Kind Words

“แม่มด” กับบทบาท “ตัวร้าย” ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมตะวันตก


“หญิงชราสวมชุดดำ ใส่หมวกปลายแหลม ขี่ไม้กวาด” ภาพจำบางส่วนของ “แม่มด” ที่มักปรากฏอยู่ในนิทานปรัมปราที่ผู้ใหญ่เล่าขานกันมา โดยบทบาทส่วนใหญ่ที่เราพบในนิทานเหล่านั้น แม่มดมักจะได้รับบทเป็น “ตัวร้าย” อยู่เสมอ ทำไมกันนะ!?

ความเชื่อเรื่องสิ่งมหัศจรรย์เหนือธรรมชาตินั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณในเกือบทุกสังคมโลก บุคคลใดที่มีเวทมนตร์สามารถดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ตามต้องการได้ สามารถรักษาเยียวยาผู้เจ็บไข้ หรือสามารถแปลงกายได้ กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการขนานนามว่า “แม่มด หรือพ่อมด” วันนี้ KiNd อยากให้ทุกคนลองหลับตา เตรียมเข้าสู่ห้วงนิทรา พร้อมฟังเรื่องราวความเป็นมา รวมถึงบทบาทของแม่มดพ่อมดผ่านวรรณกรรมในยุคสมัยต่าง ๆ ไปด้วยกัน

ความเชื่อโบราณในอดีตกาลเกี่ยวกับแม่มด
❂ 


แนวคิดความเชื่อเรื่องแม่มดและเวทมนตร์นั้นมีมาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏในภาพเขียนผนังถ้ำยุคหิน เมื่อ 1,500 ปีก่อน เป็นรูปควายไบซัน (Bisons) และม้า กับผู้ที่มีร่างกายเป็นมนุษย์แต่มีศีรษะเป็นสัตว์ ซึ่งนักมานุษยวิทยาเชื่อว่าน่าจะเป็นภาพหมอผีกำลังประกอบพิธีกรรม ชาวกรีกและชาวโรมันก็มีความเชื่อเรื่องนี้ และยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน พวกเขามีความเชื่อว่าเวทมนตร์คาถามีทั้งที่เป็นพลังด้านดี ที่เรียกว่า “มนตร์ขาว” และพลังด้านไม่ดี ที่เรียกว่า “มนตร์ดำ” โดยพลังด้านดีนั้น คือความสามารถในการรักษาโรค ส่วนพลังด้านไม่ดี คือ ความสามารถที่ก่อให้เกิดผลเสียแก่พืชผล โรคระบาดในฝูงสัตว์เลี้ยง หรือทำร้ายผู้ที่เป็นปรปักษ์

ในเวลาต่อมา ความเชื่อเหล่านี้ได้ถักทอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประจำเผ่าพันธุ์ในกรีกยุคโบราณ ซึ่งมีบันทึกว่า “นางธีออรีส์” แห่งเมืองเลมนอสที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด ถูกดำเนินคดีในกรุงเอเธนส์ และถูกตัดสินให้ถูกไฟเผา ส่วนในโรมันยุคโบราณการใช้มนตร์ดำ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายต่อบ้านเมือง ผู้กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษ และในคริสต์ศตวรรษที่ 3 มีการตัดสินให้ลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการเผาทั้งเป็น


หากกล่าวโดยรวมเรื่องราวของแม่มดและผู้ใช้เวทมนตร์คาถานั้นปรากฏมาตั้งแต่ยุคโบราณ ส่วนใหญ่ถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4 คริสต์ศาสนาได้กลายมาเป็นศาสนาประจำชาติของโรมัน และแผ่ขยายเข้าไปในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศอังกฤษ แต่ความเชื่อเรื่องแม่มดและเวทมนตร์คาถาก็ยังมีปฏิบัติอยู่ในสังคม

ต่อมาในยุคกลาง ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 11-15 คริสตจักรมีอิทธิพลในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายศาสนามีความเห็นว่า ความเชื่อเรื่องแม่มดเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับศรัทธาในศาสนา จึงต้องการกำจัดแนวความคิดนี้ออกไป ต่อมาจึงมีปฏิบัติการต่อต้านแม่มดและการใช้เวทมนตร์ โดยนำความคิดเรื่องแม่มดไปเชื่อมโยงกับไสยศาสตร์ มีการกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มคนนอกรีต ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดจึงเป็นปรปักษ์กับศาสนา และต้องถูกปราบปรามอย่างรุนแรง

โดยช่วงที่มีการต่อต้านมากที่สุดคือ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-17 มีผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาว่าเป็นแม่มดจำนวนกว่าหลายพันคน ในกลุ่มนั้น มีบางคนเชื่อว่าตนมีอำนาจพิเศษ แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกทรมานจนต้องยอมรับสารภาพ (ผู้ต้องสงสัยบางคนเป็นเพียงหญิงชราที่อยู่ตัวคนเดียวกับสัตว์เลี้ยง บางครั้งก็เป็นผู้ที่รู้จักสมุนไพรรักษาโรค หรือให้คำทำนายต่าง ๆ)

เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 ซึ่งถือว่าเป็นยุคแห่งเหตุผล กระแสการต่อต้านแม่มดก็คลายลง ผู้คนหันมาสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าทางวิทยาการมากขึ้น ในประเทศอังกฤษมีบันทึกคดีเกี่ยวกับแม่มดครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1712 แต่ผู้ต้องหาได้รับการอภัยโทษ หรือประเทศฝรั่งเศสมีการประหารแม่มดในปี ค.ศ. 1745 ส่วนในแคว้นบาวาเรียมีการลงโทษแม่มดเป็นรายสุดท้ายด้วยการตัดศีรษะในปี ค.ศ. 1775 หลังจากนั้นหลายประเทศจึงได้ยกเลิกกฎหมายลงโทษความผิดเรื่องแม่มด

บทบาทของแม่มดที่ปรากฏในวรรณกรรมยุคเก่า
❂  


ในสมัยอารยธรรมกรีกและโรมันเจริญรุ่งเรือง วรรณกรรมและตำนานเล่าขานหลายเรื่อง กล่าวถึงแม่มดหลายคน เช่น นางเซอร์ซี (Circe) นางมีเดีย (Medea) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแม่มดผู้มีคาถาอาคม

บทบาทของ “เซอร์ซี” ปรากฏในตำนานหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในมหากาพย์เรื่อง “โอเดสซี” (Odyssey) กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์ซีกับโอดิสซุส วีรบุรุษคนสำคัญในสงครามทรอย ระหว่างที่โอเดสซุสเดินทางกลับบ้านหลังจากสงครามสิ้นสุดลง ช่วงหนึ่งได้แวะพัก หาน้ำและอาหารบนเกาะที่นางเซอร์ซีอาศัยอยู่ นางได้ใช้เวทมนตร์ทำให้ทหารลูกเรือที่ขึ้นไปบนเกาะกลายเป็นหมูป่า เมื่อโอเดสซุสเห็นว่าลูกเรือไม่กลับมา เขาจึงออกตามหา โดยระหว่างทางนั้นเขาได้รับคำเตือนจากเทพแอร์เมส และกินยาป้องกันไว้ก่อน เวทมนตร์ของนางเซอร์ซีจึงใช้ไม่ได้ผลกับเขา นางจึงยอมถอนมนตร์สะกด และทำให้ลูกเรือกลับคืนเป็นมนุษย์ดังเดิม

ส่วนบทบาทของ “มีเดีย” จะเกี่ยวข้องกับเจสัน วีรบุรุษผู้ไปแสวงหาขนแกะทองคำ เมื่อเจสันเดินทางไปเจอนางมีเดีย นางเกิดใจรักใคร่จึงให้ความช่วยเหลือ โดยการใช้เวทมนตร์สะกดมังกรที่เฝ้าขนแกะทองคำเอาไว้ ทำให้เจสันสามารถเอาขนแกะออกมาได้ แต่ในระหว่างการหลบหนี มีเดียจำเป็นต้องสังหารน้องชายและหั่นเป็นชิ้น ๆ โยนลงทะเล เพื่อให้บิดานางเสียเวลาในการเก็บชิ้นส่วน และเพื่อทำให้เจสันหนีไปได้ จากนั้นนางได้แต่งงานกับเจสันและมีบุตรด้วยกัน ต่อมาภายหลังเจสันไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่น นางจึงแก้แค้นด้วยการใช้เวทมนตร์ในการทรมาน ก่อนจะสังหารเจสันและบุตร และหลบหนีไป จากตำนานข้างต้นจะเห็นว่าทั้งเซอร์ซี และมีเดีย จะมีปมบางอย่างให้เป็นปรปักษ์กับมนุษย์ทำให้ใช้เวทมนตร์ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร


ส่วนในเทพนิยายที่ผู้ใหญ่มักจะเล่าให้เด็ก ๆ ฟัง ที่มักจะเริ่มต้นว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… และแล้วเจ้าหญิงกับเจ้าชายก็ได้ครองรักกันอย่างมีความสุข” ในเทพนิยายเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเจ้าชายรูปงาม หรือเจ้าหญิงแสนสวยที่ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจากผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกพ่อมด หรือแม่มดทั้งนั้น แต่ในที่สุดพ่อมดแม่มดเหล่านั้นก็ถูกปราบได้ และทุกอย่างก็จบลงด้วยดี ตัวอย่างของเทพนิยายลักษณะนี้ อาทิ เรื่องสโนว์ไวท์ เจ้าหญิงนิทรา แฮนเซลกับเกรเทล และราพันเซล เป็นต้น

ในเทพนิยายจะเห็นว่าแม่มด เป็นตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่อง ถ้าปราศจากแม่มดแล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็จะเป็นไปไม่ได้ แม่มดในเรื่องเป็นตัวละครชั่วร้าย มีเวทมนตร์คาถาที่สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ที่ปรารถนาได้ เช่น ในเรื่อง ราพันเซล แม่มดสามารถดลบันดาลปราสาทที่ไม่มีทางออก ไม่มีบันไดได้ ในเรื่อง แฮนเซลกับเกรเทล แม่มดสามารถสร้างบ้านด้วยขนมปัง และขนมเค้กเพื่อใช้ล่อเด็ก ๆ หรือเรื่อง สโนไวท์ แม่มดสามารถปลอมตัวเป็นหญิงชราที่น่าสงสาร เพื่อเสกแอปเปิลอาบยาพิษให้สโนไวท์กิน


นอกจากในเทพนิยายแล้ว เรื่องราวของแม่มดยังปรากฏในวรรณกรรมประเภทอื่นในยุคต่าง ๆ อีกด้วย เช่น บทละครเรื่อง “Dr. Faustus” ซึ่งเป็นบทละครที่คริสโตเฟอร์ มาโลว์ เขียนไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นเรื่องของตัวละครเอกที่ขายวิญญาณให้กับแม่มดปีศาจเพื่อแลกกับการมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสุขกับโลกเป็นเวลา 24 ปี เมื่อครบตามกำหนดสัญญา เขาหวาดกลัวมากแต่ปีศาจก็มาทวงสัญญา ครั้นรุ่งเช้าก็มีคนพบศพเขาอยู่หน้าบ้าน นอกจากนี้ยังมีบทละครเรื่อง “แมคเบธ” ของวิลเลียม เช็กสเปียร์ และ “พ่อมดแห่งออซ” ของแฟรงค์ โบม เป็นต้น

แม้ว่าส่วนใหญ่แม่มดจะได้รับบทเป็นตัวร้ายในอดีต แต่ก็มีวรรณกรรมบางส่วนที่นำเสนอภาพของแม่มดในบทบาทฝ่ายดี เช่น ในวรรณกรรมอังกฤษช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 กล่าวถึงเรื่อง “พ่อมดเมอร์ลิน” หรือที่มีสมญานามว่า เมอร์ลินผู้วิเศษ ซึ่งในเรื่อง “เมอร์ลิน” รับบทบาทเป็นผู้เกื้อหนุนพระเจ้าอาร์เธอร์มาตั้งแต่ถือกำเนิด ในวัยเด็กได้รับการเลี้ยงดูจากเมอร์ลิน ซึ่งคอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำเมื่ออาร์เธอร์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ กล่าวคือมีบทบาทที่คอยช่วยเหลือตัวละครเอกให้ประสบความสำเร็จนั่นเอง


วาทกรรมยุคใหม่ กับความหมายที่แปรเปลี่ยนไปของแม่มด
❂ 


มายาคติของพ่อมดแม่มดในอดีตที่สะท้อนผ่านงานวรรณกรรม โดยเฉพาะในช่วงที่คริสตจักรมีอำนาจมหาศาล ทำให้การนับถือแม่มดถือเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรง ผู้คนในสังคมต่างมองว่าแม่มดเป็นสิ่งชั่วร้าย และต้องทำลายล้าง แต่เมื่อสังคมมีการแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย นวนิยายเกี่ยวกับแม่มดหลายเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่ในหลากหลายแง่มุม ทำให้วาทกรรมของแม่มดมีขอบเขตที่ขยายกว้างขึ้น ตัวอย่างเช่น “I Married a Witch” (1942) เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพแม่มดผู้ทรงเสน่ห์ หรือภาพยนตร์ชุดทางทีวีเรื่อง “Bewitched” (1964-72) สะท้อนภาพแม่มดที่มาใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันร่วมกับมนุษย์อย่างมีความสุข เป็นต้น

และในช่วงศตวรรษที่ 20 เรื่องที่โด่งดังที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง ฮอบบิต (Hobbit) และลอร์ดออฟเดอะริงส์ (Lord of the rings) ของเจ. อาร์. อาร์. โทลเคียน (J.R.R. Tolkien) โดยนวนิยายสองเรื่องนี้ มีตัวละครสำคัญตัวหนึ่งชื่อ “แกนดัลฟ์” ซึ่งเป็นพ่อมด และเป็นตัวดำเนินเรื่องที่คอยช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับ “โฟรโด” ตัวละครเอก เพื่อเดินทางไปตามหาแหวนวิเศษซึ่งมีอาถรรพ์ ที่หากใครได้ครอบครองก็จะตกอยู่ในอำนาจของมัน และมักถูกชักจูงให้ทำแต่สิ่งชั่วร้าย

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ “แฮรี่ พอตเตอร์” (Harry Potter) ของเจ. เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) นวนิยายเรื่องนี้เกี่ยวกับโรงเรียนฝึกสอนพ่อมดแม่มดในยุคปัจจุบัน โดยรับสอนเด็กที่มีเชื่อสายพ่อมดหรือแม่มด ดินแดนแห่งนี้เป็นสถานที่ลี้ลับ ผู้เดินทางต้องอาศัยเวทมนตร์คาถาถึงจะเข้ามาได้ ซึ่งในโรงเรียนจะสอนการใช้เวทมนตร์ พร้อมทั้งสะท้อนแง่มุมการใช้ชีวิตในมิติต่าง ๆ


การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ส่งผลให้ภาพจำใหม่ ๆ ปรากฏขึ้น จากอดีตที่ผู้คนมีมายาคติว่าแม่มดนั้นคือสิ่งชั่วร้าย แต่ปัจจุบันมุมมองใหม่ ๆ ก็เปิดกว้างขึ้นอย่างหลากหลาย สังเกตได้จากวรรณกรรมที่ปรากฏในแต่ละยุคนั่นเอง แม้ว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับทัศนคติที่เปิดกว้าง


ที่มา

รมณี กอวัฒนา. ตำนานเล่าขานเรื่องแม่มดในโลกตะวันตก. วารสารรามคำแหง ปีที่ 29 ฉบับพิเศษ วิทยานิพนธ์ ฉบับที่ 4


เรื่องโดย