คณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี ไม่ให้รับรอง “ร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ ฉบับประชาชน” ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับบำนาญ 3,000 ต่อเดือน เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หากต้องการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นไปตามเกณฑ์การจ่ายบำนาญแห่งชาติ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติฯ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ แทน
หลังจากทาง “กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ” ได้ออกมาเคลื่อนไหวทวงถามลายเซ็นนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา และเมื่อไม่นานมานี้ จากรายงานของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม ได้มีความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ ประชาชน ออกมาเพิ่มเติม แต่กลับเป็นข่าวร้ายที่คล้ายจะ “ดับฝัน” ผู้สูงอายุไทยกว่า 13.9 ล้านคนทั่วทั้งประเทศ!
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีในการให้คำรับรองหรือไม่รับรอง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยมีนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 13,264 คน เป็นผู้เสนอ
แต่การผลักดันร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ อาจต้องถึงคราวยุติลงเพียงเท่านี้ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นต่อนายกฯ ไม่ให้รับรอง ร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ ฉบับประชาชน ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับบำนาญ 3,000 ต่อเดือน ซึ่งสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้เสนอให้รัฐบาลเปลี่ยน “เบี้ยยังชีพ” เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” แทน
เนื่องจากจำนวนเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลมอบให้ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ด้วยค่าครองชีพที่นับวันจะมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกขณะ แต่เบี้ยยังชีพยังคงยึดหลักเกณฑ์มอบให้ตามขั้นบันได คือ 600-1,000 บาทต่อคนต่อเดือน เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับ “เส้นความยากจน” ปัจจุบันคือ 2,710 บาทต่อคนต่อเดือน หากบุคคลใดมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จะถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ยากจน ขณะที่เบี้ยยังชีพยังคงจำนวนเท่าเดิมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า นายกรัฐมนตรีไม่ควรให้คำรับรองร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. เนื่องจากมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552
ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554 กำหนดให้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือนแบบขั้นบันได จำนวน 600 – 1,000 บาท
อย่างไรก็ดี หากประสงค์ให้การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นไปตามเกณฑ์การจ่ายบำนาญแห่งชาติ ตามหลักการของร่างพระราชบัญญัตินี้ ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติฯ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ได้
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังมีความเห็นว่า การเสนอให้มีร่างพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ที่มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมถึงการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการบำนาญแห่งชาติและจัดตั้งสำนักงานบำนาญแห่งชาติในสังกัดกระทรวงการคลัง ยังมีความซ้ำซ้อนกับองค์กรตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฯ ซึ่งมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติและกรมกิจการผู้สูงอายุเป็นหน่วยงานดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ที่มา
- “กฤษฎีกา” ดับฝันร่างพ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ. www.thansettakij.com
- ร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ. app-thca.krisdika.go.th