จะเป็นอย่างไร หากเรายังคงติดต่อกับคนรัก ครอบครัว ญาติ และเพื่อน ๆ ที่สิ้นชีพไปแล้วได้ แม้จะเป็นเพียงการสนทนาฝ่ายเดียวก็ตาม
มีคนจำนวนมากขึ้นที่ตระหนักว่า “การตายของคนรักไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดความสัมพันธ์อีกต่อไป” ในทางกลับกันเรายังสามารถติดต่อสื่อสารกับพวกเขาได้ ทั้งยังช่วยทำให้จิตใจของ “คนเป็น” แช่มชื่นและกระตุ้นให้อยากใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ต่อไป
ฮาเมดะ เซตซูโกะ สาวใหญ่วัย 57 ปี ใช้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตสื่อสารกับ “เรียวโกะ” น้องสาวของเธอที่เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเมื่อสองปีก่อน จนถึงขณะนี้เซตซูโกะได้ส่งข้อความไปแล้วกว่า 80 ข้อความ
แน่นอนว่า เซตซูโกะเสียใจกับการตายของน้องสาวและร่ำไห้ในงานศพว่า “โลกนี้ไม่ยุติธรรมที่ทำให้เรียวโกะต้องตายไป” ทั้งที่ในตอนที่เรียวโกะยังมีชีวิตอยู่ เซตซูโกะเองก็ไม่สามารถหาพูดคำดี ๆ เพื่อแสดงถึงสิ่งที่เธอต้องการจะพูดกับเรียวโกะได้
“ฉันไม่เคยบอกน้องสาวเลยว่าเธอเป็นนักสู้ที่ดี” เธอกล่าว “นี่อาจเป็นสาเหตุที่ฉันเขียนถึงเธอเพื่อบอกเกี่ยวกับความรู้สึกที่แท้จริงของฉัน”
ส่งข้อความถึงคนตาย ได้ผล (ทางใจ) กว่าสวดมนต์หน้าแท่นบูชา
รายการ Gendai Close-Up ของช่อง NHK ทำให้ผู้คนได้ทราบว่าเหตุใดบางคนยังคงส่งข้อความถึงเพื่อนและญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว
ชายคนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อผมส่งข้อความถึงแม่ มันช่วยให้จิตใจผมแจ่มใสและกระตุ้นให้อยากทำงานหนักเพื่อแม่ของผมบนสวรรค์”
ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันรู้สึกว่าข้อความที่พิมพ์ออกไปมันแสดงถึงความคิดของฉันต่อคนรักได้มากกว่าที่จะสวดมนต์ต่อหน้าแท่นบูชา”
ด้าน ชิมาโซโนะ ซูซูมุ หัวหน้าสถาบันการดูแลความเศร้าโศก (Institute of Grief Care) ของมหาวิทยาลัยโซเฟีย ผู้ทำวิจัยกระบวนการไว้ทุกข์ ให้คำอธิบายว่า “ความสัมพันธ์ที่เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลเริ่มอ่อนแอลง เนื่องจากผู้คนที่เคยอาศัยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวขนาดเล็ก เมื่อพวกเขาสูญเสียคนสำคัญไปจึงทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต ผู้คนในปัจจุบันจึงต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคนตายผ่านโซเชียลมีเดีย”
Photo Credit: Etienne Boulanger/unsplash
เทคโนโลยีเปลี่ยนความสัมพันธ์กับคนตาย
ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ในญี่ปุ่นเท่านั้น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ในสหรัฐอเมริกาก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน AfterLife ที่ให้ผู้คนสร้างอวตารของตัวเองเพื่อให้การสนทนาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยพวกเขาสามารถใช้แอปพลิเคชันเพื่อจำลองการสนทนาของพวกเขาหลังจากที่พวกเขาเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้มีคนเกือบ 500 คนที่กำลังแชทกับคนรักของพวกเขาที่เสียชีวิตลง
ขณะที่ในเกาหลีใต้ ผู้ประกาศข่าวท้องถิ่นได้ออกอากาศสารคดีในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยแสดงให้เห็นภาพจำลองเสมือนของหญิงสาวที่ตายแล้วกลับมาหาแม่ของเธออีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์คนหนึ่งให้ความเห็นว่า “ฉันรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่โหดร้ายเล็กน้อย มันทำให้คุณนึกถึงสิ่งที่คุณไม่มีอีกแล้ว” ขณะที่นักวิจารณ์อีกคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า “นี่ดูเหมือนเป็นการทรมานอย่างแท้จริงเหมือนเป็นการเปิดบาดแผลอีกครั้ง”
ด้าน ชิมาโซโนะ ซูซูมุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประสบการณ์เช่นนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมาก ซึ่งแม้จะส่งผลทางบวกต่อจิตใจของใครหลายคน แต่ก็ต้องระมัดระวังการใช้เทคโนโลยีนี้ด้วย
“การดูแลความเศร้าโศกเป็นกระบวนการทางจิตใจที่ยาวนาน ซึ่งช่วยให้ผู้คนสามารถจัดการความรู้สึกกับการสูญเสียคนที่รักได้ ในระหว่างนี้เราจะเริ่มค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่าอะไรสำคัญกับเราจริง ๆ ความเศร้าโศกนั้นยากที่จะทนได้ แต่ทำให้เรารู้ว่าอะไรสำคัญและช่วยให้เราเติบโตขึ้น ทำให้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้น ผมเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่มีค่าจริง ๆ”
ชิมาโซโนะ ซูซูมุ หัวหน้าสถาบันการดูแลความเศร้าโศก กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา
- Messages to the afterlife. www3.nhk.or.jp/nhkworld