Kind Planet

“ปลาซัมมะ” ของอร่อยแห่งฤดูใบไม้ร่วง กำลังจะหมดไปจากน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ


ปลาซัมมะย่างเกลือ และปลาซัมมะย่างซีอิ๊ว เมนูขึ้นชื่อในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี หรือฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่น (ช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม) ที่ชาวญี่ปุ่นยกย่องให้เป็นของอร่อยที่สุดในช่วงปลายปี เพราะช่วงเวลาดังกล่าวปลาซัมมะจะอร่อยที่สุด เนื่องจากปลาซัมมะจะสะสมไขมันเอาไว้ในตัวจำนวนมากเพื่อสู้กับอากาศที่หนาวเย็น

“ปลาซัมมะ” (Sanma หรือ Pacific Saury Fish) เป็นปลาตระกูลเดียวกับปลาซาบะ พบมากบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ญี่ปุ่นจรดด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา มีรูปร่างคล้ายดาบ ตัวกลมรียาว เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 16 นิ้ว และมีอายุอยู่ได้เพียงปีเดียว

จากรายงานการประมาณค่าปริมาณของปลาซัมมะบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก พบว่า ช่วงปี ค.ศ. 2000 จำนวนปลาซัมมะมีประมาณ 4 ล้านตัน แต่หลังจากนั้นได้ลดลงเรื่อย ๆ เหลือเพียง 1.3 ล้านตัน หรือลดลงถึง 2 ใน 3 ส่วน โดยมาตรการจัดการทรัพยากรจากทางการกำหนดปริมาณที่อนุญาตให้จับปลาซัมมะได้ทั้งหมด 260,000 ตัน แม้ว่าเรือประมงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะทำประมงได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่กำหนดก็ตาม

รายงานจากสำนักข่าวเอ็นเอชเค (NHK) ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เรือประมงขนาดใหญ่ลำแรกของฤดูกาลตกปลาในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้มาถึงท่าเรือในฮอกไกโดทางตอนเหนือของญี่ปุ่น โดยมีปริมาณการขนส่งรวมกันเพียง 1% ของปริมาณปลาที่จับได้ของปีก่อนหน้า

โดยเรือขนาดใหญ่ 45 ลำ ได้ออกจากท่าเรือตั้งแต่เริ่มฤดูกาลปลาซัมมะ (ประมาณเดือนสิงหาคม) แต่เรือหลายลำได้ระงับการปฏิบัติการ และกำลังเดินทางกลับโดยไม่มีปลาติดมา เนื่องจากจำนวนประชากรปลาซัมมะในน่านน้ำลดลงอย่างมาก ซึ่งตั้งแต่ต้นฤดูกาลที่ผ่าน ท่าเรือฮานาซากิในเมืองเนมูโระ ซึ่งเป็นท่าเรือที่จับปลาซัมมะได้มากที่สุดในญี่ปุ่น 10 ปีติดต่อกัน สามารถจับปลาซัมมะได้เพียง 6 ตันเท่านั้น

เจ้าของเรือลำหนึ่งกล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่เห็นการจับปลาซัมมะได้เพียงไม่กี่ตัว ต่อจากนี้ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่นี้จะพบกับความยากลำบากแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม สาเหตุการลดลงของปลาซัมมะยังไม่ชัดเจน แต่จากการวิเคราะห์โดยสำนักงานประมงของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่า ปลาซัมมะในน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกลดลง เนื่องจากปลาซัมมะที่โตเต็มวัยจะอพยพขึ้นเหนือเพื่อไปหาแหล่งอาหาร ส่วนในฤดูใบไม้ร่วงจะว่ายกลับมาทางใต้เพื่อวางไข่ โดยจะเดินทางไปนอกชายฝั่งของฮอกไกโดและภาคตะวันออกของญี่ปุ่น ทำให้ประชากรปลาซัมมะอยู่ห่างออกไปในทะเลมากขึ้นระหว่างการอพยพ เมื่อจำนวนปลาลดน้อยลง ราคาส่งออกตลาดก็สูงขึ้น โดยปัจจุบันปลาซัมมะราคากิโลกรัมละ 36 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,100 บาท ซึ่งสูงถึง 6 เท่าของราคาขายเมื่อปี ค.ศ. 2019

ปัญหาสำคัญนอกเหนือจากความกังวลด้านราคาของปลาซัมมะในตลาดคือ การลดลงของประชากรปลาซัมมะบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนอกจากปัจจัยการเดินทางไปหาแหล่งอาหารที่ทำให้พื้นที่จับปลาของชาวประมงมีประชากรปลาซัมมะน้อยลงแล้ว การทำประมงแบบไม่ลดละ ยังก่อให้เกิดการสูญเสียความมั่นคงทางด้านอาหารและประชากรโลกด้วยเช่นกัน เนื่องจากภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ไม่เพียงเป็นแหล่งที่มาของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังเป็นแหล่งบริโภคอาหารทะเลใหญ่ที่สุดในโลกด้วย


ที่มา

  • Pacific Saury: Overfishing and Environmental Change Puts Future of Japanese Autumn Delicacy in Doubt. www.nippon.com

เรื่องโดย