ลองจินตนาการ… ภาพผู้คนนับพันกำลังปาผลส้มกลมเกลี้ยงข้ามหัวกันไปมา พื้นดินที่ย่ำเหยียบละลานไปด้วยเศษซากเปลือกส้มที่หล่นเลอะเรี่ยราด บอกก่อนว่านี่ไม่ใช่ฉากในละคร แต่คือบรรยากาศจริงที่คุณจะได้สัมผัส! หากมาเยือน ‘เทศกาลปาส้ม’ (Ivrea Orange Festival) เทศกาลการต่อสู้ด้วยผลไม้สุดยิ่งใหญ่ ณ เมืองอิฟเรอา (Ivrea) ประเทศอิตาลี ประเพณีโบราณที่สืบทอดต่อกันมายาวนานกว่า 2 ศตวรรษ
ใครจะเชื่อว่าส้มลูกกลม ๆ จะกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ และการเฉลิมฉลองชัยชนะเหนืออำนาจกดขี่ในประวัติศาสตร์ Kind ชวนทุกคนหยิบส้มขึ้นมาคนละลูก พร้อมเพ่งพินิจพิจารณาถึงเรื่องราวเบื้องหลังไปพร้อมกัน!
Photo Credit: Virgilio Ardy
หญิงสาวหัวขบถ
ผู้ปฏิวัติสังคมเผด็จการ
●
ณ เมืองอิฟเรอา ประเทศอิตาลี ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12—ตามตำนานเล่าว่า ‘ไรเนริ ดิ เบียนดราเต’ (Raineri di Biandrate) เจ้าเมืองผู้โหดเหี้ยมที่มักใช้อำนาจไปในทางที่ผิด เขาไม่เพียงกดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างโหดร้าย แต่ยังทำลายความสุขของหญิงสาวสามัญชนที่กำลังจะแต่งงาน ด้วยการลักพาตัวเพื่อไปเป็นภรรยาของตน ทั้งยังพยายามข่มขืนผู้หญิงในหมู่บ้านอยู่บ่อยครั้ง แม้หญิงสาวหลายคนจะถูกฉุดพรากไปจากคนที่รัก แต่สิ่งที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือการที่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาต่อกรกับเจ้าเมืองคนนี้เลย
กระทั่งคืนหนึ่ง ขณะที่ไรเนริกำลังทำพฤติกรรมแบบเดิมด้วยการบุกเข้าไปชิงตัวหญิงสาวนามว่า ‘วีโอเลตตา’ (Violetta) ในคืนแต่งงานของเธอ แต่การชิงตัวในครั้งนี้กลับทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เพราะเธอไม่ยินยอมเหมือนกับเหยื่อคนอื่น ๆ อีกต่อไป และสิ่งที่เธอทำก็ไม่ใช่การหลบหนี แต่คือการลุกฮือก่อกบฏเพื่อปลดแอกอำนาจบาตรใหญ่ของเจ้าเมืองทรราชด้วยความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว เธอต่อสู้กับความอยุติธรรมจนถึงที่สุด กระทั่งสามารถสังหารไรเนริได้สำเร็จ
Photo Credit: Virgilio Ardy
วีรกรรมของเธอได้จุดประกายความหวังให้กับผู้คนในเมือง แม้ว่าทหารจะตามจับตัวเธอก็ตาม แต่ในระหว่างที่มีการไล่ล่านั้น ชาวบ้านชาวเมืองต่างออกมาช่วยด้วยการรุมปาหินใส่เหล่าทหาร ทั้งยังช่วยกันต่อสู้และบุกเข้าไปเผาทำลายพระราชวังของไรเนริ จนท้ายที่สุดการปกครองแบบเผด็จการก็ถูกล้มล้างลง โดยที่วีโอเลตตาได้ชีวิตของเธอกลับคืนมา ขณะที่เมืองอิฟเรอาก็ได้รับอิสรภาพคืนมาเช่นกัน แม้จะเป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ในตำนานสุดแสนจะมืดมน แต่ความกล้าหาญของวีโอเลตตายังคงได้รับการกล่าวขานสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน ผ่าน ‘เทศกาลปาส้ม’ นั่นเอง
จากก้อนหินสู่ผลส้ม
เพื่อรำลึกสงครามแห่งอิสรภาพ
●
เพราะเหตุการณ์การปฏิวัติในครั้งนั้นยังคงย้ำเตือนใจชาวเมืองอิฟเรอาอยู่เสมอ รัฐบาลอิตาลีจึงตัดสินใจจัดเป็นเทศกาลแห่งการรำลึกถึงความกล้าหาญของวีโอเลตตาและชาวเมืองในยุคก่อนขึ้นมา นับตั้งแต่ปี 1947 เทศกาลปาส้มจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม สำหรับปีหน้าจะจัดขึ้นในวันที่ 2-4 มีนาคม 2568 โดยก่อนถึงวันงานจะมีการคัดเลือกเด็กผู้หญิงหนึ่งคนเพื่อแสดงเป็นวีโอเลตตาส่วนชาวเมืองคนอื่น ๆ จะมาอาสารับบทเป็นเหล่าทหารและประชาชนที่คอยขว้างปาทหารเหมือนในอดีต เพียงแต่ ‘ก้อนหิน’ ในตอนนั้นได้กลายมาเป็น ‘ผลส้ม’ ในเวลานี้ สำหรับเหตุผลที่เลือกใช้ส้มเป็นสัญลักษณ์แทนก้อนหิน นอกจากส้มจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับก้อนหินแล้ว ยังเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาผลผลิตส้มล้นตลาดในยุคนั้นด้วยนั่นเอง
Photo Credit: Samuele Giglio / Unsplash Photo Credit: Samuele Giglio / Unsplash
วิธีการละเล่นจะแบ่งขบวนการต่อสู้ออกเป็น 9 ทีม โดยกระจายตัวไปรอบ ๆ เมือง ซึ่งจะมีทีมที่เป็นฝั่งทหารจำลองและฝั่งประชาชน การต่อสู้จะเริ่มพร้อมกันทั้งเมือง พร้อมกับการเดินขบวนสลับกันไปเรื่อย ๆ จุดหมายปลายทางคือที่จัตุรัสกลางเมือง โดยในวันนั้นเมืองทั้งเมืองแม้แต่ตรอกซอกซอยเล็ก ๆ จะมีแต่ผู้คนและการต่อสู้กันด้วยผลส้มเต็มไปหมด รวมไปถึงการเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มและอาหารนานาชนิด ซึ่งทุกปีจะมีผู้มาร่วมงานจากทั่วโลกกว่า 3,000 คน
งานเทศกาลนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ความสามัคคี และการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวเมืองอิฟเรอาสืบต่อมา ทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนอิตาลี รวมถึงช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย หากใครอยากสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ พร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอิตาลีในอดีต ต้องไปเยือนเทศกาลนี้ให้ได้สักครั้งหนึ่งแล้วล่ะ! บางทีคุณอาจจะมอง ‘ส้ม’ ที่คุ้นเคยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…
ที่มา
- The Historic Carnival of Ivrea. Storico Carnevale Ivrea. OFFICIAL GUIDE – The Historic Carnival of Ivrea.pdf
- “ส้ม Vs มะเขือเทศ” เทศกาลต่อสู้ของผลไม้ที่ความหมายต่างกัน. Creative Thailand. www.creativethailand.org/article-read?article_id=34117
เรื่องโดย
