จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเก้าอี้เปลี่ยนสถานะจากของที่มนุษย์ใช้เพื่อผ่อนคลายสรีระร่างกาย เป็น “อุปกรณ์” ที่จะพาคุณโลดแล่นไปในโลกแห่งจินตนาการ ระหว่างการนั่งพักผ่อนที่แสนจะเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน
KiNd Health จะพาคุณไปทำความรู้จักเก้าอี้ที่ชาวอังกฤษและชาวอเมริกันในช่วงศตวรรษที่ 19 นำมาใช้ปลุก “จิตใต้สำนึก” ที่พร้อมจะเปลี่ยนโลกทัศน์ของพวกเขาไปตลอดกาล
Armchair Traveler
●●●
หลังจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน หลายคนคงอยากจะทิ้งตัวลงบนเบาะนุ่ม ๆ ที่พร้อมรองรับสรีระร่างกายของผู้ใช้งานอย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงต้นปี 1800 เก้าอี้โยกหรือเก้าอี้เท้าแขน กลายเป็นสิ่งดึงดูดร่างกายและจิตใจให้เคลื่อนตัวเข้าไปหาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อ La-Z-Boys แบรนด์เก้าอี้พักผ่อนสัญชาติอเมริกันที่มีอายุเกือบร้อยปี เห็นถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว จึงได้ผลิตเก้าอี้เท้าแขนคุณภาพดีที่สุดออกมา เพื่อตอบสนองต่อความอยากผ่อนคลาย และโอบอุ้มห้วงอารมณ์อันอ่อนไหวของผู้คนในยุคนั้นเอาไว้
ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของเก้าอี้โยก (แบบปรับนอน) มักจะมีกรอบความคิดคล้าย ๆ กันว่า หากอยากออกเดินทางไปเตร็ดเตร่ในคอนสแตนติโนเปิล หรือท่องเที่ยวในสถานที่ห่างไกลผู้คน เพียงแค่กลับบ้านมานั่งบนเก้าอี้โยกตัวโปรด และหยิบหนังสือขึ้นมาสักเล่มเป็นไกด์นำเที่ยว พวกเขาก็สามารถออกเดินทางไกลได้โดยไม่ต้องเสียพลังกายไปกับการเดินทาง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นผลมาจาก ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) นักประพันธ์สัญชาติอเมริกัน ผู้มองว่า คนที่ปราดเปรื่องเพียงแค่นั่งอยู่บนเก้าอี้และอ่านหนังสือสักเล่มระหว่างพักผ่อน ก็สามารถท่องเที่ยวทางไกลได้โดยไม่ต้องออกเดินทางให้เสียเวลา
ดังนั้นในต้นปี 1800 จึงเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนนิยมชมชอบ “การนั่ง” ท่องเที่ยวผ่านโลกแห่งจินตนาการ และผันตัวเป็น Armchair Traveler กันเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งได้เผยเทคนิคการเดินทางในโลกเสมือนจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า นี่แหละคือการเดินทางที่แท้จริง
เทคนิคท่องโลกเสมือนจริง
●●●
“เมื่อเขาออกเดินทาง ผมก็เหมือนไปกับเขาด้วย” วิลเลียม คาวเปอร์ (William Cowper) กวีชาวอังกฤษกล่าวถึง The Task บทกวีที่เขาประพันธ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1785 ขณะที่กำลังอ่านบทกวีอย่างพินิจพิเคราะห์อีกครั้ง เขาค่อย ๆ ถูกดึงเข้าสู่ห้วงแห่งจินตนาการ เก้าอี้ที่นั่งสั่นโยกไหวไปตามจังหวะของคลื่นทะเล เมื่อมองไปรอบ ๆ ก็ได้พบกับชายแปลกหน้าที่กำลังกระโดดปีนป่ายอยู่บนเสากระโดงเรืออย่างไม่เกรงกลัวอันตราย พร้อมกับใบเรือที่กำลังพลิ้วไหวไปมาตามจังหวะของสายลม เขาลุกขึ้นจากเก้าอี้ตัวโปรดอย่างช้า ๆ และค่อย ๆ เดินสำรวจเรือลำนี้ด้วยความระมัดระวัง
แม้คาวเปอร์จะรู้ดีว่านี่คือเรื่องราวในจินตนาการที่ส่งผ่านสายตาตัวเอกของเรื่องที่เขาเป็นผู้แต่งขึ้นมา แต่ก็ไม่อาจข่มความตื่นเต้นลงไปได้ ประหนึ่งว่านี่คือการเดินทางของเขาเสียเอง แต่แล้วคาวเปอร์ก็ต้องตื่นจากห้วงจินตนาการ เมื่อสภาพร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนอยู่กลาย ๆ ว่า หากยังนั่งนิ่งอยู่บนเก้าอี้ทั้งวัน คงไม่ส่งผลดีต่อตัวเขาเองเป็นแน่
ทว่าอีกหนึ่งศตวรรษต่อมา คาวเปอร์ได้รู้จักงานเขียนของ Joris-Karl Huysmans นักเขียนนวนิยายชาวฝรั่งเศสชื่อดัง หนังสือของเขาทำให้คาวเปอร์ถึงกับไม่ยอมลุกออกจากเก้าอี้ตัวโปรด พฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายไม่น้อย แต่คาวเปอร์ก็ยังคงรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ท่องโลกผ่านตัวอักษร และนี่ทำให้เขารู้จักกับ Lidwina ชาวดัตช์ผู้ลึกลับ ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญ อีกทั้งยังเป็นคนแรก ๆ ที่ได้รับการบันทึกว่าป่วยเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งอีกด้วย
ในหนังสือชีวประวัติของนักบุญ Lidwina ได้ระบุรายละเอียดการเดินทางแสวงบุญระหว่างป่วยเอาไว้ว่า แม้เธอจะเจ็บปวดทรมานจากอาการป่วย แต่ไม่ได้ละทิ้งการแสวงบุญแต่อย่างใด ในทางกลับกัน Lidwina สามารถแสวงบุญขณะที่นอนอยู่บนเตียง โดยมีทูตสวรรค์คอยนำทาง เธอเดินทาง (ในจินตนาการ) ไปยังโบสถ์การจาริกแสวงบุญแห่งวีสในกรุงโรมได้ถึงเจ็ดแห่ง อีกทั้งยังสามารถบรรยายรายละเอียดของสถาปัตยกรรมที่ปรากฎออกมาได้อย่างครบถ้วน แม้ว่าหลังจากกลับมาจากการเดินทางอันแสนสุขจะพบความจริงว่า ร่างกายของเธอยังคงนอนแน่นิ่งอยู่บนเตียง เตียงที่เป็นประตูสู่การแสวงบุญอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ถ้าหากไม่มีทูตสวรรค์คอยนำทาง อีกหนึ่งเทคนิคที่ Huysmans เสนอคือ การเดินทางผ่านหนังสือ À rebours (Against the Grain or Against Nature) เมื่อ Jean des Esseintes ตัวเอกของเรื่องเริ่มนำกลิ่นมะนาว ไอเกลือ และโซเดียมซัลเฟตมาสูดดม เพื่อใช้เวลาอยู่ในภวังค์ในทุก ๆ วัน นอกจากนี้เขายังได้เผยเคล็ดลับออกมาว่า หากต้องการสนุกสุดหวี่ยงแล้วล่ะก็ คุณจะต้องตั้งสมาธิอย่างแน่วแน่ก่อนเดินทางทุกครั้ง เพื่อให้ห้วงความฝันที่สร้างขึ้นมามีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด
Photo Credit:A practictioner of Mesmerism using Animal Magnetism /wikimediacommons
ทำไมต้องเก้าอี้โยก?
●●●
ในปี ค.ศ. 1873 Edinburgh Review ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการใช้วิชาสะกดจิต ซึ่งริเริ่มโดยฟรานซ์ เอนตัน เมสเมอร์ (Franz Anton Mesmer) แพทย์ชาวออสเตรีย ที่หลงใหลในเรื่องโหราศาสตร์และพลังเหนือธรรมชาติ โดยเขาเชื่อว่าสภาวะแรงดึงดูดของดวงดาวต่าง ๆ มีผลต่อการเคลื่อนไหวของของเหลวบนโลก รวมไปถึงร่างกายมนุษย์ที่มีส่วนประกอบเป็นของเหลวถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์
โดยในงานตีพิมพ์ฉบับนี้ได้กล่าวถึง การนั่งบนเก้าอี้โยกคงไม่ต่างจากการฟังเทศน์ การนอนบนเปลที่ไกวไปมา หรือแม้แต่การอ่านหนังสือที่น่าเบื่อ เพื่อพาตัวเองให้หลุดพ้นจากโลกแห่งความเป็นจริง พฤติกรรมทั้งหมดเหล่านี้คล้ายคลึงกับ “การสะกดจิตตัวเอง” เหมือนที่เมสเมอร์นำมาใช้รักษาผู้ป่วยของเขา
ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ปริศนาเรื่องการนั่งเก้าอี้โยกของชาวยุโรปในอดีตได้รับการไขกระจ่างเป็นที่เรียบร้อย เมื่อบทความวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีววิทยาในปี ค.ศ. 2011 เผยว่า การนั่งเก้าอี้โยกจะช่วยให้ระบบการทรงตัวในสมองเกิดความสมดุล เมื่ออวัยวะการทรงตัวเกิดความผ่อนคลาย ข้อมูลจะถูกส่งกลับไปยังประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายสร้างกระบวนการรักษาสมดุลการทรงตัวขึ้น แม้ว่าเจ้าตัวจะเข้าสู่ห้วงนิทราไปแล้วก็ตาม นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวยุโรปในอดีต ถึงชื่นชอบการนั่งเก้าอี้โยกและมักพาตัวเองออกเดินทางขณะหลับใหลอยู่เสมอ
Photo Credit: The Docter Dream /www.wikipedia.com
โรคฝันกลางวัน
●●●
ในทางกลับกัน การนั่งเหม่อลอยอยู่บนเก้าอี้โยก และจินตนาการถึงโลกอีกใบที่สร้างขึ้นมาในหัว โดยมักจะหมกตัวอยู่ในโลกแห่งจินตนาการนานนับชั่วโมง อาการเหล่านี้หากมองอย่างฉาบฉวยก็คงไม่ต่างอะไรกับการเข้าข่ายจะเป็น “โรคฝันกลางวัน” หรือ Maladaptive Daydreaming เนื่องจากภาวะเพ้อฝันที่ใคร ๆ ก็มองว่าเป็นปกตินี้ กำลังค่อย ๆ กัดกินจิตใจของนักจินตนาการอย่างช้า ๆ เพราะหาก ผู้สร้างโลก (ในจินตนาการ) อีกใบขึ้นมาในหัวบ่อยครั้งเข้าล่ะก็ พวกเขาก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ไม่น้อย
แม้ว่าโรคฝันกลางวันจะเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้ยากอยู่ดี ซึ่งจากการศึกษามาอย่างยาวนาน สามารถรวบรวมข้อมูลที่มาที่ไปของอาการ และวิธีการรักษาเบื้องต้นของโรคเอาไว้ให้คอยสังเกตอาการคนรอบข้าง รวมถึงตัวเราเอง ลองมาดูว่ามีปัจจัยใดบ้างที่อาจนำไปสู่การเป็นโรคฝันกลางวัน
Photo Credit: A woodcut /Johannes Brugman’s incunable
1. ใจลอยเป็นประจำ แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่หากเกิดอาการใจลอยบ่อยและเริ่มนานเกินไป จนกระทบกับการทำงานหรือชีวิตประจำวัน นี่คือสัญญาณของการเป็นโรคฝันกลางวันแล้วล่ะ
2. เคยเจอเหตุการณ์ความรุนแรงในวัยเด็ก ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าคนที่เป็นโรคฝันกลางวัน มักเคยถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจในวัยเด็ก และการเพ้อฝันอยู่ในโลกจินตนาการคือวิธีการหลีกหนีความเจ็บปวด
3. มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ พฤติกรรมย้ำคิดมักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในโลกจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นการเดินวนไปวนมา โยนของ หรือหมุนสิ่งที่อยู่ใกล้มือ เป็นต้น
4. เห็นภาพแบบละเอียดยิบ ผู้ที่เป็นโรคฝันกลางวัน มักจะมองเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในหัวได้อย่างชัดเจน จนเหมือนกับว่าสิ่งที่จินตนาการไว้นั้นคือโลกแห่งความเป็นจริง
5. เพ้อฝัน แต่ยังอยู่ในขอบเขต แม้จะหลงใหลกับการฝันกลางวันมากเพียงใด แต่ก็สามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนคือเรื่องจริง และอันไหนคือเรื่องในจินตนาการ แต่ก็ยังคงไม่อาจห้ามใจไม่ให้เพ้อฝันได้อยู่ดี
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจนำมาสู่ภาวะฝันกลางวันได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การปล่อยหัวให้ว่างระหว่างวัน หรือบังเอิญพบเหตุการณ์ที่กระตุ้นความทรงจำบางอย่างในวัยเด็ก ซึ่งแต่ละคนอาจมีปัจจัยและสิ่งกระตุ้นแตกต่างกันไป
สำหรับวิธีป้องกันและบรรเทาโรคฝันกลางวัน ซึ่งต้องบอกว่าโรคดังกล่าวไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นอาการป่วยจริง ๆ จึงยังรักษาด้วยตัวยาที่คิดค้นมาเพื่อรักษาโรคฝันกลางวันโดยเฉพาะไม่ได้ แต่ก็สามารถป้องกันและบรรเทาได้ด้วยการรู้ตัวอยู่เสมอว่าตอนนี้กำลังอยู่ในโลกใบไหน หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์บางอย่าง เช่น สถานที่ หรือเพลงที่จะทำให้พร่ำเพ้อถึงคืนวันเก่า ๆ แม้โลกแห่งความเพ้อฝันจะเป็นโลกที่น่าปรารถนามากเพียงใด แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ไม่อาจหลีกหนีความจริงได้ว่า เราต้องอยู่กับปัจจุบันและความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า เพราะโลกของเราที่จริงแท้ที่สุดคือ โลกแห่งความเป็นจริง…
ที่มา
- ความเป็นมาของการสะกดจิต (The History of Hypnosis). http://thaihypnosis.net
- ระบบการทรงตัว (The Vestibular System). www.sedthailand.com
- “ฝันกลางวัน” โรคอันตรายที่หอมหวานและน่าหลงใหล. www.dmh.go.th
- A journey round my room. https://archive.org
- Postures of Transport: Sex, God, and Rocking Chairs. https://publicdomainreview.org
- Too Much Sitting: The Population-Health Science of Sedentary Behavior. www.ncbi.nlm.nih.gov
- When Daydreaming Replaces Real Life. www.theatlantic.com/health
- Rocking synchronizes brain waves during a short nap. www.cell.com