วันนี้ KiNd นำเสนอความคืบหน้าฝั่งภาครัฐบาล ของกระบวนการการเข้าร่วมความตกลง “CPTPP” โดยตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และยังไม่มีอะไรที่เป็นข้อผูกมัดกับประเทศไทย เนื่องจากในระหว่างนี้ยังต้องรอการศึกษาผลดี-ผลเสีย จากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมก่อน
ขั้นตอนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย ปัจจุบันกระบวนการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย ยังอยู่แค่ขั้นตอนที่ 3 จากทั้งหมด 12 ขั้นตอน
ปัจจุบัน ไทยได้ผ่านขั้นตอนที่ 1-3 ไปแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพื่อที่จะนำสรุปผลการพิจารณาเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.63 ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้น 3 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมาธิการเมล็ดพันธุ์และการเกษตร 2.คณะอนุกรรมาธิการการสาธารณสุขและยา และ 3. คณะอนุกรรมาธิการเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน
คณะอนุกรรมาธิการดังกล่าว จะต้องศึกษาถึงผลดี-ผลเสียทางเศรษฐกิจหากไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 10 ก.ค.นี้ ก่อนที่จะนำเข้าบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาและนำเสนอข้อสังเกตที่ได้ในครั้งนี้เสนอแนะไปยังรัฐบาลต่อไป ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ไทยจึงจะยื่นหนังสือเพื่อขอเจรจากับนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงเพื่อขอเจรจาเข้าร่วม ซึ่งจะมีการประชุมในเดือนสิงหาคม 2563 นี้
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยไม่สามารถขอสมัครเข้าร่วมความตกลง CPTPP ได้ทันในปีนี้ ก็ยังสามารถสมัครได้ในปีหน้า แต่หากสุดท้ายคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว ผลการศึกษาทั้งหมดที่ดำเนินการมาก็เป็นอันพับเก็บเข้าลิ้นชักไปได้ หรือในอีกแนวทาง เมื่อมีการนำเสนอผลการเจรจาต่อรัฐสภาแล้ว แต่ไทยยังไม่พอใจก็ยังสามารถยกเลิกได้ ซึ่งจะต้องทำก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการให้สัตยาบันความตกลง CPTPP เพราะหากมีการให้สัตยาบันไปแล้วจะถือว่าไทยได้เข้าเป็นสมาชิก และข้อตกลง CPTPP มีผลบังคับใช้แล้ว
ที่มา
- สำนักข่าวอินโฟเควสท์. เปิด 12 ขั้นตอนกระบวนการเข้าร่วม CPTPP. https://www.infoquest.co.th/2020/23185