Kind Places

บาร์เซโลนา: กว่าจะมาเป็นผังเมืองทรงวาฟเฟิลสุดคูลที่หลายประเทศใฝ่ฝัน!


สโมสรฟุตบอลบาร์ซา…  สถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว ของอันตอนี เกาดี…

นอกจากนี้ยังมีสิ่งขึ้นชื่ออีกหนึ่งอย่างของ เมืองบาร์เซโลนา ที่เราอยากหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน นั่นคือ “ผังเมือง” ดีไซน์สวยเป็นระเบียบ ซึ่งหากมองจากมุมสูงจะเหมือนทรงขนมวาฟเฟิล หรือขนมรังผึ้งของบ้านเราอย่างไรอย่างนั้น! แต่กว่าจะมาเป็นผังเมืองที่สวยโดดเด่นในปัจจุบันนี้ได้นั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง KiNd ขอชวนทุกคนไปเยี่ยมชมมหานครแห่งแคว้นคาตาโลเนียแห่งนี้พร้อม ๆ กันเลย

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ประเทศสเปนต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหารมาตลอด แต่ต้องยอมรับว่าทั้งหมดคือปัจจัยที่ช่วยฟื้นฟูบาร์เซโลนาให้กลายเป็นเมืองที่โดดเด่น ซึ่งเป็นการสร้างผังเมืองโดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะ และสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนกับสังคม กระทั่งได้รับยกย่องเป็น “บาร์เซโลนา โมเดล” รูปแบบการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก ที่หลาย ๆ เมืองควรเอาเป็นตัวอย่าง

เสียงประท้วงโห่ร้องก้องทะลุกำแพง
∷∷∷

บางคนอาจจะคิดไม่ถึงว่า เมืองที่ได้รับการชื่นชมนักหนาว่าเป็นเมืองที่มีผังเมืองดีที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกอย่างบาร์เซโลนานั้น จะมีผู้คนออกมาประท้วงเรื่องการวางผังเมืองไปทั่วเมือง! เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1843 เมื่อผู้อยู่อาศัยในบาร์เซโลนาร่วมกันประท้วงเนื่องจากไม่พอใจเรื่องความตกต่ำของคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย จากสถานะเมืองขนส่งท่าน้ำที่รุ่งโรจน์ในยุคอุตสาหกรรม กลายมาเป็นเมืองที่เกือบล่มสลายจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้อยู่อาศัยพอ ๆ กับการเติบโตของโรงงานที่ผุดขึ้นทั่วยุโรปในช่วงเวลานั้น

ในยุคอุตสาหกรรม บาร์เซโลนาเปลี่ยนสถานะจากเมืองท่ามาเป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเมืองอื่นในสเปน การพัฒนาของเมืองที่ก้าวกระโดดกลับสวนทางกับคุณภาพชีวิตของผู้คน เมื่อจำนวนผู้อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นจนเกือบถึงสองแสนคนในพื้นที่แคบ ๆ ของเมืองที่ไม่ขยายตัวตาม ด้วยความที่ถูกล้อมรอบไปด้วยกำแพงเมืองที่ห่อหุ้มเมืองไว้ตั้งแต่ยุคกลาง (Medieval Walls) ในวันนั้นที่การพัฒนาเปลี่ยนไป แต่กายภาพเมืองไม่เปลี่ยนตาม กำแพงที่ครั้งหนึ่งเคยปกป้องผู้คนไว้ เกือบจะกลายเป็นกำแพงเดียวกันที่คร่าชีวิตผู้คน

จากผู้อยู่อาศัย 100 คนต่อเฮคเตอร์ (1 เฮคเตอร์ = 0.01 ตารางกิโลเมตร) ในยุคก่อนอุตสาหกรรม กลายมาเป็น 856 คนต่อเฮคเตอร์ จำนวนนี้มากกว่าความหนาแน่นของเมืองที่ว่าใหญ่แล้วอย่างปารีสถึงเท่าตัว เมื่อผู้ดูแลเมืองเห็นชีวิตผู้คนสำคัญกว่าซากประวัติศาสตร์อย่างกำแพงเมืองจากยุคกลาง กำแพงเมืองจึงถูกโค่นลงหนึ่งปีหลังจากการประท้วงปี 1843 จากนั้นผู้ว่าการเมืองเริ่มประกาศหาแปลนผังเมืองใหม่ ๆ โดยมีโจทย์คือให้กระจายความเจริญไปตามย่านต่าง ๆ

“My plan is boring just like justice”
แปลนของผมน่าเบื่อพอ ๆ กับความยุติธรรม
∷∷∷

อิลเดฟอนส์ แซร์ดา (Ildefons Cerdà) วิศวกรชาวคาตาลัน ผู้ออกแบบแปลนผังเมืองปัจจุบันของเมืองบาร์เซโลนากล่าวถึงแปลนของตัวเองไว้แบบนั้น แปลนของแซร์ดาเป็นการออกแบบที่เรียบง่าย แต่ทะเยอทะยานในเป้าหมาย แปลนที่เขาบอกว่าช่างน่าเบื่อ ความน่าเบื่อที่แท้จริงคือความเรียบง่ายในรูปแบบ แต่หนักแน่นในอุดมการณ์ที่แฝงความเชื่อด้านสังคมนิยม และการให้คุณค่าเรื่องความเท่าเทียมของเขาไว้อย่างชัดเจน เอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกอย่างที่ทำให้แปลนของแซร์ดาติดตาติดใจผู้คนคือ หน้าตาของมันที่คล้ายกับวาฟเฟิล เมื่อมองลงมาจากมุมสูง ตรงกลางของเมืองถูกแบ่งออกเป็นตารางสี่เหลี่ยม สัดส่วนแต่ละบล็อกมีขนาดเท่ากันทั่วทั้งเมือง

แปลนนี้เขาตั้งชื่อว่า “Eixample” ในภาษาสเปนิช ที่แปลตรงตัวเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “expansion” หรือ “การขยาย” แต่ยิ่งเวลาผ่านไปแปลน Eixample ของเขาน่าจะถูกเรียกว่าเป็น “example” มากกว่า เพราะเป็นตัวอย่างการออกแบบผังเมืองที่กระจายความเจริญทั้งการพัฒนาขั้นพื้นฐานและคุณภาพชีวิตผู้คนไปพร้อม ๆ กัน

ผังเมืองแบบนี้ถือเป็นรูปทรงแปลกตาที่เกิดจากการตัดขอบตึกออกไป 45 องศา การแบ่งพื้นที่เพียงมุมตึกของแต่ละคนที่ทำให้เมือง “หายใจ” ร่วมกันได้มากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น มีพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงได้สำหรับคนทุกชนชั้นในทุกย่าน มีความเป็นชุมชนมากขึ้นจากการมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันในทุกหัวมุมถนน


นอกจากความสวยงาม ความสะอาดสะอ้าน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากผังเมืองที่เปลี่ยนไปแล้ว ผังเมืองที่เป็นตารางขยายไปทั่วเมืองเช่นนี้ยังช่วยให้การเดินทางเชื่อมต่อกันได้สะดวกสบาย ช่วยกระจายศูนย์กลางของเมืองไปตามย่านต่าง ๆ พูดได้ว่า การขยายขอบเขต พัฒนากระจายไม่กระจุกที่ยังส่งผลต่อความเป็นบาร์เซโลนามาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อ “กีฬาโอลิมปิก” พลิกเมืองที่ย่ำแย่ให้ดีขึ้นได้
∷∷∷

ย้อนหลังกลับไปในปี 1992 ที่บาร์เซโลนาได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และขณะนั้นคือเวลาที่เมืองอุตสาหกรรมอันดับต้นของยุโรปในอดีตแห่งนี้ กำลังซบเซาจากพิษเศรษฐกิจถดถอย พร้อมเผชิญกับอัตราการว่างงานสูงกว่าร้อยละ 20 แต่โอกาสของการจัดงานกีฬาโอลิมปิกในครั้งนั้นก็ทำให้เกิดโจทย์การปลี่ยนแปลงเมืองครั้งใหญ่ครั้งใหม่

ในช่วงปี 1986-1992 การเตรียมตัวจัดงานถือเป็นสิ่งสำคัญ ปาสคาล มารากาล (Pasqual Maragall) นายกเทศมนตรี ณ ขณะนั้น มีวิสัยทัศน์ที่ใหญ่กว่าเดิม คือการสร้างแลนด์มาร์กในหลาย ๆ บริเวณในเมือง ซึ่งออกแบบด้วยฝีมือสถาปนิกระดับชาติ ทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน และรัฐบาล รวมถึงการลงทุนทางสาธารณูปโภค เช่น การสร้างถนน ปรับปรุงชายหาด และวงแหวนขนาดใหญ่ที่สร้างก่อนปี 1992 ครอบเมืองเอาไว้ก็ทำให้เมืองชั้นในของบาร์เซโลนาไม่หนาแน่นด้วยรถยนต์มากเกินไป จนปาสคาล มารากาล ได้รับการจารึกไว้ว่าเป็นบุคคลที่ผลักดันให้เกิด บาร์เซโลนา โมเดล นั่นเอง

เมื่อชาวบาร์ซาฟื้นฟูความมั่นใจในเศรษฐกิจของตนจากการได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก สิ่งที่ทำให้เงินทุนจากกีฬาโอลิมปิกได้กำไรที่สุดก็คือ การออกแบบเมืองใหม่ที่ดึงเอาความมีส่วนร่วมจากคนในย่านมาเป็นปัจจัยหลักในการเปลี่ยนเมือง

ต่อยอดการพัฒนา สู่เมืองรักษ์สิ่งแวดล้อม
∷∷∷

ต่อมาในปี 2006 เมืองบาร์เซโลนาได้เปิดตัวโครงการ “Superblocks” ซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามที่จะลดปัญหามลภาวะทางอากาศ ซึ่งมีค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด และการจราจรที่แน่นขนัดในเมือง โดยการปรับผังเมืองใหม่ในลักษณะของ Superblocks คือการรวมบล็อกเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกันจำนวน 9 บล็อกให้กลายเป็นบล็อกขนาดใหญ่ 1 บล็อก และจะปิดเส้นทางจราจรสำหรับรถยนต์ ทำให้ชาวเมืองในละแวกใกล้เคียงได้ถนนกลับคืนมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการมุ่งเน้นให้คนสัญจรด้วยการเดินถนนและขี่จักรยานเป็นหลัก หากทำสำเร็จรถยนต์จะถูกกำจัดออกไปจากเขตทางแยกถึง 120 แห่ง ลดพื้นที่ถนนลงไปร้อยละ 60


จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าสะพรึงกลัว แต่ก็กลายเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีด้วยเช่นกัน เมื่อพลเมืองของบาร์เซโลนาออกมาใช้ชีวิตตามถนนหนทางในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2020 หลังจากการปิดเมืองนานกว่า 2 เดือน พวกเขาค้นพบเมืองที่เปลี่ยนไป ถนนหนทางถูกเปลี่ยนเป็นเลนจักรยานสีเหลืองสดใสยาวกว่า 13 ไมล์ (20.92 กม.) โดยเป็นการทาสีทับทางสัญจรของรถยนต์ที่มีมาแต่ก่อนเก่า


แม้บาร์เซโลนาจะไม่เคยโดดเด่นจนถูกชูโรงอย่างชัดเจนว่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยาน เพราะถนนหนทางส่วนใหญ่สร้างบนเชิงเขาของเทือกเขา แต่ Adria Gomila หัวหน้าฝ่ายบริการการการคมนาคมประจำเมืองบาร์เซโลนา ซึ่งเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ได้เปลี่ยนเมืองที่ใหญ่อันดับสองของสเปนให้กลายเป็นมหานครที่เป็นมิตรกับจักรยานมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปใต้

“หลังการปิดเมืองสิ้นสุดลง ชาวบาร์เซโลนาออกมาใช้ชีวิตด้วยความรับผิดชอบที่มากขึ้น และตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยเช่นกัน” Gomila กล่าว


ขณะที่ Ada Colau นายกเทศมนตรีเมืองบาร์เซโลนา มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการยึดคืนถนนในเมืองจากรถยนต์ และตั้งเป้าลดมลพิษด้วยการสร้างพื้นที่สีเขียว ด้วยการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ทางเท้าและจัตุรัสสาธารณะ จึงประกาศว่าภายในปี 2030 ถนนทั้ง 21 สายในย่าน Eixample ของเมืองนี้จะถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นสถานที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่า Superblocks การสัญจรของยานพาหนะต่าง ๆ จะได้รับอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะรอบปริมณฑลเท่านั้น โดยปล่อยให้ยานยนต์สำหรับผู้อยู่อาศัย ตลอดจนบริการที่จำเป็นหรือการจัดส่งเท่านั้นที่สามารถเข้ามายังในพื้นที่เขตเมืองได้ และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องเปิดทางให้กับคนเดินเท้าและจักรยานก่อน รวมถึงจำกัดความเร็วรถยนต์ไม่เกิน 10 กม./ชม.

“เราต้องการให้บาร์เซโลนาเป็นเมืองที่ยั่งยืน เป็นเมืองที่น่าอยู่ และเราเข้าใจดีว่าทุกวันนี้ในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ มีกิจกรรมทางสังคมและชุมชนมากมาย แต่ชาวเมืองถูกปิดกั้นให้เข้าถึงได้ยากลำบากจากการเดินทางด้วยรถส่วนตัว ทั้งรถที่กำลังขับเคลื่อนไปมาและรถที่จอดเรียงรายอยู่ข้างทาง”

– Janet Sanz รองนายกเทศมนตรีด้านนิเวศวิทยาวิถีชีวิตและความคล่องตัวของเมือง กล่าวทิ้งท้าย



อ้างอิง


เรื่องโดย