Kind Words

แม่ เมีย ลูกสาว: บทบาทของผู้หญิงสมัยอยุธยากับที่มาของ “วัด”



หากพูดถึง “จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” สิ่งที่ผุดเข้ามาในความคิดก่อนเป็นอันดับแรก ๆ คงหนีไม่พ้น “วัด” หรือโบราณสถานอันเก่าแก่นับร้อยแห่งอย่างแน่นอน ว่าแต่ทำไมอยุธยาถึงมีวัดเยอะ!? นั่นก็เพราะว่าในช่วงสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ต่างเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และมีพระราชนิยมในการสร้างศาสนสถาน ซึ่งได้แก่ วัดวาอารามต่าง ๆ โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา หรือสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิของราชวงศ์ และเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงบุคคล รวมถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ จนถือเป็นพระราชประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน

แม้มายาคติการสร้างวัดส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดให้เพียงเฉพาะบทบาทของกษัตริย์ ขุนนาง ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น ทว่าพระราชนิยมดังกล่าวได้แพร่หลายไปสู่ข้าราชบริพารและราษฎรทั่วไปด้วย (อาจกล่าวได้ว่าเป็นค่านิยมของเหล่าเศรษฐีมีเงินก็ว่าได้) ทำให้ในสมัยอยุธยานั้นมีการสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งวัดหลวงและวัดราษฎร์


จริงอยู่ที่จุดเริ่มต้นของการสร้างวัดส่วนใหญ่มักจะขึ้นอยู่กับบทบาทของผู้ชาย โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ ทว่าบทบาทของผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับวัดก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย โดยวันนี้เราจะขอหยิบยกตัวอย่างวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับผู้หญิงใน 3 บทบาท คือ แม่ เมีย และลูกสาว

วัดที่มีประวัติเกี่ยวกับผู้หญิงในฐานะ “แม่”
▲△▲

แม่ (พระราชมารดา และแม่นม) หนึ่งในบทบาทของผู้หญิงที่ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์เป็นอันดับแรก ๆ ตัวอย่างวัดที่เกี่ยวข้องกับบทบาทนี้ เช่น “วัดพนมยงค์” เป็นวัดที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงสถาปนาขึ้นให้แก่แม่นมของพระองค์นั่นเอง


วัดพนมยงค์ ตั้งอยู่ริมคลองเมือง ตำบลท่าวาสุกรี เป็นวัดที่สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. 2173-2198 เดิมบริเวณที่ตั้งวัดเป็นสวนของพระนมในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีนามว่า “โยง” หรือ “ยง” ตามคำบอกเล่าที่เล่าต่อกันมาว่าพระนมยงเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ ยึดถือคุณธรรมเป็นหลักของชีวิต ทำให้เป็นที่โปรดปรานขององค์พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น เมื่อพระนมยงได้ถึงแก่อนิจกรรมลงแล้ว จึงได้สถาปนาสวนนี้ขึ้นเป็นวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่พระนม เรียกชื่อว่า “วัดพระนมโยง” บ้าง “วัดจอมมะยงค์” บ้าง ต่อมาเรียกว่า “วัดพนมยงค์” หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 วัดนี้ได้ถูกทิ้งร้าง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาตระกูลพนมยงค์จึงได้เป็นโยมอุปถัมภ์วัดนี้มาจนถึงในปัจจุบัน

ภายในวัดจะมีพระอุโบสถทรงท้องสำเภา พร้อมประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอู่ทองอันงดงาม ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีวิหารพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ทำด้วยปูนปั้นสวยงาม ตามความเชื่อเข้าใจว่าแม่นมยงค์น่าจะเกิดวันอังคาร จึงได้สร้างพระนอนองค์ใหญ่ไว้ประจำวัดเพื่อให้ผู้คนบูชากราบไหว้


นอกจากนี้ยังมีวัดอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับบทบาทของแม่อีก เช่น “วัดพระศรีสรรเพชญ์” ตามประวัติศาสตร์เล่าว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสถาปนาขึ้น เพื่อถวายเป็นเกียรติแก่พระราชมารดาที่สิ้นพระชนม์ ภายหลังจากที่ทรงได้รับราชสมบัติขึ้นครองราชย์ และ “วัดไชยวัฒนาราม” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสถาปนาขึ้นหลังจากกระทำพระราชพิธีถวายพระเพลิงศพพระราชมารดาของพระองค์

          วัดที่มีประวัติเกี่ยวกับผู้หญิงในฐานะ “เมีย” 
▲△▲    

เมีย (พระมเหสี และพระสนม) อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของผู้หญิงที่เคียงคู่มากับพระมหากษัตริย์ วัดที่เกี่ยวข้องกันมักสร้างขึ้นภายหลังจากที่พระมเหสี หรือพระสนมสิ้นพระชนม์ และเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องในด้านอื่น ๆ เช่น มาทำบุญอุทิศส่วนกุศล เป็นผู้สถาปนา อำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ และบวชชี เป็นต้น ยกตัวอย่างวัดคู่บ้านคู่เมืองที่หลายคนรู้จักกันดี นั่นคือ “วัดพนัญเชิง”


วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง ตามตำนานเล่าว่าพระมเหสีที่มาจากเมืองจีนมีนามว่า พระนางสร้อยดอกหมากได้สิ้นพระชนม์ลง จากเรื่องราวที่ทรงน้อยพระทัยพระสวามีที่ไม่ทรงมารับจึงไม่ยอมเสด็จขึ้นจากเรือ พระนางจึงตัดพ้อว่า “มาด้วยพระองค์โดยยาก เมื่อมาถึงพระราชวังแล้วเป็นไฉนพระองค์จึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมารับ ก็จะไม่ไป”

พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงทรงสัพยอกอีกว่า “เมื่อไม่อยากขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด” ฝ่ายพระนางสร้อยดอกหมากได้ฟังดังนั้นก็เข้าพระทัยผิดคิดว่าตรัสเช่นนั้นจริง ๆ ก็เสียพระทัยยิ่งนัก จึงกลั้นหายใจจนสิ้นพระชนม์ ณ บนสำเภาเรือพระที่นั่ง ที่ท่าปากน้ำแม่เบี้ย (บริเวณแม่น้ำหน้าวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน) ยังความโศกสลดพระทัยแก่พระเจ้าสายน้ำผึ้งยิ่งนัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะ และสถาปนาบริเวณนั้นเป็นพระอารามนามว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง” หรือ “พแนงเชิง” ซึ่งแปลว่า “พระนางผู้มีแง่งอน” ต่อมาในปัจจุบันเรียกกันว่า “วัดพนัญเชิง”


ทั้งนี้ภายในวัดมีพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระประธานองค์สำคัญ คือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “หลวงพ่อโต” ส่วนวิหารด้านนอกมีตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ซึ่งชาวจีนเรียกว่า “จู้แซเนี้ย” สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ ภายในเต็มไปด้วยศิลปกรรมจีนโดยฝีมือช่างไทย

นอกจากนี้ยังมี “วัดสวนหลวงสบสวรรค์” ที่ตั้งของเจดีย์พระสุริโยทัย ซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้สถาปนาเพื่อเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของพระศรีสุริโยทัย ภายหลังจากสิ้นพระชนม์บนคอช้าง และ “วัดมเหยงคณ์” สร้างในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โดยพระมเหสีของพระองค์ เป็นต้น


วัดที่มีประวัติเกี่ยวกับผู้หญิงในฐานะ “ลูกสาว”
▲△▲

ลูกสาว (พระราชธิดา) ถือเป็นหนึ่งในบทบาทที่ปรากฏไม่มากนัก หากเทียบกับบทบาทของแม่ และเมีย ตัวอย่างเช่น “วัดตะเว็ด” (บางข้อมูลเขียนว่าวัดเตว็ด) ตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใกล้กับวัดพุทไธศวรรย์ย่านริมคลองตะเคียน จากซากโบราณสถานที่เหลือปรากฏ พบว่าเป็นวัดที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงอิทธิพลทางศิลปะของชาติตะวันตกอย่างมาก สอดคล้องตามความนิยมที่เคยมีแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์พระราชบิดาของกรมหลวงโยธาเทพ


วัดตะเว็ด เป็นสำนักชีหลวง ซึ่งสันนิษฐานว่าก่อตั้งในต้นรัชกาลสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) เดิมเป็นตำหนักของกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ และเป็นพระมเหสีในสมเด็จพระเพทราชา เมื่อสมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคต พระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์ กรมหลวงโยธาเทพได้ออกบวชเป็นชีมาอยู่ที่ตำหนักพุทธไธศวรรย์ เมื่อทรงสิ้นพระชนม์ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงได้สถาปนาตำหนักนี้เป็นพระอารามไม่ทราบชื่อ ส่วนชื่อวัดตะเว็ดนั้นมาจากที่ชาวบ้านเรียก มาจากคำว่า “เป็ดเจ็ดตัว” บ้างก็มาจากคำว่า “เจว็ด” เพราะลักษณะอาคารเป็นศาลเจว็ดขนาดใหญ่

จะเห็นได้ว่าบทบาทของกรมหลวงโยธาเทพมีอยู่ 2 สถานะคือ พระมเหสีและพระราชธิดา แต่จากความรำลึกจดจำเกี่ยวกับจดหมายความสำคัญของกรมหลวงโยธาเทพ กลับน่าสนใจตรงที่มุ่งเน้นบทบาทในฐานะพระราชธิดาเป็นหลัก เพราะหลักฐานเกี่ยวกับพระองค์ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานที่ได้จากบันทึกของฝรั่งเศสที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีโบราณสถานที่มีชื่อสรรพนามบ่งชี้ถึงผู้หญิง แต่ไม่ทราบประวัติที่น่าเชื่อถือมากนัก เป็นเพียงแค่ตำนานเล่าเรื่องพื้นบ้าน ที่แต่งแต้มเรื่องราวตามความเข้าใจของคนในท้องถิ่นภายหลัง อาทิ วัดนางกุย วัดนางชี วัดนางคำ วัดบางกะจะ วัดเจ้าย่า วัดสีกาขาว เป็นต้น ทั้งนี้เพราะบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับทางการ กล่าวถึงแต่เรื่องราวของพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่เป็นผู้ชายเป็นหลัก มิได้กล่าวถึงเรื่องของผู้หญิงมากนัก เนื่องจากค่านิยมในสังคมสมัยอยุธยาให้ความสำคัญกับการแสดงตัวเป็นคนดี มีบุญญาธิการ และความกตัญญู

ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงได้สร้างวัดอุทิศถวายให้แก่พระราชมารดา (แม่) พระมเหสีหรือพระสนม (เมีย) และพระราชบุตรี (ลูกสาว) ซึ่งเป็นบทบาทที่สังคมคาดหวัง เพื่อแสดงบุญบารมี และศักยภาพที่มีต่อการปกครองบ้านเมือง เพราะสังคมของวัฒนธรรมไทยมีแนวโน้มเชื่อว่าผู้ชายที่ดีก็คือผู้ปกครองที่ดีด้วย การสร้างวัดอุทิศถวายแด่พระราชมารดา พระมเหสีหรือพระสนม สำหรับโลกทางสังคมการเมืองแบบอยุธยาจึงเป็นสิ่งที่มีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับทุกรัชกาลนั่นเอง


ที่มา

  • กำพล จำปาพันธ์. ผู้หญิงในศิลปกรรมอยุธยา-รัตนโกสินทร์: ภาพลักษณ์ มุมมอง และเรื่องเล่า. มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับที่ 7: 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2562)
  • วัดพนมยงค์. http://culturalenvi.onep.go.th
  • วัดพนมยงค์ เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยาตอนกลาง มีพระอุโบสถ. https://bit.ly/3vtnNMR
  • อนุสรณ์แห่งความรัก ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก. www.posttoday.com/life/travel

เรื่องและภาพโดย