Kind Dine

ทำไม “Poutine” มันฝรั่งทอดสไตล์แคนาดา ถึงไม่ใช่ของชาวแคนาดา


เมื่อนึกถึงประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของธรรมชาติ ประเทศแรก ๆ ที่คิดขึ้นมาในหัวคือ “แคนาดา” ทั้งทะเลสาบที่มีอยู่มากมาย จนได้รับการขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งทะเลสาบ (Land of Lake) ทิวทัศน์ที่งดงามราวกับภาพวาด วัฒนธรรมที่มีความหลากหลายจากกลุ่มคนหลากชาติพันธุ์ และอาหารที่มีความพิเศษเฉพาะหาที่ไหนเหมือนได้ยาก สิ่งเหล่านี้ทำให้เมืองที่เรามักจินตนาการถึงในโลกเทพนิยายกลายเป็นเรื่องราวในชีวิตจริง

แต่ภายใต้ความสวยงามย่อมมีเรื่องราวที่สลับซับซ้อนมากกว่านั้น หากเราลอกเปลือกนอกออกมาเชยชมเนื้อแท้ที่อยู่ด้านในจะพบว่า ประเทศแห่งนี้ไม่เคยห่างหายจากความตึงเครียดทางการเมืองมานานนับ 50 ปี โดยเฉพาะในควิเบก (Québec) เมืองที่มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ของแคนาดา ไม่เพียงเท่านั้น นครแห่งนี้ยังแตกต่างจากเมืองในทวีปอเมริกาเหนืออีกหลายแห่ง ตั้งแต่อาคารบ้านเรือน วัฒนธรรม และความเป็นตัวของตัวเองอย่างสุดโต่ง


โดยเฉพาะเรื่องภาษา ชาวควิเบกใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสาร ขณะที่เมืองอื่น ๆ ใช้ภาษาอังกฤษ และพวกเขาไม่เคยคิดที่จะบอกใคร ๆ ว่าเป็น ชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส (French Canadian) แต่พอใจที่จะเรียกตัวเองว่า เกเบกัว (Quebecois) ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นชนวนความขัดแย้งอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่ชาวควิเบกทำการลงประชามติเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเองในปี ค.ศ. 1995 แต่ควิเบกก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของแคนาดามาจนกระทั่งปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 2018 พรรคการเมืองปีกขวาโคอาลิชัน อเวเนียร์ ควิเบค CAQ (Coalition Avenir Québec) ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งนโยบายของพรรคคือการสนับสนุนให้ควิเบกยังคงเป็นส่วนหนึ่งของแคนาดา พร้อมทั้งได้ออกนโยบายลดภาษี แปรรูประบบประกันสุขภาพแคนาดาบางส่วนให้เป็นเอกชน และลดจำนวนคนอพยพเข้าเมือง นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปีที่พบว่าความวิตกถึงแนวคิดการแยกควิเบกออกจากแคนาดาจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ทางการเมืองอีกต่อไป


Poutine กับความขัดแย้งภายในประเทศ
●●●

อีกหนึ่งความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานระหว่างชาวควิเบกและชาวแคนาดา คือ ปูทีน (Poutine) มันฝรั่งทอด ราดน้ำเกรวี่ และชีสเคิร์ด (Cheese Curd) อาหารที่ยังไม่สามารถระบุว่าเป็นของชาวแคนาดาได้อย่างเต็มปาก เพราะปูทีนถูกคิดค้นโดยชาวควิเบก (หรือ เกแบ็ก – Québec) ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ดูท่าจะไม่อยากจะให้ปูทีนเป็นของแคนาดาเท่าไหร่นัก เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่กล่าวไปข้างต้น

ปูทีนเริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี ค.ศ. 1950 ด้วยรสชาติที่แตกต่างทำให้ปูทีนกลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมไปทั่วแคนาดา และในปี ค.ศ. 1990 ปูทีนก็อยู่ในเมนูประจำร้านอาหารอีกหลายแห่ง ตั้งแต่ร้านอาหารชั้นนำไปจนถึงร้านอาหารสตรีทฟู้ด แม้แต่ร้านอาหารจานด่วนชื่อดังอย่าง McDonald’s และ Burger King เองก็มีเมนูปูทีนอยู่ในรายการอาหารเช่นกัน

ปัจจุบัน ปูทีนเป็นที่รู้จักในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เกาหลี และรัสเซีย ซึ่งในภาษารัสเซียได้มีการเล่นคำเป็นรัสปูติน (Raspoutine แปลว่า จอมตัณหา) ชายผู้เป็นนักบวช หมอผี ผู้วิเศษ แล้วแต่ใครจะนิยามผู้นี้ มีสิ่งหนึ่งที่เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คนทั่วโลกคือ เขาคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ราชสำนักโรมานอฟต้องล่มสลาย สำหรับกรุงเทพฯ เองก็มี Bangkok Poutine ร้านอาหารต้นตำรับจากแคนาดาแท้ ๆ ที่เปิดมานานกว่าสิบปี ให้เราได้ลิ้มลองรสชาติอาหารที่ยังมีข้อพิพาทนี้ได้โดยไม่ต้องบินไปไกลถึงประเทศต้นกำเนิด


กว่าจะมาเป็น Poutine
●●●

ต้นกำเนิดที่แท้จริงของปูทีนยังไม่สามารถระบุเป็นที่แน่ชัดว่า ใครเป็นผู้คิดค้น แต่สิ่งที่นักประวัติศาสตร์สามารถระบุได้อย่างชัดเจนคือ ปูทีนถูกคิดค้นโดยชาวควิเบก โดยหลักฐานชิ้นแรกได้บ่งชี้ไปในปี ค.ศ. 1957 เกิดขึ้นระหว่างที่ Eddy Lainesse พนักงานขับรถบรรทุกได้แวะทานอาหารมื้อเที่ยงที่ร้าน Café Ideal (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Le Lutin Qui Rit – The Laughing Elf ปัจจุบันปิดกิจการแล้ว) ของ Fernand Lachance ในเมืองวอร์ริก (Warwick) เมืองเล็ก ๆ ในควิเบก เขาเห็นชีสจำนวนมากวางเรียงรายอยู่บนเคาน์เตอร์คิดเงิน Lainesse เลยมีความคิดขึ้นมาว่า ไหน ๆ เขาก็ชอบทานมันฝรั่งทอดเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว แล้วทำไมไม่ลองราดชีสเสียหน่อยล่ะ จะได้ทานบนรถได้อย่างสบายใจด้วย

“หน้าคุณจะเลอะไปหมดน่ะสิ” Lachance กล่าวปนขำ ซึ่งคำว่า Poutine ยังเป็นคำแสลงของชาวควิเบกแปลว่า เลอะเทอะ อีกด้วย

แต่เมื่อเห็นลูกค้าประจำรายนี้ยังคงยืนยันที่จะเอามันฝรั่งทอดราดชีสอยู่ เขาจึงไม่ลังเลที่จะคว้าถุงกระดาษขึ้นมา พร้อมหยิบมันฝรั่งทอดและราดชีสเคิร์ดสดใหม่ลงไปในถุง แม้จะเป็นออเดอร์ที่ค่อนข้างประหลาด แต่ในไม่ช้าเมนูที่สุดแปลกนี้ก็ค่อย ๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเป็นเช่นนั้น Lachance จึงตัดสินใจนำเมนูนี้มาใส่ในรายการอาหารของร้าน และได้รับกระแสตอบรับในเชิงบวกมาโดยตลอด แต่เปลี่ยนจากเสิร์ฟในถุงกระดาษมาจัดวางบนจานแทน อีกหนึ่งปัญหาที่เขาพบคือ ลูกค้ามักจะบ่นเสมอว่า อาหารจานนี้เย็นเร็วจนเกินไป ทำให้พวกเขาทานไม่อร่อย Lachance จึงลองนำน้ำเกรวี่มาราดเพื่อรักษาอุณหภูมิของปูทีน ปูทีนจึงกลายเป็นอาหารครองใจผู้คนละแวกนั้นอย่างง่ายดาย


ขณะที่หลักฐานต้นกำเนิดของปูทีนอีกชิ้นหนึ่งเผยว่า ในปี ค.ศ. 1958 Jean-Paul Roy เจ้าของร้านอาหารแบบไดร์ฟอินกล่าวว่า เขาคือผู้คิดค้นปูทีนตัวจริง แต่เขาเรียกว่า Patate-sauce ซึ่งเป็นของทอดที่ราดด้วยซอสสูตรพิเศษ ต่อมาลูกค้าเริ่มราดชีสเคิร์ดลงไปด้วย เขาเห็นถึงความนิยมดังกล่าวเลยเพิ่มเมนูนี้ลงในรายการอาหารในปี ค.ศ. 1964

หลังจากนั้นไม่นาน ปูทีนก็เริ่มโด่งดังจนฉุดไม่อยู่ จากเมืองในชนบทเล็ก ๆ ของควิเบก ก็เริ่มขยับมาเป็นที่นิยมในควิเบกซิตี้ในปี ค.ศ. 1969 และมอนทรีออลในปี ค.ศ. 1983 แม้ว่าจะได้รับกระแสตอบรับที่ดี แต่จากการศึกษาเรื่อง Poutine Dynamics ของนักปูทีนวิทยา Nicolas Fabien-Ouellet ในปี ค.ศ. 2017 เผยให้เห็นว่า คนสมัยก่อนมักหลีกเลี่ยงที่จะทานปูทีน เนื่องจากพวกเขามองว่านี่คืออาหารของชนชั้นแรงงาน การที่จะทานอาหารประเภทนี้จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าอับอาย ขณะที่บางคนมองว่า ปูทีน คืออาหารที่แสดงถึงความล้าหลังทางวัฒนธรรมของชาวควิเบก เพราะอาหารจานนี้มีกระบวนการทำที่ง่ายและที่มายังคลุมเครือ ส่งผลให้ปูทีน กลายเป็นอาหารที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก

ถึงขนาดที่ในปี ค.ศ. 2003 กลุ่มแม่ ๆ ของนักเรียนในโตรอนโต (The Poutine Police) ได้ยื่นคำร้องขอให้นำปูทีนออกจากเมนูของโรงอาหาร เนื่องจากปูทีนมีไขมันสูงและไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายเด็ก ๆ แน่นอนว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ปูทีนถูกถอดออกจากเมนูอาหารในโรงเรียนท้องถิ่น และแทนที่ด้วยอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเด็กในวัยเรียน


Poutine อาหารที่ทลายกำแพงทางชนชั้น
●●●

จากความเชื่อในอดีตที่มองว่าปูทีนเป็นอาหารสำหรับชนชั้นแรงงาน ปัจจุบันความคิดดังกล่าวถูกมองว่าล้าสมัยไปแล้ว เมื่อในปี ค.ศ. 2001 เชฟชื่อดัง Martin Picard ได้นำปูทีนอาหารที่มีกระบวนการทำไม่ซับซ้อนนี้ มารังสรรค์เป็นเมนูสุดพิเศษโดยนำฟัวกราส์เสิร์ฟพร้อมปูทีนในภัตตาคารหรู Au Pied de Cochon เชฟ Picard ได้แสดงให้เห็นว่า ปูทีน ไม่ใช่อาหารสำหรับชนชั้นแรงงานอีกต่อไป แต่นี่คืออาหารสำหรับคนทุกชนชั้น ไม่ว่าจะทำงานใช้แรงงาน หรือเป็นผู้ดีเก่า ทุกคนสามารถเข้าถึงรสชาติของปูทีนได้โดยไม่ต้องรู้สึกละอายใจที่จะทานอาหารประเภทนี้

ต่อมาในปี ค.ศ. 2011 ชื่อเสียงของปูทีนก็ดังกระฉ่อนขึ้นอีกครั้ง เมื่อ Chuck Hughes ได้เอาชนะคู่แข่งในรายการ Iron Chef America ด้วยเมนูล็อบสเตอร์ที่เสิร์ฟคู่กับปูทีน แม้ว่าปูทีนจะได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าอยากทานปูทีนรสชาติออริจินัลแท้ ๆ ต้องเดินทางไปทานที่ควิเบกเท่านั้น เพราะนี่คืออาหารท้องถิ่นที่ชาวเกเบกัวภาคภูมิใจ ไม่ใช่อาหารสัญชาติแคนาดาแต่อย่างใด



อ้างอิง


เรื่องโดย