Digi Kind

The Internet of Bodies (IoB) เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์

Internet of Bodies (IoB) คืออะไร?
แล้วเปลี่ยนแปลงโลกของเราอย่างไร?


หลังจากการระบาดของ COVID-19 สังคมโลกจึงเกิดการตื่นตัวเรื่องสุขภาพกันครั้งใหญ่ เทคโนโลยีแบบสวมใส่ได้ (Wearable Technologies) เช่น อุปกรณ์ที่ติดตามเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพและตำแหน่งของบุคคล จึงได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก 

…อุปกรณ์นี้จะช่วยให้หน่วยงานสาธารณสุขวินิจฉัยได้ดีขึ้น? 
…สามารถจัดการและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ในอนาคต? 
…หรืออะไรคือสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัว และความเสมอภาคของการเข้าถึงข้อมูล? 


คำถามเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของการพยายามคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดย The World Economic Forum ร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เพื่อพัฒนานวัตกรรมแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุด ที่กำลังจะเข้ามาสู่วิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์เราในไม่ช้า นั่นก็คือ “Internet of Bodies” หรือ “IoB” โดยมีแนวคิดว่าร่างกายของมนุษย์คือแพลตฟอร์มเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ที่นำเข้าไปฝัง หรือเชื่อมต่อกับร่างกายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อเชื่อมต่อกันแล้วจะสามารถวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ และควบคุมร่างกาย รวมถึงอุปกรณ์จากระยะไกลได้ 

ส่วนการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้กับร่างกายมนุษย์นั้น มีทั้งหมด 3 รูปแบบด้วยกัน คือ การติดอุปกรณ์อยู่บนร่างกายภายนอก เช่น สมาร์ทวอช (Smart Watch) การติดอุปกรณ์ไว้ในร่างกาย อย่างเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) และการฝังอุปกรณ์ไว้ในร่างกาย เช่น การฝังชิป (Embedded Chips)

ทั้งนี้การเชื่อมต่อกับร่างกายมนุษย์ที่เราคุ้นเคยที่สุด คือการเชื่อมต่อแบบภายนอก เช่น นาฬิกา Apple Watch, Fitbits, Garmin ซึ่งจุดประสงค์หลักของ IoB ส่วนใหญ่นั้นก็เพื่อการตรวจเช็คด้านสุขภาพ เช่น วัดคลื่นหัวใจ วัดการนอนหลับ เป็นต้น


ส่วนอุปกรณ์ที่ติดไว้ภายในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemakers) คืออุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ ที่ฝังไว้เพื่อช่วยควบคุมเรื่องการเต้นของหัวใจ โดยแพทย์จะผ่าตัดและนำไปฝังในร่างกาย จากนั้นจะใช้กระแสไฟฟ้าช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ พร้อมทั้งมีเอไอ (AI) เพื่อช่วยเรียนรู้อัตราการเต้นของหัวใจ ทั้งยังช่วยคาดการณ์หัวใจว่ามีลักษณะอาการเป็นอย่างไร ไม่เพียงแค่ควบคุมอวัยวะในร่างกายเท่านั้น แต่ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ข้างนอก เพื่อส่งข้อมูลออกมาแสดงผลได้อีกด้วย 


ส่วน สมาร์ทพีลล์ (Smart Pill) คือ ตัวตรวจจับสุขภาพของร่างกายในรูปแบบยา ในตอนเริ่มต้นแพทย์จะนำเซนเซอร์ (Sensors) นี้ไปฝังอยู่กับยา จากนั้นก็นำเข้าไปสู่ร่างกายโดยการให้คนไข้กิน เมื่อยาเดินทางเข้าไปถึงส่วนกระเพาะอาหารแล้ว Smart Pill ก็จะสามารถเก็บข้อมูลอวัยวะภายในได้ คอยเฝ้าดูผลกระทบของยานั้น ๆ แล้ววิเคราะห์ข้อมูลส่งออกมาสู่ภายนอกผ่านอินเทอร์เน็ต ตรวจสอบได้ว่ามีผลกระทบอะไรกับร่างกายบ้าง ทั้งนี้หากคนไข้แพ้ยา ระบบก็จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการเตือน และหยุดการให้ยาได้ทันที


นอกจากนี้ยังมี สมาร์ทคอนแทคเลนส์ (Smart Contact Lens) เมื่อใส่เข้าไปในดวงตาแล้วจะสามารถวัดน้ำตา เพื่อดูปริมาณกลูโคส (Glucose) สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานได้เลยแบบทันทีทันใด โดยไม่ต้องไปนั่งเจาะเลือดแบบเดิมอีกแล้ว เท่านั้นยังไม่พอเพราะยังมีการพัฒนาเพิ่มเติมโดยใช้กับสมองที่เรียกว่า Brain Computer Interface (BCI) โดยสามารถเข้าไปสังเกต และวิเคราะห์ข้อมูลได้แบบทันที เทคโนโลยีแบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับคนไข้ที่ประสบปัญหาเรื่องของการขยับเขยื้อนร่างกายไม่ได้ หรือผู้พิการทางการเคลื่อนไหว


และนอกจากนี้ล่าสุดได้มี การทดลองฝังชิป (Embedded Chips) ซึ่งมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร เข้าไปคนร่างกายของมนุษย์จำนวน 4,000 คน เพื่อทดลองว่าการฝังชิปจะช่วยให้มนุษย์สะดวกสบายยิ่งขึ้นได้อย่างไรบ้าง จากการทดลองพบว่า สามารถทำให้พนักงานเดินเข้า-ออกออฟฟิศได้โดยไม่ต้องใช้บัตรพนักงาน และสามารถขึ้นรถโดยสารสาธารณะได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะสามารถตรวจสอบข้อมูลประจำตัว และชำระเงินผ่านชิปที่ฝังอยู๋ในร่างกายได้เลย

แม้สิ่งแรกที่ฉุกคิดขึ้นมาจะบอกว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างขัดกับธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ แต่ถ้าเราตระหนักถึงความเป็นไปได้ของโอกาสทางการแพทย์ และประโยชน์ด้านสุขภาพ รวมถึงด้านอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้น การสร้างสรรค์เทคโนโลยีสิ่งนี้ขึ้นมาก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย 

อย่างไรก็ตาม Internet of Bodies (IoB) ก็ยังมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความเป็นส่วนตัว (Cybersecurity and Privacy ) รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการแฮกข้อมูล (Hack) เนื่องจากการเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต ปัญหาข้างต้นจึงเป็นความท้าทายของเทคโนโลยีที่ยังต้องพัฒนากันต่อไป


ที่มา


เรื่องโดย