“โรงเรียนไหนที่สามารถซื้อชุดฟุตบอลได้ ก็สามารถซื้อเที่ยวบินไปยังอวกาศได้เช่นกัน”
ดร. Steven Collicott ศาสตราจารย์ด้านการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University)
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2015 โรงเรียนประถมคัมเบอร์แลนด์ (Cumberland Elementary School) ในเวสต์ลาเฟียตต์ รัฐอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะกำลังเริ่มชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งอยู่ในความดูแลของครู Maggie Samudio จู่ ๆ เด็กนักเรียนในห้องก็ถามคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาว่า
“ถ้าหิ่งห้อยออกเดินทางไปยังอวกาศ มันจะสามารถเรืองแสงได้อยู่ไหมฮะ ในเมื่อมันต้องลอยอยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง?” ดูเหมือนว่าคำถามนี้แม้แต่เธอก็สงสัยไม่ต่างกัน แน่นอนว่าในฐานะครู เธอจะต้องหาคำตอบมาไขปริศนาของเด็ก ๆ ให้ได้
หลังจบคลาสเรียนเธอจึงรีบติดต่อไปยัง ดร. Steven Collicott เพื่อนของเธอที่เป็นศาสตราจารย์ด้านการบินและอวกาศที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ซึ่งตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากโรงเรียนประถมที่เธอสอน “เขาสอนเรื่องสภาวะความโน้มถ่วงเป็นศูนย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู และฉันก็เชื่อมั่นว่า เขานี่แหละจะเป็นคนตอบคำถามได้อย่างสมบูรณ์แบบให้แก่นักเรียนที่น่ารักของฉัน” เธอนึกย้อนถึงตอนเขียนอีเมลส่งไปหา ดร. Collicott
วันถัดมา ดร. Collicott ได้ตอบอีเมลกลับมา ซึ่งคำตอบที่ครู Samudio ได้รับกลับมานั้น สร้างความประหลาดใจให้เธอไม่น้อย “ผมว่าแทนที่เราจะมัวแต่นั่งเดาไปเรื่อย ทำไมเราไม่สร้างการทดลองแล้วส่งมันไปที่อวกาศเสียเลยล่ะ?”
ใคร ๆ ก็ส่งงานทดลองไปยังอวกาศได้!
➤➤
Blue Origin บริษัทเอกชนที่ให้บริการเดินทางไปอวกาศ รวมถึงผลิตจรวดเอง ก่อตั้งโดย Jeffrey P. Bezos ประธานกรรมการบริหาร หรือ CEO ของ Amazon กำลังวางแผนนำการทดลองวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กของโรงเรียนส่งขึ้นไปพร้อมกับจรวด New Shepard ซึ่งเป็นการปล่อยจรวดในลักษณะ Suborbital Flight คือบินขึ้นไปในทางตรง โดยมีค่าใช้จ่าย 8,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 250,000 บาท)
“เด็กนักเรียนชั้นประถมกำลังส่ง ‘งานทดลอง’ ขึ้นไปยังอวกาศ นี่คือจุดเปลี่ยนของวงการการศึกษาเลยก็ว่าได้” Erika Wagner ผู้อำนวยการฝ่ายขายของบริษัท Blue Origin กล่าว
ขณะที่ ดร. Collicott เองก็เคยส่งการทดลองการไหลของของเหลวขึ้นไปพร้อมกับยาน New Shepard หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเขากำลังบอกครู Samudio เป็นนัยว่า เธอกับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 2 เองก็สามารถส่งงานทดลองไปพร้อมกับยานอวกาศของบริษัท Blue Origin ได้เช่นกัน
Photo Credit: www.nytimes.com
“สิ่งที่เราต้องเตรียมมีเพียงแค่กล่องสี่เหลี่ยมขนาด 4 x 8 นิ้ว สำหรับบรรจุงานทดลองวิทยาศาสตร์ของเด็ก ๆ ซึ่งกล่องที่ว่านี้มีราคาแค่ครึ่งนึงของเครื่องแบบฟุตบอลนักเรียนมัธยมปลายเท่านั้นเอง” Dr. Collicott กล่าว “ผมต้องบอกด้วยความสัตย์จริงเลยว่า โรงเรียนไหนที่สามารถซื้อชุดฟุตบอลได้ ก็สามารถซื้อเที่ยวบินไปยังอวกาศได้เช่นกัน”
โรงเรียนประถมคัมเบอร์แลนด์ไม่ได้เป็นโรงเรียนเดียวที่เห็นคุณค่าของการจ่ายเงินเพื่อส่งงานทดลองวิทยาศาสตร์ของเด็กนักเรียนชั้นประถมไปพร้อมกับจรวด New Shepard ของบริษัท Blue Origin เท่านั้น แต่ยังมีอีกหนึ่งโรงเรียนคือ โรงเรียนมัธยมที่จัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ในรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาส่งชุดเซ็นเซอร์ที่ออกแบบและเขียนโปรแกรมด้วยตัวนักเรียนเองไปยังอวกาศ
แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในอลาบามาก็ได้สร้างการทดลองเพื่อทดสอบความผันผวนของอุณหภูมิในสภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วง (Microgravity) ออกไปทดสอบที่นอกโลกเช่นกัน และงานทดลองชิ้นล่าสุดที่เด็กนักเรียนได้ส่งขึ้นไปยังอวกาศก็เกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 เมื่อโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ในรัฐโอไฮโอ ได้ส่งแมงกะพรุนตัวจิ๋วขึ้นไปท่องโลกอวกาศ
เมื่อวันอังคารที่ 13 ต.ค. เที่ยวบินไปอวกาศครั้งล่าสุดก็เพิ่งออกเดินทางไป ในเที่ยวบินครั้งนี้มีผู้โดยสารร่วมเดินทางหลากหลายสายพันธุ์ และหนึ่งในนั้นคือ เมล็ดมะเขือเทศจำนวน 1.2 ล้านเมล็ด ซึ่งต่อมาจะทำการแจกจ่ายให้แก่นักเรียนทั้งสิ้น 15,000 คนของแต่ละชั้นเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
พร้อมแล้วก็ออกเดินทางกัน!
➤➤
หลังจากได้รับคำแนะนำจาก ดร. Collicott ครูสาวนักวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนประถมคัมเบอร์แลนด์ก็ไม่รอช้า Samudio และ ดร. Collicott ได้สร้างโปรเจ็กต์ร่วมกันระหว่างนักเรียนชั้นประถมและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ซึ่งนี่จะเป็นความร่วมมือที่จะทำให้อนาคตการศึกษาพัฒนาขึ้นอีกขั้น
Photo Credit: www.nytimes.com
วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2017 การทดลองหิ่งห้อย ก็พร้อมออกเดินทางไปกับจรวด New Shepard แต่เที่ยวบินครั้งนี้ดูเหมือนว่า ผู้เดินทางหลักอย่างหิ่งห้อยตัวเป็น ๆ จะไม่ได้เดินทางออกไปด้วย “ผมกลัวว่าหิ่งห้อยพวกนี้จะไม่สามารถเรืองแสงได้ขณะอยู่ในอวกาศ” ดร. Collicott กล่าวออกมาด้วยความกังวล “ผมและทีมกังวลว่า การส่งหิ่งห้อยออกไปจะทำให้พวกเขาตกใจกลัว และยังมีอีกประเด็นคือ ผมไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้พวกเขามีชีวิตรอดในอวกาศ อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่าจะทำให้พวกเขามีความสุขกับการท่องโลกอวกาศจริง ๆ ได้ไหม”
แต่หลังจากจำลองวิธีเรืองแสงของหิ่งห้อยทางเคมีไปหลากหลายวิธี พวกเขาพบว่า หิ่งห้อยสามารถสร้างแสงสว่างขึ้นมาได้โดยใช้เข็มฉีดยาผสมสารเรืองแสง และแล้วการเดินทางท่องโลกอวกาศของแมลงตัวจิ๋วก็ได้เปิดฉากขึ้น!
เมื่อจรวดอวกาศพุ่งทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดของวิถีโคจร ซึ่งมีระยะสูงถึง 60 ไมล์ (ประมาณ 97 กิโลเมตร) เหนือเวสต์เท็กซัส กล้องวิดีโอในกล่องที่บรรจุหิ่งห้อยก็ทำหน้าที่บันทึกการเปลี่ยนแปลงทุกช่วงเวลาอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่ง ดร. Collicott เองก็ได้เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อทราบผลการทดสอบเป็นที่เรียบร้อย สองวันถัดมา เขาก็ไม่รอช้าที่จะรายงานผลการทดลองนี้ให้แก่ครู Samudio และเขามั่นใจว่านี่จะต้องทำให้เด็ก ๆ เซอร์ไพรส์กับผลการทดลองครั้งนี้แน่ ๆ เพราะว่า…
“หิ่งห้อยสามารถเรืองแสงในอวกาศได้!”
“การตอบสนองของหิ่งห้อยในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก ในทางกลับกันการเดินทางไปยังอวกาศกลับเป็นอะไรที่ใกล้ตัวกว่าที่เด็ก ๆ คิด” ดร. Collicott กล่าว “ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมันเป็นอะไรที่เจ๋งไปเลย!”
ดูเหมือนว่าการทดลองในอวกาศจะไม่ใช่จุดสิ้นสุด แม้จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของครู Samudio และมี Kayla Xu นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ของเธอร่วมด้วยก็ตาม โดย Kayla Xu ได้ตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่า “รัฐส่วนใหญ่ล้วนมีแมลงประจำรัฐ แต่ทำไมรัฐอินเดียน่าถึงไม่มีแมลงประจำรัฐเหมือนรัฐอื่น ๆ เลย?”
หลังจากนั้น เธอและเพื่อน ๆ จึงพยายามหาแมลงประจำรัฐขึ้นมา ซึ่ง “หิ่งห้อย” ก็เป็นแมลงท้องถิ่นที่เธอเห็นมาตั้งแต่เด็ก และแล้วความพยายามของ Kayla Xu ไม่สูญเปล่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2018 ผู้ว่าราชการจังหวัด Eric Holcomb เดินทางไปยังโรงเรียนประถมคัมเบอร์แลนด์ เพื่อลงนามในร่างกฎหมายและประกาศว่า หิ่งห้อยสายพันธุ์ “Say” (Pyractomena angulate) ซึ่งเป็นชื่อสายพันธุ์ที่เด็ก ๆ ได้ร่วมกันตั้งชื่อขึ้นมา จะเป็นแมลงประจำรัฐอินเดียน่าอย่างเป็นทางการ
“ผู้ปกครองหลายคนบอกฉันว่า เวลาที่พวกเขาถามคำถามง่าย ๆ กับลูกว่า ‘วันนี้ไปโรงเรียนสนุกไหม ได้ทำอะไรบ้าง?’ คำตอบที่ได้กลับมานั้นเปิดโลกพวกเขามาก ๆ และนี่ก็กลายเป็นบทสนทนาในครอบครัวที่น่าทึ่งไปเลย เพราะมันหมายความว่า เรื่องที่เด็ก ๆ กำลังสนใจ จะทำให้พวกเขาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม การอ่านหนังสือก็เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการไตร่ตรองถึงเป้าหมายของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนี่จะเป็นเป้าหมายต่อไปในอนาคตของเด็ก ๆ” ครู Samudio กล่าว
ที่มา
- How a 2nd-Grade Class Sent a Science Experiment to Space. www.nytimes.com/blue-origin-school-experiment
- State Insect of Indiana. https://statesymbolsusa.org