“พะเยา” จังหวัดเล็ก ๆ ที่มีประชากรอาศัยไม่ถึง 500,000 คน จากเมืองที่เป็นเพียงทางผ่าน ไม่มีท่าอากาศยาน หรือแม้แต่เส้นทางรถไฟก็ไปไม่ถึง แต่ภายในปี พ.ศ. 2565 ที่จะถึงนี้ พะเยาอาจขึ้นแท่นเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ของยูเนสโก ก็เป็นได้
เปิดแผนดำเนินงาน โครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้
มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมมือกับเทศบาลเมืองพะเยา ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาเมืองพะเยาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยนำความรู้จากโครงการ “1 คณะ 1 สัญลักษณ์ความสำเร็จ” ของมหาวิทยาลัยพะเยามาต่อยอด เพื่อพัฒนาเทศบาลเมืองพะเยาไปสู่การขึ้นทะเบียน “เมืองแห่งการเรียนรู้” (Learning City) ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) จึงได้เอาเกณฑ์ของยูเนสโกเข้ามาผสมผสานกับการดำเนินงาน 3 ส่วนคือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการ การสร้างเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ และการออกแบบพื้นที่แห่งการเรียนรู้
รศ.ดร. เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า โครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นหนึ่งในชุดโครงการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้บนพื้นที่เทศบาลเมืองพะเยาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยโครงการเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ หนึ่ง สร้างการรับรู้และสร้างเครือข่ายการดำเนินงานโดยทบทวนสถานการณ์ปัจจุบันและศึกษาความต้องการของชุมชนวิเคราะห์ช่องว่างของชุมชนไปพร้อมกัน และ สอง พัฒนากลไกการจัดการและออกแบบพื้นที่การเรียนรู้เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงของชุมชน โดยการดำเนินงานในปีที่ 2 ที่กำลังเกิดขึ้น จะเป็นการยกระดับเครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของระบบและกลไกการจัดการ รวมถึงสร้างโอกาสในการเข้าถึงให้ครอบคลุมขึ้น และการดำเนินงานในปีที่ 3 จะทำเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ในเมืองเพื่อยกระดับเมืองพะเยาไปสู่ Green City, Smart City และ Learning City
Photo Credit:tourismthailand.org
Learning City สร้างประโยชน์กับคนในชุมชน
ด้าน ผศ.ดร. สันติวัฒน์ พิทักษ์ผล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า สำหรับปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความสำเร็จของการเรียนรู้ก็คือการเข้าถึงการเรียนรู้ จึงมีกลไกตั้งแต่ในมหาวิทยาลัยที่มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนกลไก ในส่วนของเทศบาลเมืองพะเยาได้กำหนดให้มีตัวชี้วัดสำคัญในการพิจารณาการทำงานของบุคลากร ขณะที่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหนุนเสริมกลไกและกระบวนการอย่างมีระบบ ตั้งแต่การวางแผน การประชาสัมพันธ์ การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและกิจกรรมย่อย ๆ เพื่อสร้างความตื่นตัวและการรับรู้ของผู้คนในเมืองพะเยา
Photo Credit: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ส่วนกระบวนการเรียนรู้ได้จัดหลักสูตรการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มเด็ก ผู้สูงวัย คนด้อยโอกาส ผลแห่งการจัดการเรียนรู้ได้ทำให้เกิดทัศนคติใหม่ ได้องค์ความรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 ชุมชนเข้าใจตัวเองและเข้าใจคนอื่น เกิดการรวมกลุ่มของกลุ่มใหม่ ๆ เกิดรายได้จากการสร้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถให้กับกำลังคนของเมืองพะเยา
โดยกิจกรรมในโครงการ Learning City นั้น สามารถสร้างประโยชน์กับคนในชุมชนเมืองพะเยาได้ ตั้งแต่เด็กนักเรียนที่ได้รู้จักรากเหง้าของตนเองจากปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนผู้สูงอายุที่นำทักษะที่ได้รับไปผลิตขายเป็นรายได้เสริม
Photo Credit:tourismthailand.org
ซึ่งในส่วนของทางเทศบาลเมืองพะเยาจะขยายผลของการฝึกอาชีพให้หลากหลาย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เข้าถึงคนพะเยาได้มากยิ่งขึ้น และผลักดันให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยพะเยาได้มีการปรับบริบทการเรียนการสอนให้เหมาะกับทุกช่วงวัย ทุกช่วงยุค เน้นการบูรณาการศาสตร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพคน ซึ่งมีปลายทางที่ชัดเจนนั่นคือ “พะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้” และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ มหาวิทยาลัยพะเยาและ บพท. จะถอดบทเรียนการดำเนินโครงการฯ เพื่อนำความสำเร็จไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศต่อไป
เกร็ดความรู้
- ปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ ยูเนสโก รวม 4 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา และเทศบาลนครเชียงราย
ที่มา
- หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)