Kindcycle

เปลี่ยนขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นไอเทมผูกมิตรสิ่งแวดล้อม

ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาดโลก

จากรายงาน Global e-Waste Monitor 2020 พบว่า ปี 2019 ที่ผ่านมา มีการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกสู่โลกเป็นจำนวนมากถึง 53.6 ล้านตัน ทำลายสถิติเดิมที่เคยบันทึกไว้เมื่อปี 2014 ประมาณ 9.2 ล้านตัน ซึ่งมีเพียง 17% เท่านั้นที่นำกลับไปรีไซเคิล


“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “e-Waste” เป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ในธรรมชาติ ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ไม่ใช้แล้วในชีวิตประจำวัน เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แบตเตอร์รี่ และโทรศัพท์มือถือ ขยะเหล่านี้เป็นขยะอันตราย อาจจะมีสารเคมีรั่วไหล หากไม่มีวิธีการกำจัดที่ดีก็จะเกิดเป็นมลพิษย้อนกลับมาทำร้ายสิ่งแวดล้อมได้

ปัจจุบันภาคธุรกิจเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงหาวิธีการและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อลดการเกิดของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ผู้บริโภคเองก็มองหาวิธีช่วยรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วยวิธีที่สามารถทำได้อย่างสร้างสรรค์ด้วย


Garbage Watch นาฬิกาดีไซน์ล้ำ
ผสานระหว่าง Recycle และ Upcycling

สร้างความฮือฮาให้กับวงการแฟชั่นไม่น้อย สำหรับ Vollebak แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติอังกฤษที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ Garbage Watch นาฬิกาดีไซน์สุดเก๋ ที่ผลิตด้วยการผสมผสานขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว เพื่อลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นโลก และเพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการ Recycle และ Upcycling

สำหรับ Garbage Watch เป็นการคิดค้นร่วมกันระหว่าง Vollebak กับโครงการ Re-Made ของนิตยสาร Wallpaper* บริษัทผู้ผลิตนิตยสารด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมจากประเทศอังกฤษ ที่นำเศษซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สายไฟในโทรทัศน์ ไมโครชิปในโทรศัพท์มือถือ และเมนบอร์ดคอมพิวเตอร์ มารังสรรค์เป็นนาฬิกาเรือนเก๋

ตัวเรือนของนาฬิกามีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม หน้าปัดมีขนาดใหญ่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงชิ้นส่วนภายในที่ถูกสร้าขึ้นมาด้วยกระบวนการ Upcycling จากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหลือทิ้ง โดยนำชิ้นส่วนจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น เฟือง แผงวงจร ไมโครชิป มาประกอบขึ้นใหม่เป็นเรือนนาฬิกา ส่วนสายข้อมือทำมาจากสายไฟของโทรทัศน์ที่ถูกทิ้งเช่นกัน

โดย Vollebak ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ Garbage Watch ถูกผลิตขึ้นมาด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งเรือน จากกระบวนการ Recycle ผสมผสานกับ Upcycling โดยมีแผนที่จะผลิตออกวางจำหน่ายในปี 2021


ลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านบัตรเครดิต

ในแต่ละปี บัตรชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตขึ้นจำนวนกว่า 6,000 ล้านใบต่อปี ส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติก PVC ซึ่งไม่เหมาะต่อการนำมาใช้ซ้ำ เพราะอาจแตกเป็นชิ้นระหว่างเก็บได้ อีกทั้งไม่เหมาะกับการรีไซเคิล เพราะเมื่อปะปนกับพลาสติกทั่วไปอาจจะทำให้กระบวนการรีไซเคิลไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

สำหรับบัตรชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเฉลี่ยทุก ๆ 3-4 ปี โดยบัตรเก่าจะถูกนำไปฝังกลบในที่ทิ้งขยะทั่วโลก หรือไม่ได้รับการจัดการที่ดี ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด มาสเตอร์การ์ด ผุดไอเดียผลิตบัตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจทั่วโลกกว่า 12 ประเทศ ในสถาบันการเงินกว่า 60 แห่ง ได้แก่ ธนาคารดีบีเอส (ไต้หวัน), เครดิต อากริโคล และซานแทนเดอร์ เป็นต้น โดยร่วมออกบัตรที่ทำจากวัสดุที่ผ่านการรับรองแล้ว เช่น พลาสติกรีไซเคิลจากทะเล อย่าง rPVC, rPET และ rHDPE เส้นพลาสติก PET ซึ่งไม่มีสารคลอรีน รวมถึง PLA (Polylactic Acid) ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยวิธีทางอุตสาหกรรม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตบัตรจะประกอบด้วยแผ่นพลาสติกหลายชั้นซ้อนกัน เดิมทีใช้ PVC แต่ปัจจุบันมีการนำพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดังที่กล่าวไว้ข้างต้นมาใช้ โดยอาจจะเป็นเพียงชั้นใดชั้นหนึ่งของบัตร หรือทั้งบัตร เพื่อลดการใช้ PVC ใหม่ ๆ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ Unifimoney บริษัทที่ให้บริการทางการเงินในสหรัฐฯ ได้ออกบัตรเครดิตและบัตรเดบิต VISA ที่ทำจากขยะพลาสติกในทะเลด้วยเช่นกัน โดยคำนวณว่าทุก 1 ล้านใบจะช่วยลดขยะพลาสติกในทะเล ชายหาด และแม่น้ำ ได้กว่า 1 ตัน

ขณะที่ช่วงกลางปี 2019 ที่ผ่านมา American Express (Amex) ร่วมมือกับ Parley for the Oceans องค์กรด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ดำเนินโครงการเปลี่ยนขยะจากทะเลมาเป็นบัตรเครดิต โดยนำบัตรเครดิตที่ใกล้หมดอายุการใช้งาน บัตรขัดข้อง ชำรุด เสียหาย หรือบัตรที่สูญหาย มาทำบัตรรุ่นใหม่ที่ใช้ชื่อว่า Amex X Parley


เหรียญรางวัลรักษ์โลก บนสนามโตเกียวโอลิมปิก 2020

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศญี่ปุ่น ยังเป็นที่เฝ้าจับตาของนานาประเทศ แต่กำหนดการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก (Tokyo Olympic Games 2020) และพาราลิมปิก (Tokyo Paralympic Games 2020) ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว โดยเลื่อนจากวันที่ 24 กรกฎาคม 2020 เป็นวันที่ 23 กรกฎาคม 2021 

คณะกรรมการบริหารของ International Olympic Committee (IOC) ระบุว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะยังคงถูกเรียกว่าโตเกียว 2020 เช่นเดิม แม้จะเกิดขึ้นในปี 2021 ก็ตาม ซึ่งแม้ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า สถานีโทรทัศน์ NBC ได้เปิดเผยสัญลักษณ์หรือโลโก้ใหม่ คือ “202ONE” แต่ IOC ออกมายืนยันว่า โลโก้ดังกล่าวเป็นเพียงการนำเสนอไอเดียจากทาง NBC เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว NBC ไม่มีหน้าที่ออกแบบโลโก้ให้กับมหกรรมโอลิมปิกแต่อย่างใด

สำหรับโปรเจกต์ที่ได้รับความชื่นชมจากทั่วโลกคือ การนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ มาแปรรูปเป็นเหรียญรางวัลให้นักกีฬาที่ชนะเลิศ โดยคณะผู้จัดงานมหกรรมโตเกียว 2020 ร่วมกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่น รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2017 เพื่อนำมาผลิตเป็นเหรียญรางวัลโอลิมปิกฤดูร้อน 2020

โดยปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รวบรวมได้ทั้งหมดจากแคมเปญนี้มีถึง 78,895 ตัน ส่วนใหญ่เป็นโทรศัพท์มือถือไม่ใช้แล้ว จำนวน 6.21 ล้านเครื่อง นำไปสกัดเป็นทองได้ 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัม และทองแดง 2,200 กิโลกรัม จนกระทั่งได้เป็นเหรียญรางวัลทั้งหมด 5,000 เหรียญ

นอกเหนือจากเหรียญรางวัลที่ทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ญี่ปุ่นยังออกนวัตกรรมรักษ์โลกอีกหลากหลายเพื่อสร้างสีสันให้โอลิมปิกฤดูร้อนครั้งนี้ เพื่อให้มหกรรมครั้งนี้เป็นโอลิมปิกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การแข่งขีนกีฬาระดับโลก

อย่างไรก็ตาม แม้หลายหน่วยงานเล็งเห็นถึงปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้ง 71% ของประชากรโลกอยู่ภายใต้กฎหมายหรือนโยบายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังมีการรีไซเคิล e-Waste เพียง 17% เท่านั้น ขณะเดียวกันผู้คนส่วนใหญ่อาจยังไม่ได้ตระหนักเกี่ยวกับปัญหาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพียงพอ เช่น ไม่ควรทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงถังขยะทั่วไป แต่ควรแยกทิ้งให้ถูกวิธี ซึ่งแน่นอนว่า การกำจัดขยะเหล่านี้อาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่เข้มงวดพอในหลายประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว


ที่มา


เรื่องโดย