Kind Journey

หมุดหมายสุดหลอนในแดนภารตะ

ฮาโลวีนที่อินเดียจะเป็นยังไงนะ? เคยสงสัยไหมว่า ประเทศที่อุดมไปด้วยเทศกาลประจำชาติอย่างอินเดีย จะมีเทศกาลสุดป๊อปจากโลกตะวันตกด้วยหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่า อินเดียก็จัดวันฮาโลวีนเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่รับวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นเกียรติแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของฝั่งยุโรปมา แต่ที่อินเดียไม่ได้เป็นที่นิยมมากนะ เพราะอินเดียก็มี “วันแห่งความตาย” ของตัวเอง และไม่ใช่เพียงเทศกาลเดียวด้วย

ชาวอินเดียไม่นิยมใช้เรื่องสยองขวัญและผีเป็นการอุปมาเรื่องคนตายอย่างชาติอื่น ๆ แต่พวกเขาจะระลึกถึงผู้ล่วงลับด้วยการถือศีลอดและสวดมนต์ หนึ่งในเทศกาลดังกล่าวคือ Narak Chaturdashi ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม 2565 เป็นเทศกาลทางศาสนาของชาวฮินดู ซึ่งตามวรรณคดีเล่าว่า อสูร Naraka ได้ถูกสังหารในวันนี้โดยกฤษณะ (Krishna) สัตยาภมะ (Satyabhama) และ กาลี (Kali) ซึ่งเป็นทีมไล่ล่าอสูร โดยทุก ๆ ปีจะมีงานพิธีกรรมทางศาสนาและการเฉลิมฉลองตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเย็น หรืออย่างในรัฐเบงกอลตะวันตก ก็มีการเฉลิมฉลองที่เรียกว่า Bhoot Chaturdashi ซึ่งตรงกับเทศกาล Narak Chaturdashi โดยมีความเชื่อว่า ม่านระหว่างโลกปัจจุบันกับโลกใต้พิภพนั้นบางมาก บรรพบุรุษจึงสามารถเดินทางมายังโลกเพื่อให้พรแก่ครอบครัวผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้

เรื่องราวโลกแห่งความตายของชาวฮินดูมีมากมายให้น่าค้นหา แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องผี ๆ ชวนขนลุก เพราะ KiNd จะชวนผู้อ่านไปปักหมุดสถานที่สุดหลอนในแดนภารตะกันดูว่า ดินแดนที่อุดมไปด้วยความหลากหลายแห่งนี้ จะมีสถานที่ลึกลับหรือเรื่องเล่าตำนานปนความสยองที่ไหนบ้างให้ไปตามรอยกัน


Kuldhara หมู่บ้านร้างในราชสถาน

มีความเชื่อกันว่า กุลธารา (Kuldhara) เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่มีผีสิงมากที่สุดในอินเดีย ถนนที่รกร้าง คับแคบ และเก่าแก่แห่งนี้ เป็นที่มาของตำนาน นิทานพื้นบ้าน เรื่องราวของผี และสิ่งเหนือธรรมชาติอันน่าขนลุกมากมาย

ห่างจากเมืองไจซาลเมอร์ (Jaisalmer) ไป 17 กิโลเมตร จะพบกับหมู่บ้านกุลธารา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรือง แต่ตอนนี้พังทลายลง เหลือเพียงซากของบ้านร้างที่อยู่ในสภาพสิ้นหวัง เรื่องราวของสิ่งลี้ลับในหมู่บ้านแห่งนี้ เกิดขึ้นประมาณ 300 ปีที่ผ่านมา เมื่อหมู่บ้านแห่งนี้เป็นบ้านของพราหมณ์ปาลิวาล (Paliwal) ราว 1,500 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มานานกว่าห้าศตวรรษอย่างสงบสุข แต่ในคืนหนึ่ง ประชากรทั้งหมดกว่า 85 หมู่บ้าน หายไปในชั่วข้ามคืนในความมืดมิด ทิ้งไว้เพียงคำสาปที่ยังคงหลงเหลืออยู่ และไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาไปไหน ผู้คนต่างคิดหาคำตอบกันมานานหลายศตวรรษว่าเหตุใดจึงทำให้ผู้คนต้องหลบหนีเพียงชั่วข้ามคืน

อย่างไรก็ตาม มีข่าวลือว่า ซาลิม ซิงห์ (Salim Singh) นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเก็บภาษีอย่างขูดรีดขูดเนื้อ ได้จับตาดูหญิงสาวปาลิวาลพราหมณ์ และตัดสินใจแต่งงานโดยปราศจากความยินยอมจากเธอ ซาลิม ซิงห์ ขู่คนในหมู่บ้านว่า ถ้าเขาไม่ได้แต่งงาน ชาวบ้านจะเจอกับผลร้ายตามมา ชาวบ้านทั้งหมดจึงตัดสินใจหนีออกจากหมู่บ้านในคืนนั้น พร้อมกับสาปแช่งไม่ให้ใครมาอาศัยในหมู่บ้านนี้ได้อีก ขณะที่อีกหนึ่งตำนานเล่าว่า เป็นเพราะพราหมณ์ปาลิวาลในหมู่บ้านถูกเรียกเก็บภาษีจำนวนมาก ส่งผลให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องหนีจากเงื้อมมือของผู้ปกครองท้องถิ่น แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมาหลายปี แต่หมู่บ้านนี้ก็ยังร้างไร้ผู้คนเช่นเดิม แม้แต่ชาวไจซาลเมอร์เองก็พยายามจะย้ายมาอยู่ที่นี่ แต่ก็ไม่สำเร็จ

ปัจจุบัน นักล่าผีและนักท่องเที่ยวที่ชอบความหลอน ต่างเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศอันน่าขนลุกของที่นี่ เพื่อชมด้านมืดของรัฐราชสถาน ซึ่งหลาย ๆ คนพยายามเปิดเผยความลึกลับของสถานที่แห่งนี้ว่าเหตุใดเพียงค่ำคืนเดียวสถานที่แห่งนี้ถึงถูกทิ้งร้างไปหลายปี



บ่อน้ำขั้นบันได เรื่องเล่าเคล้าตำนาน บนแลนด์มาร์กสุดฮิตของเดลี

อัครเสน กี บาวลี (Agrasen ki Baoli) เป็นบ่อน้ำขั้นบันไดเก่าแก่ ตั้งอยู่ใกล้กับย่านคอนน็อตเพลสในนิวเดลี ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกรมสำรวจโบราณคดีอินเดีย (ASI) มีความยาว 60 เมตร และกว้าง 15 เมตร ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างบ่อน้ำขั้นบันไดนี้ แต่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดยราชาในตำนานพระนามว่า ราชาอัครเสน ส่วนลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏนั้นเข้าใจว่าสร้างขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 14

แม้ว่าในปัจจุบัน คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวจำนวนมากจะใช้แลนด์มาร์กแห่งนี้เป็นที่หลบความร้อนในช่วงอุณหภูมิสูงสุดขีดของเดลี และหลายคนก็มักถ่ายภาพสถานที่สุดฮิตแห่งนี้ลงในอินสตาแกรม แต่ที่หลายคนไม่รู้ก็คือ ที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีผีสิงมากที่สุดในเดลี มีตำนานเล่าว่า น้ำที่รวบรวมไว้ที่นี่เคยเปลี่ยนเป็นสีดำ และมีปีศาจซ่อนตัวอยู่ในกำแพง

ปัจจุบัน Baoli หรือบ่อน้ำในเดลีมีประมาณ 14 แห่ง ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยกรมสำรวจโบราณคดีของอินเดีย และหากนับรวมทั้งประเทศ อินเดียมีบ่อน้ำขั้นบันไดโบราณราวกว่า 2,000 แห่งเลยทีเดียว



Terra Vera คฤหาสน์ผีสิงแห่งบังกาลอร์

คฤหาสน์ผีสิงในบังกาลอร์แห่งนี้ เป็นสถานที่ที่น่ากลัวที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย Terra Vera ตั้งอยู่บนถนน St. Marks ในเมืองบังกาลอร์ รัฐกรณาฏกะทางใต้ของอินเดีย คฤหาสน์หลังนี้สร้างในยุคอาณานิคม ปี ค.ศ. 1943 โดย EJ Vaj เขามีลูกสาวสองคนคือ Dolce และ Vera เรื่องราวดำเนินไปปกติ แต่แล้วกลับพลิกผันอย่างโหดร้ายในคืนหนึ่งของปี ค.ศ. 2002 เมื่อ Dolce ลูกสาวคนโตของ EJ Vaj ซึ่งเป็นครูสอนเปียโนได้ถูกแทงตายในบ้าน ร่างของเธอถูกฝังอยู่ในนั้นโดยไม่ปรากฏผู้ร้าย ขณะที่ Vera ย้ายออกจากบ้านไม่นานหลังจากนั้น ในไม่ช้าผู้คนก็เริ่มเห็นผีในบ้าน รวมทั้งเพลงบรรเลงจากเปียโน มีรายงานว่ากลุ่ม Ghostbusters พบไม้กางเขนคว่ำอยู่ในบ้าน ปัจจุบัน อาคารหลังนี้ถูกรื้อถอนออกไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าเข้าใกล้บริเวณนี้อยู่ดี



Golkonda Fort ป้อมปราการสุดหลอนในเมืองไฮเดอราบัด

นอกเหนือจากชื่อเสียงในฐานะป้อมปราการที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดียแล้ว ป้อมโกลคอนดา (Golkonda) ในเมืองไฮเดอราบัด รัฐเตลันกานายังมีชื่อเสียงในเรื่องราวสยองขวัญด้วย ไฮเดอราบัดถูกปกครองโดยราชวงศ์ต่าง ๆ มานานหลายศตวรรษ มีเรื่องเล่าว่า ผู้คนที่เดินทางมายังป้อมโกลคอนดาถูกวิญญาณของทหารหลอกหลอน และมีตำนานว่า ผู้คนเคยเห็นโสเภณีที่มีชื่อเสียงที่สุดของราชวงศ์ Qutub Shah ที่เสียชีวิตลงแล้วมาเต้นรำในป้อมปราการ หรือไม่ก็ได้ยินเสียงร้องอย่างเจ็บปวดของหญิงสาวอย่างไม่มีที่มา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ดูแลป้อมปราการจะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในยามพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า



บ้านแห่งความหลุดพ้น เมืองกาศี รัฐอุตตรประเทศ

ปิดท้ายด้วยสถานที่รอวันคืนสู่นิพพานของชาวอินเดีย นั่นคือ กาศี ลาภ มุกติ ภาวัน (Kashi Labh Mukti Bhawan) หรือ บ้านแห่งความหลุดพ้น ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ โดยผู้ประสงค์เข้าพักในบ้านพักแห่งนี้จะเป็นผู้ที่ใกล้ถึงความตาย และจะมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อระลึกถึงพระเจ้า โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีกรรมให้ ได้แก่ การอาบน้ำล้างบาป การสวดมนต์บูชาเทพเจ้า การสั่นระฆังเพื่อส่งสัญญาณถึงพระเจ้า เป็นต้น ซึ่งผู้มาอยู่อาศัยจะสามารถมาพักรอความตายได้ประมาณ 20 คนต่อเดือนเท่านั้น โดยการพักในบ้านหลังนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับคนจน และอยู่ได้ไม่เกิน 15 วัน หากเกินกว่านั้นจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

ตามประวัติความเป็นมา บ้านหลังนี้ก่อสร้างในปี ค.ศ. 1908 แล้วเปิดให้บริการเป็นบ้านแห่งความหลุดพ้นในปี ค.ศ. 1950 ปัจจุบันกาศี ลาภ มุกติ ภาวัน กลายเป็นจุดหมายสำคัญที่นักท่องเที่ยว ผู้มีความศรัทธา และผู้ที่ต้องการศึกษาเพื่อเตรียมตัวกลับสู่โลกแห่งความหลุดพ้น มาสัมผัสสักครั้งในชีวิต

เป็นอย่างไรบ้างกับ 5 สถานที่สุดหลอนใน 5 รัฐ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ของอินเดีย มีทั้งเรื่องเล่าลึกลับ ปริศนาที่ยังไขไม่ได้ รวมไปถึงความเชื่อในโลกแห่งความหลุดพ้น หากใครมีโอกาสไปเยือนดินแดนแห่งความหลากหลายนี้ และชื่นชอบเรื่องราวสยองขวัญ น่าจะลองไปเยือนสถานที่เหล่านี้กันดูสักครั้ง


อ้างอิง

เรื่องโดย