ลองจินตนาการถึงตัวเราที่อยู่บนชายฝั่ง มองออกไปในทะเล ภาพเบื้องหน้าคือสันทรายยาว 100 เมตรจนดูเหมือนชายหาดยามน้ำลง มีแค่คลื่นซัดเบา ๆ และไร้ซึ่งกระแสน้ำ
นี่คือสิ่งที่เราจะพบเมื่อไปที่ท่าเรือเล็ก ๆ ใน ลีมานบนชายฝั่งทะเลแคสเปียนของอาร์เซอร์ไบจาน ทะเลแคสเปียนเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลก และกำลังประสบปัญหาเรื่องระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็วและจะลดลงเร็วขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 21 ระดับน้ำในทะเลสาบแคสเปียนอาจลดลง 9– 18 เมตร ความลึกระดับนี้สูงกว่าบ้านทั้งหลังเสียอีก
นั่นหมายความว่า ทะเลสาบแห่งนี้จะสูญเสียปริมาณน้ำมากถึง 25% จากเดิม และมีพื้นดินเพิ่มขึ้นเท่ากับ 93,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเท่ากับขนาดของประเทศโปรตุเกส
จากผลการศึกษาของ Matthias Prange, Thomas Wilke, และ Frank P. Wesselingh พบว่าวิกฤตน้ำลดครั้งนี้อาจส่งผลให้เกิด “Ecocide” หรือการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมขั้นรุนแรง เหมือนกับที่เคยเกิดกับทะเลสาบอารัล ซึ่งห่างออกไปทางตะวันออกไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ระดับน้ำในทะเลสาบแคสเปียนลดลง 7 เซนติเมตรทุก ๆ ปี และมีแนวโน้มที่ตัวเลขนี้จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ภายใน 5 ปี ระดับน้ำอาจลดลงถึง 40 เซนติเมตร และภายใน 10 ปี ระดับน้ำอาจลดลงถึง 1 เมตร โดยประเทศที่มีพรมแดนติดทะเล (ประเทศรัสเซีย ประเทศอาเซอร์ไบจาน ประเทศอิหร่าน ประเทศเติร์กเมนิสถาน และประเทศคาซัคสถาน) ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะรักษาและเพิ่มระดับน้ำทะเลให้มากขึ้น 1 เมตรภายในศตวรรษที่ 21 ไม่อย่างนั้นแล้วทะเลสาบแคสเปียนอาจต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำลด 1 เมตรก่อนจบศตวรรษนี้ ยกเว้นวิกฤตอาจจะหนักกว่านั้น คือน้ำลด 1 เมตรภายในทศวรรษเดียว
ภาวะโลกร้อนคือตัวการที่ทำให้เกิดวิกฤตระดับน้ำลด ทะเลสาบแคสเปียนนั้นอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 28 เมตร น้ำในทะเลสาบแคสเปียนขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำจากแม่น้ำโวลก้าในประเทศรัสเซียว่ามีปริมาณน้ำฝนมากแค่ไหน และระเหยออกไปมากเท่าไร นักวิจัยคาดการณ์ว่าในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 21 แม่น้ำโวลก้าและแม่น้ำทางตอนเหนืออื่น ๆ จะยังไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามหากอุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้น 3 – 4 องศาเซลเซียส จะทำให้อัตราการระเหยของน้ำเพิ่มมากขึ้น
อนาคตที่เต็มไปด้วยขวากหนามบนอดีตแห่งการสูญเสีย
≋≋
ทะเลสาบแคสเปียนเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ทั้งความยิ่งใหญ่และความพ่ายแพ้ ในเดอร์เบนต์ บนชายฝั่งคอเคซัสของรัสเซีย กำแพงเมืองโบราณที่จมอยู่ใต้น้ำเป็นเครื่องยืนยันว่า ในยุคกลางทะเลสาบแคสเปียนต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเพียงใด ประมาณ 10,000 ปีก่อน ทะเลสาบแคสเปียนอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 100 เมตร และหากเทียบระดับน้ำทะเลของเมื่อพันปีก่อน ทะเลสาบแคสเปียนต่ำกว่าปัจจุบันประมาณ 50 เมตร และปริมาณน้ำยังมากจนล้นทะลักลงสู่ทะเลดำด้วยซ้ำ
มนุษยชาติเอาตัวรอดจากความแปรปรวนแบบนี้ได้มาตลอด ไม่มีสิ่งก่อสร้างหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ถูกทำลาย ส่วนสัตว์ป่าต่าง ๆ มีการย้ายถิ่นที่อยู่ตามระดับน้ำทะเลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม วิกฤตครั้งนี้ต่างออกไป การลดระดับของน้ำในทะเลแคสเปียนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า รวมถึงชุมชนสังคมมนุษย์บริเวณชายฝั่งแห่งนี้เช่นกัน
ในบางพื้นที่ แนวชายฝั่งจะหายไปปีละหลายร้อยเมตรขึ้นไป และการสร้างท่าเรือใหม่ภายในระยะเวลาอันสั้นนั้นเป็นไปได้ยาก และต่อให้สร้างท่าเรือได้สำเร็จ แนวชายฝั่งก็จะลดหายไปเรื่อย ๆ หลายกิโลเมตร หรืออาจจะหลายสิบกิโลเมตร ทางเดินเท้าริมชายฝั่งจะไม่ติดทะเลอีกต่อไป ชายหาดในวันนี้จะกลายเป็นสันทรายที่ตั้งอยู่กลางที่ราบอันแห้งแล้งของวันพรุ่งนี้
Photo Credit: caspian sea/ bbc
นอกจากนี้ระดับน้ำในทะเลแคสเปียนที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำรอบ ๆ ทะเลสาบแคสเปียน บริเวณที่ราบที่เคยอุดมสมบูรณ์จะแห้งแล้งจนไม่สามารถทำการเกษตรเช่น สวนแตงโมหรือทำนาได้อีกเลย
แคสเปียนกำลังตกอยู่ในอันตราย
≋≋
เมืองแรมซาร์บนชายฝั่งอิหร่าน เจ้าของที่มาของชื่ออนุสัญญาแรมซาร์หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ กำลังจะถูกตัดขาดทางทะเล และพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรอบกำลังจะหายไปภายในทศวรรษนี้จากการลดระดับลงของน้ำในทะเลสาบแคสเปียน
ไหล่ทะเลแคสเปียนทั้งฝั่งทิศเหนือและฝั่งทิศตะวันออก เคยเป็นแหล่งอาหารของเหล่าปลาและนกต่าง ๆ ปัจจุบันไหล่ทะเลทั้งสองฝั่งนี้กำลังแคบลงเรื่อย ๆ และอาจกลายเป็นผืนดินทั้งหมด วิกฤตนี้จะทำให้พันธุ์ปลา แมวน้ำแคสเปียน หอยนานาพันธุ์ และสัตว์จำพวกกุ้งสายพันธุ์เฉพาะในทะเลแคสเปียนสูญพันธ์ทั้งหมด เหล่าสัตว์น้ำในทะเลแคสเปียนต่างกำลังดิ้นรนเอาชีวิตรอดตลอดศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจุบัน จากทั้งมลพิษและการรุกรานจากสายพันธุ์ต่างถิ่น ลูกแมวน้ำแคสเปียนกว่า 99 % ล้วนเติบโตที่ธารน้ำแข็งทางทิศเหนือของทะเลแคสเปียนในช่วงฤดูหนาว ด้วยวิกฤตนี้ ไม่ใช่แค่ธารน้ำแข็งเท่านั้น แต่รวมถึงพื้นที่ทะเลทางทิศเหนือทั้งหมดจะหายไป
พื้นที่สำคัญที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีความลึกเหลือเพียง 50 – 150 เมตร จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งจากสารและแร่ธาตุต่าง ๆ ปริมาณมากจากแม่น้ำที่ไหลมารวมกันในทะเลแคสเปียน (ที่ระดับน้ำทะเลน้อยลงเรื่อย ๆ) และอุณหภูมิในน้ำที่สูงขึ้น ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดลง เท่ากับว่าพื้นที่ “เขตมรณะ (Dead Zone)” หรือพื้นที่ไร้ออกซิเจนในทะเลจะขยายกว้างขึ้น กระทบกับระบบนิเวศของเหล่าสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เรียกได้ว่า การฆาตกรรมธรรมชาติ (Ecocide) ด้วยน้ำมือมนุษย์กำลังเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว ที่ทะเลแคสเปียนแห่งนี้
Photo Credit: caspian sea/ bbc
วิกฤตระดับน้ำลดนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แม้ว่าความหวังจะริบหรี่มากก็ตาม ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นของภาวะโลกร้อน หรืออาจเรียกว่าตัวการสำคัญที่เร่งวิกฤตทะเลแคสเปียนแห่งนี้ สามารถจัดการได้ด้วยข้อตกลงความร่วมมือระดับนานาชาติเท่านั้น ตัวอย่างเช่น สมัยสหภาพโซเวียต ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลจากแม่น้ำไซบีเรียนได้ถูกปรับเปลี่ยนทิศทางให้ไหลไปที่ทะเลอารัลทางตะวันออก สำหรับภารกิจใหญ่เช่นนี้ ในกรณีของทะเลสาบแคสเปียน เส้นทางคูคลองจากทะเลดำก็เป็นตัวเลือกที่ต้องพิจารณาเช่นกัน มากไปกว่านั้นคือความเสี่ยงที่การเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลกระทบกับระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมและภูมิศาสตร์ของทะเลแคสเปียน
มาตรการรับมือคือความสำคัญอันดับหนึ่งที่ต้องพิจารณาโดยเร็วที่สุด เพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่มีแค่ในทะเลแคสเปียนเท่านั้น รวมถึงปกป้องวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยบริเวณท่าเรือลีมานที่ระยะทางห่างไกลจากน้ำทะเลเข้าไปทุกที หากไม่ได้รับการแก้ไข อาจไม่เหลือทางออกใด ๆ ให้เลือกอีกเลย
ที่มา
- An ‘ecocide’ is happening right in front of our eyes in the Caspian Sea. www.weforum.org/caspian-sea