ากับ 4 มก. อยู่ดี มันต่างกันตรงไหนคะ เรื่องนี้ต้องแก้ปัญหา อย่างน้อย ๆ ก็ต้องจำกัดปริมาณการซื้อ
ย้อนกลับไปช่วงที่อยู่ออสเตรเลีย มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับเภสัชฯ มาแชร์บ้างไหม
ก็เรื่องที่เขา (บรรดาเภสัชกร) พูด ๆ กันนั่นล่ะค่ะ ที่ต่างประเทศ ไม่เฉพาะออสเตรเลียนะคะ จะใช้ระบบใบสั่งยา (Prescription system) ซึ่งแยกคนสั่งกับคนจ่ายยาออกจากกัน (Separation of prescribing and dispensing) พูดง่าย ๆ ก็คือ ให้หมอสั่งยา แล้วให้เภสัชกรเป็นคนจ่ายยา ไม่เหมือนกับไทยที่จะให้อำนาจหมอในการสั่งและจ่ายยาเอง ในขณะที่เภสัชกรตามร้านยาก็วินิจฉัยโรคและขายยาไปพร้อม ๆ กัน
จริง ๆ มันแปลกค่ะ เพราะหมอกับเภสัชกรเทรนมาให้เชี่ยวชาญคนละด้าน หมอควรจะวินิจฉัย ส่วนเภสัชกรควรทบทวนคำสั่งยาจากหมออีกที ทำหน้าที่ครอสเช็กกัน หากทำทั้งสองอย่างคนเดียว ก็มักจะทำภายใต้ความเชื่อตัวเอง มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สรุปว่าระบบใบสั่งยามีประสิทธิภาพสูงกว่า ปริมาณการใช้ยาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาปฏิชีวนะ พอปริมาณยาเกินจำเป็นลดลง ค่ารักษาพยาบาลก็จะลดลงไปโดยปริยาย ถึงต่อให้ปริมาณเท่ากันก็เถอะ ยาที่ร้านยามักถูกกว่าตามสถานพยาบาลอยู่แล้ว
ถึงจะฟังดูแล้วเป็นไปได้ยากและใช้เวลามาก แต่เบลล่าก็เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเธอพูดกลั้วหัวเราะว่า “ยิ่งรู้ว่าใช้เวลามาก เรายิ่งต้องเริ่มนับหนึ่งกันวันนี้เลยค่ะ”
สรุปแล้ว… รักอาชีพนี้ไหม
รักค่ะ… รักในแง่ที่ว่าเป็นอาชีพที่ทำให้เรามีอยู่มีกิน เหลือเก็บ และดูแลครอบครัวได้
แต่ไม่แน่ หากมีอาชีพอื่นที่รายได้พอ ๆ กันก็อาจจะไปทำ เบื่ออาชีพในเงาแล้วค่ะ ไม่ค่อยมีคนรู้ด้วยซ้ำว่าเภสัชกรต้องทำอะไรบ้าง สังเกตจากซีรีส์สิคะ กี่เรื่อง ๆ ก็มีแต่หมอกับพยาบาล จริง ๆ ในสายสุขภาพทุกคนสำคัญค่ะ แล้วก็สำคัญมากด้วย… นักกายภาพบำบัด นักทัศนมาตร นักเทคนิคการแพทย์ นักโภชนาการ
แต่ใครที่อยากเป็นเภสัชกรก็เชิญเลยค่ะ อาชีพนี้มีข้อดีอีกเยอะแยะ สภาพแวดล้อมในการทำงานก็หลากหลาย ที่โรงพยาบาลก็ได้ ร้านยาก็ได้ โรงงานผลิตยาก็ได้ หรือเป็นผู้แทนยา (Medical representative) ก็ได้เหมือนกัน
แต่ที่สำคัญนะคะ เลือกด้วยตัวเองค่ะ อย่าให้สังคมบังคับเรา หากเรียนไม่ทรมานมาก เวลาทำงานจะไม่ทรมาน
“สวัสดีค่ะ”