ลวดลายตัวอักษรตวัดวาดเส้นสาย สีฉูดฉาดจัดจ้านพ่นระบายหลากสไตล์อยู่บนกำแพง สะท้อนความดิบเถื่อนและความแข็งกร้าวในความคิดของเหล่าศิลปินหัวขบถ ผ่านผลงานศิลปะที่เรียกกันว่า “กราฟฟิตี” (Graffiti)
ในอดีต กราฟฟิตีเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้แสดงตัวตนและแสดงออกทางความคิดเพื่อปลดแอกจากอะไรบางอย่าง และสะท้อนปัญหาสังคมที่หลายคนพูดไม่ได้ (หรือไม่พูด) แต่ปัจจุบัน กราฟฟิตีได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และได้วิวัฒนาการสู่วิถีของสตรีตอาร์ตที่ช่วยสร้างจุดขายให้พื้นที่นั้น ๆ กลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้ชื่นชอบศิลปะได้เป็นอย่างดี
วันนี้ KiNd ชวนไปค้นหาสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ตัวอักษร ภาพสุดอาร์ตบนกำแพง และกระป๋องสเปรย์พ่นสีเหล่านี้กัน!
ศิลปะบนผนังไม่ใช่เรื่องใหม่
ย้อนกลับไปราว 10,000 ปีก่อนคริสตกาล ผู้บุกเบิกศิลปะบนผนังไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่เป็นเหล่าบรรพบุรุษของมวลมนุษยชาติในช่วงยุคหินที่อาศัยอยู่ตามถ้ำนั่นเอง เรียกว่าเป็นศิลปินยุคก่อนประวัติศาสตร์ผู้มาก่อนกาลในวงการกราฟฟิตีเลยก็ว่าได้ โดยศิลปะบนผนังถ้ำในยุคนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นรูปสรรพสัตว์ที่มนุษย์ค้นพบในยุคน้ำแข็ง อาทิ ช้างแมมมอธ ม้า สิงโต และกวาง เป็นต้น ส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยสีแดงหรือสีดำซึ่งทำจากหิน งานบางชิ้นสร้างสรรค์ขึ้นโดยการทาสีลงผนังถ้ำโดยตรง หรือการสลักผนังถ้ำด้วยเครื่องมือก่อนลงสี ดังนั้น หากจะบอกว่าจุดเริ่มต้นพื้นฐานของกราฟฟิตีมาจากมนุษย์ถ้ำก็ดูจะไม่ผิดแผกอะไร
Photo Credit: mymodernmet.com
สำหรับกราฟฟิตีในโลกยุคปัจจุบัน จากการหาข้อมูลในเว็บไซต์ต่าง ๆ พบว่า คำว่า “กราฟฟิตี” (Graffiti) หมายถึง ภาพวาดที่เกิดจากการขูดขีดผนัง มาจากคำว่า “Graphien” ในภาษากรีกที่แปลว่าการเขียน ถือเป็นวัฒนธรรมนอกกระแสอันเป็นสัญลักษณ์ของความขบถ และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิปฮอป เริ่มต้นจากการขีดเขียนตามที่สาธารณะของชาวผิวดำในอเมริกา ในยุคที่เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและมีการเหยียดผิวเกิดขึ้น
Photo Credit: www.drips.fr
ในช่วงปลายปี 1960 กราฟฟิตีสมัยใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในเมืองฟิลาเดเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านผู้ที่ใช้นามแฝงว่า “Cornbread” (หรือชื่อจริงคือ Darryl Alexander McCray) ซึ่งหลายคนยกย่องให้เขาเป็นบิดาแห่งกราฟฟิตีสมัยใหม่เลยทีเดียว เนื่องจากเป็นศิลปินกราฟฟิตีคนแรกของโลก แต่บ้างก็ว่า กราฟฟิตีมีจุดเริ่มต้นมาจากมหานครนิวยอร์กในปี 1968 โดยมีผู้ขีดเขียนลายเซ็นชื่อหรือนามแฝงของตนอยู่ทั่วเมือง (เรียกการใช้เทคนิคนี้ว่า “Tag” คือ การเซ็นชื่อหรือนามแฝง มักใช้สีเดียว และพ่นตัวอักษรเกี่ยว ๆ กัน ให้อ่านไม่ออกเพื่อให้สะดุดตา) เพื่อเป็นการแสดงตัวตนลงไปในสถานที่สาธารณะ เช่น กำแพงอาคารต่าง ๆ รวมทั้งผนังในสถานีรถไฟใต้ดิน
ศิลปินในช่วงยุคบุกเบิก ได้แก่ “Julio204” นามแฝงของชาวเปอร์โตริโกที่อาศัยอยู่เกาะแมนแฮตตัน และ “Taki183” นามแฝงของเด็กหนุ่มชาวกรีกที่อาศัยอยู่ย่านแมนแฮตตันเช่นเดียวกัน ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจต่อมาจาก Julio204 อีกทีนั่นเอง และในที่สุดสปอตไลต์ก็ได้ฉายส่องลงมาสู่โลกของกราฟฟิตีในปี 1971 เมื่อหนังสือพิมพ์ชื่อดัง The New York Times ได้ลงข่าวเกี่ยวกับผลงานของ Taki183 ส่งผลให้วงการกราฟฟิตีเกิดความเคลื่อนไหว เกิดศิลปินหน้าใหม่ขึ้นจำนวนมาก และเป็นที่รู้จักในสังคมกระแสหลักมากขึ้น
Photo Credit: tonyface.blogspot.com
Photo Credit: www.taki183.net
เส้นบาง ๆ คั่นกลางระหว่าง “ศิลปะ”
และ “อาชญากรรม”
Photo Credit: hyperallergic.com
แม้กราฟฟิตีจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะใช้พื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ในหลายประเทศถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดในข้อหาทำลายทรัพย์สิน หรือในกรณีของไทยเป็นความผิดพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 แต่ด้วยเทคนิคลวดลายอันโดดเด่น มีเอกลักษณ์ที่แปลกตา จากกำแพงธรรมดา ๆ ที่ว่างเปล่าไม่มีใครเหลียวแล กลับดึงดูดความสนใจของคนที่เดินผ่านไปมาได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดการเลียนแบบ จนมีการพัฒนารูปแบบและกระจายผลงานไปทั่วโลก
จนในที่สุด กราฟฟิตีก็ได้รับการยอมรับในฐานะวัฒนธรรมย่อย ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะ ความเป็นตัวตน และความเป็นขบถไว้ด้วยกัน ปลดปล่อยเสรีภาพทางความคิดอันท้าทายต่อกฎหมาย เสียดสีประเด็นทางการเมือง และปัญหาสังคม บางประเทศเลือกที่จะปรับตัวและยอมรับกราฟฟิตีในฐานะส่วนหนึ่งของความเป็นเมือง ทั้งยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนด้วย ปัจจุบัน กราฟฟิตีไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนกำแพงในที่สาธารณะเท่านั้น แต่ยังไปอยู่ตามร้านอาหาร ผับ คาเฟ่ต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้สถานที่เหล่านั้น ดูเท่ คูล เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามามากยิ่งขึ้นด้วย
Photo Credit: www.ktc.co.th
ตัวอย่างประเทศที่นำกราฟฟิตีมาสร้างมูลค่าให้กับเมือง เช่น เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเปิดโอกาสให้ศิลปินกราฟฟิตีจากทั่วโลกมาสร้างผลงานตามกำแพงจนเป็นเอกลักษณ์ของเมือง กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก หรือเมืองเมล์เบิร์น ประเทศออสเตรเลีย หนึ่งในเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องศิลปะและดนตรี นักท่องเที่ยวสามารถดื่มด่ำกับงานศิลป์ได้ทั่วทั้งเมืองตามตรอกซอกซอย แต่ย่านกราฟฟิตีที่แต่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ Hosier Laneway
Photo Credit: www.visitvictoria.com
สำหรับใครที่เคยคิดว่า งานกราฟฟิตีเป็นแค่ศิลปะข้างถนนของเด็กมือบอนคงต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะมีศิลปินสายกราฟฟิตีระดับสากลที่โด่งดังไปทั่วโลกจนทำรายได้มหาศาล อาทิ Jean-Michel Basquiat เขาเริ่มพ่นสีสเปรย์ลงบนถนนเมื่อปี 1970 ก่อนที่จะกลายเป็นศิลปินกระแสหลักที่หลายคนเคารพนับถือในยุค 80 และ Banksy ศิลปินชาวอังกฤษที่ผลงานของเขาถูกพูดถึงในวงกว้าง มักสร้างผลงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองหรือมุกตลกเสียดสีสังคม โดยผลงานของเขาถูกขายไปแล้วกว่า 100,000 ปอนด์ (ประมาณกว่า 4 ล้านบาท)
Photo Credit: www.voguehk.com
ความต่างบนความเหมือนของสตรีตอาร์ต
และกราฟฟิตี
Photo Credit: weandthecolor.com
กราฟฟิตีและสตรีตอาร์ต หากมองเพียงผิวเผินจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก แต่มีจุดแตกต่างที่สังเกตได้ดังนี้ สำหรับกราฟฟิตี พื้นหลังของศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานมักจะมาจากความชื่นชอบในวัฒนธรรมฮิปฮอป ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ศิลปะจะมีความกบฎอยู่ในตัว เน้นเรื่องการสื่อความหมาย แสดงตัวตน ปลดปล่อยความคิด ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่งานของตัวอักษร (Typography) ที่ใช้สเปรย์เกือบ 100% (แต่ปัจจุบันมีการผสานหลายเทคนิคมากขึ้น) เพื่อประกาศชื่อตัวเองหรือประกาศศักดาของกลุ่ม หรือแสดงออกถึงการเสียดสีสังคมและการเมือง
Photo Credit: www.ain0410.com
แตกต่างกับสตรีตอาร์ตที่ค่อนข้างจะเปิดกว้างมากกว่า ศิลปินผู้รังสรรค์จะมีความหลากหลาย งานจะเน้นความสวยงามและสดใส โดยจะรวมทุกเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นการพ่น การเพ้นท์ การปั้น 3D อาร์ต ศิลปะจัดวาง และสติกเกอร์อาร์ต เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความถนัดของศิลปินแต่ละคน ทั้งนี้ การสร้างผลงานจะไม่ละเมิดกฎหมายเหมือนกราฟฟิตี เพราะต้องขออนุญาตสถานที่ที่ต้องใช้แสดงผลงานก่อน ดังนั้น สตรีตอาร์ตจึงเป็นเหมือนวัฒนธรรมแยกย่อยที่ต่อยอดมาจากกราฟฟิตีอีกทีนั่นเอง
สำรวจศิลป์แอบซ่อนเลียบคลองแสนแสบ
และสวนเฉลิมหล้า
กลับมาที่บ้านเรากันบ้าง ตลอดเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามแผนนโยบายของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ ได้กำหนดให้เดือนนี้เป็นเดือนแห่งเทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ ซึ่งจะมีการจัดแสดงงานศิลปะหลายรูปแบบ เช่น จิตรกรรม ดนตรี และการจัดแสดงแสงสีเสียง เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของเมือง ภายใต้นิยาม “เมืองคือคน คนคือศิลปวัฒนธรรม” เราเลยขอชวนทุกคนไปสำรวจศิลปะบนกำแพงในย่านกรุงเทพฯ โดยคัดมา 2 ที่ด้วยกัน คือ บริเวณริมคลองแสนแสบ (ย่านสะพานหัวช้าง) และสวนเฉลิมหล้า
หากใครมีโอกาสได้นั่งเรือโดยสารคลองแสนแสบมาทางเส้นสะพานหัวช้าง ตลอดสองข้างฝั่งเลียบคลองจะได้เห็นกราฟฟิตีสุดอาร์ตหลากสีสันที่เหล่าศิลปินได้รังสรรค์ขึ้นมาตามสไตล์ ถือเป็นการสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่สัญจรไปมาได้เป็นอย่างดี เดินออกจากบริเวณท่าเรือริมคลองแสนแสบต่อไปอีกนิดก็จะพบกับ “สวนเฉลิมหล้า” สวนสาธารณะที่มีพื้นที่ให้เหล่าศิลปินกราฟฟิตีจากทั่วประเทศ มาแสดงผลงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้พื้นที่แห่งนี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้น เรียกว่าเอาใจสายฮิปสเตอร์ที่ชอบถ่ายรูปเก๋ ๆ โดยเฉพาะ หรือหากใครกำลังมองหาโลเคชันถ่ายรูปโปรไฟล์แบบใหม่ ๆ อยู่ละก็ ลองแวะมาที่นี่กันได้ แถมยังเดินทางง่าย ๆ ไม่ว่าจะทางเรือโดยสารคลองแสนแสบ (ลงท่าเรือสะพานหัวช้าง) หรือรถไฟฟ้า BTS (ลงสถานีรถไฟฟ้าราชเทวี ออกทางออก 2) …ว่าแล้วก็ออกไปเสพงานศิลป์พร้อมกันเลย!
อ้างอิง
- Jessica Stewart. 10 Key Moments in Street Art History That Made Graffiti a Beloved International Art Form. https://mymodernmet.com/graffiti-art-history/
- Journey For Ever. Graffiti: history, purpose, types. http://journeyforevermag.com/typesofgraffiti
- THE LEGEND OF CORNBREAD. https://duboskiartcollab.com/blogs/news/the-legend-of-cornbread-if-you-don-t-know-now-you-know
- แมนฤทธิ์ เต็งยะ. (2559). จากวัฒนธรรมกราฟฟิตีสู่งานสตรีทอาร์ตในประเทศไทย. วารสารออนไลน์ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2559. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- กราฟฟิตี้ในพื้นที่สาธารณะ: ‘ศิลปะ’ หรือ ‘อาชญากรรม’?. https://voicetv.co.th/read/SyVxq98LM
- รู้จัก “กราฟฟิตี้” (Graffiti) ศิลปะตีแผ่ความจริงบนกำแพง. https://bit.ly/3UxR6Kn