Kind People

Visually Impaired Programmer — โปรแกรมเมอร์มืดมิด บนเส้นทางที่ไม่มืดดับของ ‘วสันต์ แปงปวนจู’


พอพูดถึง ‘คนตาบอด’ คนส่วนใหญ่มักจะชอบสงวนอาชีพเฉพาะไว้ให้พวกเขาเอาเองตามอำเภอใจอย่างคนขายลอตเตอรี่บ้างล่ะ นักดนตรีเปิดหมวกบ้างล่ะ เพราะหลายอาชีพถูกแปะป้ายเอาไว้ว่า พวกเขาไม่มีทางทำได้…

แต่แท้จริงแล้วคนตาบอดที่มีอาชีพเป็นครู เป็นนักกฎหมาย เป็นโปรแกรมเมอร์ หรืออะไรอีกมากมาย ก็มีให้เห็นอยู่ด้วยเช่นกัน แล้วทำไมเราถึงต้องไปตีกรอบจำกัดความสามารถของเขาเหล่านั้น




วันนี้ KiNd ชวนมาเปิดมุมมองมืดมิดที่ไม่เคยมืดดับของ ‘วสันต์ แปงปวนจู’ โปรแกรมเมอร์ผู้พิการทางการเห็น ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัทซอฟต์แวร์ Friendly Dev ที่แม้ดวงตาของเขาจะมืดบอด แต่แสงสว่างบนเส้นทางอาชีพนักเขียนโปรแกรมของเขากลับไม่เคยมืดดับลงเลย  

ก้าวสู่เส้นทาง ‘โปรแกรมเมอร์’ ได้อย่างไร

\

“ในช่วงมัธยมพี่ได้รับทุนเข้าโครงการสนับสนุนและส่งเสริมนักเรียนตาบอดด้านวิทยาศาสตร์ จากกรมสมเด็จพระเทพฯ ท่านมีดำริอยากจะเห็นนักเรียนตาบอดในประเทศไทยสามารถเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ได้ พี่ถือเป็นเด็กตาบอดคนแรก ๆ เลยที่ได้เข้ามาเรียนด้านสายการเรียนวิทยาศาสตร์ โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง พี่เป็นรุ่นที่ 2 และก็มีรุ่นน้องตามมาอีก 2-3 รุ่น แล้วก็ปิดโครงการไป พอเรียนถึงระดับอุดมศึกษาก็เริ่มคิดแล้วว่าจะเลือกต่อทางไหนดี พี่คิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดในตอนนั้นคือ คอมพิวเตอร์ เพราะมันมีเสียงตามหน้าจอ และไม่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทางสายตามากก็เลยเลือกเรียน Com Sci ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นครับ พอเข้าเรียนได้ก็พยายามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาจนจบ”

เสน่ห์ของอาชีพนี้ และสิ่งที่ได้
จากการเป็นโปรแกรมเมอร์

\

“ตอนแรกพี่ก็ไม่รู้หรอกว่ามาเรียนแล้วจะเป็นยังไง แต่พี่มีความชอบทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็พอจะเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่าย พี่คิดว่าเสน่ห์ของมันคือการได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ เวลาเขียนโปรแกรมหรือพัฒนาโปรแกรม เราจะเห็น Output เหมือนเราได้สร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่งด้วยตัวเองครับ อีกอย่างคือเวลาเราเรียนเขียนโปรแกรม มันเหมือนเราอยู่ในจินตนาการ เรื่อง Object เรื่อง Class อะไรแบบนี้ เรากับคนทั่วไปก็ต้องจินตนาการคล้าย ๆ กัน ซึ่งตรงนี้เราสู้กับคนมองเห็นปกติได้ เพราะเขามองเห็นรูปภาพที่เป็นการจำลองขึ้นมา เราเองก็จินตนาการในหัวเราได้เหมือนกัน พี่คิดว่าการเป็นโปรแกรมเมอร์ฝึกให้เรารู้จักคิดอย่างเป็นกระบวนการ และตัดสินใจอย่างเป็นระบบ แต่บางทีเราก็จะรู้สึกว่า เราตัดสินใจคล้ายหุ่นยนต์ไปบ้างอะไรบ้าง (หัวเราะ)”

เล่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาให้ฟังหน่อย

\

“หลังจากเรียนจบก็มีโอกาสได้เข้ามาทำงานที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือว่า เนคเทค ภายใต้ สวทช. ครับ ทำงานในส่วนของการพัฒนานวัตกรรมสำหรับคนพิการ เราต้องสะท้อนความต้องการของคนพิการทางด้านการมองเห็นว่า เราต้องการอะไรบ้าง การพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับคนพิการควรเป็นยังไง นอกจากเราจะเป็นคนแสดงความต้องการแล้ว เราต้องเป็นคนพัฒนาด้วย ในขณะเดียวกันเราก็ยังเป็นคนทดสอบให้เขาด้วย พี่ทำอยู่ที่นี่มาประมาณ 7 ปีเลยครับ ก่อนจะออกมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง”

จุดประกายที่ทำให้ตัดสินใจออกมา
เปิดบริษัทซอฟต์แวร์ Friendly Dev

\

“ตอนที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐ พี่รู้สึกว่าอยากออกมาทำอะไรที่เป็นของตัวเองบ้าง อยากจะเติบโตมากกว่านี้ อยากพัฒนาศักยภาพตัวเองให้ดียิ่งขึ้น พี่เลยตัดสินใจไปเรียนต่อบริหารธุรกิจ (MBA) ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด จากนั้นก็นำความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการก่อตั้งกิจการ จนเกิดเป็น Friendly Dev ขึ้นมา ตอนนี้เปิดมาประมาณ 3 ปีแล้วครับ ช่วงเริ่มต้นก็เครียดเหมือนกันนะ เพราะเราเป็นมือใหม่ หน้าใหม่ เวลาไปติดต่อใคร เราก็คิดนะว่า เขาคงคิดแหละว่าเรามองไม่เห็นแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง เราจะทำงานให้เขาได้มั้ยกับเงินที่เขาต้องจ่ายให้ ช่วงแรกถือว่าโชคดีที่ได้รับโอกาสดี ๆ จากเจ้าของกิจการหลาย ๆ ท่านครับ งานแรกที่ได้ทำคือโรงงานทอผ้า เราเข้าไปทำระบบจัดการบริหารภายในให้กับเขาครับ”

การทำงานร่วมกันภายในทีมเป็นอย่างไรบ้าง

\

“Friendly Dev มีทีมงานประมาณ 5 คนครับ ในทีมจะมีพี่ที่เป็นคนตาบอดคนเดียวที่เหลือก็เป็นคนปกติ ซึ่งเราก็พยายามถอดบทเรียนการทำงานของเรากับคนอื่นว่า เราต้องปรับตัวยังไงบ้าง ต้องเตรียมอะไรบ้าง ซึ่งตอนนี้เราจะนำตัวโมเดลที่เราได้เรียนรู้ในการจัดการงานไปพัฒนาต่อยอดให้ทีมขยายมากขึ้น อาจจะขยายทีมไปสู่การทำงานกับโปรแกรมเมอร์ที่เป็นคนพิการต่อไป ตอนนี้คนตาบอดที่เป็นโปรแกรมเมอร์มีอยู่น้อยมาก เราพยายามร่วมกับสมาคมที่ช่วยกันพัฒนาคนตาบอดรุ่นใหม่ ๆ ให้เขาสามารถเข้ามาสู่อาชีพทางด้านนี้ได้เหมือนกันครับ”

มองอนาคตของ Friendly Dev
ต่อจากนี้อย่างไร

\

“เราอยากเติบโตแบบยั่งยืน สิ่งที่เราหวังไว้คือเราอยากเรียกความเชื่อมั่น เพื่อให้ผู้ประกอบการกลับมาจ้างงานเรา แสดงให้เห็นว่าผลงานเราก็ตอบโจทย์เขาได้เหมือนกัน และอยากทำงานเพื่อตอบโจทย์คนพิการให้มากขึ้น โดยที่ตัวงานเดิมที่เราทำให้ผู้ประกอบการก็ยังมีอยู่ต่อไป เพราะถ้าเราทำงานทางด้านคนพิการอย่างเดียว การจ้างงานมันจะมาจากการขอทุนหรือหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ แต่การที่เราจะทำให้คนพิการเติบโตและก้าวหน้าในสายอาชีพนี้ได้ คือการพิสูจน์ให้ผู้ประกอบการรับรู้ว่า คนพิการสามารถตั้งทีมขึ้นมาทำได้ หรือสามารถเข้าไปทำงานในสายไอทีให้กับกิจการเขาได้ ให้คนพิการได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากิจการต่าง ๆ ได้จริง ๆ”

ก้าวข้ามข้อจำกัด แล้วมุ่งสู่การเป็น
โปรแกรมเมอร์อย่างเต็มตัวได้อย่างไร

\

“สิ่งที่ยากที่สุดเลยคือเรื่องของจิตใจ เพราะเราต้องต่อสู้กับความคิดของเราเองและความคิดของผู้อื่น เราก้าวข้ามตรงนี้มาได้ เพราะเราได้รับโอกาสดี  ๆ จากหลายที่ครับ เขาให้เราได้พิสูจน์และตัวเราเองก็ตั้งใจที่จะพิสูจน์ด้วย อีกอย่างหนึ่งคือการจัดการงานที่ดีครับ เมื่อก่อนเคยติดกับความคิดที่ว่า เราต้องทำทุกอย่างให้เพอร์เฟกต์ให้ดีทั้งหมดด้วยตัวเอง แต่วันหนึ่งเราค้นพบว่า เราควรทำงานในสิ่งที่เราทำได้ดี อย่างการพัฒนาโปรแกรมจะมี 2 ส่วนครับ คือส่วนที่เป็น Interface เรื่องความสวยงามต่าง ๆ ตรงนี้เราเองก็ต้องยอมรับว่าเป็นข้อจำกัดในการทำงานของเรา เราก็เลยเปลี่ยนตัวเองไปทำงานทางด้าน Logic ทางด้าน Business Model ทำงานอยู่หลังบ้านให้กับตัวซอฟต์แวร์ ส่วนหน้าบ้านเราก็หาคนที่เขาเก่งด้านนี้ พวกดีไซเนอร์เข้ามาช่วยเรา อย่างเวลาเราทำงานกับเพื่อนร่วมงาน บางทีเราอธิบายเขา เราไม่ได้วาดภาพให้เขาดูได้ เราอธิบายรูปภาพอยู่กลางอากาศครับ แต่พอเขาเริ่มชินกับเรา เขาก็คิดตามเราได้เหมือนกัน จนวันหนึ่งเราก็สามารถปรับจูนความเข้าใจระหว่างกันได้”

ระหว่างทางฝันที่ต้องเจอกับอุปสรรค
เคยท้อแท้จนถอดใจบ้างไหม

\

“บางครั้งก็มีรู้สึกถอดใจเหมือนกันนะ เพราะบางทีเราเจอปัญหาเรื่องของการเข้าถึงบางอย่าง แต่เราก็ไม่เคยถอยค่อย ๆ หาวิธีแก้ ถ้าอันไหนเราทำสุด ๆ แล้วมันยังไม่ได้จริง ๆ เราก็หาคนมาช่วยทำครับ ซึ่งตรงนี้เราต้องมองว่า การทำงานแต่ละอย่าง มันก็มีจุดที่เราทำได้และทำไม่ได้ หรือบางครั้งที่เรามีไอเดีย เราอย่าไปตีค่าว่ามันไม่มีค่าอะไรเลย พี่ว่าค่าของไอเดียสำคัญกว่าอะไรหลาย ๆ อย่างที่จะทำออกมาอีก”

คิดว่าผู้พิการทางการเห็น
สามารถเข้าถึงอาชีพที่หลากหลายได้หรือยัง

\

“สังคมปัจจุบันเปิดโอกาสให้คนพิการเข้าเรียนได้แทบทุกสาขาอาชีพเลย หลายคนที่เป็นคนพิการทางการเห็น ด้านร่างกายหรือด้านอื่น ๆ จริง ๆ แล้วพวกเราก็มีศักยภาพในการทำงาน แต่บางครั้งสิ่งที่เราติดคือเรื่องของเครื่องมือในการทำงาน บางครั้งอาจจะใช้งานได้ไม่ค่อยสะดวกนัก ถ้าเราปรับเอกสารที่เป็นกระดาษให้กลายเป็นไฟล์ คนตาบอดก็ทำได้เหมือนคนปกติทั่วไป ยิ่งปัจจุบันทุกอย่างเริ่มเป็นดิจิทัลมากขึ้น คนพิการสามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำงานได้มากขึ้น และทุกวันนี้ผู้ประกอบการก็เปิดโอกาสรับคนพิการและผู้ที่มีความหลากหลายเข้าไปทำงาน พี่ว่าสังคมมันเปิดกว้างกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย”

ฝากถึงคนที่อยากเดินบน
เส้นทางสายโปรแกรมเมอร์ แต่ยังกล้า ๆ กลัว ๆ

\

“สิ่งที่อยากฝากคือการจัดการกับจิตใจของตัวเองครับ ให้เรามีความอยากเรียนรู้ ดูว่าเรารักในการจะเป็นโปรแกรมเมอร์จริง ๆ มั้ย อย่างน้อยเราก็ได้ทดลองครับ ถ้าเราอยากจะก้าวเข้ามาในสายงานนี้ มันจะเป็นไปตามที่เราคิดมั้ย จะตอบโจทย์กับเรามั้ย เราไม่รู้หรอก เราแค่เข้าไปทดลองเรียนรู้มันก่อน เข้าไปลองทำงานดูก่อน ถ้าเราลองดูแล้วเราชอบ เราก็จะไปต่อกับมันได้ดี”

ถ้าถามว่าอาชีพ ‘โปรแกรมเมอร์’
เป็นอาชีพที่รักหรือไม่ พี่จะตอบว่า…

\

“อาชีพโปรแกรมเมอร์มันก็ทำให้เรารู้สึกหลงใหลกับมันได้เหมือนกันครับ เพราะว่าทุกวันนี้ถ้าเขียนโปรแกรมติดลมจริง ๆ ยาวยัน 7 โมงเช้าก็เคยมาแล้วครับ มันเหมือนกับการผ่านด่านเกม พอเขียนตรงนี้ได้ปุ๊บ ทำตัวนี้ออก ทำตรงนี้ได้ มันก็ต่อไปเรื่อย ๆ เหมือนเราได้แก้โจทย์ ได้ผ่านด่านต่าง ๆ พี่เป็นคนที่ชอบทำอะไรใหม่ ๆ ชอบก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าการเป็นโปรแกรมเมอร์เนี่ย พอเราผ่านจุดนี้ เราแก้ปัญหาตรงนี้ไปได้ มันเหมือนกับเราได้จัดการกับความท้าทายอยู่ตลอดเวลา”

ระหว่างสนทนาและหลังจากบทสนทนาจบลง เราเองก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมในความสามารถของพี่วสันต์ ไหนจะเรื่องความมุ่งมั่น และความไม่ยอมแพ้ในข้อจำกัดทางด้านร่างกายของพี่เขาอีก เราเชื่อว่า อย่างน้อย ๆ บทสนทนานี้จะสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจหรือจุดติดไฟแห่งความฝันของใครบางคน (ที่อาจจะใกล้มอด) ให้ลุกโชนได้เช่นกัน…


เรื่องโดย