การสตัฟฟ์สัตว์ (Taxidermy) เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับศิลปะ เพื่อคงสภาพร่างกายสัตว์หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ให้เก็บรักษาอยู่ได้นาน และยังคงลักษณะของสัตว์ไว้ได้เหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งนับเป็นเทคนิคทางกายวิภาคศาสตร์อย่างหนึ่ง
เปิดประวัติการสตัฟฟ์สัตว์ยุคสมัยใหม่
“คาร์ล อีธาน แอ็คเลย์” (Carl Ethan Akeley: ค.ศ. 1864 – ค.ศ. 1926) นักสตัฟฟ์สัตว์ชาวอเมริกัน ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการสตัฟฟ์สัตว์สมัยใหม่
แอ็คเลย์เริ่มฝึกทักษะการสตัฟฟ์สัตว์เมื่อเขาอายุ 18 ปี เขาเริ่มปฏิวัติวงการสตัฟฟ์สัตว์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีแนวคิดว่า ท่าทางของสัตว์จะต้องดูเหมือนจริงตามแหล่งที่อยู่อาศัย โดยสร้างโครงลำตัวด้วยไม้ ลวด หรือโครงกระดูก ในส่วนของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นใช้ดินเหนียว และสุดท้ายหุ้มด้วยหนังและขนสัตว์ โดยซ่อนรอยตะเข็บให้มิดชิด
แอ็คเลย์ขึ้นรูปและปรับแต่งท่วงท่าของสัตว์ให้ดูเป็นธรรมชาติด้วยการใช้ดินเหนียวและเศษกระดาษแปะทับเป็นชั้น ๆ เพื่อถ่ายทอดรูปทรงของกล้ามเนื้อและเส้นเลือดของสัตว์ตามหลักกายวิภาคศาสตร์ แล้วจึงหุ้มหนังของสัตว์ที่จะสตัฟฟ์ทับลงไป จากนั้นรวบรวมชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจริงแล้วจัดวางเป็นฉากหลังสามมิติเลียนแบบถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ
ในประเทศไทย ศูนย์สตัฟฟ์สัตว์ ตั้งอยู่ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสตัฟฟ์สัตว์” ซึ่งถือเป็นศูนย์ที่เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ที่มีความพร้อมและสมบูรณ์ที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
“ศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสตัฟฟ์สัตว์” เป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ และใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิงทางวิชาการและศึกษา วิจัย ให้กับบุคคลทั่วไป
ศูนย์ชุบชีวิตสัตว์ในประเทศไทย
“การสตัฟฟ์สัตว์” เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับศิลปะ เพื่อให้ผลงานออกมาเสมือนจริงมากที่สุด โดยเฉพาะกายวิภาคเฉพาะของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ที่ใช้ในการคงสภาพร่างกายสัตว์หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ให้เก็บรักษาอยู่ได้นาน และยังคงลักษณะของสัตว์ไว้ได้เหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ไม่ให้ชำรุดเสียหาย จากความร้อน ความชื้น แมลง เชื้อรา หนู และแมลงสาบ ที่อาจทำความเสียหายต่อสัตว์สตัฟฟ์ได้ รวมถึงการตกแต่งลักษณะภายนอกให้ครบสมบูรณ์ ถูกต้อง และสวยงาม เหมือนกับการได้ชุบชีวิตสัตว์ตัวหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง
ที่ผ่านมา อพวช. ได้ทำการสตัฟฟ์สัตว์มาอย่างต่อเนื่องจำนวนกว่า 478 ตัว อาทิ เสือโคร่ง ยีราฟ ม้าลาย จระเข้ ปลาช่อนแอมะซอน ฯลฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในการนำสัตว์ที่เสียชีวิตแล้วมาให้ทาง อพวช. ดำเนินการแทนที่จะต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าไป
Photo Credit: องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
Photo Credit: องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
คุณวัชระ สงวนสมบัติ นัก Taxidermist ผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ของ อพวช. กล่าวว่า “นักธรรมชาติวิทยาได้ทำการศึกษาวิจัยและเก็บรักษาวัสดุตัวอย่างด้านธรรมชาติวิทยามาโดยตลอด โดยเฉพาะการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคสมัยใหม่อย่าง Taxidermy ด้วยความพร้อมทางด้านบุคลากร สถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เราจึงจัดฝึกอบรมหลักสูตรการสตัฟฟ์สัตว์ให้แก่นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจด้วย”
นอกจากนี้ อพวช. สามารถชุบชีวิตสัตว์ที่ตายไปแล้วให้กลับมาเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง เพื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ ถือเป็นประโยชน์และมิติใหม่ของแนวทางการจัดนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและกลายเป็นสมบัติของประเทศชาติต่อไป
ภายในศูนย์ฯ จะมีการสาธิตวิธีการสตัฟฟ์ วิธีการเก็บรักษาหนังสัตว์ด้วยวิธีการฟอกหนัง บอกเล่าเทคนิคการปั้นหุ่นสัตว์ หล่อหุ่นสัตว์และการทดลองคลุมหนังสัตว์ พร้อมชมห้องคลังตัวอย่างที่เก็บสัตว์สตัฟฟ์เอาไว้
Photo Credit: องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ผู้สนใจสามารถเข้าชม “ศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสตัฟฟ์สัตว์” ได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 โทรศัพท์ 02-577-9999
อ้างอิง
- องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. คาร์ล อีธาน แอ็คเลย์ นักประดิษฐ์เครื่องพ่นปูนฉาบ.
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. อพวช. เปิดคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยา พร้อมเจาะลึกศูนย์ทำ TAXIDERMY.