Kind Creatures

ใคร ๆ ก็รัก “แมวจร” ในนครอิสตันบูล


“อิสตันบูล” (Istanbul) จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากขาดแมวจรจัดที่นั่งนอนเรียงรายอยู่ตามข้างถนน ถ้าจะบอกว่าอิสตันบูลเป็น “เมืองแห่งแมว” ก็ดูจะไม่เสียหายอะไร เพราะเจ้าแมวไร้บ้านเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณแห่งเมืองนี้ไปแล้ว จนบางครั้งก็รู้สึกราวกับว่าแมวนั้นเป็นเจ้าของเมือง ส่วนมนุษย์คือเหล่าผู้คนที่กำลังเข้ามาเยี่ยมเยียนแทน แต่นี่คือมิตรภาพที่เป็นเอกลักษณ์ระหว่างชาวอิสตันบูลและผู้อยู่อาศัยสี่ขา ซึ่งมีรากฐานมาจากศาสนา และวัฒนธรรม

อิสตันบูล เป็นเมืองใหญ่ที่มีชื่อเสียงของประเทศตุรกี จากข้อมูลของสถานพยาบาลสัตว์ทางการนครอิสตันบูล ระบุว่า มีจำนวนแมวจรจัด อย่างน้อยประมาณ 1.25 แสนตัว พวกมันอาศัยอยู่ทุกมุมถนน บ้างก็เดินเตร็ดเตร่ไปมาตามถนนในเมือง บ้างก็งีบหลับบนพื้นที่ที่สะดวกสบาย แต่ก็ช่วยเพิ่มความน่ารักให้กับชีวิตในเมืองใหญ่ในแต่ละวัน

ภาพชินตาที่ทุกคนจะสามารถเห็นได้คือ คนลากอาหารแมวถุงใหญ่มาให้อาหารแมวจรในสวนสาธารณะ หรือบางมุมของละแวกใกล้เคียง ในขณะที่เทศบาลได้ช่วยสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ ให้ เพื่อหลบภัยในช่วงเดือนที่หนาวเย็น แต่สัตว์เหล่านี้มาจากไหน? ขอย้อนเรื่องราวกลับไปสู่อาณาจักรออตโตมัน 



“แมว” ผูกพันกับชาวอิสตันบูล มาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิออตโตมัน ช่วงปี ค.ศ. 1299–1922 หลังจากนั้นนครอิสตันบูลตกเป็นของชาวเติร์กในปี ค.ศ. 1453 พวกเขาไม่ได้กำจัดแมวจรจัดทิ้ง แต่เลี้ยงดูพวกมัน รวมถึงสัตว์จรจัดชนิดอื่น ๆ เอาไว้ และในช่วงเวลานี้มีเรือหลายลำเทียบท่าที่คอนสแตนติโนเปิล โดยบนเรือจะมีแมวที่อาศัยอยู่เพื่อจัดการกับ “หนู” ศัตรูตัวฉกาจที่กินพืชผลและข้าวสารของชาวเมือง แถมยังเป็นพาหะของเชื้อโรคระบาด ซึ่งแมวเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่สามารถควบคุมประชากรหนูได้ เมื่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อพยพขึ้นมาบนฝั่งเมืองหลวง จึงมีการผสมสายพันธุ์และการขยายจำนวนประชากรอย่างมาก 

Photo Credit: www.bbc.com/thai


หากมองในมุมของศาสนา แมวถือว่าเป็นสัตว์ที่ได้รับความรักเป็นพิเศษ สาเหตุหนึ่ง คือ ชาวมุสลิมส่วนใหญ่มองว่าแมวเป็นสัตว์ที่สะอาด ดังนั้นจึงปล่อยให้พวกมันเข้าไปภายในบ้านเรือน เข้าออกพื้นที่สาธารณะได้โดยอิสระ หรือแม้แต่ในมัสยิด (ซึ่งห้ามสุนัขย่างกรายเข้าไปโดยเด็ดขาด) นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าไว้ว่า ศาสดามูฮัมหมัดเลี้ยงแมวชื่อ “มุอัซซะอ์” (Muezza) นบีมูฮัมมัดรักมุอัซซะอ์มาก ท่านเคยให้มุอัซซะอ์นั่งบนตักขณะเทศนา ดื่มน้ำจากถ้วยเดียวกัน และใช้กรรไกรตัดชายชุดคลุมละหมาดส่วนหนึ่งออก เพราะไม่ต้องการปลุกแมวมุอัซซะอ์ที่กำลังนอนทับอยู่ให้ตื่น (แต่ก็ยังมีบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลามบางส่วนจะมีความเห็นเกี่ยวกับตำนานนี้ต่างกันออกไป)

ถ้าถามว่า… คนตุรกีรักแมวมากขนาดไหน? ก็ถึงกับมีสุภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า “หากคุณฆ่าแมวหนึ่งตัว คุณต้องสร้างมัสยิดหนึ่งหลังเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้ายกโทษ” ขณะที่ปัจจุบันมีมุกตลกว่า “วิธีเดียวที่ทำให้กลุ่มนิยมอิสลาม กลุ่มนิยมรัฐฆราวาส และกลุ่มสังคมนิยมเห็นพ้องกัน คือการเตะแมว เพราะคนเหล่านั้นจะร่วมกันรุมประชาทัณฑ์คุณ” เพราะถึงแม้คนตุรกีจะชอบแบ่งฝ่ายทางการเมืองอย่างชัดเจนและสุดขั้ว แต่คนตุรกีทุกคน “รักแมว”

Photo Credit: www.bbc.com/thai

ร่วมใจช่วยแมวจรจัดผู้หิวโหยช่วงโควิด-19

ท่ามกลางวิกฤตเชื้อโควิด-19 ระบาด แมวจรจัดกำลังเผชิญกับภาวะเสี่ยงอดตาย เนื่องจากมาตรการกักตัวอยู่ในบ้านทำให้ชาวเมืองไม่สามารถออกไปให้อาหารแก่แมวจรจัดได้ ร้านอาหารต่าง ๆ ในนครอิสตันบูลปิดให้บริการ ส่งผลให้ตามท้องถนนมีขยะและเศษอาหารน้อยลง ทำให้เหล่าแมวจรจัดในเมืองขาดแหล่งอาหารประทังชีวิต 

กระทรวงมหาดไทยในประเทศตุรกีมองเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงร้องขอให้ทางการในท้องถิ่นต่าง ๆ ช่วยจัดหาอาหารและน้ำดื่มแก่สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามสถานสงเคราะห์ สวนสาธารณะ และแหล่งอยู่อาศัยอื่น ๆ เพราะนอกจากจะห่วงใยในสวัสดิภาพของพลเมืองที่เป็นมนุษย์แล้ว ก็ยังเล็งเห็นถึงความยากลำบากของเพื่อนร่วมโลกสี่ขาที่อาศัยอยู่ทั่วทุกมุมเมืองด้วย แม้ว่าคำสั่งจัดหาอาหารเลี้ยงสัตว์จรจัดของทางการตุรกีนั้น จะครอบคลุมถึงเหล่าสุนัขจรจัดด้วย แต่ดูเหมือนว่าแมวจรจัดจะได้รับความเมตตามาเป็นอันดับต้น ๆ ในหัวใจของชาวตุรกี เพราะเหตุนี้อาจจะบอกได้ว่า ใคร ๆ ก็รักแมวจรโดยเฉพาะในนครอิสตันบูล


ที่มา


เรื่องโดย