Kindvironment

จุดเริ่มต้นจากห้องเรียนเล็ก ๆ สู่ห้องเรียนสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “โลก”


เริ่มต้นจากพื้นที่เล็ก ๆ ในโรงเรียน

ทันทีที่เรามาถึง “โรงเรียนรุ่งอรุณ” ย่านบางขุนเทียน สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือความร่มรื่นจากเหล่าแมกไม้อันแน่นขนัดตา พร้อมเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กนักเรียนที่กำลังทำกิจกรรมอย่างสนุกสนาน

ตามตารางนัดหมายช่วงสายของวันนั้น KiNd มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ “ครูปราณี หวาดเปีย” หรือ “ครูปุ้ย” หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนรุ่งอรุณ ถึงความเป็นมาของการเป็นหนึ่งในโรงเรียนต้นแบบเรื่องระบบการจัดการทรัพยากรขยะครบวงจร และไม่พลาดที่จะสัมภาษณ์ความคิดเห็นของเด็กนักเรียนรุ่นใหม่ (เจนเนเรชั่น Z ช่วงพ.ศ. 2543-2553) ถึงมุมมองเรื่องการจัดการขยะที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเขาผ่านการศึกษาในโรงเรียน


“…ที่นี่ก็เหมือนกับเป็นห้องเรียนห้องหนึ่ง เพียงแต่ว่านักเรียนจะไม่ใช่แค่อนุบาลถึงมัธยม เพราะทุกคนที่เข้ามาที่นี่เป็นนักเรียนหมด แม้กระทั่งตัวเราเราก็เป็นนักเรียน เพราะเราก็เอาขยะที่บ้านมาแยก แม้กระทั่งบางอย่างที่มันไม่ใช่หรือเขาแยกไม่ถูก เราก็ต้องมาช่วยสอน ช่วยแนะนำ เอาเท่าที่เราทำได้ เพราะฉะนั้นที่นี่ก็เปรียบเสมือนห้องเรียน ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องขยะ เพื่อที่จะเอากลับไปใช้ได้” ครูปุ้ยกล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น


แต่ก่อนที่เราจะเข้าไปสู่ห้องเรียนสิ่งแวดล้อมพร้อมกับคุณครูและเด็ก ๆ เรามารู้จักที่มาของระบบการจัดการทรัพยากรขยะของโรงเรียนกันก่อนดีกว่า โดยจุดเริ่มต้นของการทำโครงการการจัดการขยะนั้น เนื่องจากโรงเรียนรุ่งอรุณเคยประสบปัญหาขยะที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน จนสะสมเป็นกองขยะขนาดใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบ

ต่อมาทางโรงเรียนจึงใช้โอกาสนี้ จัดตั้งฝ่ายจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดจนสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้แก่ทุกคนในโรงเรียน ภายใต้กระบวนทัศน์ “เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร” และผ่านโครงการ “ของเสียเหลือศูนย์ Zero Waste” เพื่อมุ่งเน้นให้นักเรียน และชุมชนรอบโรงเรียนตระหนักถึงปัญหาของขยะ และหันมารู้คุณค่า รู้กิน รู้อยู่ รู้ใช้ รู้พอดีในการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นปัญหาโดยเฉพาะเรื่องขยะ มาบูรณาการเข้ากับการศึกษาได้อย่างแยบยล ตามที่ครูปุ้ยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“เริ่มต้นการจัดการทรัพยากรขยะมาปีนี้เป็นปีที่ 17 แล้ว ถ้าถามว่ามันอยู่ในหลักสูตรการศึกษามั้ย คิดว่ามันเป็นวิถีชีวิตมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ๆ ในห้องเรียน พ่อครัว แม่ครัว หรือครูพนักงานนี้ ใครทำงาน ใครทำกิจกรรมอะไรในโรงเรียน เมื่อมันมีขยะเกิดขึ้น คุณก็ต้องจัดการ ต้องแยกให้เป็น” 




จากการสัมภาษณ์ ทำให้เราเห็นว่าโรงเรียนแห่งนี้ ไม่เพียงแค่ปลูกฝังให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเรื่องการจัดการทรัพยากรขยะเท่านั้น ทว่ายังขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปยังทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ของโรงเรียน ทั้งคุณครู พนักงาน ชุมชนบริเวณรอบโรงเรียน รวมถึงกลุ่มคนภายนอกที่เข้ามาศึกษาดูงานด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมองว่าการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนนั้น ไม่ใช่เพียงแค่หลักสูตรทางการศึกษาเท่านั้น ทว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของนักเรียนทุกคน ที่ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ไหน (นอกจากโรงเรียน) เราก็ยังลงมือปฏิบัติ ลงมือแยกขยะเช่นเดียวกัน

ศูนย์ทรัพยากรรีไซเคิล… ที่มากกว่าการแยกขยะ

สถานีต่อไป… สถานีแยกขยะ!! เมื่อการแยกขยะต่อยอดไปสู่ความสนุก ทั้งยังสะท้อนความรู้สึกนึกคิด และตัวตนของผู้คนได้ ผ่านประสบการณ์การเรียนการสอนของครูปุ้ยผู้มีนิสัยละเอียดลออ


“ที่นี่จะเป็นสื่อการเรียนการสอนของครู เป็นวัตถุดิบ เป็นอุปกรณ์ที่เมื่อครูสั่งแล้วเด็กจะวิ่งมาที่นี่ มันจะไม่ใช่แค่ได้เรื่องแยกขยะ แต่มันจะมีอะไรอีกเยอะแยะมากมาย เช่น ถ้าจะสอนเรื่องสี่เหลี่ยม อะไรบ้างที่เราแยก ขวดสี่เหลี่ยมก็มี ถาดสี่เหลี่ยมก็มี อะไรอย่างนี้ เด็กก็จะมาหา แล้วจุกฝาขวดขวดน้ำเกลือรุ่นเก่าที่แหลม ๆ เด็กก็จะเอาไปทำลูกข่างกัน ตกเย็นเนี่ยโรงแยกเต็มไปด้วยเด็กประถมมาทำลูกข่าง ก่อนจะมีโควิดนะ สนุกมากเลย มันกลายเป็น New Normal”

“ศูนย์ทรัพยากรรีไซเคิล” ถือเป็นศูนย์กลางของการรวบรวมทรัพยากร “ขยะ” ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าไร้ประโยชน์ แต่โรงเรียนรุ่งอรุณกลับมองว่าขยะเหล่านั้นคือ ทรัพยากรที่มีค่าที่เราสามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีก นอกจากเราจะแยกขยะเพื่อส่งให้กับบริษัทเอกชนเพื่อนำไปทำประโยชน์อื่น ๆ แล้ว เรายังสามารถนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนโดยบูรณาการในวิชาต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น การประดิษฐ์ลูกข่างจากจุกฝาขวดน้ำเกลือ หรือการสอนเรื่องรูปทรงเรขาคณิตผ่านวัสดุในสถานีแยกขยะ ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศของการเรียนผนวกเข้ากับการแยกขยะได้อย่างสนุกสนาน


การแยกขยะทำให้รู้จักคน ทำให้เรารู้จักเด็ก รู้จักตัวเอง ยกตัวอย่าง มีเด็กประถมคนหนึ่ง เขาร่อนกระดาษทิ้งแล้วไม่ยอมแยกขยะ เราก็คุยด้วยเหตุผลดี ๆ “เด็ก ๆ ขา ช่วยกันหน่อยนะ” คือมันไม่ได้ เราก็คิดจะทำยังไงดี อธิบายตรง ๆ ว่า “ช่วยครูปุ้ยแยกหน่อยไม่ได้หรอ” มันก็ไม่ได้อีก จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กคนนั้นร่อนกระดาษเล่น แล้วมันปะทะกับถังแล้วหล่น ครูรู้ว่าเขาจะต้องเก็บแน่ เราก็รีบพูดก่อนเลยว่า “ดีมากเลย เก่งมากเลยที่สามารถเก็บให้เรียบร้อย” คือเด็กยังไม่ทันหยิบ เราชิงพูดก่อน หนูเชื่อมั้ย หลังจากนั้นเขาก็ไม่ทำ เหมือนเราต้องก้าวให้ทันเขา ก้าวให้เกินเขา”

“หรืออย่างเวลามีแขกมาดูงานการแยกขยะ เราก็จะบอกเลย จริง ๆ แล้ววันนี้เราไม่ได้คุยเรื่องแยกขยะ เราคุยกันถึงเรื่องจิตใจข้างในโดยใช้ขยะเป็นตัวเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนาข้างใน เพราะเวลาเราให้แยกขยะ เหมือนเราได้แยกแยะความรู้สึกไปด้วย” ครูปุ้ย กล่าว

เรื่องขยะยังสามารถนำมาบูรณาการกับเรื่องของจิตใจของคนเรา ขณะแยกขยะทำให้เรามีสมาธิและสติจะจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ๆ ดังนั้นเวลาเราแยกขยะก็ทำให้เราได้แยกแยะความรู้สึกไปด้วย



มากกว่าการได้แยกขยะคือ การรู้จักตนเอง พร้อม ๆ กับได้เรียนรู้คนอื่นไปด้วย จากบทสัมภาษณ์ของครูปุ้ยจะเห็นได้ว่า หากเรานำเรื่องขยะมาสอนเด็กในแต่ละชั้นย่อมต้องมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากเด็กแต่ละคนนั้นมีพื้นฐานแตกต่างกัน ครูปุ้ยจึงเรียนรู้วิธีการสอนเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลขณะที่เด็ก ๆ ก็ได้เรียนรู้วิธีการแยกขยะ นอกจากนี้เรื่องขยะยังสามารถนำมาบูรณาการกับเรื่องของจิตใจของคนเรา ขณะแยกขยะทำให้เรามีสมาธิและสติจะจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ๆ ดังนั้นเวลาเราแยกขยะก็ทำให้เราได้แยกแยะความรู้สึกไปด้วย

ขยับขยายสู่ห้องเรียนที่เรียกว่า “โลก”

มาดูมุมมอง ของเด็ก ๆ กันบ้างว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับการแยกขยะ? เมื่อการแยกขยะกลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของพวกเขา ไม่เพียงเฉพาะที่โรงเรียน แต่ยังรวมถึงที่บ้าน และที่สาธารณะอื่น ๆ 


น้องโชกุน:  “อย่างที่บ้านผมผมแยกครับ เราจะทำเป็นเหมือนสถานี เอากล่องมาตั้ง ๆ และเราก็บอกว่าอันนี้เป็นกระดาษรวม อันนี้เป็นอลูมิเนียม อันนี้เป็นถุงพลาสติก ส่วนเวลาไปเดินห้าง บางครั้งผมก็เก็บกลับมาแยกที่บ้าน เก็บมาล้าง


น้องเน้ย:  “แยกค่ะ อันไหนขายได้ก็ขายค่ะ อันไหนขายไม่ได้ก็เอามารีไซเคิล ที่ห้างหนูก็ทำเหมือนกันค่ะ ถ้าไม่มีถังแยกที่นั่น หนูก็จะเก็บแยกใส่ถุงพลาสติกไว้แล้วมาแยกต่อที่บ้าน


น้องปุณปุณ:ของผมคือที่หมู่บ้านจะมีที่แยกอยู่แล้ว คือเราจะแยกกันเองที่บ้านก่อน เสร็จแล้วแม่ก็จะให้ผมปั่นจักรยานไปแยกที่หลังหมู่บ้านอีกทีหนึ่ง ส่วนที่ห้างถ้ามีผมก็แยกที่ห้าง บางทีผมเห็นคนไม่แยก ผมก็หยิบมาแยกบ้าง แต่ถ้ามันสกปรกมากผมก็ไม่แยก


จากคำตอบของตัวแทนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 3 คน คือ “น้องปุณปุณ-ณัฐรัชต์ สุระประเสริฐ” “น้องโชกุน-ธันวา วิโรจน์วัฒนกุล” และ “น้องเน้ย-อนัญญา จิตรพานิชเจริญ” ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ทำให้เราเห็นว่า เด็ก ๆ ไม่เพียงแค่เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อตัวเองเท่านั้น แต่พวกเขายังเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อสังคม (ทั้งสังคมในโรงเรียน ครอบครัว ชุมชน และประเทศ) รวมถึงโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย 

น้องโชกุน: ถ้าเราไม่แยกขยะให้มันดี เราอาจจะทิ้งไปเรื่อย ๆ โลกเราจะเกิดมลพิษทำให้โลกร้อนได้ เพราะว่าถ้าเราไม่แยกแล้วเอาขยะไปเผา แล้วน้ำแข็งที่ทวีปอื่นก็จะละลายทำให้น้ำท่วมโลก” 

น้องเน้ย:  “หนูว่าการแยกจะทำให้โลกสะอาดขึ้น ไม่มีมลพิษ แล้วก็จะไม่มีโรคระบาด ทำให้ติดเป็นนิสัย แล้วก็จะเป็นคนที่มีระเบียบ และก็มีความรับผิดชอบ” 

น้องปุณปุณ: “ที่ผมแยกขยะเพราะผมรู้สึกว่าถ้าเราทิ้งไว้เรื่อย ๆ เนี่ยโลกอาจจะร้อน เพราะว่าคนเอาไปทำอะไรมั่ว ๆ แยกมั่ว เผามั่ว อย่างที่เราทำกันอยู่ปัจจุบันนี้


ครูมองว่าเด็กรุ่นหลังเนี่ยก็ควรจะได้มีการแยกขยะ ซึ่งการแยกขยะไม่ใช่เรื่องของความล้าหลัง หรือเรื่องที่จะต้องเอาไปแปะไว้ท้ายแถวอยู่เรื่อย พอมีงานอื่นแทรกเข้ามาก็เอางานอื่นแทรกเข้ามาก่อน เอาแยกขยะขยับออกไปอีก มันไม่ใช่ เรื่องขยะมันทำให้เราเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้ชีวิตสังคมได้เยอะมาก แล้วก็สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้เกิดการสืบทอดไปเรื่อย ๆ นั่นก็คือความยั่งยืน โดยที่มันจะมีเรื่องราวดี ๆ สอดแทรกเข้ามาให้เราเสมอครูปุ้ยกล่าวทิ้งท้าย

เมื่อพื้นที่เล็ก ๆ เล็งเห็นถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะอยู่ในบริบทของโรงเรียนซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของสังคมโลก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกคนต่างร่วมใจกันลงมือทำ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะที่เรียกได้ว่ากำลังถาโถมโลกใบนี้ เราชวนให้ทุกคนลองจินตนาการตาม หากทุกโรงเรียนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และพร้อมปลูกฝังให้การแยกขยะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเด็ก ๆ อนาคตที่วาดฝันไว้ก็ดูจะเป็นจริงได้ในสักวัน

ถึงเวลาแล้วหรือยัง?… ที่เราต้องเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาไว้ที่หน้าแถว 
เพราะห้องเรียนที่ชื่อว่า “โลก” (ซึ่งเหมือนกำลังจะย่ำแย่) เป็นของเราทุกคน



เรื่องโดย

ภาพโดย