Kind Creations

ในวันที่ ‘งิ้ว’ กำลังเลือนหาย มหรสพเก่าแก่จากแดนมังกร ที่ฝังรากลึกทั่วแผ่นดินไทย


ลิเก ภาคกลาง
หมอลำ
ภาคอีสาน
มโนราห์
ภาคใต้
ฟ้อนเงี้ยว
ภาคเหนือ
งิ้ว 
??? …[ภาคพากย์จีน!]

ถ้าบอกว่า งิ้วเป็นมหรสพเก่าแก่จากแดนมังกรที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของไทย ก็คงไม่ผิดแผกอะไร… เนื่องจากประเทศไทยมีคนไทยเชื้อสายจีนกระจายตั้งถิ่นฐานอยู่จำนวนมาก จึงทำให้มีศาลเจ้าจีน ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าในลัทธิเต๋าตามความเชื่อของคนจีนก่อร่างสร้างขึ้นอยู่ประปรายในหลายภูมิภาคของไทย และแน่นอนว่ามหรสพที่อยู่คู่มากับศาลเจ้าก็คือ ‘งิ้ว’ นั่นเอง 

KiNd ชวนอ่านเรื่องงิ้ว ๆ เจาะตื้นเรื่องราวของมหรสพเก่าแก่ (ที่นับวันเลือนหาย) เพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง 


เอาจริง ๆ ผู้เขียนซึ่งเป็นคนไทยแท้ไม่มีเสี้ยวจีนผสม เคยมีโอกาสได้ไปดูงิ้วแบบจริง ๆ จัง ๆ สักสองครั้งเห็นจะได้ เท่าที่สังเกตผู้ชมส่วนใหญ่จะเป็นอาม่า อากง หรือผู้สูงอายุเชื้อสายจีนมาจับจองที่นั่งติดขอบเวที และสิ่งแรกที่ใจหวังเมื่อได้ดูงิ้วคือ อยากให้มีซับไตเติลภาษาไทยขึ้นโชว์ที่หน้าเวทีจังเลย (ปัจจุบันบางที่มีแล้วด้วยนะ) นั่นเพราะนักแสดงจะร้องเล่นกันเป็นภาษาจีนทั้งหมด ไอ้เราก็ฟังไม่ออก อาศัยทำความเข้าใจด้วยโทนเสียง ท่าทาง และสีหน้าเป็นหลัก (แต่ก็มีบางคณะที่ร้องเล่นเป็นภาษาไทยด้วยเหมือนกัน) หรือนี่อาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้งิ้วดูมีเสน่ห์ น่าค้นหา แถมยังเป็นการท้าทายความสามารถของนักแสดงงิ้วด้วยว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ชมต่างภาษาต่างถิ่นเข้าใจและได้อรรถรสไปพร้อม ๆ กัน 

01

เปิดม่านงิ้วมหรสพชั้นสูงจากจีน

สู่หน้าประวัติศาสตร์ไทย


‘งิ้ว’ เป็นนาฏศิลป์โบราณจากจีนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาฝังรากลึกอยู่ที่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเริ่มเข้ามาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่จากหลักฐานเอกสารการแสดงงิ้วที่เก่าแก่ที่สุดที่พบคือ บันทึกของบาทหลวงเดอชัวชีย์ (De Choisy) ผู้ช่วยราชทูต เชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์ (Chevalier de Chaumont) จากประเทศฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ระบุว่ามีการแสดงงิ้วเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยนี้ โดยงิ้วถือเป็นวัฒนธรรมชั้นสูงที่นำมาจัดแสดงเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

จากสมัยอยุธยาขอก้าวข้ามผ่านกาลเวลามาสู่ยุครัตนโกสินทร์ ยุคที่งิ้วเฟื่องฟูสูงสุดคือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีคณะงิ้วเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะย่านเยาวราชและถนนเจริญกรุง จนเกิดโรงเรียนสอนการแสดงงิ้วขึ้นมา สำหรับงิ้วที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุด ได้แก่ งิ้วกวางตุ้งและงิ้วแต้จิ๋ว แต่ปัจจุบันในประเทศไทยคาดว่าคงเหลือเพียงแต่งิ้วแต้จิ๋วเท่านั้น เนื่องจากมีกลุ่มคนแต้จิ๋วซึ่งเป็นจีนกลุ่มใหญ่ในไทยยังคงสืบทอดกันต่อไป ด้วยประวัติความเป็นมาอันยาวนานนี้ ทำให้งิ้วกลายเป็นมหรสพต่างถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับคนไทยมากที่สุด


ปัจจุบันความนิยมในการชมการแสดงงิ้วลดน้อยลง โรงงิ้วที่เคยตั้งอยู่ละลานตาในย่านเยาวราชได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เหลือเพียงโครงสร้างหรือบางแห่งหลงเหลือไว้เพียงความทรงจำ ส่วนหนึ่งเพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาจีนท้องถิ่น จึงมีผู้ชมน้อยคนนักที่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้งิ้วในเมืองไทยได้รับความนิยมน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จากอดีตคณะงิ้วมีเป็นร้อยคน คนดูมีเป็นพัน ปัจจุบันนักแสดงมีเพียงหยิบมือแค่สิบกว่าคน คนดูอาจจะมีไม่ถึงร้อยคนด้วยซ้ำไป และจากที่เคยมีโรงงิ้วถาวร หรือที่เรียกว่า ‘วิก’ ตอนนี้ทุกคณะกลายเป็นงิ้วเร่ รับจ้างเล่นตามเทศกาลกันไปหมดแล้ว

02

แต่งหน้าจัดจ้าน อาภรณ์หลากสี

โทนเสียงแหลมสูง : เอกลักษณ์คนงิ้ว


แปรงแต่งหน้าบรรจงวาดตวัดคิ้วเข้มหนาปลายโค้งสบัดได้รูปสวยสีแดงจัดจ้านไล่เฉดริมแก้มราวกับลูกท้อปิดท้ายด้วยการไฮไลต์ดั้งชัดมีมิติ แม้จะไม่ใช่บิวตี้บล็อกเกอร์ แต่ก็พอจะพรรณนาการแต่งหน้าของนักแสดงงิ้วได้พอสังเขป ใต้แป้งหนาและสีสันฉูดฉาดบนใบหน้างิ้วนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่ช่วยสร้างสีสันและทำหน้าที่สื่อความหมาย เพื่อบ่งบอกถึงบุคลิกและอุปนิสัยของตัวละครได้ด้วยเช่นกัน อาทิ สีแดง –ความกล้าหาญ ซื่อตรง และจงรักภักดี / สีม่วง –ความหนักแน่น เคร่งขรึม และเฉลียวฉลาด / สีเหลือง – ความดุดันและโหดเหี้ยม และสีดำ – ความยุติธรรมและเด็ดขาด เป็นต้น 

สำหรับเครื่องแต่งกายก็จัดเต็มไม่แพ้กัน สีสันจะเน้นโทนเข้มฉูดฉาด โดยเสื้อผ้าแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ ชุดบรรดาศักดิ์ ชุดคลุม ชุดเกราะ และชุดลำลอง นิยมใช้ผ้าต่วนปักเป็นลวดลายมงคลต่าง ๆ เช่น มังกร พระอาทิตย์ เมฆ ส่วนเครื่องยศและเครื่องหัวต่าง ๆ อย่างมงกุฎจะเน้นความใหญ่โตให้โดดเด่นสะดุดตา มาพร้อมกับอาวุธคู่กายตัวละครอย่างหอก ทวน และแส้ม้า ให้ได้เลือกใส่เลือกใช้ตามบทบาทที่ได้รับ


นอกจากการแต่งหน้าและการแต่งตัวแล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของงิ้วคือ “การขับร้อง” เสียงแหลมสูงอันทรงพลัง ไม่ใช่ใครจะร้องกันได้ง่าย ๆ การแสดงงิ้วจึงถือเป็นวิชาชีพที่ต้องมีทักษะด้านการขับร้องผสมผสานการเจรจาประกอบลีลาท่าทาง ให้ออกมาเป็นเรื่องราวตามบทบาทและอารมณ์ ร่วมกับท่วงทำนองดนตรีประกอบ ทั้งเสียงรัวฆ้องดังกังวาน เสียงขิม ซอ ขลุ่ย ผสานกันเป็นทำนองเร้าใจ ทำให้ผู้ชมได้รับสุนทรียะและความงามผ่านทางการฟัง ให้รู้สึกราวกับว่าตัวเองกำลังหลุดเข้าไปในฉากใดฉากหนึ่งของหนังจีนกันเลยทีเดียว 

03

งิ้ว = ละครคุณธรรมปลูกฝังความดี 


สำหรับใครที่เป็นสาวกงิ้ว อาจจะรู้จักกันดีว่าเรื่องไหนฮิตเรื่องไหนฮอต แต่สำหรับชาวงิ้วมือใหม่ วันนี้เราชวนไปทำความรู้จักกับละครที่นิยมนำมาแสดงงิ้วพร้อมกัน แล้วมาดูกันว่าใช่เรื่องที่คุณคิดไว้หรือเปล่า!

หนึ่งเรื่องในดวงใจที่เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักกันมาบ้างแล้ว เพราะเป็นละครดังสมัยเก่าก่อนที่เคยผ่านจอแก้วมาแล้ว นั่นคือเรื่อง ‘เปาบุ้นจิ้น’ บอกเลยว่าผู้เขียนเติบโตมากับละครจีนเรื่องนี้ ดูมาตั้งแต่เด็ก ๆ เรื่องราวของเปาบุ้นจิ้น ขุนนางที่มีความซื่อสัตย์สุจริตจนได้รับการสดุดีให้เป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม ชีวิตของเขาได้รับการดัดแปลงเป็นวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนและกำลังภายในมาแต่โบราณ ซึ่งได้รับความนิยมมาตราบทุกวันนี้ เอกลักษณ์คือใบหน้าดำคล้ำ มีรูปจันทร์เสี้ยวอยู่บนหน้าผาก ทำหน้าที่เป็นตุลาการที่คอยตัดสินคดีความต่าง ๆ สำหรับตอนที่นิยมนำมาแสดงงิ้วคือ ตอนประหารราชบุตรเขย และตอนสับเปลี่ยนองค์ชาย 


ส่วนอีกหนึ่งวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ขึ้นหิ้งที่ใคร ๆ มักบอกว่า ถ้าอ่านจบครบ 3 รอบคบไม่ได้คือ ‘สามก๊ก’ เนื้อเรื่องเล่าถึงการปกครองและทำศึกสงครามเพื่อแย่งชิงอำนาจ ตอนที่นิยมนำมาเล่น ได้แก่ ตอนจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า และตอนเล่าปี่แต่งซุนฮูหยิน ปิดท้ายด้วยเรื่องที่เป็นหนึ่งในเจ้าหญิงดิสนีย์อย่าง ‘มู่หลาน’ เรื่องราวที่เล่าถึงความกล้าหาญและความกตัญญูของมู่หลาน หญิงสาวที่ตัดสินใจปลอมตัวเป็นชาย เพื่อไปเป็นทหารรับใช้ชาติแทนพ่อผู้ชรา นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น ความฝันในหอแดง และตำนานรักนางพญางูขาว เป็นต้น

หัวใจสำคัญของเรื่องราวที่ถูกสอดแทรกอยู่ในการแสดงงิ้วทุกเรื่องคือ การปลูกฝังความดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความกตัญญู ความกล้าหาญ และความยุติธรรม เพื่อให้คนดูได้ซึมซับคติสอนใจพร้อม ๆ กับเสพความบันเทิงไปในตัว นอกจากนี้ การแสดงงิ้วยังถือเป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมจีนอันเก่าแก่ให้คงอยู่สืบไป แม้ปัจจุบันนี้จะค่อย ๆ เลือนรางจางหายไปทุกที


ที่มา


เรื่องโดย