หนึ่งในสโลแกนที่กลุ่มนักศึกษา ได้แสดงออกด้วยการเขียน Graffiti ลงบนผนังและโปสเตอร์ เพื่อแสดงทัศนคติและจุดยืนที่ต้องการขับไล่ประธานาธิบดี Charles de Gaulle ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐคนแรกตามรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1958 ความรู้สึกของคนในชาติส่วนใหญ่มองว่า de Gaulle นั้นแก่เกินไป เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เผด็จการมากเกินไป หัวโบราณ และต่อต้านอเมริกัน
ช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968 เรียกว่าเป็นเหตุการณ์ “ปฏิวัตินักศึกษา” ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะการแสดงพลังของเยาวชนนั้นรุนแรง รวมทั้งมีผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่ไม่พอใจการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Charles de Gaulle ได้ร่วมลุกฮือต่อต้านและประท้วงไปทั่วประเทศฝรั่งเศส เหตุการณ์นี้ถูกขนานนามว่า Mai 68 (May 68) ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องหยุดชะงักเพราะการประท้วงที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จในการปฏิวัติทางสังคมและส่งอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ให้กับฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตามหากมองในมุมรัฐศาสตร์การเมือง การประท้วงนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่กลุ่มนักศึกษา และผู้ใช้แรงงานอยากให้เป็น ทว่านักวิชาการกลุ่มหนึ่งมองว่า เหตุการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นหนึ่งในชุดปรากฏการณ์เดียวกันซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกในทศวรรษที่ 1960 ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ค.ศ. 1966, การเดินขบวนประท้วงสงครามเวียดนาม ในกรุงวอชิงตัน ที่มีผู้ร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 500,000 คน เมื่อค.ศ. 1967, การประท้วงพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปราก ที่เชคโกสโลวาเกีย ค.ศ. 1968, การเดินขบวนและยึดมหาวิทยาลัยโรม ภายหลังตำรวจก็ปะทะกับนักศึกษาเมื่อต้นมีนาคม ค.ศ. 1968 (สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560)
หากหมุนมิติทางวัฒนธรรมมาศึกษาบ้าง เราก็จะค้นพบว่าเหตุการณ์ May 68 ได้ส่งผลให้เกิดการสร้างความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมไว้อย่างมากมายเช่นเดียวกัน ทั้งทางภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม และศิลปะ ทางภาพยนตร์ผู้กำกับระดับตำนานอย่าง Jean-Luc Godard และ François Trauffaut ต่างก็ผลิตและกำกับภาพยนตร์ที่มีฉากหลัง หรือเรื่องราวสะท้อนเหตุการณ์ May 68 ผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง Wes Anderson ก็มีแผนที่จะฉายภาพยนตร์เรื่องที่ 10 ของเขา “The French Dispatch” ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 นี้
เรื่องราวส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ของเขาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ May 68 การสร้างฉากนักศึกษาและกลุ่มผู้ประท้วงก็ทำได้ดูสมจริงอย่างน่าสนใจ ทางด้านทัศนศิลป์ ศิลปินชื่อก้องชาวสเปนอย่าง Joan Miró ก็ได้สร้างงานจิตรกรรมชิ้นสำคัญที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ปฏิวัตินักศึกษาครั้งนี้เช่นกัน ผลงานศิลปะของเขาชื่อ “May 68”
เราได้ศึกษาตัวอย่างการแสดงทัศนคติของนักศึกษาและประชาชนในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ผ่านการแสดงออกในหลายบริบทจากเหตุการณ์ The Prague Spring และ May 68 การแสดงออกของพวกเขาขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ในทุกมิติ และยังทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าพลังเยาวชนคือพลังที่ยิ่งใหญ่ สามารถขับเคลื่อนได้อย่างสร้างสรรค์ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมีนัยยะ และก่อแรงบันดาลใจให้กับผู้คนรุ่นหลังไว้อย่างน่าสนใจ