Kind Academy

Yasnaya Polyana โรงเรียนของ Leo Tolstoy นักประพันธ์ชาวรัสเซียที่เบื่อการศึกษา จนออกมาตั้งโรงเรียนเองที่บ้าน


สงครามและสันติภาพ (War & Peace) แอนนา คาเรนินา (Anna Karenina) คนกับนาย (Master And Man) ความตายของอีวาน อิลลิช (The Death of Ivan Ilyich) What is art? (ศิลปะคืออะไร?) รายชื่อหนังสือข้างต้น ล้วนเป็นผลงานอมตะที่ ลีโอ ตอลสตอย (Lev Nikolayevich Tolstoy; Лев Николаевич Толстой) นักประพันธ์ชาวรัสเซียผู้ยิ่งใหญ่ได้รังสรรค์ออกมาสู่สายตาชาวโลกมานานนับร้อยปี ซึ่งงานของเขายังคงได้รับการยอมรับว่าเป็นงานประพันธ์ขึ้นหิ้งที่กาลเวลาไม่อาจลดทอนคุณค่าของผลงานลงไปได้

แม้จะชอบการเขียนหนังสือมากเพียงใด แต่ตอลสตอยกลับเกลียดการเรียนการสอนของทางรัสเซียและยุโรปมากเสียยิ่งกว่าอะไร ทำให้เขาตัดสินใจสร้างโรงเรียนตามแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา คือ ไม่มีตารางเวลาที่เข้มงวด ไม่มีการบ้าน หรือการถูกลงโทษอะไรทั้งสิ้น 

“ช่วงเวลาที่สดใสที่สุดในชีวิตของผม ไม่ใช่ตอนที่ได้มอบความรักให้กับผู้หญิงคนหนึ่ง แต่เป็นตอนที่ผมได้มอบความรักทั้งหมดให้กับเด็ก ๆ มันเป็นช่วงเวลาที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์มืดมนที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น” นี่คือสิ่งที่ตอลสตอยนึกถึงเสมอเมื่อเขาได้ทุ่มเทให้กับการศึกษาของเด็ก ๆ



ตอลสตอยเริ่มหลงใหลในการสอนหนังสือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1859 เขาคิดอยู่เสมอว่า “นี่คืองานที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของโลก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราวาดฝันไว้ในยุคสมัยเรา ต้องฝากความหวังและขอบคุณคนรุ่นต่อไปเท่านั้น” ซึ่งนี่คือหนึ่งในความฝันอันยิ่งใหญ่ของตอลสตอย เขาต้องการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับชนชั้นสูงและชาวนาให้สามารถมาเรียนร่วมกันได้ ซึ่งเขาพยายามทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น โดยจัดหลักสูตรการสอนเพื่อคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ

เมื่อเห็นระบบโรงเรียนในรัสเซียและต่างประเทศ ตอลสตอยค่อนข้างผิดหวัง ทำให้ในปี ค.ศ. 1857 และปี ค.ศ. 1860 เขาตัดสินใจออกเดินทางไปยังยุโรป ขณะที่เขาเดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนในประเทศเยอรมนีแห่งหนึ่ง เขาถึงกับเขียนบันทึกลงสมุดไว้ว่า “เราอยู่ที่โรงเรียนมันน่ากลัว การสวดมนต์เพื่อกษัตริย์ การลงโทษทางร่างกาย ทุกอย่างถูกฝังเอาไว้ในใจ ความหวาดกลัว สภาพจิตใจของเด็ก ๆ ที่ขาดวิ่น”

“ผมสามารถเขียนหนังสือได้เป็นเล่ม ๆ ถึงความไม่รู้ที่ผมได้สัมผัสที่โรงเรียนในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี” ตอลสตอยกล่าวสรุป 

การเดินทางครั้งนี้ทำให้เขาแน่ใจแล้วว่า เขาต้องกลับไปเปิดโรงเรียนเอกชนของตัวเองที่รัสเซีย โดยจะต้องเป็นโรงเรียนทางเลือกสำหรับลูกหลานชาวนาหรือผู้ที่มีฐานะยากจนโดยเฉพาะ ส่วนสถานที่ตั้งโรงเรียนของตอลสตอย เขาไม่ได้เลือกที่อื่นไกล เพราะตอลสตอยเองก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีฐานะทางสังคมไม่แพ้ขุนนางคนอื่น ๆ ของรัสเซีย การเลือกเปลี่ยนบ้านหรือยัสนายาปอลยานา (Yasnaya Polyana; Я́сная Поля́на) มาเป็นโรงเรียนจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลัง


การศึกษาควรเป็นเรื่องสนุก
_

ช่วงเปิดโรงเรียนใหม่ ๆ มีเด็กนักเรียนที่เข้าเรียนเพียงแค่ 22 คนเท่านั้นที่กล้าเดินเท้าเข้ามาเรียนที่โรงเรียนของตอลสตอย แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์จำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้นถึงสามเท่า ตอลสตอยเองได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า โรงเรียนต้องเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพที่นักเรียนทุกคนสามารถมีอิสระได้เต็มที่ ทำให้โรงเรียนเอกชนแห่งนี้มีความพิเศษที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่น ๆ ในรัสเซีย คือ จะไม่มีการลงโทษทางร่างกายเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนแห่งนี้เป็นอันขาด อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงเข้ามาเรียนหนังสือได้อีกด้วย

“การศึกษาเป็นสิ่งที่ถูกฝังรากลงลึกอยู่ในเนื้อแท้ของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเราก็แค่ต้องตอบสนองต่อความต้องการนี้เท่านั้น” ตอลสตอยเชื่อเช่นนั้น “สัญญาณที่ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด คือ กระบวนการเรียนรู้นั้นต้องสนุก ซึ่งการศึกษาทั้งในภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีนั้น เราไม่สามารถบังคับจิตใจของเด็ก ๆ โดยการลงโทษพวกเขาให้มาทำในสิ่งที่ไม่ชอบได้ ท้ายที่สุดแล้วการศึกษาต้องเป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็ก ๆ”


Photo Credit: Chertkov/Sputnik


ในโรงเรียนแห่งนี้เด็กนักเรียนไม่จำเป็นต้องท่องจำตำราเรียนเป็นเล่ม ๆ ไม่ต้องทำการบ้าน และพวกเขายังสามารถออกไปไหนมาไหนได้ตามใจชอบอีกด้วย โดยปกติแล้วชั้นเรียนจะเริ่มขึ้นในเวลา 08:00-09:00 น. จากนั้นก็จะพักกลางวันและเรียนเพิ่มอีกสามถึงสี่ชั่วโมง คุณครูทุกคนรวมถึงตอลสตอยเองก็จะเข้ามาสอนเด็ก ๆ เพียงวันละ 5-6 คาบต่อวันเท่านั้น

การแบ่งกลุ่มนักเรียน โรงเรียน Yasnaya Polyana จะแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่มอายุด้วยกัน คือ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มเด็กประถม และกลุ่มเด็กมัธยม แต่ละกลุ่มก็จะมีหลักสูตรที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความถนัดและความสนใจของพวกเขา ตอลสตอยได้ศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ และนำมาปรับใช้ในโรงเรียนของตัวเอง รวมทั้งพิมพ์ตำราเรียนออกมาใช้เองในโรงเรียนอีกด้วย

รูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนแห่งนี้จะเน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคุณครูและนักเรียน รวมทั้งมีหลักสูตรครอบคลุมถึงวิชาการอ่าน คณิตศาสตร์ ศาสนา ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การขับร้อง การวาดเขียน ฟิสิกส์ และประวัติศาสตร์ และวิชาทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งคุณครูตอลสตอยเองก็มีความตั้งใจที่จะเข้ามาสอนเด็กนักเรียนในวิชาในเชิงปฏิบัติหรือวิชาที่เกี่ยวข้องกับทางศีลธรรมเท่านั้น

“ที่โรงเรียนมักจะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สนุกอยู่เสมอ และทุกคนก็สนุกกับการเรียน” Vasily Morozov ศิษย์เก่าของโรงเรียนบอกเล่า


“ลีโอ ตอลสตอยสนุกกับการทำงานร่วมกับเรามากขึ้น เขาทำงานอย่างกระตือรือร้นจนมักจะพลาดมื้อเช้าอยู่เสมอ ตอนอยู่ที่โรงเรียนเขาก็จริงจังกับการทำงานอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังต้องการให้เรามีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ระมัดระวังทรัพย์สินของโรงเรียน และพูดแต่ความจริงออกมาเท่านั้น เขาจะไม่ชอบหากใครบางคนทำเรื่องตลกโง่ ๆ… และเขาจะมีความสุขมากขึ้น หากพวกเราตอบคำถามของเขาด้วยความสัตย์จริง”


ผมอยากจะช่วยอนาคตของลูกหลานนักกวีเอกเหล่านี้เอาไว้
_


ตอลสตอยไม่ได้หยุดสร้างโรงเรียนเพียงแค่ที่เดียวเท่านั้น เขาได้สร้างโรงเรียนทางเลือกที่มีแนวการเรียนการสอนที่คล้ายกันอย่างน้อยอีก 20 แห่งในภูมิภาคทูลา (Tula; Тула) ของรัสเซีย หลังจากนั้นเขาได้เริ่มเขียนตำราเรียนของตัวเองเพื่ออุทิศให้กับการศึกษาโดยเฉพาะ แต่วิธีการที่เขาทำนั้นก็ไม่รอดพ้นสายตาของศาสนจักรและสาธารณชนในประเทศและต่างประเทศไปได้ เพราะนี่ถือเป็นการกระทำนอกรีตที่ไม่ควรเกิดขึ้นในแผ่นดิน และด้วยการกระทำนี้เองจึงทำให้ชนชั้นสูงของรัสเซียไม่พอใจในการกระทำของเขา

หลังจากตอลสตอยแต่งงานในปี ค.ศ. 1862 หน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามาขัดขวางการสอนหนังสือของเขา ตอลสตอยจึงต้องหยุดการสอนหนังสือไปชั่วขณะหนึ่ง ต่อมาในปี ค.ศ. 1871 เขาได้กลับมาสอนหนังสืออีกครั้ง และเริ่มเขียนตำราเรียน ABC เพื่อนำมาใช้สอนในโรงเรียนของตนโดยเฉพาะ และถูกนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนอีกหลายโรงเรียนในประเทศ

ในปี ค.ศ. 1874 เขาเขียนไว้ว่า “ตอนนี้ผมได้เปลี่ยนการเรียนการสอนจากเชิงทฤษฎีไปสู่เชิงปฏิบัติมากขึ้น และผมก็ตกหลุมรักเด็ก ๆ อีกครั้ง… เมื่อผมไปโรงเรียนและเห็นเด็ก ๆ ที่แม้เนื้อตัวสกปรกมอมแมม รูปร่างผอมแห้ง แต่ดวงตาของพวกเขากลับเปล่งประกายไปด้วยความสดใส พวกเขาไม่ต่างจากนางฟ้าตัวน้อย แต่เมื่อมองลงลึกเข้าไปในดวงตาของพวกเขาก็จะพบกับความวิตกกังวล และความกลัวก็โหมกระหน่ำเข้ามาแทนที่ความสุขตรงหน้าผมทันที มันเหมือนกับว่าผมเห็นคนกำลังจมน้ำ… ผมอยากจะช่วยเด็ก ๆ ที่อาจเป็น Pushkins นักกวีชื่อดัง, Ostrogradskys นักคณิตศาสตร์, Filaretovs วิศวกร และ Lomonosovs นักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องในอนาคตที่มีอยู่เต็มไปหมดในทุกโรงเรียน” ตอลสตอยกล่าว “งานเขียนของผมก็กำลังไปได้ด้วยดี ไปได้ดีจริง ๆ” 


ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยปี
โรงเรียนก็ยังคงอยู่
_


นับตั้งแต่ตอลสตอยก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมา โรงเรียนต้องผ่านช่วงเวลาลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่เสมอ ซึ่งสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่โรงเรียนต้องเผชิญคือ ช่วงการเกิดมหาสงครามของผู้รักชาติ (Great Patriotic War) ระหว่างปี ค.ศ. 1941-1945 โรงเรียนถูกไฟไหม้จนหมด เหลือเพียงกำแพงเท่านั้นที่รอดมาได้

ปัจจุบันโรงเรียนยังคงเปิดทำการอยู่ ซึ่งในปีการศึกษา 2019/ 20 โรงเรียนได้ว่าจ้างคุณครูจำนวน 45 คน และมีนักเรียนทั้งสิ้น 233 คน ส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคทูลา แม้เวลาจะผ่านมาหลายร้อยปีแล้วก็ตามแต่โรงเรียนยังคงยึดหลักปฏิบัติเดิมที่นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ได้วางรากฐานเอาไว้ นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้จัดหลักสูตรนักเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียน “Lew-Tolstoi – Grundschule” ในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีอีกด้วย

“โรงเรียนของเรามีสายสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็ก ๆ มาอย่างยาวนาน” Alexander Sukhorukov รองผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์และระเบียบวิธีการที่โรงเรียนของตอลสตอยกล่าว

“เด็ก ๆ เริ่มเรียนที่นี่ เข้ามหาวิทยาลัย และพวกเขาก็กลับมาทำงานขับเคลื่อนสังคมของเรา แล้วเราก็จะสอนลูกหลานของเด็ก ๆ เหล่านี้ต่อไป”


“โรงเรียนของเรามักมีคนสนใจมาเยี่ยมชมอยู่เสมอ ซึ่งพวกเขามีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนของตอลสตอย และเรามีความสุขทุกครั้งที่ผู้คนให้ความสนใจต่อเรื่องนี้”


ที่มา


เรื่องโดย