Kind Creations

“ผ้าไหมแพรวา” งามล้ำค่าหัตถศิลป์ภูไท

ใครจะรู้ว่าการเสด็จพระราชดำเนินไปยังอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในครั้งนั้น จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้นและได้สร้างมูลค่าอย่างมหาศาลให้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่ช้านาน แต่ยังไม่เคยมีใครเล็งเห็นถึงความพิเศษอย่าง “ผ้าไหมแพรวา”

ถึงแม้ประเทศไทยเราจะมีผ้าไหมหลากหลายชนิด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ผ้าไหมแพรวา” มีความแตกต่างและโดดเด่นจากผ้าไหมชนิดอื่น ๆ ในหลายแง่มุม ทั้งด้วยวิธีการทอนั่นคือ การจกและการขิด ที่เป็นวิธีการทอผ้าซี่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูง ทำให้ผ้าไหมชนิดนี้มีความประณีตงดงามไร้ที่ติ

ผ้าไหมแพรวามีจุดกำเนิดจากชาวภูไท ณ แคว้นสิบสองจุไท โดยแต่เดิมชาวภูไททอผ้าไหมแพรวาสำหรับไว้คลุมไหล่และห่มสไบเฉียงเพราะความยาวของผ้ามีขนาด 1 วาหรือ 1 ช่วงแขน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ผ้าไหมแพรวา”และหลังจากที่ชาวภูไทได้อพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อมาตั้งรกรากในประเทศไทย บริเวณจังหวัดมุกดาหาร กาฬสินธุ์ นครพนม ก็ได้นำภูมิปัญญานี้ติดตัวมาด้วย

 จนกระทั่งวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520 เรื่องราวของผ้าไหมแพรวานี้ก็ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จไปยังอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านที่เข้ารับเสด็จห่มสไบเฉียงด้วยผ้าไหมแพรวา ด้วยสายพระเนตรที่เฉียบคม พระองค์จึงตรัสว่า “ผ้านี้สวยมาก ทำให้ได้ไหม” หลังจากนั้นทรงมีพระราชดำริให้ขยายหน้าผ้า เพื่อที่จะสามารถนำมาตัดเสื้อผ้าได้ ชาวบ้านจึงร่วมลงทุนลงแรงเพื่อทอผ้าไหมแพรวาชิ้นนี้ให้งามที่สุดเพื่อถวายให้แด่องค์พระราชินี นับตั้งแต่นั้นมาชื่อของผ้าไหมแพรวาก็ขจรไกลและเป็นที่ยอมรับในสายตาชาวโลก

 
ไม่เฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เท่านั้นที่ทรงมีสายพระเนตรที่เฉียบคม ปัจจุบันบุคลากรและผู้มีอิทธิพลในวงการแฟชั่นก็หันมาให้ความสนใจและสนับสนุนผ้าไหมไทย อาทิเช่น แพรรี่พาย บล็อกเกอร์และเมคอัพอาร์ตติสท์ชื่อดัง ก็ได้สวมใส่ผ้าไทยอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำเสนอให้คนไทยและนานาชาติเห็นความงามของผ้าไหมไทยมากขึ้น และเพื่อเป็นการเปิดโลกของผ้าไหมได้เข้าสู่วัฒนธรรมกระแสหลัก การออกแบบผ้าไหมจึงสนุกและหลากหลายขึ้น ไม่จำกัดอยู่แค่ไว้ใส่ออกงานสังคมหรูหราหรืองานทางการเท่านั้น

หลายภาคส่วนได้พยายามผลักดันผ้าไหมแพรวาสู่ตลาดต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้ยกทีมดีไซเนอร์และผู้ประกอบการเดินทางไปยังเกาะฮ่องกง และจัดแฟชั่นโชว์ขึ้นในธีม Spirit of Phu Tai Kalasin ในงาน Hong Kong Fashion Week for Spring/Summer 2019 ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค. 2562 ที่ Hong Kong Convention & Exhibition Centre ซึ่งงานนี้ได้รับคำชมและความประทับใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก เพราะผ้าไหมไทยมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดเป็นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านสีสันการถักทอและการออกแบบ เชื่อว่าหากผ้าไทยไหมสามารถเปิดตลาดที่ฮ่องกงได้ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีไม่น้อย เพราะฮ่องกงเป็นเมืองนานาชาติซึ่งมีการขับเคลื่อนด้านแฟชั่นสูงไม่แพ้เมืองอื่น ๆ 


นอกจากการสนับสนุนทางด้านแฟชั่นแล้ว ผ้าไหมแพรวาก็ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสินค้าคู่แฝดกับเครื่องหนังอิตาลี หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมผ้าไหมแพรวาของเรานี้ถึงได้เป็นสินค้าคู่แฝดกับเครื่องหนังอิตาลีได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่จากกรมหม่อนไหมได้เดินทางไปประเทศอิตาลีในโครงการ Twinning Project แต่ไม่ได้ไปร่วมงานมือเปล่า ทางเจ้าหน้าที่ยังได้นำผ้าไหมแพรวาไปร่วมงานเพื่อประชาสัมพันธ์อีกด้วย

และด้วยความโดดเด่นของผ้าไหมแพรวาทำให้สหภาพหอการค้าอิตาลีสนใจที่จะนำผ้าไหมแพรวาไปเป็นส่วนหนึ่งหรือเครื่องประดับของเครื่องหนัง เช่น กระเป๋า เข็มขัด และหมวก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผ้าไหมแพรวาจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หากไม่ได้รับตราสัญลักษณ์ GI เป็นเครื่องการันตี

เครื่องหมาย GI นี้มาจากคำว่า Geographical Indications หรือสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นเครื่องการันตีว่าสินค้าที่ผลิตจากสถานที่นั้น ๆ มีคุณภาพและลักษณะพิเศษแตกต่างจากการผลิตจากสถานที่อื่น ซึ่งผ้าไหมแพรวาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ก็เป็น 1 ใน 11 สินค้าของประเทศไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าใครที่อาศัยอยู่ในแถบนี้จะสามารถทอผ้าไหมแพรวาแล้วได้รับเครื่องหมาย GI

การจะได้รับตราสัญลักษณ์จะต้องผ่านกระบวนการควบคุมและตรวจสอบในระดับจังหวัดอย่างเข้มงวด ในจังหวัดกาฬสินธุ์มีผู้ผลิตผ้าไหมแพรวากระจายไปตามอำเภอต่าง ๆ จำนวนประมาณ 1,000 ราย มีผู้ที่ได้รับเครื่องหมาย GI แล้วทั้งหมด 72 ราย และอยู่ระหว่างการขอยื่นคำขอจำนวน 84 ราย


ผ้าไหมแพรวามีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ดีขึ้นและสร้างอาชีพที่มั่นคง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความโดดเด่นทางด้านภูมิปัญญาและความสามารถของชาวบ้านเอง อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความชื่นชอบผ้าไหมและทรงมีพระราชประสงค์ให้การอนุรักษ์ผ้าไหมคงอยู่ตลอดไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือราษฎรให้สามารถแสดงศักยภาพของท้องถิ่นและนำรายได้มาสู่ครัวเรือน

นอกจากนี้ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “กลุ่มทอผ้าไหม” ทั้ง “ไหมมัดหมี่” “ไหมขิด” “ไหมแพรวา” “ไหมจก” ฯลฯ โดยทรงคัดเลือกและรวบรวมผู้มีฝีไม้ลายมือในการทอผ้าไหมแต่ละชนิด เพื่อเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาแก่ผู้สนใจ พระองค์ทรงเผยแพร่ผ้าไหมไทยให้ชาวต่างประเทศได้รู้จักผ่านฉลองพระองค์ในการร่วมงานทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการตลาดอีกช่องทางที่ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมาก

ไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการผลักดันจากอุตสาหกรรมแฟชั่น ภาครัฐเองก็พยายามส่งเสริมให้ผ้าไหมชนิดนี้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยจังหวัดกาฬสินธุ์และกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ได้จัดงานแฟชั่นโชว์อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา ในชื่องาน “พราวพัสตรา แพรวาผืนผ้าแห่งแผ่นดิน” ที่ได้จัดขึ้นในวันที่ 13-17 กันยายน 2560 ที่เวสต์เกต ฮอลล์ ชั้น 4 เซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต โดยในงานนี้ได้โชว์ศักยภาพของผ้าไหมแพรวาว่านอกจากจะเป็นผ้าห่มสไบเฉียงและนำมาตัดเสื้อผ้าแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเพื่อผสมผสานกับผ้าลายอื่น ๆ ได้สวยงามลงตัว ผลพลอยได้จากงานนี้ คือการสามารถเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย การต่อยอดในด้านต่าง ๆ ได้รับการสั่งซื้อต่อเนื่องตลอดทั้งปี สร้างมูลค่าการค้ามากถึง 100 ล้านบาท

จังหวัดกาฬสินธุ์เองได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ผ้าไหมแพรวาด้วยการจัดงาน “แพรวา 4.0” เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐตามแนวทาง 4.0 ในการยกระดับประเทศสู่สากล และเผยแพร่พัฒนาการของหัตถศิลป์พื้นถิ่นอย่างผ้าไหมแพรวา ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

เล่ามาขนาดนี้ เริ่มสนใจผ้าไหมแพรวาขึ้นมาแล้วใช่มั้ยล่ะ?


เรื่องโดย