เอกสารประกอบการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของนักเรียนมัธยมปลายปรากฏภาพ Hendrik Witbooi บนธนบัตร 200 ดอลลาร์นามิเบีย ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของ Witbooi ทำให้พวกเขาทราบว่านี่คือบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อประเทศบ้านเกิด ผู้ที่เข้าต่อกรกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมนีที่มีพร้อมทั้งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ในอดีตประเทศอาณานิคมของเยอรมันแห่งนี้ถูกเรียกในชื่อ “แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมัน” (German South West Africa; Deutsch-Südwestafrika) แม้จะตกอยู่ภายใต้อาณานิคมแต่ดูเหมือนว่าการมีรากเหง้าที่ต่างกันทำให้ชาวเยอรมันทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเฮโรและชาวนามาเสียจนสิ้น ขณะเดียวกันเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ได้ถือกำเนิดวีรบุรุษผู้กอบกู้นามว่า “Hendrik Witbooi” และการต่อสู้ของเขาเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพจากอาณานิคมเยอรมันยังคงได้รับการยกย่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน
แต่นักเรียนในเยอรมนีกลับแทบไม่เคยรับรู้เรื่องราวของวีรบุรุษชาวกานานามว่า Hendrik Witbooi แต่อย่างใด ทำให้ทางสมาคมชาวเยอรมัน Gemeinsam für Afrika หรือ Together for Africa ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ความจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ Witbooi เอาไว้ โดยหวังว่าคุณครูประวัติศาสตร์ที่สนใจในประเด็นดังกล่าว จะนำความรู้ที่ทางสมาคมรวบรวมไว้ไปใช้ในห้องเรียนของตน แม้จะไม่ได้ถูกบรรจุลงในหลักสูตรพื้นฐานของวิชาประวัติศาสตร์ในประเทศเยอรมนีก็ตาม
ปัจจุบันหนังสือเรียนและหลักสูตรของโรงเรียนที่ถูกจัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ แทบจะไม่กล่าวถึงประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมในแอฟริกาและแปซิฟิกตะวันตกเมื่อ 30 ปีก่อน ขณะที่บางรัฐของเยอรมันกลับไม่ได้สอนเรื่องนี้ด้วยซ้ำ แต่จะถูกหยิบยกขึ้นมามากล่าวถึงเพียงเล็กน้อยในคาบเรียนเท่านั้น
ต้องเริ่มปฏิรูปก่อนที่จะสายเกินแก้…
“นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องเปิดให้มีการทบทวนตำราเรียนและหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์” Abigail Fugah จากเมืองโคโลญกล่าว ซึ่งข้อเรียกร้องของเธอมีผู้ลงชื่อให้การสนับสนุนเกือบ 95,000 คนแล้ว
“สิ่งที่สอนในคาบเรียนมันยังไม่ครอบคลุมเนื้อหาประวัติศาสตร์ทั้งหมด” Fugah กล่าวกับสำนักข่าว DW พร้อมทั้งเล่าเสริมว่า ตอนที่เธออยู่ในโรงเรียน คุณครูแทบจะไม่ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคมของเยอรมันและการเหยียดสีผิวเลยด้วยซ้ำ แต่หลังจากเธอเรียนรู้เรื่องราวดังกล่าวก็ทำให้เธอต้องทุกข์ใจไม่น้อย “ชีวิตของฉันในรั้วโรงเรียนมันไม่ง่ายเลย เพราะพ่อแม่ของฉันก็มาจากกานา” เธอกล่าว
นับแต่ปี ค.ศ. 1884–1916 พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแอฟริกา ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐโตโกและพื้นที่บางส่วนของกานา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอาณานิคมของเยอรมันได้เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศแถบนี้มาโดยตลอด แต่ “โตโก” กลับถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนัก ชาวโตโกไม่อาจมีสิทธิมีเสียงในประเทศบ้านเกิดและหากมีชาวทูโตโกคนใดลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันพึงมีของตนก็จะถูกเฆี่ยนตีจนปางตาย
ส่วนเยอรมนีก็ได้เข้ามากอบโกยความอุดมสมบูรณ์จากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอาณานิคมเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศตน พร้อมทั้งตั้งโตโกให้เป็น “อาณานิคมจำลอง” ของจักรวรรดิเยอรมัน
ขณะที่ Fugah เชื่อว่า ในปัจจุบันผู้คนสามารถเข้าใจการเหยียดเชื้อชาติในเยอรมนีได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศอดีตอาณานิคม “ถ้าเด็กผิวดำโตพอที่จะเข้าใจว่าการเหยียดผิวคืออะไร เด็กผิวขาวก็โตพอที่จะเรียนรู้เรื่องราวบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต” เธอกล่าว
แรงกระเพื่อมที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นในสังคม
“คนส่วนใหญ่ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อเรียกร้องของเธอคือ ‘คุณครู’ โดยพวกเขากล่าวหาว่า เรามองความจริงเพียงด้านเดียว เพราะวิชาประวัติศาสตร์อดีตประเทศอาณานิคมถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้เป็นวิชาบังคับเท่านั้นเอง ซึ่งนี่แหละคือ ‘ปัญหา’ ที่ฉันกำลังออกมาเรียกร้องอยู่ในขณะนี้” Fugah กล่าวถึงกระแสตอบรับที่หลากหลาย หลังจากออกมาเรียกร้องให้ปรับหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน
ในทางกลับกันการบรรจุเนื้อหาการเรียนการสอนในหัวข้อการสังหารหมู่ชาวยิว 6 ล้านคน สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเย็น และการแบ่งประเทศเยอรมนีออกเป็นสองส่วน ล้วนเป็นหัวข้อที่สำคัญในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ของเยอรมันทั้งนั้น แต่กลับไม่มีที่ว่างให้เนื้อหาประวัติศาสตร์ด้านอื่น ๆ เลย
ขณะเดียวกัน Imke Stahlmann ครูประจำวิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนมัธยม Farmsen ในฮัมบูร์ก กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป เธอจึงได้นำหัวข้อที่ถูกละเลยนี้เข้ามาสอนในชั้นเรียน “เราสอนหัวข้อประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคมของเยอรมันให้นักเรียนระดับมัธยมปลายมาประมาณ 15 ปีแล้ว” เธอกล่าวกับ DW พร้อมทั้งยืนยันหนักแน่นว่า ประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคมเป็นหัวข้อที่มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศในปัจจุบัน
ซึ่งการสอนนักเรียนในหัวข้อนี้ทำให้เธอพบความเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคมและการเหยียดเชื้อชาติที่มักพบในชีวิตประจำวัน และยิ่งเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เมื่อเกิดการชุมนุมประท้วง Black Lives Matter หลังจากชายผิวดำชาวสหรัฐฯ ถูกตำรวจทำร้ายด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนเสียชีวิต ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้นับเป็นการออกมาเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้คนผิวดำในสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้
ส่วนนักเรียนของเธอ เมื่อได้เรียนรู้การกระทำที่ประเทศของพวกเขาเคยทำไว้ในอดีต กลับยิ่งมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม แม้ว่าหัวข้อนี้จะไม่ถูกบรรจุลงในหลักสูตรพื้นฐานอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่นอกจากการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้วการออกไปพบกับร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวนัก ครู Stahlmann จึงจัดโปรแกรมให้นักเรียนไปทัศนศึกษาที่อนุสรณ์สถานสงครามเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออกในเมืองฮัมบูร์ก ซึ่งถูกสร้างขึ้นในยุคนาซี และหลังจากที่ลูกศิษย์ของเธอกำลังเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ความคิดทั้งหมดที่เคยมีต่อวิชาประวัติศาสตร์ก็เปลี่ยนไป
หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนก็คงจะหนีไม่พ้นประติมากรรมนูนสูง Askari Relief ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มทหารรับจ้างชาวแอฟริกัน (Askari) กำลังเดินตามหลังเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปกครองอาณานิคมในฐานะวีรบุรุษและผู้นำอย่างพร้อมเพรียงโดยไม่มีท่าทีขัดขืนแต่อย่างใด “เรากำลังหาวิธีรักษาอนุสรณ์สถานแห่งนี้เอาไว้ ซึ่งลูกศิษย์ของฉันเองก็กำลังหาทางเลือกอื่น ๆ มาเสนอเช่นกัน” ครู Stahlmann กล่าว
Photo Credit: NDR.de, Marc-Oliver Rehrmann Photo Credit: NDR.de, Marc-Oliver Rehrmann
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 โรงเรียน Farmsen ได้มีการจัดการเรียนการสอนร่วมกับโรงเรียนมัธยม Chang’ombe ในดาร์เอสซาลาม ประเทศแทนซาเนีย “เรารู้ว่า เราทั้งสองโรงเรียนกำลังจัดการเรียนการสอนในหัวข้อทางประวัติศาสตร์ที่มีอดีตไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลัทธิจักรวรรดินิยม และประวัติศาสตร์การสร้างชาติที่เคยมีอดีตประเทศอาณานิคมอยู่ภายใต้การปกครอง เราจึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า ‘น่าจะลองให้ลูกศิษย์ของเราสร้างโปรเจกต์ร่วมกัน’ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคม” ครู Stahlmann กล่าว
ซึ่งเราสามารถมองภาพรวมของประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้นเมื่อเปรียบเทียบโรงเรียน Farmsen เป็นตัวแทนของประเทศเยอรมนี และโรงเรียนมัธยม Chang’ombe ตัวแทนจากอดีตประเทศอาณานิคมแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมัน แม้จะมีประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าพิสมัยร่วมกัน แต่ทั้งสองโรงเรียนก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวความขัดแย้งในอดีตผ่านโปรเจกต์ภาพยนตร์ได้อย่างลงตัว
อย่างไรก็ตาม Abigail Fugah และนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ ต่างก็ตระหนักดีว่า ความร่วมมือระหว่างสองโรงเรียนไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก และใช่ว่าทุกโรงเรียนจะสามารถแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนเช่นนี้ได้ แต่เธอก็หวังว่า นักเรียนทุกคนในเยอรมนีจะมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นร่วมกันกับกลุ่มประเทศอดีตอาณานิคม ซึ่งจะทำให้พวกเขาเข้าใจถึงมรดกตกทอดที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้ รวมถึงปรับมุมมองต่อการเหยียดเชื้อชาติกันเองของคนในประเทศ
แต่ Fugah ก็ไม่ได้หยุดอยู่กับการเรียกร้องให้ปรับหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์แต่อย่างใด เพราะในขณะนี้เธอกำลังอยู่ระหว่างอบรมการฝึกสอนต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสีผิวและเชื้อชาติที่โรงเรียน ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าผลลัพธ์หลังจากการเรียกร้องครั้งนี้จะเป็นอย่างไร อย่างน้อยเธอและนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ ก็ได้ออกมาสร้างแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ ขึ้นมาในสังคมแล้ว…
ที่มา
- How German schools miss out country’s colonial history. www.dw.com
- Martin Plaut. The extraordinary story of Hendrik Witbooi, told by Nobel Prize winner, J. M. Coetzee. martinplaut.com
- von Kim Todzi. CfP: Confronting the colonial past! “Askari”, Lettow-Vorbeck and Hamburg’s entangled (post-)colonial legacies. kolonialismus.blogs.uni-hamburg.de