Kind Sound

Racing Into the Night: บทเพลงแห่งค่ำคืน ความรัก และความ(อยาก)ตาย


*คำเตือน* บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย (Suicide)

จังหวะสนุกสนานและเสียงร้องสดใสในเพลง Racing Into the Night (夜に駆ける) จากศิลปินดูโอ YOASOBI กับวิดีโอประกอบบทเพลงชวนให้นึกสงสัยว่าเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรกันแน่?


เพลงที่โด่งดังในโลกออนไลน์ ทั้งบนแพลตฟอร์มยอดฮิตอย่าง TikTok และไต่ขึ้นเป็นอันดับ 1 บนบิลบอร์ดชาร์ตประเทศญี่ปุ่นได้นานถึง 3 สัปดาห์ ในปี ค.ศ. 2020 เป็นเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้น タナトスの誘惑 (The Temptation of Thanatos) ของ มาโยะ โฮชิโนะ ที่ชนะการประกวดบนเว็บไซต์ monogatary.com เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชายหนุ่มผู้อยากมีชีวิตและหญิงสาวที่อยากตายอยู่ตลอดเวลา

หลังจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือการสรุปและเปิดเผยเนื้อหาของเรื่องสั้น หากไม่อยากโดนสปอยล์ สามารถอ่านเรื่องสั้นฉบับเต็มภาษาญี่ปุ่นได้ที่: monogatary.com หรือฉบับแปลภาษาอังกฤษที่: latteandcookies.wordpress.com

タナトスの誘惑 (The Temptation of Thanatos)
♫♪

เรื่องราวที่เป็นต้นฉบับของเพลงเริ่มจากผู้ชายคนหนึ่งและหญิงสาวที่อยากฆ่าตัวตาย บนโลกที่แบ่งผู้คนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 生に対する欲動 หรือคนที่อยากใช้ชีวิต เป็นผู้ศรัทธาในอีรอส (Eros) ผู้อยากจะตื่นขึ้นในเช้าวันถัดมาและใช้ชีวิตของตัวเอง พวกเขาตกหลุมรักการมีชีวิตอยู่ กับ 死に対する欲動 หรือคนที่อยากตาย เป็นผู้ศรัทธาในทานาทอส (Thanatos) พวกเขาไม่ได้แค่รู้สึกอยากตาย หากแต่หลงใหลในความตาย มีแค่พวกเขาเท่านั้นที่มองเห็นยมทูต (ซึ่งจะปรากฏตัวในรูปร่างหน้าตาราวกับคนในอุดมคติ) และอยากจะเดินตามเสียงเรียกจากยมทูตไปสู่ความตายนั่นเอง


แน่นอนว่าหญิงสาวเป็นประเภทหลัง และชายหนุ่มเองก็รับรู้มาตลอดเพราะการพบกันครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเธอกำลังจะฆ่าตัวตายและเขาได้ช่วยเธอไว้ พวกเขาเริ่มคุยกันและพัฒนาความสัมพันธ์ ทุกครั้งที่หญิงสาวจะฆ่าตัวตาย เธอจะโทรมาหาเขา และทุกครั้งที่ผ่านมาชายหนุ่มเข้าใจว่าเธออยากจะให้เขามาช่วยเธอจากความตาย แต่ในครั้งสุดท้ายเขาได้รู้ความจริงว่าหญิงสาวก็แค่อยากให้เราตายไปด้วยกันต่างหาก

และจุดจบของเรื่องนี้คือพวกเขาทั้งสองคนได้ออกเดินทางไปสู่ค่ำคืนที่มืดมิดด้วยกัน


Instinct Theory: Eros and Thanatos
♫♪

นอกจากจะเป็นชื่อของเทพแห่งความรักและเทพแห่งความตายแล้ว อีรอสและทานาทอสยังใช้เป็นชื่อแทนทฤษฎีสัญชาตญาณของมนุษย์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้แก่ สัญชาตญาณที่ต้องการดำรงชีพ (Life Instincts) หรือ Eros คือการที่มนุษย์กระทำสิ่งอันเป็นประโยชน์และเอื้อต่อการใช้ชีวิต เช่นการดูแลสุขภาพ ระมัดระวังตนเอง รวมไปถึงการสร้างครอบครัวเพื่อสร้างชีวิตใหม่ ป้องกันไม่ให้มนุษย์สูญพันธุ์ และสัญชาตญาณที่ต้องการตาย (Death Instincts) หรือ Thanatos คือการที่มนุษย์ไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไป เช่น การแสดงออกถึงการกระทำด้านลบต่าง ๆ การทำร้ายตนเอง และการฆ่าตัวตาย โดยกลุ่มคนที่โหยหาความตายนี้ อาจประสบกับเหตุการณ์ที่ใกล้ชิดกับความตาย และได้รับผลกระทบทางจิตใจมาก่อน

อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครเกิดมาแล้วรู้สึกอยากตายทันที ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้พบผ่านเพื่อเติบโตมีอิทธิพลกับความคิดและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต บางเหตุการณ์อาจสร้างความเชื่อมั่น สร้างกำลังใจ กลายเป็นแรงผลักดันให้มีชีวิตต่อไป และบางเหตุการณ์อาจทำลายศรัทธา เกิดความคิดว่าตายเสียยังดีกว่าต้องใช้ชีวิตเช่นนี้ ความรู้สึกในใจโดยเฉพาะด้านลบก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ที่สุดท้ายแล้วก็จะผ่านไป ถ้าหากข้ามไปไม่ได้และจมกับมัน นั่นอาจเป็นสัญญาณของอาการซึมเศร้า


ตัวละครชายหนุ่ม โรคซึมเศร้า และสังคมญี่ปุ่น
♫♪

ด้วยหน้าที่บทบาทตามวิถีเพศ กรอบค่านิยมของสังคมที่แสนเข้มงวด และความหวาดกลัวต่อสายตาของคนรอบข้างที่จ้องมอง ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยแรงกดดัน ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ผู้มีอาการเก็บตัวหรือฮิคิโคโมริ หรืออัตราการฆ่าตัวตายของประชากร สะท้อนความหนักอึ้งที่คนญี่ปุ่นหลาย ๆ คนต้องแบกรับได้เป็นอย่างดี


การเป็นผู้แพ้อาจต้องถูกกลั่นแกล้ง บางคนอาจปิดกั้นตัวเองจากสังคม หรือบางคนเลือกจะจากไปตลอดกาล แต่ใช่ว่าการเป็นผู้ชนะจะอยู่รอดในสังคมได้ ปัญหาในโลกของการทำงานของสังคมญี่ปุ่นก็สาหัสพอ ๆ กัน ブラック 企業 หรือ Black Company คือคำเรียกแทนบริษัทที่ละเมิดสิทธิของแรงงาน ตั้งแต่การบังคับทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ไม่มีวันหยุดงาน เนื้อหางานไม่ตรงกับตำแหน่ง ไปจนถึงการใช้อำนาจกดขี่ หรือการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นปัญหาเรื้อรังถึงขั้นมีการประกาศรางวัล Black Company หรือ Most Evil Corporation Award เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกันเลยทีเดียว

“สำหรับผม คนที่ทำงานใน Black Company และอยู่ตัวคนเดียวมาตลอด เธอเป็นเหมือนนางฟ้าที่สวรรค์ส่งลงมา”

ปูมหลังเล็ก ๆ ที่ มาโยะแทรกไว้ในเรื่องสั้น The Temptation of Thanatos นี้ เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจชีวิตของตัวละครชายหนุ่มมากขึ้น การทำงานในบริษัทที่สูบวิญญาณพนักงาน ประกอบกับการอาศัยอยู่ในห้องเช่าเพียงลำพังมาตลอด ก็เป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักพอจะเชื่อได้แล้วว่าชีวิตของเขาคงไม่ได้มีความสุขเท่าไรนัก

ถึงตรงนี้แล้ว ตัวละครหญิงสาวอาจเป็นสัญลักษณ์แทนโรคซึมเศร้า และเรื่องราวของเขาอาจเป็นการต่อสู้ระหว่างชายหนุ่มและแรงกดดันภายนอกก็ได้ เมื่อชีวิตที่เป็นอยู่ไร้ซึ่งความสุข ความตายที่น่ากลัวจึงอาจกลายเป็นทางออกที่สวยงามกว่า หรือหญิงสาวอาจเป็นความสุขสุดท้ายที่แท้จริง ที่ชายหนุ่มพอจะคว้าเอาไว้ได้ในชีวิตแสนเศร้าซึมของเขา


ไม่มีคำตอบสุดท้ายในบทเพลงจากเรื่องสั้นที่ตั้งอยู่บนเส้นกั้นแสนหมิ่นเหม่ ระหว่างการเปลี่ยนความตายให้เป็นเรื่องโรแมนติกและตอนจบหักมุมระทึกขวัญ มีเพียงแค่คำถามให้ผู้ฟังและผู้อ่านขบคิดกันต่อไป ว่าสุดท้ายแล้วจุดจบในค่ำคืนอันแสนยาวนานคือเส้นทางใหม่ที่พวกเขาจะได้มีความสุขด้วยกัน หรือเป็นเพียงการล่อลวงชายหนุ่มของยมทูตที่ปรากฏในรูปหญิงสาวที่เขารัก ช่องว่างระหว่างบรรทัดและตัวโน้ตให้ผู้อ่านและผู้ฟังได้ตีความ รวมถึงสอดแทรกความเจ็บปวดของการอยู่ภายใต้แรงกดดันของสังคม ประกอบกับดนตรีคุณภาพและเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์ของ YOASOBI ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่าทำไม Racing Into the Night จึงครองอันดับหนึ่งบนบิลบอร์ดชาร์ตญี่ปุ่นได้นานถึง 3 สัปดาห์

สามารถติดตาม YOASOBI ได้ที่ www.youtube.com/channel


ที่มา

  • タナトスの誘惑. https://monogatary.com
  • Black Company ความดำมืดในบริษัทญี่ปุ่น. www.daco-thai.com
  • Freud’s Theories of Life and Death Instincts. www.verywellmind.com
  • โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์. โรคซึมเศร้า กับ คนญี่ปุ่น. https://mgronline.com/japan
  • ประสบการณ์ทำงานจริงที่ Black company ในญี่ปุ่น. https://allabout-japan.com
  • สิ้นหวัง ญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี ปัญหาหลักมาจากโควิดระบาด. https://brandinside.asia

เรื่องโดย