Kind Health

Shopaholics: ทำอย่างไรดี? เมื่อตกอยู่ในภาวะเสพติดการชอปปิงแบบถอนตัวไม่ขึ้น



วิถี “คนคลั่งชอป” สู่ภาวะ “เสพติดการชอปปิง” หรือที่หลายคนคุ้นหูกันในชื่อ “Shopaholics” แต่หากเรียกตามคำศัพท์ทางการแพทย์จะหมายถึงโรค “Oniomania” (โดยคำว่า Onos = การซื้อขาย และ Mania = ความคลั่งไคล้) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่อยู่ในกลุ่มความผิดปกติในการยับยั้งตนเอง (Impulse Control Disorders) ทำให้ไม่สามารถยับยั้งการจับจ่ายซื้อของของตนเอง นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น Compulsive Buying Disorder (CBD), Compulsive Shopping หรือ Shopping Addiction เป็นต้น

ภาวะดังกล่าวถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแพทย์แต่อย่างใด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเรื่องนี้ถูกพูดถึงในวงกว้าง ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า อาการเหล่านี้เป็นความผิดปกติต่อแรงกระตุ้นภายนอก แต่จิตแพทย์ Astrid Mülle จากมหาวิทยาลัย Hannover Medical School ประเทศเยอรมนี กลับเห็นต่างออกไป เขากล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะยอมรับว่าอาการเสพติดการชอปปิงเป็นโรคทางสุขภาพจิตประเภทหนึ่ง พร้อมระบุว่ามีผู้คนเกือบ 5% กำลังเผชิญกับโรคเสพติดการชอปปิงนี้อยู่ เนื่องจากคนยุคใหม่มีลักษณะการชอปปิงแบบควบคุมตัวเองไม่ได้เพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา


ด้วยองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โรคระบาด วิถีการซื้อสินค้าของผู้คนที่แปรเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี หรือแม้แต่กระทั่งโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมในช่วงเลขสวยประจำเดือนอย่าง 11.11 12.12 จะปล่อยออกมาดึกสักแค่ไหน ผู้คนต่างอดหลับอดนอนเพื่อต้องการไขว่คว้าสิ่งของเหล่านั้นมาไว้ในมือให้จงได้ ซึ่งหลายคนก็มีความสุขและสนุกกับการชอปปิงดังกล่าว แต่สำหรับบางคนกลับต้องทนทุกข์กับพฤติกรรมการซื้อสินค้าเกินความจำเป็นของตนเอง โดยเฉพาะอาการหวั่นไหวใจเต้นทุกครั้งเมื่อเห็นป้ายลดราคา จนทำให้พวกเขาเข้าสู่ภาวะ Shopaholics หรือโรคเสพติดการชอปปิงในที่สุด

“Shopaholics คือการซื้อมากเกินจำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าที่ผู้มีอาการเสพติดการซื้อ มักจะเป็นสิ่งของไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้ก็ได้” หมอ Astrid Mülle กล่าว พร้อมระบุอีกว่า อาการเหล่านี้เป็นการปิดบังอารมณ์เชิงลบหรือเพื่อความสุขชั่วครั้งชั่วคราว แต่ผลลัพธ์ด้านไม่ดีของมันจะส่งผลออกมาในระยะยาวเป็นรูปแบบของหนี้สิน


ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Comprehensive Psychiatry พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนถึง 33.6% ที่เข้ามาปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการคลั่งการซื้อของออนไลน์ และผลการศึกษาของ OCD Clinic ในแคลิฟอร์เนีย พบว่าชาวอเมริกันราว 5.8% ต้องทนทุกข์ทรมานจากความต้องการซื้อสินค้าที่ควบคุมตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการหมกมุ่น และให้ความสำคัญกับการชอปปิงเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าบางคนมีการวางตารางการใช้จ่ายว่าวันนี้ควรจะซื้ออะไร ใช้บัตรเครดิตใบไหนก่อนออกจากบ้าน


สาเหตุของภาวะเสพติดการชอป

ภายในสมองโดยเฉพาะผู้ที่มีระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ต่ำ จะมีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจและการควบคุมตนเองลดลงตามไปด้วย โดยการชอปแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นสมองในส่วนที่สร้างความสุขหรือ Brain Reward Circuit เพิ่มการหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) อย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เกิดความสุขในขณะนั้นซึ่งทำให้ผู้เสพเกิดความพอใจ หรือภาวะ “high“ และมีความต้องการใช้ซ้ำอีก จนทำให้เกิดพฤติกรรมเสพติดการชอปปิงตามมา

นอกจากนี้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาเชื่อว่า พฤติกรรมเสพติดการชอปปิงนี้เป็นกลไกการลดหรือชดเชยความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง (Low Self-esteem) ภาวะเครียด (Anxiety หรือ Stress) หรือภาวะซึมเศร้า (Depression) โดยการซื้อของถือเป็นสัญลักษณ์ในการมีอำนาจควบคุมผ่านเงินตรา โดยหนุ่มสาวนักชอปจะรู้สึกดีกับการเป็นผู้เลือกสินค้าหรือบริการ และรู้สึกภูมิใจเมื่อได้ครอบครองสิ่งของเหล่านั้น ทั้งนี้อาจมีผลมาจากปัจจัยอื่น ๆ อย่างสื่อโฆษณาอีกด้วย เพราะการได้เห็นสินค้าที่สนใจบ่อยครั้ง รวมถึงความสะดวกสบายในการชอปปิงออนไลน์ ก็อาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการเสพติดการซื้อได้

อย่างไรก็ตาม อาจสังเกตอาการของ Shopaholics เบื้องต้นได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • เสพติดการชอปปิงอย่างหนัก โดยต้องซื้อของเป็นประจำทุกวันหรือทุกสัปดาห์
  • ไปชอปปิงเพื่อคลายเครียด
  • ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน หรือเปิดบัตรใบใหม่แต่ยังไม่ได้ชำระหนี้ของบัตรใบเก่า
  • ตื่นเต้น เคลิบเคลิ้ม หรือมีความสุขอย่างมากหลังได้ชอปปิง
  • ซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
  • โกหกหรือลักขโมยเพื่อให้ได้ชอปปิงต่อ
  • รู้สึกผิดหรือเสียใจหลังได้ชอปปิง แต่ก็ยังจะทำต่อไป
  • ไม่สามารถจัดการการเงินของตนเองหรือไม่สามารถชำระหนี้สินจากการชอปปิงได้
  • ไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมการชอปปิงของตนเองได้



บำบัดความคิดและพฤติกรรม พร้อมควบคุมอารมณ์

สำหรับการรักษาภาวะเสพติดการชอปปิงนี้จะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของแต่ละคน บางรายอาจต้องจำกัดการใช้เงิน จำกัดวงเงินบัตรเครดิต หรือให้ผู้อื่นบริหารการเงินให้ แต่ส่วนใหญ่จิตแพทย์จะรักษาด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) ให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัว หรือรักษาที่ต้นเหตุ เช่น ภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะการย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น บางรายก็อาจเกิดจากปัญหาทางจิตอื่น ๆ ซึ่งการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอาจช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการจำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา ปรับเปลี่ยนแนวความคิดและความรู้สึก รวมทั้งยุติพฤติกรรมคลั่งชอป ซึ่งจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนและความเข้าใจจากคนใกล้ชิด เพื่อให้สามารถเอาชนะปัญหาและใช้ชีวิตได้ตามปกติ


ที่มา


เรื่องโดย