Kind Creatures

‘วิเชียรมาศ’ มหัศจรรย์แมวพันธุ์เห็ด



หากใครมีชีวิตพัวพันย่านวัดเทพลีลา อาจเป็นปกติสุขประจำวันที่จะได้พบ ‘แมวเฟีย’ ป้วนเปี้ยนจำนวนหนึ่ง หากวันนั้นอากาศดี เส้นทางเดินจากต้นซอยไปท้ายซอยเพียง 220 เมตร อาจพบมากสุดห้าถึงหกตัวไม่ซ้ำสี จะส้ม สลิด เปรอะ ดำ เห็ดหรืออื่น ๆ มากมายจะพูดหมด แปะคำเตือนป้ายแดงว่าแมวที่พบอาจไม่จร หรือหากว่าจรก็มีคนใจดีให้ข้าวแบบบุฟเฟต์ 

จำได้ว่า ณ ขณะหนึ่ง เคยเห็นเจ้าบิ๊กเห็ดเดินโต๋เต๋ที่ต้นซอย ก่อนเจอเจ้าเด็กเห็ดตัวจ้อยวิ่งปรู๊ดจากท้ายซอยมาทักทาย ครั้นเข้าที่พักไปก็มีเจ้าเห็ดหางม้วนแวะมาให้จีบริมระเบียง มหัศจรรย์พันธุ์เห็ดที่โผล่มาเยอะจนตกใจ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสีลำตัวขาวครีมผ่องบ้างขุ่นบ้าง กับแต้มสีน้ำตาลที่บางวันเข้มบางทีจาง หรือตาสีฟ้าคู่สวยที่แอบเหล่มีกันทุกตัวหรือไม่ ไหน ๆ ก็ทำให้รักจนโงหัวไม่ขึ้นแล้ว มารู้จักที่มาของแมวเฟียหน้าเห็ดไปพร้อมกัน


แมงมงคลจากรั้ววัง

เรียกเจ้าเห็ดมานานขอเปลี่ยนไปเรียก ‘วิเชียรมาศ’ ให้สมศักดิ์ศรีแมวจากรั้ววังแทน ว่ากันว่าวิเชียรมาศมีความหมายลื่นหูว่า เพชรแห่งดวงจันทร์ ด้วยดวงตาสีฟ้าแพรวพราวราวเพชรเม็ดงาม และสีลำตัวขาวนวลละม้ายดวงจันทร์ ต้องบอกก่อนว่าไม่ได้นั่งกินนอนกินบนตั่งทองไปวัน ๆ ตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ วิเชียรมาศมีบทบาทสำคัญในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรของพระมหากษัตริย์รัชกาลใหม่ บุตรีเจ้าขุนมูลนายจำนวนหนึ่งจะต้องอัญเชิญเครื่องราชูปโภคและสิ่งมงคล 6 อย่าง หมายรวมถึง ‘วิฬาร์’ หรือแมววิเชียรมาศด้วย โดยเชื่อว่าแมวเก่งกาจในการขับไล่ปีศาจ เพราะมีสายตาทะลุปรุโปร่งในความมืด ทั้งยังเป็นภาพจำของการมีชีวิตอมตะ หากแต่ไม่ใช่แมวไหนจะทำก็ได้ ตำราระบุแจ่มชัดวิเชียรมาศที่สมมงจะต้องมีขนสีครีมอ่อน แต่งแต้มสีน้ำตาลไหม้ 9 แห่งทั่วตัว ดวงตาสีฟ้าผุดผ่อง ที่สำคัญคือต้องเป็นแมวแก่ ชอบอยู่ติดบ้านเป็นชีวิตจิตใจจึงเหมาะสมเป็นที่สุด

วิเชียรมาศยังโด่งดังไปทั่วโลกในชื่อ ‘แมวสยาม’ (Siamese Cat) หลังจากทูตชาวอังกฤษได้รับพระราชทานแมวหนึ่งคู่ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 1884 พร้อมตั้งชื่อน่ารักน่าหยิกให้แมวเด็กชายว่า Pho (ผู้) และแมวเด็กหญิงว่า Mia (เมีย) หลังจากข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่อีกฟากโลก ทั้งสองแมวเติบโตอย่างดีและสวยงามไม่น้อยหน้าแมวผู้ดีอังกฤษ ครอบครัวท่านทูตจึงผลักดันสู่การประกวดแมวสวยงามในเวทีคริสตัลพาเลซ กรุงลอนดอน ปี 1885 นับเป็นการโชว์ตัวสู่สายตาโลกครั้งแรก และคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองสมในฐานะแมวมงคลพราวเสน่ห์จากสยาม ความนิยมชมชอบทวีคูณมากยิ่งขึ้น ถึงกับมีการจัดตั้งสโมสรคนรักวิเชียรมาศขึ้นเมื่อ ปี 1900 โดยใช้ชื่อว่า ‘The Siamese Cat Club’


สีที่เปลี่ยน

เช่นเดียวกับแมวอื่น วิเชียรมาศชอบอาบแดดเป็นชีวิตจิตใจ แต่ผลลัพธ์อาจต่างไปหน่อยเพราะสีขนดันไวต่อแสง วิเชียรมาศหน้ามนเกิดมาพร้อมกับขนสีขาวราวหิมะ หลังเผชิญโลกกว่า 2 อาทิตย์ ‘ยีนส์หิมาลัย’ (Himalayan Gene) ก็ถูกกระตุ้นด้วยอุณหภูมิแวดล้อม เม็ดสีเมลานินถูกแต่งแต้มปลายจมูก ก่อนจะค่อย ๆ ลามไปที่กึ่งกลางใบหน้า หูทั้งสอง อุ้งเท้าทั้งสี่ และหางเรียวยาว เมื่อย่างเข้า 1 เดือน จุดสีเข้มจะแจ่มแจ้งเต็มที่ตามเฉดสีทางพันธุกรรม ไม่ว่าจะเป็นบลูพอยต์ ไลแลคพอยต์ ช็อกโกแลตพอยต์ หรือซีลพอยต์ตามบุญพาวาสนาส่ง จะเห็นว่าตัวการอย่างพันธุกรรมทำงานร่วมกับอุณหภูมิได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่ในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว ขนสีดำของวิเชียรมาศจะมีสีอ่อนลงเล็กน้อย ซึ่งเกิดขึ้นจากการตอบสนองต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันในช่วงที่อากาศเย็นขนก็จะเข้มขึ้นถนัดตาเลยล่ะ 


ตำหนิประจำพันธุ์

หางคดงอและตาเหล่ กลายเป็นลักษณะประจำพันธุ์จนมีตำนานเล่าต่อกันมาว่า วิเชียรมาศเกิดมาพร้อมหน้าที่เฝ้าถ้วยทองคำของพระพุทธเจ้า กายเหยียดตรงใช้หางเรียวยาวโอบรัดถ้วย สายตาเพ่งมองเบื้องหน้าอย่างตั้งใจไม่วอกแวก กลายเป็นที่มาของปลายหางขอดและตาเอียงเหล่ วิเชียรมาศบางตัวอาจตาเหล่แบบเห็นได้ชัด หรือเพียงนัยน์ตาสั่นเครือบ้างบางครั้งเพื่อจับการเคลื่อนไหว ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่า ภาวะตาเหล่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้จอประสาทตาซ้ายเอียงไปทางขวา และจอประสาทตาขวาเอียงไปทางซ้าย ความสามารถในการรับรู้ระยะใกล้ไกลจึงบกพร่อง วิเชียรมาศจึงต้องเหล่ตาเพื่อเพ่งให้มองเห็นได้ชัดขึ้น 

ไม่ว่าจะหางคดหางขอดหรือตาเขตาเหล่ ตำหนิเหล่านี้ไม่อันตรายและไม่จำเป็นต้องรักษา หนำซ้ำยิ่งทำให้วิเชียรมาศน่ารักน่าเอ็นดูเข้าไปใหญ่ แต่ขอขีดเส้นใต้เตือนใจว่าอย่าเผลอไปแซวบ่อย โดนแมวงอนนี่ง้อยากไม่ใช่เล่นเลยนะ


ที่มา

  • แมววิเชียรมาศ 3 ตัวแรกที่ถูกนำไปแสดงในงาน Crystal Palace ณ กรุงลอนดอน. https://bit.ly/4cdotKw
  • ‘แมววิเชียรมาศ’ ในไทยและต่างแดน 200 ปีของน้องเหมียว จากสยาม ดังไปไกลทั่วโลกได้อย่างไร. https://bit.ly/3A0oHa9
  • Cat’s Glory เรื่องของเจ้าเหมียว เพื่อนสี่ขาที่เป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์มาไม่ต่ำกว่า 12,000 ปี ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรม. https://bit.ly/
  • How Siamese cats change their colors. https://bit.ly/3YpWl3f
  • When Do Siamese Cats Stop Changing Color?. https://bit.ly/3Sui5HB
  • 15 Fun Facts About Siamese Cats. https://bit.ly/4dkt3r8

เรื่องโดย